Skip to main content
sharethis

เสวนา ‘ศาสนากับรัฐและคุณค่าในโลกร่วมสมัย’ นิธิระบุปัญหาของพุทธไทยคือไม่ยอมเข้าแข่งกับชุดคุณค่าอื่นๆ ในสังคม เพราะที่ผ่านมาถูกปกป้องมากเกินไป ด้านวิจักขณ์มองการยกพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเหมาะกับรัฐแบบเก่าที่ไม่มองไม่เห็นศักยภาพของมนุษย์ ขณะที่สุวรรณาเสนอให้สร้างบทสนทนาใหม่ๆ เพื่อหาที่ทางและระยะห่างระหว่างรัฐกับศาสนา

คลิปอภิปราย "ศาสนากับรัฐและคุณค่าในโลกร่วมสมัย

นับจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการระบุให้รัฐต้องดูแลพุทธเถรวาทเป็นพิเศษ การแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ เกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช จนกระทั่งมาถึงกรณีธรรมกาย ทำให้คำถามว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาถูกหยิบขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง

วันที่ 27 เมษายน 2560 ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดงานประชุมวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ในหัวข้อ ‘ศาสนากับรัฐ: Fundamentalism, Secularism และ Post-Secularism’ ขึ้น โดยมีการสัมมนาในหัวข้อย่อยเรื่อง ‘ศาสนากับรัฐและคุณค่าในโลกร่วมสมัย’ มีวิทยากรคือนิธิ เอียวศรีวงศ์ สุวรรณา สถาอานันท์ และวิจักขณ์ พานิช

นิธิมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในมิติของอำนาจว่า

“โลกสมัยใหม่ เวลาพูดถึงศาสนากับรัฐ เราชอบพูดเนื้อหาของศาสนาและรัฐเข้ามาใช้ประโยชน์ของเนื้อหาศาสนา นี่เป็นวิธีคิดของโลกสมัยใหม่ ที่รัฐต้องมาเกี่ยวกับศาสนา เหตุผลมีนิดเดียวคือศาสนามีนักบวช ในศาสนาอิสลามที่บอกว่าไม่มีนักบวชเป็นทางการ แต่ก็มีโต๊ะครู มีอุลามะ มีการจัดองค์กร มีเครือข่ายของโรงเรียน โต๊ครูมีการสืบทอดตำแหน่งผ่านลูกชายหรือลูกเขย นักบวชจึงเป็นกลุ่มคนที่มีการจัดองค์กรที่เข้มแข็ง หลายครั้งเข้มแข็งกว่ารัฐ รัฐจึงสัมพันธ์กับศาสนาด้วยเหตุผลนี้ คือจะแบ่งอำนาจกันยังไง ในรัฐโบราณ หมอผีมีการแบ่งอำนาจที่ชัดเจน หมอผีมีอำนาจเหนือเรื่องบางเรื่องที่กษัตริย์หรือเจ้าครองรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ และบางเรื่องของกษัตริย์ หมอผีก็เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ ผมมองเห็นแต่มิติด้านอำนาจของความสัมพันธ์นี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน”

ด้วยเหตุนี้วิธีเดียวที่รัฐจะจัดการกับองค์กรศาสนาคือเข้ามาสัมพันธ์โดยการเป็นผู้สนับสนุนองค์กรศาสนาและอ้างว่านับถือศาสนาเหมือนกัน สำหรับรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิธิเห็นว่ารัฐกลายเป็นรัฐที่มีศาสนาชัดเจนต่อเมื่อเถรวาทเข้ามามีอำนาจมากขึ้นและสามารถสร้างองค์กรสงฆ์ของตนขึ้นมาได้ ขณะที่องค์กรนักบวชของฮินดูหรือมหายานไม่สามารถขยายตัวเข้มแข็งเท่าองค์กรเถรวาท ทันทีที่อาณาจักรโบราณเปลี่ยนมาเป็นเถรวาทลังกาวงศ์แล้วก็ไม่กล้าเปลี่ยนอีกเลย เพราะองค์กนักบวชเข้มแข็งเกินไปที่จะท้าทาย

อย่างไรก็ตาม นิธิมองว่าองค์กรสงฆ์ในโลกปัจจุบันกลับอ่อนแอลง และสำหรับในโลกตะวันตก องค์กรนักบวชอ่อนแอมาก่อนที่ไทยจะมีการปฏิรูปศาสนาด้วยซ้ำ คำว่าศาสนาที่แปลจากภาษาอังกฤษว่า Religious ไม่มีในไทยและในโลกตะวันออก แล้ววันหนึ่งตะวันตกก็นำคำนี้เข้ามา และเราก็พยายามปรับตัวว่าเราก็มีศาสนาเหมือนกันคือพุทธศาสนา และพยายามแปลงให้เป็นแบบเดียวกับฝรั่ง ทั้งที่ศาสนาฝรั่งตอนที่เข้ามานั้นอ่อนแอมากแล้ว

“ทำไมอ่อนแอ หนึ่ง-เพราะลัทธิล่าอาณานิคมทำให้อ่อนแอ สมัยหนึ่งพวกผู้ดีมีลูกชายคนโตก็จะให้สืบทอดสิทธิอำนาจจากพ่อ แล้วลูกคนเล็กก็เอาไปบวช อยู่ในคณะสงฆ์ เพื่อจะได้มีอำนาจบางอย่างผ่านองค์กรคณะสงฆ์ แต่พอเริ่มมีอาณานิคมในต่างประเทศ อนาคตของลูกชายคนเล็กไม่ต้องพึ่งศาสนาแล้ว ส่งไปเป็นข้าราชการอาณานิคม อาณานิคมจึงทำให้องค์กรสงฆ์อ่อนลงและการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเปิดโอกาสในชีวิตคนก็ยิ่งทำให้ศาสนาอ่อนแอลงอีก

“ถามว่าศาสนาในโลกตะวันตกที่เข้ามาตอนรัชกาลที่ 4 คืออะไร มันคือกล่องบริจาค ศาสนาคือกล่องบริจาค คนไม่รู้จะเกี่ยวข้องกับศาสนายังไงนอกจากผ่านการบริจาค ไม่เคยมีครั้งไหนหลังจากปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วที่คนให้เงินเพื่อให้ศาสนาไปเผยแพร่ไกลๆ ในขณะเดียวกัน รัฐก็สามารถลงทะเบียนผู้คนเก่งกว่าศาสนา สมัยก่อนอยากรู้ว่าใครเป็นใครต้องไปดูที่วัด ที่โบสถ์ ในอินเดีย พราหมณ์เป็นคนจดโคตรเหง้าของแต่ละคน เพราะต้องอ่านรายชื่อในพิธีกรรม แต่ทุกวันนี้รัฐเก็บชื่อคนได้ดีกว่า การศึกษาที่รัฐจัดให้ก็แทนที่ศาสนาได้ดีกว่า มันแทนที่ศาสนาได้หมด เพราะฉะนั้นการพึ่งองค์กรนักบวชจึงไม่มีความจำเป็นแล้ว”

ดังนั้น นิธิจึงเข้าใจว่าการลอกเลียนศาสนาของโลกตะวันออก กระทำขึ้นในช่วงที่ศาสนาในโลกตะวันตกกำลังเสื่อม ไม่มีความจำเป็นต่อรัฐ และสังคมไทยลอกเลียนความอ่อนแอนั้นเอาไว้

“หลังจากอำนาจขององค์กรคณะสงฆ์ไร้ความหมายแล้วเมื่อเทียบกับอำนาจรัฐ รัฐไม่สนใจคณะสงฆ์ แต่ที่กลัวมากกว่าคือมันมีอำนาจใหม่ทางศาสนาเกิดขึ้นอย่างคนอย่างอาจารย์วิจักขณ์ที่มีอำนาจในการสื่อสาร ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องขีดเส้นศาสนาให้ชัดว่า นี่คือดินแดนของกู พวกนี้ไม่เกี่ยว

“ประเด็นที่สองคือคุณค่าของศาสนาในโลกปัจจุบัน ผมว่าหลายคนในห้องคงเคยถูกถาม หนังสือพุทธทาสสิ่งแรกที่ถามคือคนเราเกิดมาทำไม ผมไม่เคยถามเลย กระทั่งเข้าเรียนศาสนา หลังจากครูถาม ผมก็ไม่ถามต่อ ไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน แต่นี่คือคำถามพื้นฐานเวลาสอนศาสนา ซึ่งจริงๆ ก็คือเป้าหมายชีวิต เราถามตัวเองถึงเป้าหมายชีวิตมั้ย เยอะแยะเลย เป็นหมอ ทหาร ไม่จำเป็นว่าโตขึ้นต้องนิพพานเป็นคำตอบเดียว

ปัญหาของพุทธไทยคือไม่ยอมเข้าไปแข่งกับระบบคุณค่าอื่นๆ พุทธศาสนาจึงยิ่งหมดความสำคัญลงไป ไม่มีพลังพอที่จะสู้กับคู่แข่งต่างๆ เหล่านี้ ทำไมไม่อยากแข่ง นั่นเพราะศาสนาพุทธได้รับการปกป้องคุ้มครองมากเกินไป

“อีกข้อหนึ่งคือศีลธรรม แต่ต้องเข้าใจความหมายดีๆ ไม่ใช่หมายถึงศีลและธรรม สรุปให้เหลือคำเดียว ศีลธรรมคือการคิดถึงคนอื่น สิ่งอื่น ที่ไม่ใช่ตัวคุณ แปลว่าคุณกำลังทำอะไรบางอย่างในเชิงศีลธรรม ฉะนั้น ศาสนาก็จะอ้างคุณค่าตัวเองในสองอย่าง หนึ่ง-ปัจจุบันเราไม่ได้ละเมิดคนอื่นเพราะมีกฎหมาย มีเฟสบุ๊คที่ด่าเราได้ แล้วจำเป็นมั้ยต้องมีศาสนา ผมว่ายังจำเป็นอยู่ ที่เราไม่ขโมย ไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่มีคุณค่าบางอย่างของศาสนาในใจที่บังคับเราเอาไว้ สอง-เป้าหมายของชีวิต การมีเป้าหมายชีวิตที่ดี ช่วยส่งเสริมศีลธรรมและทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้น สองอย่างนี้ถูกอ้างเป็นคุณค่าของศาสนาตลอดชั่วกัลปาวสาน

“ผมเห็นด้วย แต่ว่าทั้งสองอย่างมันมีคู่แข่งเยอะมาก เช่น การที่คุณเห็นแก่ผู้อื่น คุณเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นประชาธิปไตยก็ได้ เรื่องเป้าหมายชีวิตคู่แข่งก็เยอะ อันหนึ่งที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากและพุทธทาสเกลียดมากคือวัตถุนิยม”

นิธิสรุปว่าปัญหาของพุทธไทยคือไม่ยอมเข้าไปแข่งกับระบบคุณค่าอื่นๆ พุทธศาสนาจึงยิ่งหมดความสำคัญลงไป ไม่มีพลังพอที่จะสู้กับคู่แข่งต่างๆ เหล่านี้ ทำไมไม่อยากแข่ง นั่นเพราะศาสนาพุทธได้รับการปกป้องคุ้มครองมากเกินไป

ด้านวิจักขณ์กล่าวถึงประสบการณ์ของตนที่ไปศึกษาศาสนาในโลกตะวันตกซึ่งเป็นยุคหลังที่ศาสนาพุทธแบบทิเบตกระจายตัวไปในโลกตะวันตก สิ่งที่ตะวันตกรับไปจากทิเบตในยุคนั้นกลายเป็นพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรือง กล่าวได้ว่าโลกตะวันตกรับการปฏิบัติทางศาสนาธรรมเข้าไปในช่วงที่ศาสนาในโลกตะวันตกอ่อนแอแล้ว ซึ่งพุทธศาสนาเข้าไปอย่างประจวบเหมาะพอดีในยุคที่คนคิดว่าศาสนาไม่ตอบโจทย์ทางสังคมและชีวิตอีกต่อไป

“พอมีการปฏิบัติทางจิตวิญญาณบางอย่างที่เขารู้สึกขาด มันก็พอดีเป๊ะ ผมเข้าไปในจังหวะที่ศาสนาพุทธในโลกตะวันตกเริ่มทำงานมาแล้วยี่สิบปี ผมรู้สึกว่าคนตะวันตกที่สนใจเรื่องพวกนี้ เขาไม่ได้สนใจศาสนา ไม่ได้ศึกษาพุทธในมิติศาสนาเลย แต่สนใจว่าศาสนาพุทธสอนอะไร การปฏิบัติช่วยอะไรเขาได้บ้าง เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความกังวล แล้วเขาจะหาเครื่องมืออะไรเพื่อเยียวยาปัญหานี้”

หลังจากนั้นวิจักขณ์เคลื่อนไปสู่คำถามใหญ่ที่ว่า ทำไมต้องแยกรัฐกับศาสนา โดยอธิบายว่า ก่อนหน้าที่ตนจะเดินทางไปเรียนที่โลกตะวันตก เวลาศึกษาศาสนาพุทธในไทยเหมือนมีความประนีประนอมบางอย่างที่คนรู้สึกว่าไม่เป็นศาสนามากเกินไป อย่างงานพุทธทาสพยายามอธิบายว่ามีความเป็นเหตุเป็นผล ศาสนาพุทธมีความเป็นสากล เป้าหมายของทุกศาสนาเหมือนกัน ความเคลื่อนไหวตรงนี้อาจมาจากความรู้สึกอย่างหนึ่งว่ารัฐมีบทบาทหรือควบคุมศาสนามากจึงพยายามหาช่องออกมาและพูดบางสิ่งที่หลุดออกมาจากกรอบนั้น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

“พอผมไปศึกษาศาสนาในโลกตะวันตก กลับรู้สึกอีกแบบ อยากคัลท์มากกว่าเดิม อยากเป็นพุทธสักแบบหนึ่ง ผมก็ศึกษาอย่างจริงจัง มองเป็นเหมือนเทคโนโลยีทางจิต อยากเอาตัวเองเข้าไปลอง พอกลับมาก็กลายเป็นเนื้อเป็นตัวเรา เวลาพูดกับใครก็ไม่เขินอายอีกต่อไป จะเป็นฮินดู วัชรยาน หมอผี มันก็เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์เราได้ เป็นอิสระที่จะพูดถึงมัน ในบริบทของโลกตะวันตกไม่มีอะไรบังคับหรือกฎเกณฑ์ว่าเราควรจะปฏิบัติศาสนาอย่างไร ควรเป็นศาสนาพุทธแบบไหน จึงรู้สึกเปิด มีสิทธิที่จะเลือก เป็นทางเลือกของเราจริงๆ ทำได้อย่างเต็มที่ ไม่มีองค์กรใดมาตรวจสอบเราว่าปฏิบัติผิดหรือถูก เป็นเรื่องของทางเลือก เรื่องของรสนิยม

“ผมไม่แน่ใจว่า ศาสนาที่ไม่มีรัฐจะตอบสนองได้ดีกว่า แต่มันมีพื้นที่ให้เราได้เลือกและทดลอง เราไม่ได้เริ่มจากความจำเป็นว่าต้องมีศาสนา ศาสนาไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่ถ้าคุณเริ่มสนใจ มันก็เหมือนกับคุณได้เลือกว่าสิ่งนั้นตอบสนองบางอย่างของคุณ คุณต้องการใช้เวลาและพลังไปกับมัน ทำให้ผมรู้สึกว่าคนที่ศึกษาศาสนาในบริบทนั้น ดูจะมีความทุ่มเท ความศรัทธาได้อย่างเต็มที่

“แต่ไอเดียของศาสนาที่เข้ามาในบริบทไทย เข้ามาในช่วงที่ไอเดียในตะวันตกกำลังอ่อนแอ ศาสนากำลังหมดความสำคัญ แล้วเรารับเข้ามาทำไม เรารับมาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ในช่วงที่เราสร้างรัฐชาติ เราต้องการศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ ความเป็นไทยเท่ากับความเป็นพุทธ ความเป็นพุทธเท่ากับความเป็นพุทธเถรวาท ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราก็มีความอ่อนแอบางอย่าง เราไม่รู้สึกว่าศาสนาพุทธอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เราไม่รู้สึกว่าเราสามารถเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ทดลองปฏิบัติศาสนธรรมได้ โดยไม่ต้องมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง สะท้อนความอ่อนแอของคนที่รับไอเดียนี้เข้ามา”

การที่ไม่ส่งเสริมพุทธศาสนาให้มีความเคลื่อนไหว เพราะเกรงว่าจะย้อนกลับมาเป็นปฏิปักษ์ จึงไม่สามารถมีพุทธธรรมที่พูดถึงสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ความหลากหลาย

วิจักขณ์กล่าวต่อว่า เวลาที่อยากให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติซึ่งเป็นความคิดที่อ่อนแอไปแล้ว มันจำเป็นต่อรัฐแบบไหน ถ้าเป็นรัฐสมัยใหม่ รัฐประชาธิปไตยที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ศาสนาแบบเดิมนี้ล้าหลังและไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่ที่เรารู้สึกว่าศาสนาพุทธจำเป็นสำหรับรัฐ มันคือรัฐแบบเก่า ไม่ใช่รัฐของการใช้สติปัญญา ไม่ใช่รัฐที่เชื่อว่าทุกคนมีพุทธะในตัวเอง ทุกคนสามารถรับผิดชอบชีวิตตนเองได้ รัฐจึงต้องการศาสนาแบบนี้เป็นอาวุธ รัฐที่ไม่ส่งเสริมให้คนมีอำนาจในตัวเอง

“ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาทุกวันนี้สร้างบรรยากาศบางอย่างขึ้น ที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางของพุทธธรรม มันตัดส่วนที่เป็นการเดินทางหรือความเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาพุทธแบบนี้ทำให้เกิดความนิ่งหรือตาย เราจะมีความรู้สึกว่าแบบนี้ดีแล้ว พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เราสอนพุทธในโรงเรียน ผมว่ามันสร้างความรู้สึกของความนิ่ง ไม่สนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหว

“แต่จากประสบการณ์ในโลกตะวันตก มันมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น การตีความคำสอน การเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นต้น ไม่มีคำสอนแบบใดเป็นมาตรฐาน พุทธแท้-เทียม ไม่มี มันยังทำให้เกิดบทสนทนากับศาสนาอื่นๆ เกิดความท้าทายที่จะเข้าไปสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ มิติของการเดินทางแบบนี้มันหายไปจากพุทธในบริบทไทย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจิตวิญญาณคำสอนของพระพุทธเจ้า”

การที่ไม่ส่งเสริมพุทธศาสนาให้มีความเคลื่อนไหว เพราะเกรงว่าจะย้อนกลับมาเป็นปฏิปักษ์ จึงไม่สามารถมีพุทธธรรมที่พูดถึงสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ความหลากหลาย พระบางรูปบอกว่าพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องเสรีภาพ พุทธบ้านเราจึงไม่กล้าเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ไม่กล้าเข้าไปเรียนรู้ความทุกข์ในแบบใหม่ แต่ตัดสินความทุกข์ของผู้คนด้วยความคิดแบบเก่า ไม่ได้ต้องการเข้าใจเรา แต่ต้องการให้เราเข้าใจศาสนา วิจักขณ์สรุป

ทางด้านสุวรรณา กล่าวถึงอำนาจรัฐกับบรมธรรมหรืออำนาจรัฐกับการอ้างความจริงที่พ้นไปจากโลกประจักษ์ บรมธรรมในที่นี้ส่วนใหญ่อยู่ในศาสนา โดยอ้างว่ามีความจริงบางอย่างที่อยู่เหนือโลกประจักษ์ แต่โลกความจริงนั้นเป็นที่มาและอธิบายโลกประจักษ์นี้ด้วย ส่วนตัวบรมธรรมนั้นจะเป็นพระเจ้าองค์เดียว หลายองค์ หรือไม่มีพระเจ้า หรือจะเป็นเหตุผลแบบกรีกที่เชื่อว่าเหตุผลของมนุษย์พาไปสู่ความจริงสูงสุดบางอย่างได้ หรือแบบขงจื่อที่ไม่เชื่อว่ามีบรมธรรมที่อยู่เหนือโลกประจักษ์ แต่ความรู้สูงสุดต้องหาจากประวัติศาสตร์ของมนุษย์เอง

“ความสัมพันธ์ระหว่างบรมธรรมกับรัฐมีสามแบบหลัก แบบที่หนึ่งคือในโลกโบราณมองว่าอำนาจรัฐกับบรมธรรมเป็นเนื้อเดียวกัน เชื่อว่ารัฐพาไปสู่บรมธรรม เช่น ยุโรปยุคกลาง สอง-มองว่ารัฐเป็นฆราวาส ไม่เกี่ยวกับบรมธรรม รัฐเป็นสถาบันที่มนุษย์มีเหตุผลมาหาวิธีอยู่ร่วมกัน ไม่เกี่ยวกับความจริงสูงสุดที่อยู่เหนือโลกประจักษ์ และสาม-เป็นแบบผสมผสาน ดิฉันเข้าใจว่ารัฐไทยก็ไม่ได้อ้างตนเองเป็นรัฐศาสนา แต่องค์ประมุขต้องเป็นพุทธ เพียงแต่เป็นองค์ศาสนูปถัมภกดูแลทุกศาสนา แต่รัฐเป็นพุทธหรือเปล่าไม่ค่อยแน่ใจ”

สุวรรณากล่าวว่า ปัญหาหลายอย่างที่คุยกัน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในยุโรปศตวรรษที่ 17 เมื่อรัฐสมัยใหม่วางคุณค่าไว้อีกที่หนึ่งโดยไม่เกี่ยวกับบรมธรรมหรือศาสนาเลย แต่วางอยู่บนเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป็นสามคำที่เกี่ยวกับมนุษย์ แต่ไม่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าหรือโลกที่อยู่เลยไปจากประสบการณ์ของมนุษย์

ทำยังไงเราจะสร้างบทสนทนาใหม่ๆ กับจารีตธรรมของเราเองและความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐหรือบรมธรรมกับอำนาจรัฐ...การหาระยะห่างระหว่างรัฐกับศาสนา การหาบรรทัดฐานอีกแบบหนึ่ง เราต้องเข้าใจความเป็นมาเดิม ต้องศึกษาตัวอย่างประสบการณ์แบบอื่น และหาความสัมพันธ์แบบไหนที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 นี้

สุวรรณาอธิบายต่อผ่านมุมมองปรัชญาจีนโบราณว่า ถ้า Secular คือรัฐไม่สนใจความจริงที่เหนือไปกว่าความจริงของมนุษย์ในโลกประจักษ์ปกติ คำถามหลักคืออำนาจรัฐเป็นเครื่องมือสำหรับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์เท่านั้นหรืออำนาจเป็นเครื่องมือไปสู่บรมธรรม ซึ่งจะทำให้อำนาจรัฐศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย

“มองจากปรัชญาจีนโบราณ หมายถึงห้าร้อยถึงสามร้อยก่อนคริสตกาล ซึ่งถือเป็นยุคคลาสสิกของปรัชญาจีน ถ้าเรามองปรัชญาสมัยนั้นด้วยคำถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับศาสนามีกี่แบบ ดิฉันขอเสนอว่ามีสามแบบคือเต๋า ขงจื่อ และนิตินิยม

“ขงจื่อมองว่าอำนาจรัฐเข้มข้น จำเป็น แต่อ่อนละมุนและมีเมตตา แบบเต๋าต้องการให้อำนาจรัฐอ่อนจางที่สุด อย่ามายุ่ง การก้าวก่ายจากอำนาจรัฐคือปัญหา แบบที่สามคือนิตินิยมซึ่งเห็นว่าอำนาจรัฐต้องเข้มข้น โหดเหี้ยม กำกับทุกอณูของชีวิต ไม่เกี่ยวกับจริยธรรม อย่าว่าแต่บรมธรรมเลย นี่คือวิธีคิดสามแบบใหญ่ในสมัยจีนโบราณ”

สุวรรณากล่าวต่อว่า บทเรียนสำหรับสังคมไทยคืออะไร คำตอบประเด็นรัฐ-ศาสนาในบริบทสังคมไทยเป็นคำตอบที่คิดไว้ในสมัยราชวงศ์โจวรุ่งเรือง คือเราต้องหาวิธีใหม่ที่จะสนทนาในการหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา เธออ้างอิงงานชิ้นหนึ่งของธงชัย วินิจจะกูล ที่กล่าวถึงว่าการศึกษาศาสนาและปรัชญาศาสนาในประเทศไทยถูกชี้นำควบคุมด้วยชาตินิยมมาตลอด ถ้าเป็นอย่างนั้น คำถามคือสิ่งที่เราเรียนเกี่ยวกับอดีตจะมีประโยชน์อะไรกับปัจจุบัน อดีตดำรงอยู่อย่างไร

“ทำยังไงเราจะสร้างบทสนทนาใหม่ๆ กับจารีตธรรมของเราเองและความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐหรือบรมธรรมกับอำนาจรัฐ ทั้งในตัวคัมภีร์ เช่น พระไตรปิฎก ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในประเทศอื่นๆ ที่เป็นพุทธด้วยกัน การหาระยะห่างระหว่างรัฐกับศาสนา การหาบรรทัดฐานอีกแบบหนึ่ง เราต้องเข้าใจความเป็นมาเดิม ต้องศึกษาตัวอย่างประสบการณ์แบบอื่น และหาความสัมพันธ์แบบไหนที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 นี้

“เราต้องการรัฐที่ร่วมรู้สึกและใกล้ชิดกับเรา แต่ก็มีอำนาจเข้มข้น หรือต้องการรัฐที่เป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวกับความรู้สึก เป็นเครื่องมือที่บริสุทธิ์ เป็นคนรักษากติกาเท่านั้น หรือต้องการรัฐที่อ่อนจางที่สุดแบบเต๋า หรือจะเอารัฐที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับบรมธรรม อะไรเป็นเป้าหมาย อะไรเป็นเครื่องมือ และน้ำหนักที่ให้กับเครื่องมือนั้น แค่ไหน อย่างไร”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net