Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20-21 เม.ย.ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท จัดสัมมนาสาธารณะ “บทบาทอุดมศึกษาในยุคประชาธิปไตยถดถอย การสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม” ที่ห้องประชุม 101 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

บทที่ 3 ของซีรีส์มหาวิทยาลัยกับการสร้างพลเมือง นำเสนอเสียงจากภาคนิสิตนักศึกษาถึงข้อกังวลต่องานกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน พลังนักศึกษาที่เคยเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ทางการเมือง นับวันค่อยๆถอยห่างจากพื้นที่ทางการเมือง และความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ตกขบวนรถไฟของกาลสมัย ยังคงเข้าใจเรื่องพลเมืองแค่ต้องแต่งตัวถูกระเบียบ เชื่อฟังกฎ กติกา

อ่าน มหา'ลัยกับการสร้างพลเมือง บทที่ 1: เมื่อเราไม่ได้พูดถึง "พลเมือง" คนเดียวกัน

อ่าน มหา'ลัยกับการสร้างพลเมือง บทที่ 2 : ความต้องการของโลก-ตลาด ที่เด็ก มหา’ลัยไทยไม่ตอบโจทย์

ตัวแทน น.ศ. เผย คนสนใจกิจกรรมบันเทิงมากกว่า หลายงานจัดสืบต่อกันมาแบบงงๆ พลังนักศึกษาห่างจากการเมืองออกไปเรื่อยๆ

จากซ้ายไปขวา สุทธิดา จันทร์เหม ภานุวัฒน์ มานพ ประสิทธิ์ กุลธน ทรัพย์สมบัติ ครุธาโรจน์ พัทนินทร์ วิเศษรัมย์

ในหัวข้อเสวนา “ชมรมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาโดยตัวแทนนักศึกษา” ร่วมเสวนาโดยประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภานุวัฒน์ มานพ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ กุลธน ทรัพย์สมบัติ จากมหาวิทยาลัยมหิดล พัทนินทร์ วิเศษรัมย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสุทธิดา จันทร์เหม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดโครงสร้างการรวมกลุ่มทำกิจกรรม สรุปเป็นใจความได้ว่า มหาวิทยาลัยมีงบประมาณกิจกรรมส่วนนักศึกษาให้ มีสโมสรนิสิตนักศึกษาคอยดูแลเรื่องการจัดโครงการ การตัดงบประมาณ แต่ละมหาวิทยาลัยมีรูปแบบการหาสมาชิกกลุ่มกิจกรรมไม่เหมือนกัน บ้างก็ให้เลือกตามความสมัครใจ บ้างก็กำหนดเป็นข้อบังคับให้เลือกอยู่กลุ่มกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งไปเลย

รูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็นกิจกรรมกีฬา ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา บำเพ็ญประโยชน์ และวิชาการ วิทยากรทั้งห้าที่เป็นตัวแทนจากสโมสรนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ใช่กิจกรรมบังคับก็จะมีคนทำกิจกรรมไม่เยอะ อาจเป็นเพราะว่าไม่มีสภาพบังคับและตารางเรียนไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรม นิสิตนักศึกษาที่รับทุนของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มักถูกผูกพันเข้ากับการทำกิจกรรม ในหลายมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษากลุ่มดังกล่าวมักเป็นกลุ่มที่ถูกเรียกให้มาช่วยงานบ่อยครั้ง ประสิทธิ์และสุทธิดา กล่าวว่า นิสิตนักศึกษา ม.เชียงใหม่และ ม.ศิลปากร มีจำนวนการเข้าร่วมกิจกรรมเชิงบันเทิง หรือสานความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษามากกว่ากิจกรรมอื่นๆ กิจกรรมวิชาการมีจำนวนน้อยในเชิงเปรียบเทียบ บางกิจกรรมก็เป็นกิจกรรมที่ทำสืบต่อกันมาเช่นการวิ่งขึ้นดอย รับน้อง ฯลฯ ในหลายกิจกรรม แม้แต่ผู้จัดทำไม่ได้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ของกิจกรรม ในกรณีของ ม.เชียงใหม่ กิจกรรมที่คณะหลายกิจกรรมเป็นกิจกรรมปิด ไม่ปล่อยให้ตัวแทนนักศึกษาจากส่วนกลางเข้าไปตรวจสอบได้

ในส่วนกิจกรรมวิชาการ ประสิทธิ์ กล่าวว่า ใน ม.เชียงใหม่มีสัดส่วนกิจกรรมวิชาการน้อย เสวนาวิชาการก็มีคนเข้าน้อยตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ภายหลังมีรัฐประหาร การจัดทำเสวนาก็ต้องขอมหาวิทยาลัย ขอทหาร แต่ถ้าขอทหารก็โดนปัดตกอยู่ดี มิหนำซ้ำ ทางมหาวิทยาลัยเองเป็นคนส่งรายชื่อนักกิจกรรมให้ทหาร ตนเห็นว่า พลังนักศึกษาน้อยกว่าในอดีตจริง กิจกรรมในมหาวิทยาลัยก็ออกห่างจากการเมืองไปเรื่อยๆ

“ทุกคนพูดว่าในมหาวิทยาลัยยังไม่มีพื้นที่ให้เรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งก็มาจากโครงสร้างสังคมในมหาวิทยาลัย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ ความมั่นคงในชีวิตรวมถึงตัวนักศึกษาที่ไม่ตั้งใจจะขวนขวายเอง” สุทธิดา กล่าว

ผลวิจัย 6 สถาบัน เผย หลักสูตรสร้างพลเมืองยังไม่บัญญัติชัดเจน นักศึกษาทำกิจกรรมการเมือง/สิทธิมนุษยชนน้อย

วัชรฤทัย บุญธินันท์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอร่างผลงานวิจัย “อุดมศึกษากับการพัฒนาความเป็นพลเมือง: แนวคิดและผลการศึกษาเบื้องต้นจาก 6 มหาวิทยาลัยไทย” ภายใต้หัวข้ออภิปราย “อุดมศึกษาและการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นพลเมือง” โดยมีอรรถพล อนันตวรสกุลเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

วัชรฤทัย กล่าวว่า บริบทช่วงสิบปีของไทยที่มีความขัดแย้งการการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ นำไปสู่ข้อสงสัยว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษาและหน้าที่พลเมืองคืออะไรกันแน่ จากนั้นจึงเสนอข้อค้นพบจากการศึกษาและทำวิจัยจาก 6 มหาวิทยาลัย (ธรรมศาสตร์,มหิดล, เชียงใหม่,ทักษิณ,ศิลปากร และศรีนครินทรวิโรฒ) โดยศึกษาจากหลักสูตรทั่วไปและกิจกรรมนอกหลักสูตร สัมภาษณ์ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาการศึกษาทั่วไป และให้นักศึกษาทำแบบสอบถามและทำการพูดคุยเป็นกลุ่ม

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ พบว่า ในขณะที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นต่างมี หรือวางแผนที่กำลังจะมีการจัดวิชาการเรียนการสอนหน้าที่พลเมืองผ่านวิการการศึกษาทั่วไป แต่ในระดับผู้บริหาร ยังไม่มีความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการเป็นพลเมืองที่ดี ผู้บริหารจำนวนมากยังมองประชาธิปไตยว่าเป็นการดูแลนักศึกษาให้ได้รับการศึกษาเท่ากัน ได้แสดงความเห็นเสรี แต่ว่าการเรียนการสอนด้านนี้ยังไม่ได้ถูกสถาปนาชัดเจนในหลักสูตร แต่สอดแทรกไปกับตัวผู้สอนแทน

ในแง่กิจกรรมนักศึกษา บางที่ บางกิจกรรมเป็นกิจกรรมภาคบังคับ ซึ่งถ้าไม่ทำก็เรียนไม่จบ ในขณะที่ชมรมของนักศึกษาที่มีจำนวนสมาชิกเยอะที่สุด ได้แก่ ชมรมกีฬา รองลงไปเป็นชมรมศิลปวัฒนธรรม ศาสนา ชมรมวิชาการและกลุ่มชมรมอาสาพัฒนาสังคมลดหลั่นลงมา โดยกิจกรรมที่นักศึกษาส่วนมากทำนั้นเป็นกิจกรรมที่มีอยู่แล้วแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของ ออกค่ายอาสา ส่วนการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ มหาวิทยาลัย การพูดถึงสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นทางการเมืองนั้นมีจำนวนน้อยกว่ากิจกรรมลักษณะอื่น

ภาพจากสไลด์วิทยากร: รายการกิจกรรมที่นิสิตนักศึกษาทำ โดยกิจกรรมอาสาไม่ว่าจะบริจาคสิ่งของ ออกค่าย นำมาเป็นอันดับต้นๆ สว่นกิจกรรมการตรวจสอบภาครัฐ มหาวิทยาลัย การพูดถึงสิทธิมนุษยชนอยู่อันดับรองสุดท้าย

ภาพจากสไลด์วิทยากร: ต่อคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นพลเมืองประชาธิปไตย เรียงตามลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ 1. การรับผิดชอบต่อสถานภาพและบทบาทของตน 2.การเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกา 3.มีความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน 4.มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย 4.มีความตื่นตัวทางการเมือง

วัชรฤทัย กล่าวว่า 3 เรื่องที่นักศึกษาเป็นห่วงที่สุด จากการให้ทำแบบสอบถามคือ คุณภาพการศึกษา การไม่มีระเบียบวินัยของนักศึกษาและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ในขณะที่การให้ความสำคัญกับการเคารพค่านิยม 12 ประการ กับการมีส่วนร่วมในการเมืองค่อนข้างจะมีความผกผันตามแต่ละมหาวิทยาลัย

ต่อวิชาการศึกษาทั่วไป มีบางความเห็นจากนักศึกษาว่า “วิชาดังกล่าวทำให้เราแกล้งทำเป็นคนดี” “ขาดการปฏิบัติจริง” นักศึกษาอยากเห็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนและบรรยากาศการถกเถียงในห้องเรียนมากขึ้น อย่าบังคับให้ไปทำจิตอาสา

ตัวแทนอาจารย์มหาวิทยาลัยเผย มีหลักสูตรสร้างพลเมือง แต่ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ เปรย รัฐ-สังคมถ่วงวิถีพลเมืองประชาธิปไตย

จากขวาไปซ้าย พิทักษ์ ศิริวงศ์ ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ดิญะพร วิสมิตนันท์

ในหัวข้ออภิปราย “กิจกรรมนอกหลักสูตรกับการสร้างความเป็นพลเมือง” เชิญ รศ.พิทักษ์ ศิริวงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดิญะพร วิสมิตนันท์ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมเสวนาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองโดยมหาวิทยาลัย

พิทักษ์ยกตัวอย่างกิจกรรมของคณะวิทยาการจัดการ ที่ได้ส่งนักศึกษาลงไปทำวิจัยการตลาดขายปลาในชุมชนท้องถิ่น ให้นักศึกษาลงไปพบสภาพสังคม ให้มีจิตใจการเป็นพลเมืองเชิงรุก หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคมด้วยการขายเสื้อ เอารายได้ไปใช้กับชุมชน ไม่ใช่เอาแต่เงินมหาวิทยาลัยไปลงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังลงชุมชนเพื่อทำหนังสือ ถือเป็นการบูรณาการความรู้ในห้องเรียน รองอธิการบดี ม.ศิลปากร คิดเห็นว่า การสร้างความเป็นพลเมืองมีวิธีการ กระบวนการที่ต่างกันตามประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่หล่อหลอมความเป็นตัวตนของนักศึกษา แต่ก็ควรมีเป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างสังคมไทยปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้นักศึกษาเป็นพลเมืองเชิงรุก หรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม ทั้งรัฐเองก็มีภาพความเป็นพลเมืองของรัฐในแบบที่ต่างออกไป จะต้องใช้เวลาอีกมากในการไปให้ถึงจุดหมายดังกล่าว “มหาวิทยาลัยก็สอนให้นักศึกษาเห็นความอยุติธรรม ไม่ดูดายปัญหาสังคม แต่จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยมีหลักสูตรขนาดนั้น ให้เด็กไทยเป็นแบบนั้น ก็ต้องใช้เวลา ต่อสู้กับโครงสร้างทางสังคมอีกเยอะ...ก็คาดหวังว่าในชาตินี้จะได้เห็นเยาวชนในชาติเป็นเยาวชนที่มีค่า นำประเทศนี้ให้เท่าเทียมประเทศอื่น”

ดิญะพร กล่าวว่า ม.ทักษิณได้จัดให้นักศึกษาต้องทำกิจกรรมนอกห้องเรียนให้ครบ 100 ชั่วโมง แรกเริ่มมีเสียงต่อต้านจากนักศึกษา แต่ภายหลังจากมีระบบนี้คนทำกิจกรรมอาสาเยอะขึ้นเพื่อเก็บชั่วโมงและยังมีการเสริมสร้างให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทที่ควรมีต่อชุมชน

ชาลีกล่าวว่า หลักสูตรสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีมาตั้งแต่ปี 2549 มีวิชา TU 100 เป็นกิจกรรมในหลักสูตร สอนให้รู้จักตั้งคำถาม ทักษะการยอมรับความหลากหลาย ความท้าทายต่อหลักสูตรดังกล่าวคือทำให้นักศึกษามองภาพสังคมเชิงโครงสร้างทั้งระบบ การนำนักศึกษาไปเห็นโครงสร้างใหญ่ของสังคม ตั้งคำถามกับโครงสร้างคำถามที่บิดเบี้ยวและอยุติธรรม และยังมีสิ่งที่ยังต้องเสริมคือทักษะการทำกิจกรรมในตัวนักศึกษา เช่น การเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน การเปิดโอกาสให้วางแผน ดำเนินงานของบประมาณมหาวิทยาลัย อาจารย์ให้คำปรึกษา และมีการให้นักศึกษาทำบทสะท้อนการทำงานหลังกิจกรรมจบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net