พนักงานราชการพิเศษ รับคนเก่งหน้าใหม่ อาจได้คนเก่งหน้าเก่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จากการให้ข่าวของเลขาธิการ ก.พ. เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแนวทางการให้ “คนเก่ง” นอกระบบราชการสามารถเข้ามาทำงานในระบบราชการได้ผ่านตำแหน่ง “พนักงานราชการพิเศษ” โดยมีอัตราเงินเดือนที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าภาคเอกชนนั้นได้รับกระแสความสนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น โดยรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นที่น่าสนใจว่าเป็นไปเพื่ออะไร และรัฐจะได้ประโยชน์จากแนวทางดังกล่าวจริงหรือไม่?

ก่อนอื่นเรามาพิจารณารายละเอียดของแนวทางดังกล่าวเสียก่อน โดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เห็นชอบการรับพนักงานราชการพิเศษที่ต้องการแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้เชี่ยวชาญพิเศษมาทำหน้าที่ที่ปรึกษา โดยอัตราค่าตอบแทนสูงสุดอยู่ที่ 218,400 บาทต่อเดือน ต่ำสุดที่ 109,200 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับค่าตอบแทนของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ กลุ่มสองคือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะค่าตอบแทนจะอยู่ระหว่าง 37,680 – 68,350 บาท ขึ้นอยู่กับการต่อรองกับส่วนราชการที่ว่าจ้าง ทั้งนี้ ยังมีการเปิดโอกาสให้พนักงานราชการพิเศษสามารถเลือกเข้ารับบรรจุเป็นข้าราชการได้ด้วย

แล้วใครคือกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นพนักงานราชการพิเศษ? จากหนังสือต้นเรื่อง[1] จากสำนักงาน ก.พ. ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ มี 3 กลุ่ม ได้แก่

(1) ผู้ที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันในระดับชาติหรือนานาชาติ โดยเน้นที่ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

(2) ผู้มีคุณวุฒิพิเศษที่หายากหรือขาดแคลนของตลาดแรงงานในสาขาที่จำเป็นต่อการบรรลุภารกิจของส่วนราชการ และ

(3) ผู้สั่งสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากการปฏิบัติงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เช่น ข้าราชการเกษียณอายุ อดีตเอกอัครราชทูต ผู้มีประสบการณ์จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทชั้นนำ องค์กรหรือสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษา เป็นต้น   

นอกจากนี้ กระบวนการสรรหาสามารถดำเนินการเชิงรุกได้และมีความคล่องตัวกว่าการสรรหาในระบบปกติเนื่องจากดำเนินการในลักษณะของสัญญาจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด นั่นหมายความว่า หากส่วนราชการ หรือสำนักงาน ก.พ. เห็นว่ามีผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายกลุ่มเป้าหมายก็สามารถสรรหามาทำงานกับภาครัฐได้ ตามเงื่อนไขข้างต้น  

เมื่อพิจารณารายกลุ่มเป้าหมายเราจะพบว่า กลุ่มแรกนั้นมีเป้าหมายที่จะดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถระดับสูงของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและค่าตอบแทนของภาคเอกชนนั้นสามารถจูงใจบุคลากรกลุ่มนี้ได้มากกว่า และที่สำคัญธรรมชาติของบุคลากรกลุ่มนี้มัก “ไม่ถูก” กับระบบการทำงานในระบบราชการที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบในทุกขั้นตอน และที่สำคัญระบบการจัดซื้อจัดจ้างของระบบราชการไม่สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรกลุ่มนี้ที่ต้องการความรวดเร็วให้ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง

ทั้งนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[2] ที่ระบุว่า หลังการจ้างงานพนักงานกลุ่มนี้จำเป็นต้องจัดให้มีระบบพี่เลี้ยงที่ให้คำแนะนำเรื่องกลไกและระเบียบราชการที่จำเป็นในการทำงาน ตลอดจนต้องมีผู้บังคับบัญชาที่สามารถบริหารคนเก่งเหล่านี้ได้ รวมถึงต้องมีระบบการประเมินผลในเชิงคุณภาพของผลงานต่อความคาดหวังของตำแหน่งงานนั้น ซึ่งทำให้เห็นว่าแม้จะได้คนเก่งมาแต่ยังต้องทำงานในสภาพแวดล้อมของระบบราชการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามสำคัญสำหรับเรื่องนี้ คือ รัฐจำเป็นต้องทำทุกอย่างเองหรือไม่ ในหลายประเทศรัฐทำหน้าที่เพียงส่งเสริมและกำกับดูแลการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยปล่อยให้ภาคเอกชนร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ พร้อมๆ ไปกับการสร้างนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ รัฐไม่จำเป็นต้องแบกรับทุกอย่าง เพราะทุกสิ่งที่รัฐทำย่อมหมายถึงงบประมาณที่ประชาชนจะต้องจ่ายมากขึ้น

ส่วนของกลุ่มที่สองนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกส่วนราชการมีโอกาสหาบุคลากรที่มีศักยภาพที่สอดคล้องกับภารกิจของตนเอง อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้น่าจะถูกจับตาจากสังคมและข้าราชการภายใน เนื่องจากเมื่อใช้การสรรหาแบบเชิงรุกอาจเกิดการ “เลือก” บุคลากรบนฐานของระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ หรือ “เด็กฝาก” ได้ หรือไม่ก็อาจจะซ้ำซ้อนกับช่องทางเดิมที่มีอยู่คือระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (HiPPS) ของสำนักงาน ก.พ. และ โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงานของข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่เดิมได้

กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการเกษียณอายุประเภทต่างๆ สามารถเข้ามามีตำแหน่งหลังเกษียณได้ รวมถึงผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษาด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วระบบราชการไทยไม่ว่าจะยุคสมัยใด มักจะเชิญข้าราชการเกษียณอายุมาเป็นนั่งตำแหน่งกรรมการ และอนุกรรมการต่างๆ จำนวนมาก (รวมๆ กันมีมากกว่า 100 คณะกรรมการ) ซึ่งได้ค่าตอบแทน 8,000 – 4,000 บาท เป็นค่าตอบแทนกรรมการรายเดือนหรือค่าเบี้ยประชุมรายครั้งตามตำแหน่งที่กระทรวงการคลังกำหนด[3]  

ยิ่งดูจากเป้าหมายที่ต้องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้วเราอาจจะได้เห็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถูกจ้างมาทำงานในระบบราชการในฐานะพนักงานราชการพิเศษข้างต้นไม่มากก็น้อย เนื่องจากในจำนวนสมาชิก สปท. จำนวน 200 คนนั้นมีข้าราชการเกษียณอายุ 34 คน และข้าราชการระดับสูงอีก 30 คน นักวิชาการหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวม 20 คน และมาจากภาคธุรกิจ 8 คน ซึ่งหากพิจารณาในมิติของความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สมาชิก สปท. เหล่านี้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานราชการพิเศษข้างต้น และเปลี่ยนจากได้รับเงินเดือนจากกว่า 7 หมื่นบาท มาเป็นหลักแสนบาทได้ พร้อมรับบำนาญและสวัสดิการต่างๆ อย่างต่อเนื่องได้    

อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าคิดคือ ข้าราชการประจำกว่า 1.29 ล้านคน[4] ที่ผ่านระบบการสอบแข่งขันเข้ามานั้นไม่ใช่คนเก่งหรือ? ถ้าคำตอบคือเราได้คนไม่เก่งมาเป็นข้าราชการ วิธีการที่จะแก้ไขก็น่าจะเป็นการปรับปรุงระบบการสรรหาและคัดเลือกข้าราชการ ซึ่งคนที่รับผิดชอบโดยตรงคือสำนักงาน ก.พ. แต่...ถ้าคำตอบคือเราได้คนเก่งเข้ามาในระบบราชการ ก็ต้องมาพิจารณาต่อไปว่าทำไมคนเก่งที่เราต้องจ่ายค่าตอบแทนกว่า 6.3 แสนล้านบาทต่อปี ไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ความเก่งในการพัฒนาประเทศได้ ซึ่งความเห็นของผู้เขียนคิดว่าประเด็นนี่น่าจะสำคัญมากกว่า

หากจะมองให้เป็นระบบมากขึ้น เมื่อมีข้าราชการเข้ามาในระบบราชการไทยเขาก็จะได้รับการฝึกอบรม การพัฒนาในหลักสูตรต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป บางรายได้ทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และหากข้าราชการจะเติบโตตามสายงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมที่สำคัญๆ เฉพาะตำแหน่งก่อน ดังนั้น เราจะกล่าวหาว่าคนที่อยู่ในระบบราชการไม่ได้รับการพัฒนาก็คงจะไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันหาคำตอบคือทำไมคนเก่งเหล่านี้จึงไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้ วัฒนธรรมในระบบราชการที่เน้นความอาวุโสเป็นอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ความเก่งหรือไม่ กฎระเบียบภายในเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ และที่สำคัญระบบประเมินผลที่ใช้สะท้อนคุณภาพของผลงานหรือสะท้อนความชื่นชอบของเจ้านายกันแน่?

หากตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะไม่สามารถทำให้เราใช้ประโยชน์จากคนเก่งที่ได้มาใหม่อย่างคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป และยิ่งไปกว่านั้น อาจเป็นการเปิดช่องให้ “คนเก่า” หรือ “คนเดิม” มานั่งเก้าอี้ใหม่ รับค่าตอบแทนใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นเพียงการหางานให้คนเกษียณอายุทำเท่านั้น 

 

เชิงอรรถ

 

[1] หนังสือที่ นร 1008.5/8 ลงวันที่ 24 มกราคม 2560

[2] หนังสือที่ วท (ปคร) 0211/799 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560

[3] ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนและเป็นรายครั้งสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ พ.ศ. 2558.

[4] สำนักงาน ก.พ. 2559. กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2558. นนทบุรี.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท