Skip to main content
sharethis

'สมานฉันท์แรงงานไทย-สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย' ร้องรัฐเนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงาน เร่งพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ จัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ และยกเลิกแร่ใยหินทุกรูปแบบ

10 พ.ค. 2560 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ออกคำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวัน “ความปลอดภัยแห่งชาติ” รำลึก 24 ปี เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่งผลให้ให้คนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน

โดยเรียกร้องให้ 1. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ 2. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ และ 3. ให้รัฐยกเลิกแร่ใยหินทุกรูปแบบ และในระหว่างที่ยังยังยกเลิกไม่หมดให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ให้กระทรวงแรงงานประกาศให้สภาพแวดล้อมที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินจาก 5 เส้นใยเหลือ 0.01 เส้นใย

 

คำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวัน “ความปลอดภัยแห่งชาติ”

10 พฤษภาคม 2560

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 หรือย้อนไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่งผลให้คนงานนับพันต้องวิ่งหนีตายอลหม่าน เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน

เพื่อไม่ให้ชีวิตของคนงานต้องสูญเปล่า สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และขบวนการแรงงานจากภาคส่วนต่างๆยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตรายและการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพเป็นจุดเริ่มต้นให้ขบวนการแรงงานเคลื่อนไหวเรียกร้องความปลอดภัยในการทำงาน และใช้เวลา 21 ปีเพื่อผลักดันการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน จนเป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ.2554

กว่า 6 ปีของการประกาศใช้กฎหมาย แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัด อีกทั้งขาดการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ มีบุคลากรที่จำกัด ทำให้สถานการณ์เรื่องความปลอดภัยยังอยู่ในสภาพที่ต้องผลักดันต่อไป โดยเฉพาะเรื่องสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ยังขาดทิศทางการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงาน  ทำให้คนงานขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย และการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย การเข้าถึงการวินิจฉัยโรค รักษาเยียวยาและทดแทน  สถานการณ์ล่วงเลยปรากฏการณ์และโรคใหม่ๆ ทางด้านอาชีวอนามัยจากการทำงาน อันตราย จากการใช้ การสัมผัสสารเคมี ทำให้คนงานเป็นโรคมะเร็ง เจ็บป่วยทุกข์ทรมานอย่างมาก
แร่ใยหิน (Asbestos) ซึ่งนำมาใช้มากทั้งที่ผลิตจากภายในประเทศและนำเข้า คืออุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตเบรคและคลัทช์ อุตสาหกรรมผลิตท่อน้ำ ยากำจัดศรัตรูพืช เป็นต้น

แร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายทางจมูกโดยการหายใจเข้าไป อวัยวะเป้าหมายสำคัญคือ ปอด ผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ทำให้เชื่อได้ว่า แร่ใยหินทุกชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง (Mesothelioma)  แอสเบสโตสิส (Asbestosis) เป็นโรคปอดเรื้อรังที่เกิดเฉพาะกับผู้ที่สัมผัสกับแร่ใยหินเท่านั้น เนื่องจากปฏิกิริยาทางชีวภาพระหว่างเส้นใย แร่ใยหินและเนื้อเยื่อปอด ทำให้ปอดเกิดเป็นแผลเป็น ปอดที่ถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาดีได้ดังเดิม

ดังนั้น ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เนื่องในวันความปลอดภัยในปีนี้และได้ยื่นเป็นข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลต่อรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 คือ

1. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ

2. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

3. ให้รัฐยกเลิกแร่ใยหินทุกรูปแบบ และในระหว่างที่ยังยังยกเลิกไม่หมดให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ให้กระทรวงแรงงานประกาศให้สภาพแวดล้อมที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินจาก 5 เส้นใยเหลือ 0.01 เส้นใย

แม้รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) มีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง 6 กระทรวง แต่การจัดการเรื่องความปลอดภัยจะสำเร็จไปไม่ได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคีต่างๆ โดยเฉพาะภาคีของผู้ใช้แรงงาน และที่สำคัญยิ่ง สิ่งที่คาดหวังว่าความต้องการของพวกเราพี่น้องคนงานทั้งหลาย คือ “พลังของพวกเราที่จะร่วมกันผลักดัน”เฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา ที่เราผ่านความยากลำบากในการต่อสู้แต่เราก็สามารถฟันฝ่ามาสู่ความสำเร็จระดับหนึ่ง จึงเชื่อว่า ความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลหากเราสามัคคีรวมพลังกันพร้อมกับประสานงานขับเคลื่อนพร้อมกับเครือข่ายทางสังคมจะยิ่งทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นในเร็ววัน

เราขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า เราจะร่วมกันผลักดันให้เรื่องความปลอดภัยเป็นวาระสำคัญให้บรรลุเป้าหมายความปลอดภัยของคนงานทั้งมวล

เราขอประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะร่วมกันรณรงค์ผลักดันให้ถึงที่สุด

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)

10 พฤษภาคม 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net