ประยุทธ์หวังยกระดับ 'ผู้ใช้แรงงาน' เป็น 'ผู้ใช้พลังสมอง' ยันเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ ศาสตร์พระราชาฯ ย้ำ 'ไทยแลนด์ 4.0' ต้องยกระดับจาก 'ผู้ใช้แรงงาน' เป็น 'ผู้ใช้พลังสมอง' พร้อมยืนยันเศรษฐกิจไทยดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง แต่มีหลายพวกพยายามจะโจมตีรัฐบาล ที่บอกว่าระดับฐานรากยังไม่ได้รับผลโดยตรง

28 เม.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงวันกรรมกรสากล และสภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ โดยระบุว่ารัฐบาลมีนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับแรงงาน ทั้ง ด้านสุขภาพ ด้านสวัสดิการสังคม  ด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ พร้อมทั้งยืนยันว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง

โดยมีรายละเอียดดังนี้

พี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็น “ผู้ร่วมสร้างชาติ” ทุกท่าน ครับ วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ตรงกับ “วันกรรมกรสากล” หรือ “เมย์-เดย์ (May Day)” ของโลก  แรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในกระบวนการผลิต ห่วงโซ่คุณค่าในระบบเศรษฐกิจ โดยพลังของผู้ใช้แรงงานจะแฝงอยู่ในผลผลิตทุกชิ้น ดังนั้น ความมั่นคงก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ จะมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับพี่น้องแรงงาน ทุกประเภท ทั้งแรงงานในระบบ ที่เรียกว่า มนุษย์เงินเดือน และแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ ที่มีอยู่ราว 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด เช่น คนงานที่รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานรับจ้างทำการเกษตร เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ที่เป็น “แรงงานตามฤดูกาล” และแรงงานประมง คนทำงานบ้าน รับจ้างทั่วไป แม่ค้าหาบแร่ แผงลอย ช่างเสริมสวย ช่างทำผม เหล่านี้เป็นต้น แรงงานนอกระบบนี้ ส่วนมากเป็นผู้มีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอน ไม่มีความมั่นคง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ และคุ้มครองจากรัฐบาล ทั้งด้านกฎหมายแรงงาน ประกันสังคม และสวัสดิการอื่น ๆ แล้ว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบ ทั้งในมิติสังคมและความมั่นคง ตามมาอีกด้วย 

ดังนั้น ผมเห็นว่าการจัดให้มี “ฐานข้อมูลกลาง” (Data Center) ข้อมูลแรงงาน ข้อมูลประชากรของประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก  จะช่วยให้รัฐบาลและทุกหน่วยงาน สามารถนำไปใช้กำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ ได้อย่างเหมาะ สมกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแรงงานกลุ่มต่าง ๆ และแรงงานคนพิการของไทย รวมถึงแรงงานต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการลงทะเบียนจัดทำฐานข้อมูลตามขั้นตอนไปแล้ว นอกจากนี้ ฐานข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยในการจัดระบบ ให้เป็นระเบียบ สำหรับการบริหารจัดการ เพื่อให้ประเทศสามารถใช้ศักยภาพจากทรัพยากรมนุษย์ หรือ “แรงงานของประเทศ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย 

ที่ผ่านมา ปัญหาแรงงานไทย นอกจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ด้านผลประโยชน์ ค่าตอบแทน และสวัสดิการแล้ว  ยังคงมีปัญหาเรื่องปากท้อง การบริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการศึกษา อีกด้วย ซึ่งรัฐบาลนี้ ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน แก่พี่น้องแรงงาน “ทุกประเภท” โดยเฉพาะแรงงาน นอกระบบ ที่มักจะเป็นประชากร ระดับฐานราก และผู้มีรายได้น้อย  ดังนั้นจึงมีนโยบายสาธารณะต่างๆ ออกมาจำนวนมาก ในช่วงเวลา 2 ปีกว่านี้ ที่ผมอยากทบทวนอีกครั้งนะครับ  เช่น  ด้านสุขภาพ ก็ได้แก่ (1) การแพทย์ฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรก ให้พ้นวิกฤต ที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงอันตรายถึงชีวิต  ได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ซึ่งเป็นการก้าวข้ามกำแพงสิทธิประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนอื่น ๆ หรือแม้จะไม่มีสิทธิใด ๆ โดยรัฐบาลได้รักษาไว้ซึ่ง “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของพี่น้องคนไทยทุกคน ทุกสาขาอาชีพ ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สายด่วน 1669  (2) คลินิกหมอครอบครัว เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย เน้นมาตรการเชิงป้องกัน มากกว่ารักษา ที่มักมีราคาแพงกว่า ด้วยการสร้างระบบเครือข่ายแพทย์ปฐมภูมิ ไปทั่วประเทศ จนเข้าถึงทุกครัวเรือน จำนวน 6,500 ทีม ในปี 2570 เหล่านี้เป็นต้น 

