Skip to main content
sharethis
 
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือระดมความเห็น เสนอจัดสวัสดิการและค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน
 
เครือข่ายเเรงงานภาคเหนือซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนคนทำงานงานทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลผ่านผู้ว่าฯเชียงใหม่ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ในอัตรา 450 บาทต่อวัน พร้อมเปิดให้แรงงานทุกระดับเข้าสู่กองทุนประกันสังคม
 
หลังจากเครือข่ายเเรงงานภาคเหนือซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนคนทำงานงานทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ เดินขบวนรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคม จากลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ถึงสวนสาธารณะหนองบวกหาด แก่ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่และสาธารณะ พร้อมออกส่งสาสน์ถึงสาธารณะด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันกรรมกรสากล" ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้ของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ สิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ในฐานที่คนทำงานเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ
 
วันนี้ 1 พ.ค. 60 "วันกรรมกรสากล" เครือข่ายแรงงานภาคเหนือกว่า 160 คน เคลื่อนขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมออกแถลงการณ์ยื่นข้อเรียกร้อง ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดนั้นได้มาจากการระดมความเห็นของแรงในงานภาคเหนือทั้ง แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานในโรงงาน และแรงงานภาคบริการ
 
สุชาติ อิ่งต๊ะ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และสมาชิกกลุ่มสหพันธ์คนงานข้ามชาติ(MWF) กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายแรงงานภาคเหนือยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล และสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ หลายเรื่องก็ได้รับการแก้ไขอย่างเช่น เรื่องบัตรเลข 6 เลขศูนย์ หรือบัตรพื้นที่สูง หรือการขอให้อนุญาตออกนอกพื้นที่ได้ ปีนี้พวกตนมายื่นข้อเรียกร้องผ่านผู้ว่าฯไปถึงรัฐบาลเช่นเดิม มีทั้งข้อเรียกร้องเดิมที่ยังไม่ได้ กับข้อเรียกร้องใหม่ที่ได้จากการระดมความเห็นตลอดสองวันที่ผ่านมา เพราะแรงงานก็เผชิญสถานการณ์ปัญหาใหม่ๆด้วย และเรียบเรียงมาเป็นข้อเรียกร้อง
 
“ข้อเรียกร้องที่เราเรียกร้องมาทุกปีแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา หลักๆก็จะมีเรื่องการรวมกลุ่มที่เสนอให้รัฐบาลรับข้อเรียกร้อง ILO ข้อ 87 และ 98 ขยายอายุทำงานผู้สูงอายุจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ส่วนเรื่องประกันสังคมเราเรียกร้องจนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีบ้าง เล็กๆน้อยๆที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น เงื่อนไขการรับสิทธิประกันสังคมของแรงงานบางประเภทที่ยังไม่เท่าเทียมกับแรงงานภาคอื่นๆ”
 
“ค่าแรง 450 บาท เป็นค่าแรงที่เราคิดมาจากค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ปัจจุบันแรงงานมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เฉพาะค่าข้าวต่อวันตกมื้อละ 50 บาท ข้าว 40 น้ำ 10 บาท วันละสามมื้อตก 150 บาท ไหนจะค่าหอ ค่ารถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก วันละสามร้อยบาทแทบจะไม่เหลืออะไรเลย จากการระดมความเห็นมา เราเห็นว่าค่าจ้างที่จะทำให้พออยู่ได้ คือ 450 บาท”
 
“สิ่งที่พวกเราอยากได้รับมากที่สุด ในบรรดาข้อเรียกร้องทั้งหลาย คือ สิทธิการรวมกลุ่ม การรวมกลุ่มไม่ใช่เรื่องกระทบต่อความคง แต่เป็นเรื่องของการเพิ่มศักยภาพในการต่อรองเรื่องสิทธิที่พวกเราควรจะได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ต้องการรวมกลุ่มให้เรามีอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าคนอื่น อีกเรื่อง คือเรื่องผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุหลายคน พออายุ 55 ปี ก็ต้องอยู่อย่างผิดกฎหมาย เพราะต้องกลับบ้าน แต่กลับไปก็ไม่มีใครดูแล เพราะลูกหลานทำงานอยู่ที่นี่หมด จึงอยากให้รัฐพิจารณาขยายกรอบเวลาของผู้สูงอายุ หรือไม่ก็ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามจนกว่าเขาจะพร้อมกลับไปอยู่ประเทศต้นทาง”
ตัวแทนแรงงานภาคเหนืออ่านบทกวี "แรงงาน" แต่งโดย แสงดาว ศรัทธามั่น เครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้เสนอข้อเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการดังต่อไปนี้
 
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย
1.เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า “แรงงานต่างด้าว” ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น “แรงงานข้ามชาติ”
2.ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ในอัตรา 450 บาทต่อวัน เพื่อให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม คุ้มครองคนทำงาน และสมาชิกครอบครัว
3.ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ภายในปี 2560
4.ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ภายในปี 2560 เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน
5.ขอให้รัฐบาลกำหนดให้แรงงานทุกคนทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
6.ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการ ผู้ทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ
7.ขอให้รัฐบาลมีมติครม. ขยายพื้นที่การทำงานของแรงงานข้ามชาติได้ทั่วจังหวัด โดยไม่ต้องขอเพิ่มสถานที่ทำงาน
8.ขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
 
ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงมหาดไทย
1.ขอให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎระเบียบในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ให้มีเสรีภาพในการเดินทาง
 
ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน
1.ให้กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ในประเด็นสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง โดยไม่เลือกปฏิบัติ
2.แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิการพัฒนาฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสิทธิได้รับประกาศนียบัตร และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง
ข้อเรียงร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
1.เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ให้จังหวัดเชียงใหม่ จัดระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและราคาถูกสำหรับคนทำงานทุกคน
 
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
1.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดูแลให้แรงงานที่กลับไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่นทางทะเบียนราษฎร์ ทางการศึกษา สุขภาพและอาชีวอนามัย และสิทธิพลเมือง
2.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเปิดให้จดทะเบียนสมรสและทำบัตรประชาชนได้ในสถานฑูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย
3.ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดำเนินการให้มีระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน
 
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศไทย และรัฐบาลสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
1.ขอให้รัฐบาลประเทศไทยและรัฐบาลสาธารณะรัฐแห่งสหภาพเมียนมาปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนสำนักงานจังหวัดฯ ออกมารับข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ พร้อมกับกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดฯ พยายามดูแลกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติอย่างเต็มที่ โดยเปิดให้มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ถ้ามีปัญหากับนายจ้างสามารถมาร้องเรียนได้ทุกเมื่อ ส่วนข้อเรียกร้องในปีนี้ทางจังหวัดจะรับไปพิจารณาว่าเรื่องใดที่ทางจังหวัดเชียงใหม่สามารถแก้ไขได้ จะดำเนินการพิจารณา ส่วนเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจจะส่งต่อไปให้รัฐบาลส่วนกลาง
 
 
เครือข่ายแรงงานเรียกร้องปรับ “ค่าจ้าง” วันเมย์เดย์ ชี้ 300 บาท ไม่พอเลี้ยงครอบครัว
 
(1 พ.ค.) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เครือข่ายแรงงานจากภาคส่วนได้จัดกิจกรรม “วันแรงงานแห่งชาติ (เมย์เดย์)” เพื่อเรียกร้องสิทธิลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทุกคน นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ฯลฯ โดยมีพี่น้องผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 3,000 คน ทั้งนี้ นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. และ นายประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ต่างขึ้นกล่าวข้อเรียกร้อง โดยส่วนใหญ่ขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ขึ้นค่าจ้างตามความเป็นจริง โดย 300 บาทต่อวัน ไม่เพียงพอ เพราะแรงงาน 1 คน เลี้ยงดูครอบครัว 2 คน ค่าจ้างควรพอเลี้ยงจำนวนคน ส่วนจำนวนเท่าไรต้องมาหารือร่วมกัน
 
นายสาวิทย์ แก้วหวาน กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานได้เคยยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 10 ข้อ โดยในเรื่องค่าจ้างนั้น ปีนี้ไม่เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเรียกร้องทุกปี แต่ไม่เป็นผล เพราะเรียกร้องเมื่อไร ค่าครองชีพขึ้นก่อนค่าแรง และค่าจ้างที่ขึ้นก็ไม่มากมาย ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างไม่ตอบโจทย์จุดนี้ ดังนั้น ปีนี้จึงเรียกร้องขอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างค่าจ้างอย่างเป็นธรรมเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนอัตราเท่าไรนั้น ต้องมาหารือร่วมกัน ยืนพื้นต้องมากกว่า 300 - 400 บาทต่อวัน เพราะค่าจ้างวันละ 300 - 310 บาท แค่คนเดียวยังไม่เพียงพอ ขณะที่ความเป็นจริงต้องเลี้ยงดูครอบครัวถึง 2 คน เรียกว่า มีพ่อ แม่ ลูก ซึ่งมากกว่า 600 - 900 บาทด้วยซ้ำ จึงต้องมาหารือกันทุกฝ่าย ทั้งรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ว่าต้องอัตราเท่าไร
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานได้ทำพิธีเปิดด้วยธีม “แรงงานสร้างชาติ ไม่เป็นทาส 4.0” และเคลื่อนขบวนเดินไปยังองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นอันเสร็จกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ประกอบด้วย 1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ อาทิ ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน อาทิ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี 3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)
 
4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจ ในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อาทิ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว 6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม เช่น จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐนายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ. ประกับสังคม พ.ศ. 2533 และนำเงินส่งสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 33 เป็นต้น
 
7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมหมวด 5 มาตรา 53) 8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม 9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง และ 10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ
 
 
วันกรรมกรสากล คนงานรังสิต แนะ 'เศรษฐกิจแย่ ต้องแก้ด้วยเลือกตั้งภายในปี 60'
 
1 พ.ค. 2560 วันกรรมกรสากล (May Day) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) เดินทางเข้ายื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานสากลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ โดยมี มนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าฯ รับข้อเรียกร้องแทน
 
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ระบุว่า ทางกลุ่มเคยมีข้อเรียกร้องแล้วเมื่อปีก่อน เช่น การสร้างรัฐสวัสดิการ ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองเพื่อสร้างหลักประกันและเป็นกลไก ให้ลูกจ้างและสหภาพแรงงานได้เข้าถึงสิทธิ ยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง เรียกร้องให้มีค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นต้น
 
เอกสารข้อเรียกร้องระบุต่อว่า ในปีนี้ทางกลุ่มเลือกติดตามปัญหาขอคนงานในพื้นที่กับผู้ว่าฯ ทั้งจากเรื่องที่เคยยื่นไว้เมื่อวันกรรมกรสากลปีที่แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบจากผู้ว่าฯ ดังนั้นวันนี้ทางกลุ่มจึงขอแจ้งปัญหาให้ผู้ว่าฯ รับทราบ เพื่อติดตามการแก้ปัญหา ประกอบด้วย รัฐสวัสดิการ ให้รัฐบาลจัดสวัสดิการให้กับประชาชนในรูปแบบรัฐสวัสดิการ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ สาธารณสุขมีคุณภาพ ไม่มีค่าใช้จ่ายและเข้าถึงได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ค่าจ้างที่เป็นธรรม เพียงพอต่อค่าครองชีพและเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวได้รวม 3 คน
 
รัฐลงนามรับรอง อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ดังกล่าว ขอให้เข้มงวดตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจัง ปฏิรูปการศึกษา รัฐสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาภาคบังคับถึงระดับปริญญาตรี ส่งเสริมประชาธิปไตย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานถึงระดับประเทศ พร้อมให้มีการเลือกตั้งภายในปี 60 ยุติการขึ้นค่าไฟฟ้า และตรวจสอบการจ่ายน้ำประปารังสิต ประกาคลองหลวง เนื่องจากแรงดันน้ำมีปัญหา
 
 
นายกฯ ฟัง 5 ข้อเรียกร้องแรงงาน จับตาขึ้นค่าจ้าง เบี้ยคนชรา
 
(1 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2560 ภายใต้คำขวัญประจำปี “แรงงานรู้รักสามัคคี สดุดีจักรีวงศ์ รณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ข้าราชการ และสภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง
 
โดยนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานคณะกรรมการจัดงานได้นำเสนอข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2560 จัดทำขึ้นโดยสภาองค์การลูกจ้าง 15 องค์กร ร่วมกับสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ประกอบด้วย 1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร สมาคม สหภาพ และเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องข้อเดียวที่ใช้เวลาเรียกร้องมาอย่างยาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 2535 ตั้งแต่สมัยรัฐบาล รสช. และดูเหมือนทุกยุคทุกสมัยของรัฐบาลพยายามโปรยยาหอมว่าจะรับรองสัญญาทั้ง 2 ฉบับแต่ไม่เคยสำเร็จ
 
2. ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม เช่น ยกสถานะสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ หรือ องค์กรนอกระบบที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ซึ่งมีงบประมาณกว่า 1 ล้านล้านบาทที่ไม่เคยบริหารจัดการ และต้องให้รัฐบาลนำเงินมาอุดหนุน จึงจำเป็นต้องปลดล็อคให้สำนักงานประกันสังคมในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้นขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แก้ไขกฎกระทรวง กรณีลูกจ้างเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนครบตามสิทธิแล้ว ให้ลูกจ้างมีสิทธิใช้กองทุนประกันสังคมต่อไปได้ และให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเงินออมแห่งชาติ
 
3. ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้มีสิทธิประโยชน์ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนรร่วมของแรงงานนอกระบบ และให้จัดตั้งกรมคุ้มครองและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ 4. ขอให้รัฐบาลคงความเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง โดยไม่ลดสัดส่วนการถือครองจากภาครัฐลงน้อยกว่าร้อยละ 50 และให้รัฐบาลลดหย่อนเก้บภาษีเงินได้ กรณีค่าชดเชยและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง 5.ให้รัฐบาลแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกสถานประกอบกิจการ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของคนทำงาน และในกรณีที่สถานประกอบการที่มีกองทุนเงินสะสมให้แปลงสถานะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และส่งเสริมการออมของลูกจ้างในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ในทุกสถานประกอบกิจการ
 
ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนได้รับฟังไปแล้ว 5 ข้อ และจะบอกเล่าสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วและสิ่งที่กำลังจะทำ เพื่อชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจและมีส่วนในการสร้างประเทศทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ถือเป็นหุ้นส่วนประเทศ ถ้าบริษัททุกบริษัท ทั้งผู้ประกอบการ หัวหน้างาน และแรงงาน ทุกคนถือว่ามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของในการประกอบการ ของโรงงานของตัวเอง และจะทำอย่างไรให้มีความรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของ ก็จะเกิดความทุ่มเททุกอย่างลงไปในงาน นำไปสู่ผลผลิตที่ดีตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเองด้วยที่ต้องเอาใจใส่ ให้ทุกคนมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน อย่าคำนึงถึงผลประโยชน์อย่างเดียว และต้องเข้าใจว่านักธุรกิจต้องการกำไรให้มากที่สุด สิ่งที่จะทำให้ได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแรงงานด้วย ดังนั้นเรื่องการดูแลอาจจะไม่เท่าเทียมกัน ไม่เหมือนกัน รัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่
 
“ประเทศไทยยังต้องการใช้แรงงานขับเคลื่อนประเทศ นับวันยิ่งมีมากขึ้นไม่ได้น้อยลง ถึงแม้จะมีการปิดกิจการลงไปบ้าง แต่ไม่ใช่ไม่อยากทำ แต่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงการผลิต ยกระดับประเทศให้สูงขึ้น อาจมีการลงทุนประเภทอื่น หรือ ประเภทเดิม ที่เพิ่มเครื่องไม้เครื่องจักรให้มากขึ้น แต่ยังต้องการใช้แรงงานเหมือนเดิม เพราะรัฐบาลกำหนดไว้แล้วว่าต้องมีการใช้แรงงานในประเทศให้มากขึ้น ขออย่ากังวลในข้อนี้ หากไม่มีงานให้ทำ รัฐบาลก็จะหางานให้ทำจนได้ รัฐบาลต้องคิดแบบนี้ ไม่ปล่อยปละละเลย มีหน้าที่ในการดูแลคนทั้ง 70 ล้านคน นี่เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องดูแล รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนที่จะตามมา หรือรับต่อจากตัวเอง ต้องพูดว่าจะดูแลคน 70 ล้านคน ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ทั้งหมดคือคนไทย ถ้าไม่ดูแล ถือว่าไม่ใช่รัฐบาลของปวงชนชาวไทยที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แม้จะยากแสนยากแต่ก็ต้องทำ จำเป็นต้องทำโรดแมป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอแรงงาน 5 ข้อ คือหนึ่งในร้อยปัญหาที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ไม่ได้ทำเพื่ออยู่รอดไปวันๆ แต่ต้องการแก้ปัญหาให้มากที่สุด เพื่อปลดล็อกอุปสรรคของประเทศ ให้พ้นขีดจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เมื่อความต้องการใช้แรงงานขับเคลื่อนประเทศ ต้องมีทั้งแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตัวเองระลึกเสมอว่าเป็นแรงงานเหมือนกัน เพราะทุ่มเทแรงงาน ทุ่มเทใจของตัวเองในการทำงาน ถึงแม้จะใช้แรงน้อยหน่อย แต่ใช้แรงใจมากเหลือเกินในการทำงาน ไม่ได้เรียกร้องความเห็นใจ แต่เป็นหน้าที่ เพราะประเทศเป็นของพวกเราทุกคน ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีส่วนร่วมในสถานประกอบการ ให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน หากแรงงานแสดงให้ผู้ประกอบการเห็น เขาก็ต้องดูแลเรา ไม่ทอดทิ้งเรา ทั้งสองฝ่ายต้องทั้ง give ทั้ง take คือทั้งให้ และรับ เวลาไปต่างประเทศก็พูดอย่างนี้ ไทยไม่ได้รับอย่างเดียว ก็ต้องให้เขาด้วยเช่นเดียวกัน
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การพัฒนาแรงงานเป็นสิ่งสำคัญ ตามแผนงานไทยแลนด์ 4.0 อย่าไปฟังคนอื่นว่าจะคนจะไม่มีงานทำ ไทยมีเศรษฐกิจหลายรูปแบบ วันนี้อยู่ 3.0 คือ มีโรงงาน เครื่องจักรหนัก แต่พอก้าวเข้าสู่ 4.0 เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่จะพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รัฐบาลกำลังสร้างพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี ที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอยู่พอสมควร ที่จะเชื่อมโยงสามจังหวัดตะวันออก เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยระบบถนน รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ทุกคนก็จะมีส่วนช่วยสร้างไทยแลนด์ 4.0 เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะมีภาษีมากขึ้น ก็จะพัฒนาประเทศได้มากขึ้น ถ้าไม่ทำ ก็ต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่เดิมในการพัฒนาประเทศ
 
“วันนี้กำลังเปลี่ยนผ่านจากปัญหาเดิมไปสู่ปัญหาให้มันน้อยลง ถ้าทำได้ก็อยู่ได้ไปอีก 30 ปี ไม่ต้องจมไปเรื่อยๆ เหมือนเรือที่กำลังจะจม รัฐบาลได้แก้ปัญหาไปหลายประการ มีแผนงานปฏิรูปประเทศ แรงงานก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะมีส่วนในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต แปรรูป หรือการจำหน่าย ขอให้ทุกคนสบายใจว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ตัวเองตั้งใจมาหลายวันที่จะมาพบในวันนี้ ไม่เคยกลัวปัญหา ไม่เคยกลัวใครมาต่อต้าน เพราะมีใจที่จะทำให้ ถ้าเข้าใจกันก็จะไม่มีปัญหาระหว่างกัน ทำงานด้วยกันได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลพยายามปลดล็อคอุปสรรคในการลงทุน การค้า อุตสาหกรรม จำเป็นต้องแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งหมดเพื่อประชาชน หวังจะทำให้เท่าเทียมเขา สิ่งที่เราได้เปรียบคือ แรงงานของเรา คนของเรา รอยยิ้มของเรา ทุกคนไม่เคยโกรธว่าแรงงานไทยไม่มีประสิทธิภาพ เสียอย่างเดียวคือต้องพูดภาษาเขาให้ได้ ใครจะเป็นหัวหน้างานต้องทำให้ได้ จำคำพูดตัวเองไว้ ได้เร่งรัดกระทรวงศึกษาธิการไปแล้วว่าให้ดำเนินการ และให้ประสานติดต่อกับบริษัทผู้ประกอบการ เพื่อติดตั้งคำแนะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ ให้เกิดการเรียนรู้ เหมือนที่รุ่นลูกเราฟังเพลงเกาหลี ก็ฟังภาษาเกาหลีได้ แล้วรุ่นพ่อรุ่นแม่จะยอมหรือไม่ เหมือนกับการฝึกทหารใหม่ ในค่ายจะติดป้ายบอกวิธีการเป็นทหาร สอนวิธีการยิงเป้าให้แม่น ติดให้หมดทุกที่ เดินผ่านไปผ่านมาทุกวันต้องอ่าน สุดท้ายเดี๋ยวทหารก็ยิ่งแม่นกันเอง นี่คือประสบการณ์จริง ดังนั้นแรงงานต้องไม่กลัวชาวต่างชาติ ต้องเป็นเจ้าภาพที่ดี ไม่เดินหนี
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการพัฒนาให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ มีงานทำ ให้แรงงานปลอดภัยในการทำงาน เหล่านี้ทำไม่ได้เลยสักข้อ ถ้าประเทศมีความขัดแย้ง วันนี้เป็นโอกาสที่คุยกันรู้เรื่อง คุยกันเข้าใจ ไม่ใช่เดินมาประท้วงกันผิดกฎหมาย ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะผิดกฎหมาย ปล่อยปละละเลยไม่ได้ ถ้าปล่อยมากก็มีปัญหา อย่านำประเทศกลับเข้าสู่ที่เดิม มันอาจจะถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง หากมองถึงคนส่วนใหญ่จะรู้เองว่าอะไรบ้างที่ดีขึ้น ทุกอย่างที่พูดทั้งหมดคือ ความมั่นคง และความมีเสถียรภาพ คือไม่มีทะเลาะ เบาะแว้ง ไม่มีความขัดแย้ง ทุกประเทศเดินทางมาก็ชมตัวเอง แต่ก็บอกว่าไม่ต้องชม ให้ชมคนไทย เพราะตัวเองไม่เคยยุใครให้มาทำแบบนั้น ถ้าเราไม่ปล่อยปละละเลย ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ทุกอย่างก็ไม่เกิดขึ้น เหมือนกับโลกโซเชียลมีเดีย ที่มีการปล่อยข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงทุกวัน
 
