สปท.เห็นชอบข้อเสนอ กมธ.สื่อ ตั้ง กก.กองทุนสื่อปลอดภัย-สร้างสรรค์ ดันสื่อออนไลน์เชิงบวก

สปท. เห็นชอบผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ตั้งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เเป็นกลไกการบริหารจัดการการใช้สื่อออนไลน์เชิงบวกและสร้างสรรค์

ที่มาภาพ : เว็บไซต์วิทยุลแะโทรทัศน์รัฐสภา 

2 พ.ค 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์” ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และ ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ด้วยคะแนนเสียง 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 160 คน ก่อนรวบรวมความเห็นนำไปศึกษาต่อไป

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.พร้อมคณะ ได้กล่าวชี้แจงว่า จากการศึกษาของ กมธ.พบว่า ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อหลักประเภทสิ่งพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์จะมีกลไกหน้าที่กำกับดูแลกันเอง แต่ปัจจุบันสังคมไทยรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีวิธีการปฏิรูปที่ชัดเจนและครอบคลุมในทุกมิติ ดังนั้น กมธ.จึงได้เสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวใน 5 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.การส่งเสริม สนับสนุนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ 2.สร้างกลไกบริหารจัดการและกำกับดูแลการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ในลักษณะการกำกับกันเอง ที่มีภูมิคุ้มกันและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกดังกล่าว 3.เสริมสร้างและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้สังคมไทยใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ มีจริยธรรม คุณภาพ และเหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมไทย 4.การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม แนวทางและรูปแบบการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน และ 5.การมีกระบวนการตรวจสอบและการประเมินผล อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์, สื่อออนไลน์ควรให้กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลัก ในการกำหนดให้บทบาทหน่วยงานในสังกัดทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบสื่อที่ไม่เหมาะสม, กลไกภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ใช้สื่อผู้ที่ได้รับการยอมรับในลักษณะเป็น “เน็ตไอดอล” ให้ร่วมทำกิจกรรมเกี่ยวกับการกำกับดูแลกันเองในกลุ่มผู้ใช้สื่อ และผู้เกี่ยวข้องกับสื่อต่างๆ ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานต่างๆ ได้ทางสาธารณะอย่างเปิดเผยและเข้าถึงได้ทุกเวลา ทั้งนี้ กมธ.เห็นว่าหากมีการดำเนินการตามแนวทางข้างต้นแล้ว จะส่งผลให้สังคมไทยเกิดความตระหนักรู้ และจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบการใช้งานสื่อตามขอบเขตของกฎหมาย จนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย โดยไม่ต้องใช้กระบวนจัดการทางด้านกฎหมายในการแก้ปัญหาหลัก

เพิ่มพงษ์ เชาวลิต กรรมาธิการฯ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการใช้สื่อสร้างสรรค์ เป็นกลไกการบริหารจัดการการใช้สื่อออนไลน์เชิงบวกและสร้างสรรค์ พร้อมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและกระบวนการตรวจสอบประเมินผลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่สมาชิก สปท.บางส่วน อาทิ กษิต ภิรมย์ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ใช่หนุมานที่จะทำหน้าที่ได้ทุกคณะกรรมการ

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. อภิปรายว่า ขอให้กรรมาธิการฯทบทวนและแก้ไขการออกใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะการออกใบรับรองที่สื่อต้องผ่านการอบรมและเจ้าของกิจการต้องผ่านการอบรมด้วย ทั้งที่ความจริงสื่อควรมีสิทธิเสรีภาพ ไม่ควรถูกบังคับให้เปิดเผยความคิด ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องแสดงที่มาของบัญชีทรัพย์สิน เพราะใช้ภาษีประชาชน แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องเปิดเผยความความคิด

“แล้วเหตุใดสื่อจึงต้องดำเนินการตามที่ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ทั้งที่สื่อส่วนใหญ่เป็นเอกชนใช้เงินทุนตัวเอง และสื่อก็มีสิทธิเสรีภาพจะเปิดเผย หรือไม่เปิดเผยก็ได้ ต้องระมัดระวัง หากถูกนำไปตัดตอนวิพากษ์วิจารณ์บางส่วน อาจถูกตั้งคำถามว่า สปท.กำลังจะไปเขียนอะไรที่ควบคุมขนาดนั้นหรือไม่” คำนูณ กล่าว
 

ต่อมา พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า กรรมาธิการจะแก้ไขและปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ตามข้อสังเกตของ สปท.ภายใน 30 วัน ซึ่งจะเริ่มพิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า โดยวางแนวทางให้งเจ้าหน้าที่ถอดคำอภิปรายของสปท.ทั้ง 20 คนเพื่อนำความเห็นที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุง อาทิ คำนิยามของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะมีข้อท้วงติงว่าไม่ควรเหมารวม ควรแยกรายละเอียดเป็นสื่อแต่ละประเภท เช่น สื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก สื่อออนไลน์ หรือการเผยแพร่ข้อมูลผ่านกลุ่มแฟนเพจเฟซบุ๊ค 

“ส่วนข้อเสนอของผมที่ให้เขียนบทเฉพาะกาลกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ 2 ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพียง 5 ปี จากนั้นจะไม่ให้ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐร่วมเป็นสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติอีกต่อไปนั้น ยังตอบไม่ได้ว่าจะแก้ไขหรือไม่ เพราะเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่เสนอต่อที่ประชุมและยังไม่ใช่มติของกรรมาธิการ ขณะที่สมาชิก สปท. ไม่ได้ตอบรับหรือแสดงความเห็นสนับสนุนแต่อย่างใด” พล.อ.อ.คณิต กล่าว

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุลแะโทรทัศน์รัฐสภา และ สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท