Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ความจริงแล้ว เรือดำน้ำเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของมนุษยชาติตั้งแต่ครั้งโบราณ ที่จะสร้างยานที่ดำลงไปได้พื้นน้ำ แต่ความก้าวหน้าของโครงการ มาพัฒนาสมัยที่อังกฤษขยายอำนาจเป็นจักรวรรดินิยมทางทะเล จึงมีการค้นคว้าหาวิธีสร้างยานที่ดำลงไปในน้ำและสร้างสำเร็จครั้งแรก ใน ค.ศ.1775 เรียกว่า “เตอร์เติล” เป็นยานขนาดเล็กใช้แรงมนุษย์ ดำลงไปในน้ำด้วยผู้โดยสาร 2 คน

ตั้งแต่ ค.ศ.1863 อังกฤษเริ่มประดิษฐ์เรือดำน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ และนำมาสู่การสร้างเรือดำน้ำด้วยเป้าหมายทางการทหาร จนกระทั่งเรือดำน้ำกลายมาเป็นอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) โดยฝ่ายเยอรมนีสร้างเรือดำน้ำที่เรียกว่า เรืออู ประมาณว่าตลอดสงคราม เรือดำน้ำเยอรมนีจมเรือฝ่ายสัมพันธมิตรได้มากกว่า 5,000 ลำ หลังจากนั้น เรือดำน้ำจึงถือเป็นอุปกรณ์สงครามที่สำคัญในสงครามขนาดใหญ่ ซึ่งสงครามโลกครั้งที่สองกลายเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีการสู้รบด้วยสงครามเรือดำน้ำอย่างมาก แต่ข้อสังเกตคือ สงครามครั้งอื่นที่เกิดขึ้นในโลกหลังจากนั้น ก็ไม่มีสงครามเรือดำน้ำอีก และไม่น่าที่จะมีสงครามเรือดำน้ำระหว่างมหาประเทศได้ เพราะต่อมา มหาประเทศนำเรือดำน้ำไปติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์

สำหรับสังคมไทยเมื่อเข้าสู่สมัยใหม่ กลุ่มเจ้านายไทยที่ไปศึกษาวิชาทหารจากต่างประเทศ เริ่มสนใจเรื่องเรือดำน้ำ มีรายงานว่า กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร และ พระยาราชวังสัน ได้นำเสนอแผนให้กองทัพสยามมีเรือ ส. (สับมะรีน หรือเรือดำน้ำ) ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 6 แต่โครงการนี้ก็ไม่เป็นจริงด้วยปัญหาหลายประการ จนกระทั่งหลังปฏิวัติ พ.ศ.2475 กองทัพเรือไทยจึงตกลงสร้างเรือดำน้ำ 4 ลำ จากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิโกเบ ประเทศญี่ปุ่น และได้รับมอบเรือ 2 ลำแรก ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2480 ชื่อว่า ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ ทำให้กองทัพเรือไทยมีเรือดำน้ำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่วนอีก 2 ลำ คือ ร.ล.สินสมุทร  และ ร.ล.พลายชุมพล

จนกระทั่ง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงครามและถูกยุบกองทัพ ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนอะไหล่ให้กับเรือดำน้ำไทยได้ ยิ่งกว่านั้น ภาวะที่จะเกิดสงครามทางทะเลและคุกคามไทยก็ไม่มี แต่ปัญหาสำคัญเกิดจากกรณีแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 ที่รัฐบาลฝ่ายคณะรัฐประหารถือโอกาสปราบปรามกองทัพเรือ แล้วให้ฝ่ายทหารบกเข้าควบคุม หมวดเรือดำน้ำถูกยุบในวันที่ 16 กรกฎาคม และเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำถูกปลดระวาง ขายซากให้บริษัทปูนซีเมนต์ หลังจากนั้นกองทัพเรือไทยก็ไม่ได้มีเรือดำน้ำ แม้จะผ่านช่วงสงครามอย่างเข้มข้น เช่น ในสมัยสงครามเวียดนามช่วงกระแสสูง ตลอดจนสงครามในลาวและกัมพูชา (พ.ศ.2508-2518) ไทยก็ไม่มีเรือดำน้ำเลย

จนกระทั่งมาถึงหลังการรัฐประหาร คสช. พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกค่อนข้างสงบ ประเทศไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียนก็เป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน อยู่ร่วมกันในประชาคมแห่งความร่วมมือระดับภูมิภาค มีการค้าขายแลกเปลี่ยนกันในระดับสูง ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก นอกเหนือจากบริเวณตะวันออกกลางแล้ว แทบจะไม่มีสงครามรูปแบบเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นของโลกเลย ในภาวะเช่นนี้เอง ที่กองทัพเรือไทยทำเรื่องขอจัดซื้อเรือดำน้ำ

อธิบายกันว่า กองทัพเรือไทยมีแผนจะซื้อเรือดำน้ำมาแล้วถึง 20 ปี หรือตั้งแต่ราว พ.ศ.2540 แต่ล้มเหลวมาโดยตลอด ด้วยปัญหาในด้านงบประมาณและการเมือง ในครั้งนี้ เมื่อเป็นรัฐบาลทหารปกครองประเทศและไม่มีรัฐสภาจากการเลือกตั้งมาซักถาม จึงเป็นโอกาสอันดีในการที่จะขออนุมัติซื้อ โดยเปิดให้บริษัทอาวุธต่างประเทศเข้ามานำเสนอข้อมูล 5 ประเทศ คือ รัสเซีย จีน สวีเดน เกาหลีใต้ และเยอรมนี ในที่สุด ก็เลือกที่จะซื้อจากจีนเพราะให้เงื่อนไขดีที่สุด และโครงการนี้ก็บรรลุเป้าหมายในการประชุมเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมติอนุมัติการจัดซื้อของกองทัพเรือ

เรือดำน้ำรุ่นที่จะซื้อเรียกว่า เอสที-26 เป็นเรือดำน้ำพลังดีเซล มีระบบเอไอพี ที่จะช่วยต่อเครื่องยนต์แบบไม่พึ่งพาออกซิเจน ทำให้เรือดำน้ำได้นานมากขึ้น ไม่ต้องมาเติมออกซิเจนที่ผิวน้ำ มีระบบตอร์ปิโดที่หลากหลายและรุนแรง จีนซื้อเทคโนโลยีนี้มาจากสวีเดน แล้วนำมาพัฒนา ทางฝ่ายกองทัพเรืออธิบายว่า ข้อได้เปรียบของการซื้อจากจีน คือ ราคา 36,000 ล้านบาท ซื้อจากประเทศอื่นได้เพียง 2 ลำ แต่จีนให้ 3 ลำ และยังเป็นเรือขนาดเรือใหญ่กว่า และจีนยังเสนอแพคเกจ คือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนให้ ให้การฝีกอบรมเจ้าหน้าที่ทหารเรือไทย พร้อมแถมอาวุธไว้ใช้งานอีก ในการดูแลรักษา จีนจะรับประกันหลังส่งมอบระยะเวลา 2 ปี และรับเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุดในวงรอบ 8 ปี

แต่กระนั้น โครงการซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกระแสสังคม ตั้งแต่เรื่องการอนุมัติก็ไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้ให้สาธารณชนทราบ โดยอธิบายว่า เอกสารรายละเอียดเรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในชั้น”ลับมาก”ของทางราชการ จนกระทั่งเรื่องมาเปิดเผยในสัปดาห์ต่อมา ประเด็นสำคัญที่ถูกโจมตีเสมอมาคือ เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำราคาสูงมาก ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ และรัฐบาลก็มีปัญหาการคลัง และยังมีข้อระแวงคือ เรื่องค่าหัวคิวการจัดซื้อ และการทุจริตคอรับชั่นในกระบวนการ นอกจากนี้ คือ การตั้งข้อสงสัยเรื่องคุณภาพสินค้าจีน เพราะในระยะที่ผ่านมา อาวุธที่ซื้อจากจีนก็มักจะมีปัญหาบกพร่องจำนวนมาก เช่นกองทัพเรือเคยซื้อเรือรบจีนมาใช้ เช่น เรือหลวงนเรศวร พบว่า ระบบการประกอบเรือค่อนข้างไม่ดี เรือผุเร็วมาก สายไฟที่ใช้เสื่อมเร็ว ความเข้ากันได้กับระบบอาวุธกับเรือลำอื่นก็เป็นปัญหา นำมาสู่ความวิตกในเรื่องคุณภาพ

ข้อท้วงสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องเรื่องเชิงเทคนิกที่คลุมเคลือ เช่น อ่าวไทยตื้นมีระดับน้ำเฉลี่ยเพียง 58 เมตร เรือดำน้ำจะไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพในภาวะสงคราม การซื้อเรือผิวน้ำน่าจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองอ่าวไทยมากกว่า และราคาก็ถูกกว่า

ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ได้แถลงข่าวเพื่อยืนยันการซื้อเรือดำน้ำ เพราะเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศ และเพื่อพิทักษ์ทรัพยาการทางทะเลของไทยที่มีมูลค่ามหาศาล เสนาธิการทหารเรืออธิบายว่า “สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอน การใช้กำลังทหารจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ไทยจำเป็นต้องมีหลักประกัน” กองทัพเรือไทยต้องซื้อเรือดำน้ำ เพราะเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีเรือดำน้ำกันแล้ว และพม่าก็กำลังอยู่ระหว่างการจัดซื้อ

พล.ร.อ.ลือชัยยังอธิบายต่อไปว่า การทีไทยไม่มีเรือดำน้ำมาแล้ว 60 ปี ทำให้กองทัพเรือสูญเสียขีดความสามารถอย่างสิ้นเชิง ทั้งองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ของกำลังพล การซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้จึงจำเป็น สำหรับเรื่องงบประมาณมหาศาลที่ใช้ในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศกำลังฝืดเคือง เสนาธิการทหารเรืออธิบายว่า งบประมาณที่ใช้ไม่ได้เบียดบังงบกระทรวงและกรมอื่น และเป็นงบข้ามหลายปีไม่ได้จ่ายทั้งหมดครั้งเดียว มีการกำหนดชำระเป็นงวด พล.ร.อ.ลือชัยย้ำว่า อาวุธที่มาไม่จำเป็นว่าจะต้องเอาไปรบ แต่เป็นอาวุธเชิงป้องปราม มีขึ้นเพื่อไม่ต้องรบ “ให้เขาเกรงใจ” และการจัดซื้อก็ไม่มีผลประโยชน์ค่าน้ำร้อนน้ำชาเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการจัดซื้อในรูปแบบรัฐต่อรัฐ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

ในความเห็นของผู้เขียน ปัญหาที่จะต้องทบทวนกันอย่างเป็นจริง คือ เรื่องยุทธศาสตร์การกลาโหมทั้งหมด ที่วางรากฐานอยู่บนแนวคิดเรื่องความมั่นคงแบบเก่า ที่มีสมมติฐานให้เพื่อนบ้านเป็นศัตรูไว้ก่อน แล้วจึงจะต้องมีกองทัพขนาดใหญ่และมีอาวุธจำนวนมากเพื่อการป้องปราม คำถามคือ แนวคิดกลาโหมแบบนี้ล้าสมัยหรือไม่ในโลกยุคดิจิตอลปัจจุบัน อย่างน้อยการซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ ก็เป็นการสะท้อนการสิ้นเปลืองงบประมาณในยุทธศาสตร์โบราณเช่นนี้



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 615 วันที่ 6 พฤษภาคม 2560
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net