Skip to main content
sharethis

100 ปีชาตกาล ครูองุ่น มาลิก เรียนรู้ชีวิตและคุณูปการที่สร้างสรรค์ให้สังคม ผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ มองครูองุ่นอย่างไร อะไรคือแรงบันดาลใจ

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิไชยวนาจัดงานรำลึกและเชิดชูเกียรติ ครูองุ่น มาลิก ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ณ สวนครูองุ่น มาลิก ซอยทองหล่อ โดยมีคณาญาติ ลูกศิษย์ นักแสดง นักดนตรี นักวิชาการ และผู้สนใจเข้าร่วมงานนับร้อยคนเพื่อร่วมกันศึกษาเรียนรู้เรื่องราวชีวิตและสิ่งที่ครูองุ่นได้สร้างสรรค์ให้กับสังคม

ครูองุ่น มาลิก จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2480 และปริญญาโทด้านจิตวิทยา ม.อิลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นรองบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามนิกร เป็นนางแบบถ่ายปกนิตยสารหลายฉบับ เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นที่ปรึกษาองค์กรกิจกรรมนักศึกษา

ต่อมาในช่วงเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ครูองุ่น มาลิก ถูกควบคุมตัวเข้าศูนย์การุณยเทพ จ.เชียงใหม่ ข้อหาเป็นภัยต่อสังคม ซึ่งในระหว่างที่ยู่ในเรือนจำครูองุ่นจะช่วยเก็บกวาดขยะ เคาะระฆังบอกเวลา และสร้างหุ่นเย็บมือจากเศษผ้าที่ไม่ใช้งานแล้ว พ.ศ.2522 ครูองุ่น มาลิก กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านซอยทองหล่อ และผลิตหุ่นเชิดมือมากขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กๆ ทุกพื้นที่ทั้งลูกคนจนและลูกคนรวย

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นได้ก่อตั้ง “มูลนิธิไชยวนา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ทอง สุวรรณมาลิก (พระรุกขชาติบริรัษ์) ผู้เป็นบิดา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กยากจนในกรุงเทพฯและชนบท ให้บริการคำแนะนำทางการแพทย์ ส่งเสริมพัฒนาเยาวชนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

ต่อมาครูองุ่น มาลิก ได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนหนึ่งในซอยทองหล่อให้กับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ สำหรับใช้เป็นสถานที่เผยแพร่แนวความคิดประชาธิปไตยของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

ช่วงหนึ่งในงานรำลึกปีนี้ วิทยากรร่วมสะท้อนถึงบทบาทของครูองุ่นตามทัศนะของคนรุ่นใหม่ โดยมีคำถามจากผู้ดำเนินรายการ จารุนันท์ พันธชาติ กรรมการมูลนิธิไชยวนา ว่า ตามทัศนะของแต่ละคน คิดว่าครูองุ่นมีความคิด อุดมคติ และอุดมการณ์อย่างไร อะไรคือสิ่งน่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับบทบาทและวิถีชีวิตของท่านและจะส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้อย่างไร

แรงบันดาลใจจากการพูดแล้วทำ อยู่เรียบง่าย ให้ความสำคัญประโยชน์ส่วนรวม

กษิดิศ อนันทนาธร ผู้จัดการโครงการ 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า สิ่งที่ตนสนใจเกี่ยวกับครูองุ่น มาลิก คือ ความคิดและเจตนารมณ์ของครูที่มอบที่ดินส่วนตัวให้กับสาธารณะประโยชน์ได้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมและเผยแพร่ความรู้

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะมีการก่อตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ เกิดการถกเถียงกันเรื่องเงินสนับสนุนการจัดกิจกรรมว่าจะหาเงินมาได้อย่าไร ปรากฏว่ามีข้อเสนอให้ลงทุนสร้างคอนโด หรือสร้างสำนักงานให้เช่า แต่ครูกลับพูดออกมาว่า “ถ้าเป็นทุนนิยมแบบนั้นก็ไม่ใช่ท่านปรีดี พนมยงค์ เราจะสร้างประโยชน์ แต่ไม่ได้หวังจะหาเงิน ถึงไม่มีเงินเราก็ต้องทำประโยชน์ให้ได้”

อาจดูเป็นคำพูดธรรมดา แต่ถ้าได้อ่านแล้วคิดตามไปด้วยจะเห็นว่าเป็นการสวนกระแสสังคมมาก สังคมที่เป็นทุนนิยมหรือบริโภคนิยมมันอยู่กับเราจนเป็นปกติเสมือนเป็นศาสนาใหม่ของเราไปแล้ว ตนเองจึงมีคำถามขึ้นมาว่า เมื่อ 20 ปีก่อนครูกำลังคิดอะไรอยู่ ทำไมเวลานั้นครูถึงจุดประเด็นเรื่องแบบนี้ได้ นอกจากนี้ครูยังทำให้ทุกคนเห็นจนถึงวันนี้ ไม่เพียงแต่พูดอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น ครูใช้เศษผ้ามาทำตุ๊กตาหุ่นมอบให้กับเด็กๆ หรือการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายของครู ดูรายละเอียดประวัติต่างๆ ของครูปรากฏว่าครูไม่ได้หวังความร่ำรวยเลย และมอบทุกสิ่งให้สาธารณประโยชน์ ซึ่งการทำเป็นตัวอย่างแบบนี้มันมีผลต่อคนรุ่นใหม่อย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของแรงบันดาลใจที่จะเดินหน้าต่อไป

กอบกู้ “ อุดุมคติ” ที่เคยสูญเสียไป

อภิรักษ์ ชัยปัญหา นักวิชาการ ม.บูรพา และกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ตนอ่านประวัติของครูองุ่น มาลิก ทำให้รู้สึกว่าบทบาทของครูในละครชีวิตจริงมันมีหลายตัวเลือกมาก หนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจคือ การเป็นผู้ให้เป็นชีวิตจิตใจ ทำไมครูถึงบริจาคพื้นที่ที่พวกเราอยู่ตอนนี้ให้กับคนอื่นที่เป็นใครก็ไม่รู้ จึงเกิดคำถามว่าตอนนั้นครูกำลังคิดอะไรอยู่ ความต้องการสูงสุดของครูคืออะไร ทำไมครูถึงเลือกทำแบบนี้ ตนเองรู้สึกว่า ความต้องการของครูไม่ใช่เพื่อตัวครูอีกต่อไป และครูก็ไม่ได้มองโลกโดยที่มีตนเองเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป

อย่างไรก็ตามการอุทิศชีวิตแบบนี้มันยิ่งใหญ่มาก การตัดสินใจทำของครูเป็นการกระทำที่ไม่ได้ทำแค่วันสองวัน แต่เป็นการกระทำชั่วนาตาปี ทำจนคนอื่นเห็นและจดจำในมุมต่างๆ ของครูได้

ปัจจุบันถ้าพูดถึงคำว่า “อุดมคติ” ทุกคนจะนึกถึงเรื่องโรแมนติค ทำให้รู้สึกว่ามันไม่ใช่ความจริง แต่ตอนนี้เชื่อแล้วว่าการทำเพื่ออุดมคติมันมีอยู่จริง ขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องท้าทายที่เราต้องกลับไปทบทวนตัวเอง กลับไปรักอุดมคติของตัวเองที่เคยสูญเสียไป

ร่มเงาของคนรุ่นใหม่ เตรียมฟื้นหุ่นมือสร้างสัมพันธ์ผู้ใหญ่เด็ก

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ประกอบการทางสังคม กล่าวว่า ตนมีโอกาสพบครูองุ่น มาลิก ในช่วงท้ายๆ ครูเดินช้าๆ เป็นคนเรียบง่าย ตนเองเคยยืมกระเป๋าหุ่นมือของครูไปเล่นตอนที่กลุ่มกระจกเงายังไม่ได้เป็นมูลนิธิ ครูบอกว่าหุ่นมือสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กได้และหุ่นทุกตัวมีวิญญาณของคนที่สร้างมัน

ตอนที่ตนเป็นกรรมการมูลนิธิไชยวนา สิ่งที่คิดอยู่เสมอคือจะทำอย่างไรให้ละครหุ่นของครูกลับมามีชีวิตอีกครั้ง วันก่อนคุยกับลูกศิษย์คนสำคัญของครูว่า ขออาสาผลักดันเรื่องโรงละครครูให้เกิดขึ้นบนที่ดินที่เคยเป็นบ้านนับจากนี้ไป อย่างไรก็ตามวันนี้ตนมองภาพครูเป็นต้นไทรหรือต้นไม้ใหญ่ที่มีบทบาทให้ทั้งร่มเงาและอาหาร จนทำให้หลายๆ คนมีชีวิตรอดในช่วงเวลาที่ยากลำบากมาถึงวันนี้ได้ ครูทำหน้าที่นั้นอย่างเงียบๆ และกล้าหาญ จึงไม่แปลกที่วันนี้ยังมีลูกศิษย์ของครูมาร่วมรำลึกถึงท่านอยู่ ซึ่งถ้าใครสามารถเป็นร่มเงาให้กับคนรุ่นหลังได้ถึงขนาดนี้ถือได้ว่าเป็นอุดมคติที่น่าจะยึดถือมาก

คำถามทุกยุคสมัย นักวิชาการกับบทบาททางการเมือง

งามศุกร์ รัตนเสถียร นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า แนวทางที่ครูองุ่น มาลิก ทำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่แต่ในหอคอยงาช้างและสอนตามตัวหนังสืออย่างเดียว ครูเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าต้องลงมือปฏิบัติด้วย ครูไม่เคยเชื่อว่าการสอนตามตัวหนังสืออย่างเดียวจะมีผลที่ดีได้

สิ่งที่ครูทำให้เราเห็นวันนี้ คือ ความกล้าหาญในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หรือในสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตยให้กลับมามีชีวิตชีวาใหม่ได้ และครูไม่ได้เอาตัวเองออกห่างจากปัญหาตรงนั้นเลย ยกตัวอย่างเช่น ครูองุ่นเคยไปประกันตัวนักศึกษาที่ถูกรัฐจับตัวไปจนตัวเองถูกจับกุมและถูกคุกคามไปด้วย

บทบาทของครูสามารถสะท้อนถึงสถานการณ์ในยุคนี้ว่า นักวิชาการจะมีบทบาทอย่างไรกับสถานการณ์เดียวกันกับครู เรากล้าพอที่จะออกไปประกันตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตยอย่างตอนนี้หรือไม่ ฉะนั้น ตนคิดว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ในแวดวงวิชาการควรจะตระหนักรู้ถึงบทบาทของตนเองอยู่ตลอดเวลา

เพื่อเด็กในสังคมเหลื่อมล้ำ

สิทธิธรรม โรหิตะสุข นักวิชาการ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ครูบริจาคที่ดินในซอยทองหล่อที่เต็มไปด้วยคนมีสตางค์ให้กับเด็กที่ไร้โอกาสได้มาใช้พื้นที่ในการร่วมกิจกรรม มาชมการแสดงในวันเด็กได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันไม่ง่ายเลยที่จะหาคนที่คิดแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องเด็ก เพราะของเล่นบางอย่างมีราคาแพงขึ้นจึงเกิดข้อจำกัดสำหรับเด็กที่มีครอบครัวยากจน ฉะนั้นแทนที่จะเป็นการพัฒนาเด็กกลับเป็นการสร้างปัญหา แต่ครูพยายามที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ ครูจึงคิดและทำของเล่นสำหรับเด็กที่สามารถเล่นได้กันทุกคนทุกพื้นที่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเลื่อมล้ำ

การสร้างเพื่อการเปลี่ยนแปลง สร้างเพื่อการมีส่วนร่วม

ขุนกลาง ขุขันธิน นักสร้างสรรค์สังคมรุ่นใหม่ กล่าวว่า การสร้างเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่เราเรียกว่าอุดมการณ์ คือ การสร้างสังคมและประเทศให้ดีขึ้นซึ่งจะมีช่วงเวลาการเบาะเพาะที่ยาวนาน หลายคนทำไปได้สักพักก็อาจจะเลิกไป เพราะเข้าใจว่าจะเห็นผลในระยะเวลาที่สั้น บางครั้งสิ่งที่ทำเราอาจจะไม่ทันเห็นผลก็ได้ เชื่อว่าครูเข้าใจตรงนี้ ครูเชื่อถึงการสร้างเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

ประเด็นต่อมา คือ การสร้างเพื่อการมีส่วนร่วม เวลาเราตีความเปรียบเทียบกับผู้ที่เทศนา บางคนบอกว่าเถรวาทพูดคำไหนต้องตามคำนั้น ไม่สามารถปรับใหม่ได้ บางคนบอกว่าต้องปรับบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย แต่บางคนบอกว่าถ้าปรับแล้วผลจะแปรเป็นอย่างอื่นที่ไม่สามารถหาแก่นแท้ได้ แต่ตัวเองมองว่าถ้าสารอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นคือสารที่ตายไปแล้ว ฉะนั้นการสร้างเพื่อการมีส่วนร่วมต้องมีทั้งแก่นและการบูรณาการ รวมทั้งต้องยอมรับถึงความหลากหลายด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net