ด้านสวัสดิการสังคม ได้แก่  (1) กองทุนการออมแห่งชาติ สำหรับประชาชนและพี่น้องแรงงาน ที่ไม่อยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชการ ที่เรียกว่า กบข. หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กสล. หรือกองทุนประกันสังคม (2) กองทุนยุติธรรม จะช่วยเหลือในเรื่องคดีความ การให้ความรู้ทางกฎหมาย หรือการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และ (3) การลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการภาครัฐ ที่จะปิดลงทะเบียนในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้  โดยจะมีมาตรการ “ลดค่าครองชีพ” สำหรับแรงงานที่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น การให้ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่ารถ ขสมก. สำหรับแรงงานในกรุงเทพฯ หรือค่ารถ บขส. สำหรับพี่น้องต่างจังหวัด เหล่านี้เป็นต้น  ใครที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ขอให้รีบมาลงทะเบียนกัน

ด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ เช่น  (1) ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center)  (2) การสร้างระบบมาตรฐานแรงงาน ช่วยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และ (3) การส่งเสริมอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ภายใต้กลไกประชารัฐ เป็นต้น  ที่กล่าวมาเป็นการบูรณาการหน่วยงาน และการสร้างระบบตลาดแรงงานที่สอดคล้องกันของฝั่ง Demand คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และฝั่ง Supply คือ กระทรวงศึกษา และกระทรวงแรงงาน ให้รองรับการก้าวไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”  นั่นเอง ทั้งนี้ ในอนาคต เราจะต้องยกระดับจาก “ผู้ใช้แรงงาน” เป็น “ผู้ใช้พลังสมอง” หรือที่เรียกว่า จาก Manpower สู่ Brainpower ผมอยากให้ทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง โดยเริ่มจากการเห็นว่าตนเองนั้น มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศเท่าเทียมกัน ซึ่งคงต้องค่อย ๆ ยกระดับตนเองเป็น แรงงานมีฝีมือ แรงงานคุณภาพ แรงงานที่มีนวัตกรรม และแรงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ให้ได้ โดยต้องรู้จักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างเหมาะสมด้วย  

เศรษฐกิจไทยดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ เราพูดได้ว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง ถ้าพี่น้องประชาชนลองมองย้อนกลับไป ปี 2557 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียงร้อยละ 0.8 และปรับดีขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 2.8 ในปี 2558 และ 3.2 ในปี 2559 ที่ผ่านมา ในปีนี้ หากโครงการต่าง ๆ คืบหน้าไปตามแผนที่วางไว้ เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก ที่ประมาณร้อยละ3.5 ซึ่งก็ถือเป็นการค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น จากปัญหาความไม่แน่นอนต่าง ๆ ของประเทศและภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน แม้จะยังไม่ได้กลับมาขยายตัวสูงเท่ากับในอดีต แต่ก็สะท้อนว่าเรายังมีโอกาส ที่จะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ และยังน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องในวันข้างหน้า หากเราค่อย ๆ ช่วยกัน ฟิตร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

สำหรับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี เราได้เห็นการส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และเริ่มขยายตัวมากขึ้นในหลายหมวดสินค้า โดยมีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 10 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ รายได้เกษตรกร ในเดือนมีนาคมปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จากทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ครัวเรือนและความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อสินค้าคงทน มีราคาสูง เช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ซบเซามาเป็นเวลานาน สำหรับการค้าขายของภาคธุรกิจ มีการขอจดทะเบียนธุรกิจเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 10 ซึ่งก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เอกชนก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ทั้งนี้ หากเราต้องการที่จะกลับไปโตได้ในอัตราสูง ๆ แบบเดิม เราจะต้องเร่งให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลนี้ได้เริ่มขับเคลื่อนไปบ้างแล้วนะครับ แต่ต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างหนึ่งก็คือการเร่งให้เกิด EEC ที่จะช่วยวางรากฐานอนาคตของการผลิต การค้า และยกระดับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ  เรื่องเหล่านี้ ต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะเห็นผล ซึ่งความร่วมมือร่วมใจจากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิรูปขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความพยายามเหล่านี้ ที่ผ่านมา ก็อาจจะมีหลายพวกหลายฝ่าย พยายามจะโจมตีรัฐบาล ที่บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่องนั้น คนในระดับฐานรากยังไม่ได้รับผลโดยตรง ไม่ถึงพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงบ้าง เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่บ้าง ซึ่งล้วนเป็นการสร้างความขัดแย้ง ทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุนในประเทศที่กำลังค่อย ๆ ไปได้ดี ที่รัฐบาลและเอกชนหลายฝ่ายกำลังพยายามสร้างอยู่ ก็ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี รับทราบ กำลังดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง และจะเร่งรัดดำเนินการภายในปีนี้ให้ได้ต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท