Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พบปาฏิหาริย์ 3 อย่างตามมุมมองของประวัติศาสตร์ คือ ความเจริญทางเศรษฐกิจ , การขาดความหายนะของมวลชนและความพยายามในการสนับสนุนการสร้างชุมชนและสันติภาพของภูมิภาค

ที่โดดเด่นที่สุดคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าความหายนะของมวลชนที่เคยเกิดขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเช่นในอินโดนีเซีย (ปี 1965-1966) กัมพูชาภายใต้เขมรแดง (ปี 1975–1978) และติมอร์ตะวันออกในช่วงการยึดครองของอินโดนีเซีย (ปี 1975–1999) ทั้งหมดได้สาบสูญไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคร่วมสมัย  พร้อมด้วยคำประกาศสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกนำออกใช้อย่างเป็นเอกฉันท์ในปี 2012 ผู้นำของกลุ่มอาเซียนพยายามจะลงรอยกันต่อความเชื่อที่ว่าสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในบัดนี้คือจักรสากลแห่งความก้าวหน้า

แต่ลัทธิเผด็จการอำนาจนิยมยังแสดงท่าทีจะกลับมา ภายใต้โฉมหน้าของการประกาศอย่างเป็นทางการนั้นมีการยอมรับท่ามกลางกลุ่มผู้นำอาเซียนเกือบทั้งหมดว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไม่ควรถูกผลักดันเร็วเกินไปและมากเกินไป เมื่อหลายปีก่อนก็มีความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในเรื่องเช่นนี้ เมื่อชนชั้นนำทางการเมืองได้เข้าควบคุมพรรคฝ่ายค้านและสิทธิพลเมืองมากขึ้น ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นจำกัดสิทธิพลเมืองและคุกคามสิทธิของชนกลุ่มน้อย อะไรกันที่จะอธิบายแนวโน้มด้านลบและน่าวิตกเช่นนี้ได้

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางการเมืองถูกพิจารณาว่าเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการก้าวเดินของแต่ละประเทศไปยังประชาธิปไตย ความคิดเสรีนิยมแบบตะวันตกได้เดินทางเข้ามาในภูมิภาค ภายหลังจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมสิ้นสุดลง แต่ความคิดดังกล่าวยังต้องดิ้นรนที่จะฝังรากลงในภูมิภาคซึ่งเผด็จการอำนาจนิยมได้ทิ้งมรดกไว้ ตัวอย่างเช่นเดเนียล เบลล์ ถือว่าแนวคิดแบบเอเชียนั้น ‘ต่อต้านเสรีภาพ’ ในมุมมองเช่นนี้ ชาวเอเชียเห็นว่า “กรงเหล็ก” เป็นแหล่งของความมั่นคงไม่ใช่คุก

อุดมการณ์อำนาจนิยมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ดังในรัฐสังคมนิยม ลาวและเวียดนามยังถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งบรรดาผู้นำไม่ได้มีความปรารถนาจะทอดทิ้งความเป็นเผด็จการ ถึงแม้พวกเขาจะเปิดรับระบบทุนนิยมในด้านเศรษฐกิจ แต่ประวัติของพวกเขาในการปฏิรูปด้านประชาธิปไตยยังคงดูหดหู่

การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจได้ช่วยให้รัฐบาลเผด็จการมีหนทางอื่นๆ ในการเด็ดปีกฝ่ายปรปักษ์โดยการใช้ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ในการสร้างความชอบธรรมต่อการยึดครองอำนาจอย่างแนบแน่นของพวกเขา สิงคโปร์และมาเลเซียถูกยกเป็นตัวอย่างว่าการพัฒนาประชาธิปไตยได้ถูกทำให้จนตรอกอย่างไร ถึงแม้จะมีการทำให้เศรษฐกิจทันสมัยก็ตาม  ระบบพรรคการเมืองเดียวครอบงำของสิงคโปร์ได้หยั่งลึกตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2015

ปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดได้ช่วยนำไปสู่บางแง่มุมของความทนทานของลัทธิเผด็จการหรือการถดถอยของประชาธิปไตย แต่ไม่มีอะไรสามารถอธิบายได้อย่างเต็มที่ว่าเหตุใดประชาธิปไตยจึงดูเหมือนจะหยั่งรากลึกลงในภูมิภาคนี้ได้ยากเย็นเต็มที ปัจจัยสำคัญประการอื่นก็คือพื้นฐานของสถาบันทางการเมืองซึ่งประชาธิปไตยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ข้างบนนั้นอ่อนแอ

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศได้พบกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเมื่อในอดีต อย่างเช่นฟิลิปปินส์ในปี 1986 กัมพูชากับไทยในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990  และอินโดนีเซียในปี 1998  แต่ไม่มีประเทศใดสามารถวางรากฐานประชาธิปไตยและคุณค่าประชาธิปไตยได้สำเร็จ  การเลือกตั้งถูกจัดขึ้น บ้างก็อิสระและเป็นธรรมกว่าที่อื่น แต่ภายใต้โครงสร้างประชาธิปไตยอันฉาบฉวยที่ถูกสร้างสำหรับการแข่งขันเลือกตั้ง ก็มีโครงสร้างของสถาบันที่อ่อนปวกเปียกเป็นอย่างยิ่ง     

ความล้มเหลวของสถาบันอันดับแรกและสำคัญที่สุดก็คือในประเทศกลุ่มอาเซียนเกือบทั้งหมด กองทัพยังคงเป็นตัวละครทางการเมืองที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของกลุ่มอาเซียนซึ่งกองทัพไม่เคยยอมค้อมหัวให้กับการปกครองของพลเรือนเสียจริงๆ แต่มันก็ได้ก่อรัฐประหารหลายครั้งซึ่งขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งออกไป ล่าสุดก็ได้แก่ในปี 2014  แต่แม้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กองทัพก็ยังมีอิทธิพลอยู่อย่างมหาศาลต่อการเมืองระดับประเทศและยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน

บทบาทของกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศจะเป็นกุญแจในการกำหนดทิศทางของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาค ภัยคุกคามทางทหารของประเทศอื่นและความต้องการต่อมาสำหรับค่าใช้จ่ายของกระทรวงกลาโหม เศรษฐกิจทางการเมืองของการทุจริตคอรัปชั่น เช่นเดียวกับภัยของการก่อจลาจลภายในประเทศหรือความไร้เสถียรภาพ ทั้งหมดนี้ช่วยดำรงอำนาจของชนชั้นของกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตัวอย่างเช่นในพม่า กองทัพดูเหมือนจะมุ่งมั่นในการคงอำนาจทางการเมืองไว้ จนอย่างน้อยที่สุดพวกเขาพอใจว่าสันติภาพอันมั่นคงกับชนเผ่าติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ของประเทศได้บรรลุผลและพวกเขาเชื่อว่าสมาชิกของกองทัพจะไม่ถูกดำเนินคดี

ความสำคัญของการคงไว้ซึ่งแรงสนับสนุนของกองทัพสำหรับการรักษาความมั่นคงของชาติ รัฐบาลและชนชั้นนำสามารถอธิบายได้อีกว่า เหตุใดเวลาอันยุ่งยากสำหรับประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือช่วงสงครามเย็น และเหตุใดประชาธิปไตยจึงพบหนทางกลับมาอีกครั้งในช่วงที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดลง กัมพูชาเป็นประเทศแรก ๆ ที่กลายเป็นประชาธิปไตยเมื่อสหประชาชาติได้เข้าไปช่วยเหลือในการเปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นสนามแห่งการเลือกตั้ง เมื่อรัฐบาลของซูฮาร์โตล้มลงในปี 1998 อันเป็นการเริ่มต้นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย มากกว่า 1 ใน 3 ของประชาชนทั้งหมดของอาเซียนกลายเป็นพลเมืองของประเทศประชาธิปไตย  ติมอร์เลสเตก็กลายเป็นประชาธิปไตยเมื่อมันได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียจากการช่วยเหลือของนานาชาติในช่วงต้นศตวรรษที่ 21

ความก้าวหน้าของแนวรบประชาธิปไตยอาจถูกคุกคามอีกครั้งจากภูมิรัฐศาสตร์ การผงาดขึ้นของจีนได้ทำการขยายความตึงเครียดในทะเลจีนตะวันออกและจีนใต้  การเสริมกำลังทางทหารขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาค เช่นเดียวกับการก่อการร้ายข้ามชาติและการกวาดล้างในรูปแบบต่าง ๆ ต่อกลุ่มต่อต้านรัฐบาลภายในประเทศ ล้วนแต่เป็นการท้าทายต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจถ้าชนชั้นนำที่ดูแลความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยืนยันว่ามันยังเร็วเกินไปที่ลดความสำคัญของบทบาทดั้งเดิมของตนต่อ“ความมั่นคงแห่งชาติ” ลงไปยังถังขยะแห่งประวัติศาสตร์ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่มั่นคงเช่นนั้น    



หมายเหตุ: แปลจาก How solid are ASEAN’s democracies? เขียนโดย ซอร์พอง เปียอู จากมหาวิทยาลัยไรเยอร์สัน แคนาดา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net