“ขอให้หยุดอย่าให้คนเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวอีก วันนี้ไม่ได้บอกว่าจะลดอะไรเลย มีแต่จะเพิ่มทั้งหมด ใช้งบประมาณมหาศาล ไม่เคยลดบัตรทอง 30 บาท ขอให้ประชาชนไปจับคนที่พูดมาตบปากสักที มีแต่จะเพิ่มให้ และใช้เงินจำนวนมาก เป็นสิ่งจำเป็นเพราะมันเริ่มโครงการมาแล้ว แม้จะไม่มากนัก รัฐบาลคงไม่สามารถทำอะไรเพื่อเรียกคะแนนนิยมได้ หลายคนอาจจะไม่รักตัวเองตรงนี้ เรื่องอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษี จะมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อหาทางออก เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายต้องใช้เวลาดำเนินการ แม้ตัวเองจะมีอำนาจเต็มที่ ก็จะใช้อำนาจเท่าที่จำเป็น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้หลายเรื่อง มีเรื่องเดิมๆ พูดแล้วพูดอีก ถามแล้วถามอีกที่เดิม จนไม่รู้อะไรเป็นอะไร ตัวเองมีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ อะไรก็ตามที่ดีก็ขอให้ทุกคนร่วมกันทำ อะไรไม่ดีตัวเองจะรับผิดชอบ ขอให้มั่นใจว่าตัวเองจะไม่ทำอะไรให้เสียหายเด็ดขาด สื่อก็เพื่อนกัน เขาจำเป็นต้องเขียน ไม่อย่างนั้นก็ขายของไม่ออก พาดหัวให้มันตื่นเต้น แต่สิ่งที่สำคัญคือพาดหัวไปแล้วได้อะไรขึ้นมา ได้สร้างสังคมที่อบอุ่นหรือไม่ ตัวเองไม่ปฏิเสธเรื่องราวร้ายแรงมีอยู่ในประเทศ ขอให้ไปดูหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่มีการนำเสนอที่แตกต่างกัน ฆ่ากันตายพาดหัวตัวเล็กๆ แต่ของไทยถ่ายแล้วถ่ายอีก พูดแบบนี้เดี๋ยวสื่อก็มาชวนทะเลาะอีก แต่ไม่กลัวอยู่แล้ว เพราะมาแบบนี้ก็จะไปแบบนี้
 
“หลายอย่างที่ทำวันนี้ อย่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เขียนกันว่าอยากอยู่รวบอำนาจ เขียนทุกวัน ส่วนตัวอยากอยู่ที่ไหน ไม่มีใครไม่ตาย ทุกคนก็ตายหมด ขอให้ตายกันดีๆ ก็แล้วกัน ให้กฎหมายทำงาน อย่าปั่นไปปั่นมา คนทำงานก็ลำบากใจ คนทำผิดก็ไม่โดนลงโทษ คนตัดสินก็กลัว ไม่ได้ต้องปล่อยให้เขาทำงาน เรื่องของศาล ขอให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการ ที่ผ่านมาเป็นหรือไม่ เรื่องยุติธรรม กฎหมายคือสิ่งที่ทำให้ประเทศสงบสุข ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ทุกคนต้องช่วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนเราต้องมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ ทุกคนต้องใช้สติปัญญา ไม่ให้ถูกเขาหลอกล่อ บิดเบือน บางคดีลงทุนก็ถูกหลอก ไม่มีธุรกิจอะไรให้ผลประโยชน์มากขนาดนั้น อย่าไปเชื่อแม้แต่รายเดียว ที่จับได้วันนี้ เพราะที่ผ่านมาปล่อยปละละเลย วันนี้หนี้นอกระบบก็ทำให้ รู้ว่าสังคมต้องพึ่งอยู่ ก็ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ลดดอกเบี้ยให้ ทุกคนต้องใช้อย่างประหยัด พอเพียง ไม่ว่าเงินเดือนเท่าไร มันอยู่ได้แน่นอน ถ้าไม่ไปหมดสิ้นกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
 
“ขอให้ติดตามเรื่องขึ้นค่าจ้าง เบี้ยสูงอายุ ที่จะมีการประชุมร่วมกันสามฝ่าย จากรัฐบาล สมาคมผู้แทน และผู้ประกอบการ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ ต้องผ่านที่ประชุมร่วมกันสามฝ่าย นอกจากนั้นเด็กทุกคนต้องมีงานทำ ทุกสาขาต้องมีงานทำ อาชีวะทุกคนต้องมีงานทำทั้งหมด จะพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 จะใช้เทคโนโลยี ใช้ช่างเต็มไปหมด ปริญญาไม่ได้ใช้ อย่าไปส่งลูกเรียนให้กลับมานั่งเล่นโทรศัพท์อยู่บ้าน ต้องส่งลูกเรียน กลับมาให้มีงานทำ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
ทั้งนี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับ หลังจากเยี่ยมชมนิทรรศการที่กระทรวงแรงงานจัดขึ้น นางพิมมาศ บุญเกีย อายุ 59 ปี หญิงวัยกลางคน ชาว กทม.พยายามวิ่งเข้าไปหารถนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือกรณีถูกโกงบ้านและที่ดิน โดยอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกปลอมแปลงเอกสารไปกู้เงินจนถูกยึดที่อยู่อาศัย พร้อมร้องตะโกน “นายกฯ ช่วยด้วย ดิฉันถูกโกง โดนโกง” แต่ยังไม่ทันถึงรถเจ้าหน้าที่ก็ได้คุมตัวเอาไว้ก่อน และนำข้อมูลส่งให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือ และตรวจสอบต่อไป
 
 
ก.แรงงาน เร่งสอบนายจ้าง ก่อสร้างรถไฟฟ้าสีแดงหล่นทับคนงานเสียชีวิต เตรียมดำเนินคดีตามกฎหมายอัตราโทษสูงสุด
 
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุกรณีชิ้นส่วนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงหล่นทับคนงานเสียชีวิต และหากพบว่าสาเหตุเกิดจากการประมาทของนายจ้างให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานประกันสังคมเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างที่เสียชีวิตแล้ว
 
ด้านนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (29 เม.ย.) เวลา 09.30 น. ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุแล้วในเบื้องต้นพบว่า ซัพพอตตัวหน้าเพื่อรองรับโครงทรัสเหล็กซึ่งอยู่ระหว่างติดตั้งที่หัวเสาร่วงลงมาโดยที่มีลูกจ้างที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง 3 คน ซึ่งยืนอยู่บนซัพพอตร่วงลงมาด้วย ทั้งนี้พนักงานตรวจความปลอดภัยได้มีหนังสือเรียกให้นายจ้างมาพบเพื่อสอบข้อเท้จจริงในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้
 
หากพบว่าสาเหตุเกิดจากความประมาทของนายจ้างจะดำเนินคดีโดยอัตราโทษสูงสุดและจะไม่มีการเปรียบเทียบปรับ เนื่องจากเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ซึ่งกสร.ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามฐานความผิดนั้น ๆ ไปแล้ว แต่เมื่อทำผิดซ้ำก็จะไม่อนุญาติให้เปรียบเทียบปรับอีก
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท และขอฝากเตือนไปยังนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการให้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยในการทำงานหากพบการกระทำผิดซ้ำก็จะดำเนินคดีโดยไม่อนุญาติให้มีการเปรียบเทียบปรับเช่นเดียวกัน
 
 
สปท.เห็นชอบรายงานแผนปฎิรูปการส่งเสริมจ้างแรงงานสูงอายุ
 
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่องการส่งเสริมการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ด้วยคะแนน 152 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป โดย นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุและมีทิศทางที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงร้อยละ 1 ต่อปี ขณะเดียวกัน ประชากรไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีอายุยืนยาวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กรรมาธิการฯ จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการจ้างงานแรงงานสูงวัย ซึ่งในช่วงแรกเป็นไปด้วยความสมัครใจ รัฐต้องสนับสนุนทางด้านการเงินหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงงานจูงใจให้สถานประกอบการ ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจ้างงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน การเร่งรัดให้กระทรวงแรงงานแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้การเกษียณถือเป็นการเลิกจ้าง หรือกรณีสถานประกอบการไม่ได้กำหนดอายุเกษียณให้นับว่าอายุ 60 ปี ถือเป็นการเกษียณอายุให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชย ซึ่งเป็นการช่วยขยายอายุแรงงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม เพื่อปรับปรุงแนวทางการคำนวณบำนาญรายเดือนกรณีผู้ประกันตนลาออกจากการประกันตน และยังจ่ายเงินสมทบเข้าประกันตนเองให้เกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
 
 
คสรท. ย้ำ ค่าจ้างต่อบุคคลควรอยู่ที่ 360 บาทต่อวันต่อคน ส่วนค่าจ้างเหมาะสมต้องคำนึง 1 แรงงาน เลี้ยงดูครอบครัว 2 คนด้วย
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานที่ต้องการให้ปฏิรูป สปส. เป็นองค์กรอิสระ ว่า สปส. พร้อมรับข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ โดยเรื่องการปฏิรูป สปส. ให้เป็นองค์กรอิสระ พื้นฐานจริงๆ คือ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน ซึ่งสปส. ก็มีการดำเนินการ โดยการรับฟังความคิดเห็นกรณีการแยกหน่วยลงทุนออกไป ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย และขณะนี้กำลังร่าง พ.ร.บ. กองทุนเพื่อการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นไปตามข้อเรียกร้องนั้น บอร์ด สปส. ซึ่งมีกรรมการจาก 3 ภาคส่วน คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ก็จะทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาดำเนินการ อย่างการลงทุน ก็ต้องสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการลงทุน เป็นต้น และข้อมูลการลงทุนก็จะเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น โดยอาจเปิดเผยทุกไตรมาส ส่วนข้อเรียกร้องของผู้พิการสิทธิประกันสังคมที่หลายคนไม่ต้องการย้ายสิทธิไปยังบัตรทองตามคำสั่ง คสช. ได้ส่งเรื่องเพื่อสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาในวันที่ 4 พ.ค. นี้
 
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเรื่องค่าแรงอย่างเป็นธรรม คสรท. ไม่ได้ระบุตัวเลขว่าต้องจำนวนเท่าไร แต่ใช้ตัวเลขตามหลักสากลว่า คนงาน 1 คนต้องเลี้ยงดูครอบครัว 2 คน ซึ่งจุดนี้คณะกรรมการค่าจ้างต้องเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม แต่หากพูดถึงจำนวนตัวเลขรายบุคคล คสรท. ยืนยันที่ 360 บาทต่อคนต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา จะรอเวลาอีกประมาณ 1 - 2 เดือน หากยังไม่มีความคืบหน้า อาจขอเข้าทวงถามต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
 
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. กล่าวว่า ประเด็นที่ยังไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง คือ การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัว ซึ่งต้องไปด้วยกันทั้งหมด โดยฉบับที่ 87 จะเป็นเรื่องของการอนุญาตตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อมีสหภาพแรงงานขึ้น ก็จะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อสิทธิของแรงงานได้ เป็นไปตามฉบับที่ 98
 
 
กระทรวงแรงงาน จดลิขสิทธิ์ดาวเงิน 6 แฉก เครื่องหมายการันตีคุณภาพฝีมือแรงงาน
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินโครงการ “แรงงานติดดาว” ซึ่งเป็นการติดดาวให้กับกำลังแรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 3 ระดับ คือ ระดับ 1 หนึ่งดาว ระดับ 2 สองดาว และระดับ 3 จะมีสามดาว ในการเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแรงงาน สร้างความมั่นใจแก่ผู้รับบริการทั้งนี้ กพร. ได้ดำเนินการจดลิขสิทธิ์ดาว “เครื่องหมายผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” กับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์หรือนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ในลักษณะเป็นรูปดาวหกแฉก สีเงินเงา มีตัวอักษรภาษาอังกฤษสีน้ำเงินคำว่า “SKILL” อยู่ตรงกลาง โดยดาวเงิน 6 แฉก สื่อถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
 
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ สพร. 3 ชลบุรี จะมีการติดดาวให้กับพนักงานบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ที่ผ่านการทดสอบฯ ในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จำนวน 200 คน โดยเป็นการันตีว่าทางบริษัทจะได้พนักงานที่มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการ ส่วนพนักงานจะได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกมากมายที่ได้จากการผ่านการทดสอบฯ และการติดาว
 
 
‘แรงงานนอกระบบ’ค้านขึ้นค่าแรง 410 บาท ชี้ค่าครองชีพจะขึ้นตาม แนะลดค่าไฟ-น้ำ-เชื้อเพลิงช่วยได้มากกว่า
 
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นางชรีพร ยอดฟ้า ประธานชมรมอาสาสมัครแรงงานจังหวัดพะเยา กล่าวว่า กรณีที่ทางกลุ่มผู้ใช้แรงงานในระบบมีการเรียกร้องขอให้ขึ้นค่าแรงงานรายวัน วันละ 410 บาท ภายใน 3 ปีนั้น โดยส่วนตัวในฐานะกลุ่มของผู้ใช้แรงงานนอกระบบ มองว่านโยบายดังกล่าวมีแต่ผลเสีย เพราะเมื่อค่าแรงขึ้นค่าครองชีพก็จะสูงขึ้นตามทันที คนที่เดือดร้อนอย่างมากคือประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสจะยิ่งทุกข์หนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องมีภาระดูแลผู้พิการจะยิ่งลำบาก เพราะสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้แพงขึ้นทุกอย่าง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้แล้วหมดไป คือการเพิ่มรายจ่ายถาวร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าแก๊สหุงต้ม ยกขบวนกันขึ้นราคา เช่นนี้แล้วจะให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร ทางออกเฉพาะหน้าที่จะช่วยบรรเทาได้คือ ปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ถือเป็นการช่วยลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยด้วย
 
ปธ.ชมรม อส.แรงงานฯ กล่าวต่อว่า มาตรการด้านราคาสินค้าเกษตร แม้รัฐบาลจะดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรให้มีราคาดีตามที่เกษตรกรต้องการอาจจะช่วยได้บ้างแต่คงไม่ทั้งหมด กลุ่มเกษตรกรอาจจะรู้สึกดีขึ้น แต่กับกลุ่มคนด้อยโอกาสจะทำอย่างไร คนพิการผู้สูงอายุต้องทนแบกรับไม่ไหว ต้องคิดให้กว้างและรอบคอบเพราะตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งราคาผลผลิตทางเกษตรราคาก็ไม่แน่นอน ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคราคาขึ้นแล้วไม่เคยลง
 
“รัฐไม่เคยควบคุมราคาสินค้าได้ ราคาน้ำมันก็ควบคุมไม่ได้ แรงงานนอกระบบคือคนที่ไม่มีนายจ้าง ชาวไร่ ชาวนา กลุ่มอาชีพอิสระจะได้รับความเดือดร้อนมากๆ ตอนนี้ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำก็ขึ้นแล้ว แม้แต่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 30-50 บาท แต่รายได้ไม่มี ขายข้าวไม่ได้ราคา อีกไม่นานชาวนาจะตายไปเองเพราะเป็นหนี้มาก เงินไร่ละ 800 คงไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้น ค่าแรงขึ้นมากเท่าไหร่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะคนที่ได้รับค่าแรงเพิ่มมีไม่มากเฉพาะในระบบเท่านั้น และยังทำไห้ผู้ประกอบการประสบปัญหา มองแล้วคือประสบปัญหาทั้งระบบ ดังนั้น ฝากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ” นางชรีพรกล่าว
 
 
ตร.-ทหาร-ฝ่ายปกครอง ลุยตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างห้างยักษ์พัทยาเหนือ หลังชาวบ้านร้องเรียน พบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 300 คน
 
(3 พ.ค.) นายนริศ นิรามัยวงศ์ นายอำเภอบางละมุง นายประพันธ์ ประทุมชมพู ปลัดอำเภอบางละมุง หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ร.ต.สุวิทย์ ลากลาง ผู้บังคับหมวดกองร้อยรักษาความสงบอำเภอบางละมุง กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และ พ.ต.ท.ธวัชชัย หนองบัว รองผกก.ตม.ชลบุรี ได้บูรณการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ราชสีห์พิทักษ์ราษฎร์ และอาสารักษาดินแดนอำเภอบางละมุง เข้าทำการตรวจสอบภายในโครงการก่อสร้างศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ริมถนนพัทยาเหนือ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
 
นายนริศ กล่าวว่า ปฏิบัติการดังกล่าวสืบเนื่องจากศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบางละมุงได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายลักลอบเข้ามาทำงานในไซด์งานดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกหาข่าวเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง จนทราบว่ามีการลกลอบกระทำผิดจริงจึงบูรณาการกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดเป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่าและกัมพูชาได้เป็นจำนวนมาก
 
ทั้งนี้จากการตรวจสอบได้เน้นในเรื่องของการตรวจหนังสือเวิร์กเพอร์มิตและบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรชมพู)โดยพบมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าข่ายกระทำผิดรวมกว่า 300 คน ซึ่งจากการคัดแยกพบว่ามีทั้งความผิดในเรื่องของไม่สามารถนำหนักฐานมาแสดงตัวได้, บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหมดอายุการใช้งาน, การทำงานนอกเขตพื้นที่ที่ขออนุญาต, รวมถึงผู้ที่แจ้งเปลี่ยนชื่อนายจ้างและที่อยู่ ซึ่งเรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวถือเป็นนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของ คสช.ด้วย
 
 
ก.แรงงาน ชี้เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 620 บาท สูงเกินไป - เป็นไปไม่ได้
 
กระทรวงแรงงาน ชี้เรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 620 บาท สูงเกินไป-เป็นไปไม่ได้ ด้านประธานที่ปรึกษาหอการค้าไทย เผย จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เสี่ยงว่างงานเพิ่มขึ้น
จากกรณีที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 1 เท่า จากอัตราเดิมคือ 310 บาท เป็น 620 บาท ตามที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้นั้น
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยว่า ปีนี้เพิ่งจะขึ้นค่าแรงไปแล้วเป็น 310 บาท ถ้าหากจะปรับขึ้นอีกต้องมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ในการเรียกร้องค่าแรง 620 บาท ค่อนข้างสูงเกินไป เป็นไปไม่ได้แน่นอน สำหรับวันแรงงานนอกจากคนปกติแล้วยังต้องมองถึงแรงงานผู้พิการด้วยว่ามีการจ้างงานในส่วนของผู้พิการตามอัตราที่กำหนดหรือเปล่า
 
ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เผยว่า รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เช่น กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี เนื่องจากหากมีการเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแค่มีข่าว พ่อค้า แม่ค้า หรือผู้ประกอบการธุรกิจ ต่างก็ปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยอ้างว่ารัฐจะปรับค่าแรง
 
ทั้งนี้การเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท หรือเป็น 410 บาท แต่ละพื้นที่ แต่ละบริบถอาจไม่เหมือนกัน การทำงานของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน ด้วยเพราะคนทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงครอบครัว 2 คน การให้ค่าจ้างวันละ 310 บาท คงไม่เพียงพอ หากคำนวณแล้วต้องได้คนละ 900 บาทด้วยซ้ำไป
 
ขณะที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานที่ปรึกษาหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงข้อเสนอปรับขึ้นค่าแรงเป็น 410 บาทต่อวัน ภายใน 3 ปี ว่า จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศขณะนี้ยังไม่โตพอที่จะปรับขึ้นค่าแรง อาจทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น
 
 
เตือนอย่าเชื่อโซเชียล ชวนไปทำงาน "แคนาดา-นิวซีแลนด์" ถูกหลอกเงินกว่าแสนบาท
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานจำนวนหลายรายว่าได้รับการชักชวนทางเฟชบุ๊กหรือไลน์จากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นบริษัทจัดหางานจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศให้ไปทำงานตำแหน่งพนักงานเกษตรเก็บผลผลิต พนักงานนวด แม่บ้านที่ประเทศแคนาดา นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ และสเปน มีรายได้ 60,000-150,000 บาทต่อเดือน และยังมีสวัสดิการที่พักฟรี อาหารฟรี ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มีค่าล่วงเวลา มีวันหยุดตามกฎหมายกำหนด โดยต้องเสียเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจำนวน 30,000 – 100,000 บาทต่อคน แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงานตามที่ตกลงแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ทางทะเบียนคอมพิวเตอร์ออนไลน์กรมการจัดหางานปรากฏว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของผู้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแต่อย่างใด และจากการสอบถามข้อมูลของคนหางานที่ถูกหลอกพบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนหางาน โดยนำภาพถ่ายสถานที่ทำงานหรือคำบอกเล่าจากแรงงานที่ไปทำงานแล้วประสบความสำเร็จ จึงทำให้หลงเชื่อยอมจ่ายเงินค่าบริการเป็นจำนวนมาก
 
ปัจจุบันพฤติการณ์ในการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศเปลี่ยนรูปแบบจากการเข้าพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นหลอกลวงผ่านทางสื่อโซเชียล ซึ่งเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา แต่อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบเฟชบุ๊คที่มีพฤติการณ์โพสต์ข้อความชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 โดยจัดตั้งชุดเฝ้าระวัง และตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีพฤติกรรมในการโฆษณา ชักชวน คนหางานไปทำงานต่างประเทศ และใช้สายตรวจออนไลน์คอยตรวจสอบ เฝ้าระวังพฤติการณ์ของขบวนการค้ามนุษย์และกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มงวด ซึ่งผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า ในปี 2560 (มกราคม – มีนาคม 2560) มีผู้ร้องทุกข์จำนวน 392 ราย โดยประเทศที่ร้องทุกข์มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ดังนั้น จึงขอเตือนคนหางานคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยศึกษาข้อมูลให้ชัดเจน ซึ่งสามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
 
อิสราเอลเล็งออก กม.ช่วยแรงงานไทยได้ "เงินสะสม" เพิ่มหลังทำงานครบสัญญา ตามที่ไทยขอ
 
รมว.แรงงานหารือ รมว.มหาดไทยอิสราเอล ขอออกหนังสือรับรองฝีมือแรงงานเกษตรไทยที่มาทำงานในอิสราเอล ช่วยกลับประเทศแล้วมีรายได้สูงขึ้น เล็งเฟ้นแรงงานมีความพร้อมป้อนตลาดอิสราเอลต่อเนื่อง ด้านอิสราเอลเร่งออกกฎหมายนายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนชดเชย ช่วยแรงงานไทยได้เงินสะสมเพิ่มก่อนกลับประเทศหลังทำงานครบสัญญา
 
วันที่ 4 พ.ค. เมื่อเวลา 16. 00 น. ตามเวลาท้องถิ่นรัฐอิสราเอล พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะได้เข้าพบหารือกับ Mr. Aryeh Deri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอิสราเอล โดย พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศโดยการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยเน้นพัฒนาคน ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทยให้มีฝีมือ สามารถทำงานใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ได้ และขอบคุณรัฐบาลอิสราเอลที่สนับสนุนให้แรงงานไทยเดินทางมาทำงานในรัฐอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือไทย – อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะเพิ่มเติมขั้นตอนการคัดเลือกแรงงานให้มีความพร้อม FIT TO WORK ,FIT TO JOB และคาดหวังว่านายจ้างอิสราเอลจะถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตรขั้นสูงให้แก่แรงงานไทย เพื่อสามารถนำความรู้กลับมาพัฒนาอาชีพเพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ
 
พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ หากทางการอิสราเอลมีการทดสอบฝีมือแรงงานเพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ทักษะฝีมือแรงงานด้านเกษตร ก็จะเป็นประโยชน์แก่แรงงานไทย เมื่อกลับไปจะได้พัฒนาเป็นผู้ประกอบการมีรายได้ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งขอความร่วมมือด้านการคุ้มครองแรงงาน โดยขอให้ทางการอิสราเอลได้เพิ่มการติดตาม ตรวจสอบ ให้ความคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนการจ่ายเงินค่าชดเชย หรือเงินปีซูอิม สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับเมื่อครบสัญญาจ้าง ขอให้มีช่องทางที่คนงานสามารถมอบอำนาจให้ฝ่ายแรงงานประจำเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เป็นผู้ดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่าย และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอิสราเอลในฐานะผู้นำเข้าแรงงานด้วย
 
"หากกฎหมายที่อิสราเอลกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนชดเชยมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ก็จะเป็นหลักประกันว่าแรงงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล ที่มีอยู่ประมาณ 2,500 คน จะต้องได้รับเงินสะสมเมื่อทำงานครบตามสัญญาจ้างเพิ่มขึ้นอีกคนละหนึ่งเดือน หรือประมาน 20,500 บาท รวมรายได้ กว่า 6 พันล้านบาท" พล.อ.ศิริชัย กล่าว
 
ด้าน Mr. Aryeh Deri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอิสราเอล กล่าวว่า รัฐอิสราเอลมีกฎหมายใช้บังคับ และคุ้มครองคนทำงานเท่าเทียมกันทั้งคนไทยและคนอิสราเอล ซึ่งพร้อมที่จะให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง ตามที่ทางการไทยเสนอ สำหรับการจ่ายค่าชดเชย หรือเงินปีซูอีม ทางการอิสราเอลรับจะดำเนินการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง และภายในปีนี้จะมีกฎหมายบังคับให้มีกองทุนสะสมเงินค่าชดเชย หรือเงินปีซูอิม หากคนงานทำงานครบตามสัญญาจ้าง ก็จะได้รับเงินสะสมอย่างถูกต้องครบถ้วน
 
 
กสร.แจ้งความเอาผิดอาญา "อิตาเลียนไทยฯ" ทำลูกจ้างตายถึง 5 ครั้ง
 
กสร.แจ้งความ สน.ดอนเมือง เอาผิดทางอาญา "อิตาเลียนไทย" ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงทำคนงานตาย 3 ราย ชี้ไม่เปรียบเทียบปรับแล้ว หลังเกิดอุบัติเหตุตายถึง 5 ครั้ง
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีนายจ้างกรณีชิ้นส่วนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงหน้าวัดดอนเมืองหล่นเป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต ว่า วันนี้ได้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) นายจ้าง ต่อพนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง แล้ว นอกจากนี้พนักงานตรวจความปลอดภัยจะมีคำสั่งให้นายจ้างตรวจสอบและแก้ไขเครื่องจักรมีความปลอดภัยต่อการปฏิบัติงานภายใน 30 วันด้วย เนื่องจากพนักงานตรวจความปลอดภัยได้สอบข้อเท็จจริงผู้แทนนายจ้างและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า นายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายความปลอดภัยฯ 3 ประเด็นด้วยกัน
 
นายสุเมธ กล่าวว่า 1. ปล่อยให้ลูกจ้างที่เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ทำงานบนโครงเหล็กชุดรับน้ำหนักด้านหน้า (FRONT SUPPORT) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เครื่องจักรกลที่เคลื่อนที่ ทั้งนี้ กฎหมายความปลอดภัยฯ กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ควบคุมดูแลมิให้ผู้ใดเกาะ ยืน หรือโดยสาร ไปกับเครื่องจักรดังกล่าว ความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. นายจ้างไม่ได้จัดลูกจ้างที่ทำงานกับปั้นจั่น (TRUSS) ได้รับการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3. นายจ้างไม่ได้แต่งตั้งและขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
"ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างบริษัทดังกล่าวแล้ว โดยการลงโทษครั้งนี้ กรมน จะไม่ดำเนินการเปรียบเทียบปรับอย่างที่ผ่านมา แต่จะเอาผิดทางอาญา เพราะเกิดอุบัติเหตุกับลูกจ้างของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ มาแล้ว 5 ครั้ง ที่ผ่านมาก็ดำเนินการเปรียบเทียบปรับไปแล้วรวมกว่า 1.35 ล้านบาท จากการประมาทปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุ ครั้งนี้จึงพิจารณาไม่ดำเนินการลงโทษปรับ แต่จะดำเนินคดีอาญาเต็มที่ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ดุลพินิจของศาล" อธิบดี กสร.กล่าว
 
 
ถก 4 ฝ่าย "ทปสท.-CHES-สปสช.-สกอ." หนุนผุด "2 กองทุน" มีสปสข.ดูแล รองรับ พนง.มหาวิทยาลัย 110,000 คน
 
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ในการประชุมร่วม 4 ฝ่ายได้มีการประชุมหารือร่วมกัน ระหว่าง นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสปสช. นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ(CHES) และนางพัทนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการ (CHES) พร้อมด้วยคณาจารย์ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
 
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธาน ทปสท.เปิดเผย“เวบไซด์คมชัดลึก” ว่าที่ประชุมร่วม 4 ฝ่าย ได้มีการหารือถึงประเด็นสิทธิประโยชน์ ด้านการรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 110,000 คน โดยพนักงานฯต้องใช้สิทธิการรักษาพยาบาลผ่านประกันสังคม ซึ่งพนักงานฯ ต่างออกมาร้องเรียนเรื่องด้อยมาตรฐานการรักษา ทั้งด้า่นให้การบริการ และคุณภาพยา ทั้งที่จ่ายเงินเข้าระบบมากกว่าราชการ ดังนั้น กลุ่มพนังงานมหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนสุขภาพด้านการรักษาพยาบาล โดยให้สปสข.เป็นผู้บริหารกองทุนฯ
 
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สามารถออกพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งกองทุนสุขภาพพนักงานมหาวิทยาลัยได้ ดังเช่นกรณีที่สปสช.เคยทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท)ได้สำเร็จมาแล้ว โดยในขั้นแรกจะต้องให้ระดับนโยบาย คือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเห็นชอบร่วมกันในหลักการก่อน
 
ด้านดร.สุภัทร จำปาทอง เลาขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า ตนก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว จึงมอบหมายให้ตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ที่เข้าร่วมประชุมในฐานะคณะทำงานประสานงานกับทางสปสช.จัดทำขั้นตอนรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ตนนำเสนอนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ซึ่งหากรัฐมนตรีเห็นชอบจะได้ดำเนินการต่อ ซึ่งแนวทางที่ต้องดำเนินการอาจต้องออกเป็น พ.ร.บ.สิทธิประโยชน์และสวัสดิการบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
 
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวเสริมว่า โดยรวมเรื่องกองทุนการรักษาพยาบาลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ด้วยกัน ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัจจุบันการให้แต่ละสถาบันดำเนินการจัดตั้งกองทุนเองทำให้กระจัดกระจาย เป็นเบี้ยหัวแตก กลายเป็นกองทุนที่เล็ก ได้ผลตอบแทนต่ำ จึงควรนำมารวมกันแล้วจัดตั้งเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญพนักงานมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ หรือหาแนวทางให้พนักงานมหาวิทยาลัยสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ได้ ซึ่งรายละเอียดและขั้นตอนเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีการนัดหารือร่วมกับตัวแทนกบข. เพื่อหาแนวทางร่วมกันในโอกาสต่อไป
 
“ผมคิดว่าหากสามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ ก็จะเป็นการตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของพนักงานมหาวิทยาลัย ได้มากกว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีทั้งข้าราชการและพนักงานออกมาคัดค้านอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนอกจากไม่ตอบโจทย์พนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว ยังไปกดขี่ ลดศักดิ์ศรีและความมั่นคงของข้าราชการลงอีกด้วย”ประธาน ทปสท. กล่าวสรุป
 
 
แรงงานไทยเสี่ยงตายจากการทำงานปีละ 500 ราย
 
(5 พ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบหลังอุบัติเหตุอุปกรณ์เหล็กหล่นทับคนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงเสียชีวิต 3 ราย โดยขณะนี้ทาง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า จะเดินหน้าฟ้องร้องบริษัทอิตาลียนไทย ผู้รับเหมาโครงการ แทนการจ่ายค่าปรับเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
 
หลังสอบข้อเท็จจริงเหตุ คนงาน ชาย 3 คน เสียชีวิตเมื่อ 6 วันก่อน จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง พบว่า อุปกรณ์เซฟตี้ไม่ดีพอและบริษัทประมาท ขณะที่วันนี้ จุดอื่นๆ ของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ยังมีแรงงานทั้งคนไทยและข้ามชาติเร่งทำงานเหมือนทุกวัน
 
ทั้งนี้มีการจำลองเหตุการณ์คนงานตกตึกสูง 1 ชั้น ระหว่างทำงานแสดงให้เห็นว่า แม้พวกเขาจะมีสายผูกติดตัว หรือ เซฟตี้อย่างดี แต่เมื่อตกลงมาจากที่สูง จะมีแรงกระทำทำให้คนงานบาดเจ็บอันตรายถึงชีวิตได้มากถึง 20 เท่า
 
นี่จึงเป็นเหตุผล ที่ทำให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยืนยันว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แทนการจ่ายค่าปรับเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ในฐานะนายจ้างคนงานชาย 3 คน ที่เสียชีวิตจากฐานรองรับเครนล้มระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง
 
หลังพนักงานตรวจสอบความปลอดภัยสอบข้อเท็จจริงพบว่า ระหว่างที่คนงาน 3 คน ปฎิบัติหน้าที่อุปกรณ์เซฟตี้ไม่ดีพอ และไม่มีเจ้าหน้าที่ควบคุม
 
นาย สุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน บอกว่า แม้วันนี้จะมีคำสั่งให้บริษัทอิตาเลียนไทยฯ หยุดดำเนินการก่อสร้างจุดที่มีปัญหา แต่จุดอื่นๆยังคงมีแรงงานทั้งคนไทยและข้ามชาติเร่งทำงานเหมือนเดิม
 
ขณะที่ วีรยา สืบเจาะจบ ชาวจังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า เธอทำอาชีพนี้มา 3 ปี แล้ว หลังเกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ลูกจ้าง 3 คนเสียชีวิตเมื่อ 6 วันก่อน ทำให้เธอทำงานด้วยความกังวล แต่ทุกครั้งที่ทำงานก็จะเตรียมอุปกรณ์เซฟตี้ให้พร้อม
 
การเสียชีวิตของแรงงานที่เกิดขึ้นมากถึงปีละ 500 คน ทำให้ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มองว่าการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานปี 2554 ยังไม่เข้มข้น และแม้ว่าจะพบบริษัท กระทำผิดซ้ำๆ แต่ยังไม่มีการขึ้นบัญชีดำเหมือนกับต่างประเทศ
 
ขณะที่วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พ.ค.ของทุกปี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมยื่นข้อเสนอ 10 ข้อ ต่อรัฐบาล เช่น การตั้งศูนย์ความปลอดภัย จัดหากองทุนเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาคุ้มครองแรงงานไทยให้ปลอดภัยจากการทำงานมากขึ้น
 
 
บาห์เรน คุมเข้มแรงงานผิดกฎหมายคนเข้าเมือง
 
ประเทศบาห์เรน เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดกฎหมายคนเข้าเมืองโดย ไม่ลดหย่อนโทษปรับและจำคุก พบขณะนี้มีคนไทยถูกจับกุม และถูกควบคุมตัวในบาห์เรน จำนวนกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่โดนข้อหาอยู่เกินกำหนดวีซ่าท่องเที่ยว
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบียแจ้งว่า ประเทศบาห์เรนเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับคนไทย ที่กระทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ล่าสุดมีท่าทีจะไม่ลดหย่อนโทษปรับและจำคุกเหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งมีนโยบายผ่อนผันให้กับคนไทยมาโดยตลอด โดยขณะนี้มีคนไทยถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวอยู่ในประเทศบาห์เรน จำนวน 126 คน ส่วนใหญ่โดนข้อหาอยู่เกินกำหนดวีซ่าท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีหญิงไทยถูกนายหน้าหรือผู้ควบคุมล่อลวงให้ลักลอบค้าบริการทางเพศโดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และเดินทางเข้ามาทำงานด้วย Visa on Arrival ซึ่งมีสิทธิอยู่ได้ 14 วัน เมื่ออยู่เกิน 14 วัน ก็จะให้เดินทางไปลงตราวีซ่าจากประเทศใกล้เคียง และกลับเข้ามาอีกครั้ง
 
นายวรานนท์ กล่าวเตือนคนหางานว่า หากประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศต้องศึกษาสัญญาจ้างให้ละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะลักษณะงานที่ทำ อัตราค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เงินโบนัส และเงินสิ้นสุดการทำงานเมื่อครบสัญญา รวมทั้งกรณีที่จะต้องถูกปรับหากทำงานไม่ครบตามสัญญาจ้าง ตลอดจนทำความเข้าใจกับรายได้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศซึ่งมีความแตกต่างกันและยังมีความผันผวน ทำให้ขาดรายได้ไปบางส่วน ซึ่งไม่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดของนายจ้าง อย่างไรก็ตาม ทันทีที่เดินทางไปถึงประเทศที่ไปทำงาน ขอให้ส่งเอกสารการรายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูต เพื่อให้ส่วนราชการไทยสามารถติดต่อให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยประเทศบาห์เรนสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา Royal Thai Embassy Building 132, Road 66 Block 360, Zinj Area Tel. (973) 233-263, 274-142
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 6/5/2560
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net