Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ รับจะดูแลร่าง พ.ร.บ.สื่อ เป็นพิเศษ ย้ำ เรื่องยังไม่ได้ข้อยุติ ยังมีอีกหลายขั้นตอน อย่าคิดว่ารัฐบาลจะเข้าไปครอบงำ ระบุ หากสื่อต้องการคุมกันเอง จะต้องทำให้ได้ และมีจุดเชื่อมโยงกับรัฐบาล

2 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า 30 องค์กรสื่อมวลชน คณะทำงานสื่อเพื่อการปฎิรูป นำโดย ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อคัดค้าน และขอให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน  พ.ศ. .. ที่ผ่านการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งประเทศไทย (สปท.) เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) พร้อมมอบเสื้อหยุดตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชนให้กับนายกรัฐมนตรี เช้าวันนี้ (2 พ.ค.) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับตัวแทนสมาคมและองค์กรสื่อมวลชนว่า ยินดีที่จะให้มีการหารือร่วมกัน ในการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฎิรูปสื่อ เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอน ยืนยันว่าฟังข้อมูลจากทั้งสื่อมวลชนและ สปท. ที่ต่างมีหลักการและเหตุผลของตัวเอง  สปท.มีหน้าที่คิดและเสนอเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูป ซึ่งสื่อก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ สปท.ต้องทำงาน  

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ต้องการขอสื่อมวลชนช่วยกันทำในสิ่งใหม่ๆ เพราะสื่อมวลชนถือเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล ส่วนเรื่องกฎหมายสื่อ ขอให้ประชาชนเป็นพิจารณา พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะดูร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นปัญหาให้โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวแทนของรัฐบาล ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลสื่อ   

"ผมเป็นรัฐบาลที่ตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ ไม่ใช่เข้ามาสร้างปัญหา ผมไม่หวังว่าจะอยู่จนแก่ตาย ไม่ใช่ ต้องมีรัฐบาลต่อไป จึงต้องมีพื้นฐานที่ดี อย่าคิดว่าผมจะไปครอบงำอะไรทั้งหมด ไม่อย่างนั้นนทุกอย่างจะจบ หากสื่อต้องการคุมกันเอง ต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะสมาคม และต้องมีจุดเชื่อมกับรัฐบาลด้วย แม้ว่าจะมีการทำทะเบียนสื่อทุกปี แต่ยังดูแลไม่ได้ ยืนยันว่าผมให้อิสระกับสื่อมวลชน แต่ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะต้องตีกรอบมากขึ้น อย่าลืมว่าผมไม่เคยยุ่งกับใคร ผมก็ไม่เคยฟ้องใคร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

จดหมายเปิดผนึก 30 องค์กรสื่อมวลชน คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึก

2  พฤษภาคม 2560

เรื่อง คัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน 

กราบเรียน  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ตามที่ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งแม้ว่าจะมีการยกเลิกเรื่องใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและบทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตฯลฯ ไปแล้วก็ตาม แต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาสำคัญของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการครอบงำ และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางในอนาคต

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 30 องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยเหตุผล ดังนี้

1.นิยามคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นิยามคำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อพิจารณานิยามคำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นมีความหมายกว้างขวางมาก กว้างขวางจนเข้าไปกินปริมณฑลของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีการอื่นของประชาชนทั่วไป จะครอบคลุมไปถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภท นอกจากสื่อวิชาชีพแล้ว บุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์  จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 34 และ 35

2. ในร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก สปท. ยังคงไว้ซึ่งตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  ซึ่งขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง ก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน ที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส

3.การจัดทำกฎหมายใดๆที่เกี่ยวกับการทำหน้าของสื่อมวลชน จะต้องมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของของสื่อมวลชนในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 35 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน และคำนึงถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า"รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ              

นอกจากนั้น มาตรา 77 ยังบัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด

4.  องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันหลักการกำกับกันเองของสื่อมวลชน ทั้งการกำกับกันเองด้วยความสมัครใจหรือ การกำกับกันเองที่มีกฎหมายรับรองการมีอยู่ขององค์กรวิชาชีพแต่ต้องไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายลงโทษสื่อมวลชน  และต้องไม่เร่งรีบออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยขาดการรับฟังหรือความเข้าใจอย่างรอบด้าน ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อสื่อมวลชนตระหนักถึงความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นการกำกับกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีช่องทางการร้องเรียนที่ชัดเจน มีกระบวนการสอบสวน และการวินิจฉัยการลงโทษที่ชัดเจน แต่เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับคนจำนวนมาก        

ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น  องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง ๓๐ องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  และเดินหน้าการปฏิรูปสื่อโดยการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง

รายชื่อ 30 องค์กรสื่อมวลชน

1.สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

2.สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

3.สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

4.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

5.สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

6.สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

7.สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

8.สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย

9.สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย

10.สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

11.สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย

12.สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

13.สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย

14.สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย

15.สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ

16.สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)

17.สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย

18.สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

19.สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)

20.สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

21.สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

22.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด

23.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน

24.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก

25.เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้

26.ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

27.ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

28.ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

29.ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน

30.สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์สมาคมนักข่าวฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net