ไฟแนนเชียลไทม์: พม่าภายใต้ทุนนิยมแบบทหาร

แนะนำรายงานจากไฟแนนเชียลไทม์ว่าด้วยเรื่องของพม่า ที่ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลพลเรือน แต่อิทธิพลกองทัพพม่าโดยเฉพาะบทบาททางเศรษฐกิจไม่ได้หายไปไหน ทั้งนี้สหรัฐฯ เพิ่งยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลังจากโดดเดี่ยวพม่ามานาน แต่ไฟแนนเชียลไทม์ระบุว่าการทำเช่นนี้กลับเอื้อต่อกลุ่มทุนฝ่ายทหารที่มาในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจที่ครอบงำภาคธุรกิจใหญ่ๆ ของประเทศ

แฟ้มภาพนครย่างกุ้งเมื่อปี 2010 (ที่มา: Soe Lin/Flickr/CC BY 2.0)

แฟ้มภาพกองทัพพม่าขนขีปนาวุธแสดงแสนยานุภาพ เนื่องในวันกองทัพพม่าปีที่ 71  (ที่มา: The Global New Light of Myanmar, 28 March 2016)

12 พ.ค. 2560 ไฟแนนเชียลไทม์ระบุว่าบรรษัทเศรษฐกิจเมียนมา (MEC) และรัฐวิสาหกิจเมียนมา (MEHL) ประกอบด้วยกลุ่มคนจากกระทรวงกลาโหมและเหล่าเจ้าหน้าที่กองทัพ พวกเขาครอบงำธุรกิจทั้งหลายแหล่เอาไว้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบุหรี่ไปจนถึงการนำเข้าปิโตรเลียม แม้ว่าจะมีการบริหารเศรษฐกิจระดับประเทศโดยรัฐบาลพลเรือน ออง ซาน ซูจี แต่ก็มีธุรกิจใหญ่หลายแห่งในพม่าที่มีหุ้นส่วนเป็นอดีตทหารที่เคยมีส่วนในการสังหารประชาชนจำนวนมากในยุคเผด็จการมาก่อนโดยที่พวกเขาไม่สนใจการรุกไล่ที่ประชาชนหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ด้วย

เรื่องนี้ทำให้ไฟแนนเชียลไทม์ตั้งคำถามว่าการยกเลิกคว่ำบาตรในพม่าทำให้โครงสร้างอำนาจเปลี่ยนไปมากแค่ไหนหลังมีรัฐบาลเป็นพลเรือน มีนักวิเคราะห์จากในพม่าเองมองว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ฝ่ายทหารจะยังคงมีอำนาจอยู่เพราะกลุ่มเหล่านี้อยู่ในแกนกลางของรัฐพม่าไปแล้ว รัฐวิสาหกิจของพม่าก็กำลังต้องการ "หาโอกาสกับชาติตะวันตก" อย่างไรก็ตามฝ่ายนักวิเคราะห์ของสหรัฐฯ มองได้อีกแง่หนึ่งว่าการที่พม่าเปิดด้านธุรกิจกับชาติตะวันตกมาขึ้นอาจจะทำให้ทหารพม่ามีมาตรฐานที่สูงขึ้นบ้างก็ได้สำหรับทั้งเรื่องการจัดการ แรงงาน หลักนิติธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการดูความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์เป็นรายเคสไปด้วย

ไฟแนนเชียลไทม์ระบุอีกว่าบรรษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆอย่างโคคา โคลา และไมโครซอฟท์ก็เคยเผชิญกับความเสี่ยงทางภาพลักษณ์จากการถูกเปิดโปงเรื่องทำธุรกิจร่วมกับเผด็จการในพม่ามาก่อน บ้างก็ถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการได้ประโยชน์ผ่านการผ่องถ่ายทรัพย์สินของรัฐในช่วงก่อนเผด็จการทหารลงจากอำนาจ จากข้อมูลองค์กรความโปร่งใสนานาชาติปี 2558 ในรายงานขององค์กรความโปร่งใสยังระบุอีกว่าฝ่ายทหารพม่าก็มีการแฝงตัวเองเข้าไปอยู่ในภาคส่วนธุรกิจทำให้พวกเขายังมีอำนาจควบคุมอยู่มากโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากประชาชน

ในเชิงการเมืองแล้วถึงแม้พรรคของอองซานซูจีจะชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้งแต่ทหารก็ยังมีโควต้าที่นั่งในสภาอยู่ส่วนหนึ่งจนทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ แน่นอนว่ากลุ่มรัฐวิสากิจและบรรษัทเศรษฐกิจพม่าที่มีทหารระดับสูงเกี่ยวข้องก็เข้าไปอยู่ในโครงสร้างทางการเมืองด้วย โดยมีการเผยแพร่เรื่องนี้ผ่านวิกิลีคส์ในกรณีที่รัฐวิสากิจพม่ารับสินบนเพื่อเอื้อสัญญาต่อบริษัทต่างชาติ ซึ่งบรรษัทพม่าเหล่านี้มีตั้งแต่โรงงานผลิตกระบอกฉีดยาใช้แล้วทิ้ง การชำระบริการโทรศัพทืมือถือ ไปจนถึงกอล์ฟคลับ

อย่างไรก็ตามจากปากคำของตัวแทนรัฐวิสาหกิจพม่าโต้แย้งในเรื่องนี้โดยให้สัมภาษณ์ในไฟแนนเชียลไทม์ว่าพวกเขากำลังพยายามปรับตัวเองให้กลายเป็นบริษัทธรรมดาทั่วไปมากขึ้นและกระทรวงกลาโหมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการของพวกเขาอีกแล้ว พวกเขายอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารและสถาบันกองทัพมีหุ้นส่วนอยู่โดยที่ได้รับเงินปันผลเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น อย่างไรก็ตามมีนักวิจารณ์มองว่าความมั่งคั่งของรัฐวิสากิจพม่าอาจจะมีมากกว่าที่ประชาชนทั่วไปรับรู้ ไมค์ อาวิส จากกลุ่มโกลบอลวิตเนสกล่าวว่าบริษัทของทหารเป็นแค่ส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ภาคใต้ภูเขาน้ำแข็งยังมีเครือข่ายธุรกิจที่เป็นของกลุ่มครอบครัวทหารและอดีตนายพลครอบงำธุรกิจต่างๆ ที่มีผลประโยชน์มหาศาล

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่

Myannar: the Military-commercial complex, Financial Times

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท