กลุ่มดาวดินจัดวงเสวนา พ.ร.บ.ชุมนุม แนะชาวบ้านอย่ากลัวกฎหมายที่ไร้ความชอบธรรม

กลุ่มดาวดิน ขบวนการอีสานใหม่ และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม จัดวงเสวนาชวนถกปมปัญหาใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แนะชาวบ้านอย่ากลัวกฎหมายที่ไร้ความชอบธรรม เพราะการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านสำคัญกว่า

20 เม.ย. 2560 เวลา 13.30 น ที่บ้านนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง “สามัคคี(พ.ร.บ.)ชุมนุม"
การละเมิดสิทธิมนุษยชนและปัญหาของขบวนการเคลื่อนไหว ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุม” ร่วมจัดโดยกลุ่มนักศึกษาดาวดิน ขบวนการอีสานใหม่ และศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม โดยกิจกรรมครั้งนี้มีชาวบ้าน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมฟังงานเสวนาประมาณ 40 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เดิมทีการเสวนาครั้งนี้มีกำหนดจักที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ทางกลุ่มนักศึกษาดาวดินได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยก่อนหน้าวันจัดกิจกรรม 1 วันว่า ไม่สามารถให้ใช้สถานที่ในการจัดงานได้ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เป็นกลุ่มกิจกรรมที่สังกัดอยู่สังกัดภายในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามภายในงานเสวนาได้มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ามาสังเกตุการณ์ในงานเสวนาด้วย

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ: อย่ากลัวกฎหมายฉบับนี้มากเกินไป  

กรชนก แสนประเสริฐ กรรมการขบวนการอีสานใหม่ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นกฎหมายที่เรียกได้ว่าแย่มากอีกฉบับหนึ่ง และตนไม่เห็นด้วยแง่ของความชอบธรรมเรื่องที่มา ซึ่งส่งผลให้ไม่มีความชอบธรรมในฐานะของกฎหมาย เขาเห็นว่า การร่างกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไรก็ตามจะต้องยึดโยงกับหลักนิติธรรม คือเป็นการออกกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับ พ.ร.บ. ดังกล่าว กลับเป็นกฎหมายที่รักษาผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

กรชนก ยังระบุด้วยว่า ตามหลักการแล้วการร่งกฎหมายจะต้องยึดโยงกับหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะสำคัญ 4 ประการคือ 1.ต้องปกป้องสิทธิมนุษยชน 2.ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน 3.คุ้มครองสิทธมนุษยชนสิทธิมนุษยชน และ4.เติมเต็มสิทธิมนุษยชน

กรชนก ขยายความต่อไปว่า การปกป้อง เคารพ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คือการที่ยืนยันหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนคือ ต้องไม่ให้ใครมาละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนในเรื่องการเติ่มเต็มคือหากมีส่วนไหนที่ขาดไหนไป ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้คนไม่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กลับไม่มีลักษณะดังกล่าวเลย เพราะนอกจากจะไม่ได้ปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นกฎหมายออกมาเพื่อบังคับใช้ควบคุมประชาชน เป็นการปกป้องภาครัฐ และรัฐบาลซึ่งเป็นเผด็จการอยู่ในตอนนี้ ซึ่งชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการปกป้องประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว

กรชนก ระบุด้วยว่า การร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมักมีการยกเหตุผลข้อออ้างว่า มีความวุ่นวาย และความเสียหายจากการชุมนุมครั้งก่อนๆ เช่นการปิดสนามปิด การยึดสถานที่ราชการ ปิดทำเนียบ หรืออื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วกรณีที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเองก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฉะนั้นเหตุผลของการการออก พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ คือการแสดงถึงความตั้งใจที่สกัดกั้น และห้ามไม่ให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนในเรื่องต่างๆ สามารถออกมาชุมนุมได้

“ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการคุ้มครองประชาชน และไม่ได้ช่วยเติมเต็ม หากแต่เป็นกฎหมายที่ลดทอนสิทธิมนุษยชนแล้วด้วยซ้ำ และกลายเป็นว่า พ.ร.บ.เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแทน โดยมีสถานะเป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐในการจัดการกับประชาชน และมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว เช่นการชุมนุมของกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรืออย่างกรณีล่าสุด ซึ่งที่การออกมาบอกว่าหากมีการออกมาทวงคืนหมุดคณะราษฎร เข้าองค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ” กรชนก กล่าว

“หากเราบอกว่ากฎหมายที่ดีควรเป็นไปตามหลักนิติธรรม กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ เพราะมันคือกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองคณะรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวก หรือดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด”กรชนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรชนก เห็นว่า ประชาชน ชาวบ้าน ไม่ควรท้อใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น อย่างน้อยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังพอมีช่องทางที่จะทบทวน พิจารณากฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วกฎหมายฉบับนี้ควรยกเลิก

“อย่ากลัวกฎหมายฉบับนี้มากเกินไป เพราะมันไร้ความชอบธรรม และไม่ใช่กฎหมายที่ดี มันมีค่าน้อยกว่าสิ่งที่พี่น้องต่อสู้มาก เราต่อสู้คุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเรา เพื่อลูกหลาน สิ่งที่เราทำมีค่ามากกกว่า” กรชนก กล่าว

อ่านกฎหมายพบแต่โทษของผู้ชุมนุมเป็นส่วนใหญ่ ไร้โทษของเจ้าหน้าที่รัฐหากละเมิดสิทธิประชาชน

วงศกร สารปรัง เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ชี้ให้เห็นว่า เมื่อดูที่บทลงโทษพบว่า มีเพียงแต่การกำหนดโทษของผู้ชุมนุมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่โทษของเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจจะละเมิดสิทธิของประชาชนกลับไม่มีการระบุอย่างชัดเจน

วงศกร ระบุต่อไปว่า ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกได้จากสิทธิการชุมนุม และสิทธิชุมชนเกิดขึ้นจากการที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง และมีการพัฒนาขนานใหญ่ ซึ่งหลายๆ ครั้งการพัฒนาเหล่านั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน และชุมชน ในขณะที่ชาวบ้านมีอำนาจต่อรองน้อยอยู่แล้ว การชุมนุมจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ปัญหาของชาวบ้านได้ถูกสื่อสารออกไปในวงกว้าง

วงศกร ชี้ให้เห็นอีกว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายายามออกกฎหมายฉบับนี้แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะภาคประชาชนไม่เห็นด้วย แต่ในเวลานี้ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รัฐบาล คสช. ก็ผลักดัน และสุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ก็ออกได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน และเมื่อลงไปอ่านที่รายละเอียดในกฎหมายก็พบว่า มีความพยายามจัดการทำให้การชุมนุมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีหลากหลายขั้นตอน มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากมาย  และที่สำคัญมีการให้อำนาจการใช้ดุจพินิจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการที่จะให้การอนุญาติ หรือไม่อนุญาติให้จัดการชุมนุม

กฎหมายไม่ดี คนบังคับใช้ไม่เข้าใจ คนออกก็หมายไม่รู้บริบทของผู้ชุมนุม

ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่จากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า เสรีภาพในการชุมนุมไม่ใช่สิทธิโดยสมบูรณ์ สามารถจำกัดได้ แต่ไม่ใช่เป็นการกำกับที่กระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิ ซึ่งสิทธิในการชุมนุมเป็น เรื่องที่ถูกยอมรับอย่างเป็นสากล แต่ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากความรุนแรง

ณัชปกร กล่าวต่อในเรื่องที่มาของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ว่า มีที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกิดจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. โดยไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และผู้ที่เข้าไปในนั่งในตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติล้วนประกอบไปด้วย ข้าราชการ นายทหาร นายทุนที่มีความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์กับ คสช. แทบทั้งสิ้น

“คนพวกนี้ไม่เคยเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน ฉันไม่เคยได้รับผลกระทบแบบที่ชาวบ้านเคยได้รับผลกระทบ เวลาออกกฎหมายก็จากความไม่เข้าใจว่า เพราะอะไรชาวบ้านถึงต้องออกมาชุมนุม พวกเขาเดือดร้อนอย่างไร คนพวกนี้ไม่เข้าใจเลย” ณัชปกร กล่าว

ณัชปกร ได้ยกตัวอย่างถึงการมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะในต่างประเทศ ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ แต่ประเทศเหลานี้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมมากกว่าที่จะใช้ตัวกฎหมายมาปิดกั้นไม่ให้เกิดการชุมนุม หลักการสำคัญที่ประเทศเหล่านี้คำนึงถือเสมอเวลาใช้กฎหมายคือ การจำกัดการชุมนุมจะต้องไม่กระทบสาระสำคัญสิทธิ หมายความว่า จะต้องไม่ขัดขวางแสดงความคิดเห็นของประชาชน และจะต้องไม่กระทบต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะต้องไม่เป็นการลดทอนอำนาจในการต่อรองของประชาชน แต่สำหรับประเทศไทยผู้บังคับใช้กฎหมายกลับไม่เข้าใจในหลักการดังกล่าว

ณัชปกร ระบุด้วยว่า ตลอดเวลาหลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในยุค คสช. นอกจากตัวกฎหมายเองจะมีปัญหาแล้ว การบังคับใช้ก็มีปัญหาไม่ต่างกัน โดยข้อมูลที่ iLaw ก.ค. 2558 – ม.ค. 2559 พบว่ามีอย่างงน้อย 15 กรณีที่ผู้นำรัญบาบหรือเจ้าหน้าที่รัฐอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุที่สาธารณะ เพื่อข่มขู่ประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็น

“กรณีเช่น การจัดค่ายเยาวชนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย การทำบุญสืบชะตาแม่น้ำของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส การชูป้ายผ้าของกลุ่มคัดค้านถ่านหินกระบี่ หรือการชุมนุมของกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเอากฎหมายมาอ้างว่าไม่สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายมาตรา 3 ระบุว่า การชุมนุมที่อยู่ภายใต้กฎหมายอื่นๆ ต้องได้รับการคุ้มครอง หรือปฎิบัติตามกฎหมายนั้นๆ เช่นกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือในกรณีที่ทนายอานนท์ นำภา ถูกจับเพราะจัดกิจกรรมยืนเฉย เรียกร้องให้มีการวัฒนา เมืองสุข เองก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยทันที ทั้งที่ตามกฎหมายระบุว่าต้องมีการขอหมายศาลก่อน เจ้าหน้าที่จึงจะมีอำนาจในการจับกุมสิ่งเหล่านี้คือการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจกฎหมายนี้จริงๆ ด้วยซ้ำ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท