นิธิ เอียวศรีวงศ์: สงครามแย่งชิงอดีต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

       
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุลโพสต์ในเฟซบุ๊กของท่านว่า ที่จริงแล้วชนชั้นนำไทยเลิกสนใจการปฏิวัติใน 2475 ไปนานแล้ว ดังนั้นหมุดคณะราษฎรจึงไม่มีความหมายอะไร ในความเป็นจริงก็ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็นด้วยซ้ำ แต่เพราะเสื้อแดง(ส่วนหนึ่ง)ไปรื้อฟื้น 2475 ขึ้นมาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองที่ปลอดภัยกว่า จึงทำให้ 2475 เป็นประเด็นการเมืองที่กลับมีชีวิตขึ้นใหม่ และหมุดเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครเห็น กลับทิ่มแทงตาของชนชั้นนำขึ้นมาใหม่

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ปิยบุตรทั้งหมด เมื่อมอง 2475 และหมุดคณะราษฎรจากมุมมองความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าไม่มองจากมุมมองนี้ หมุดคณะราษฎรและ 2475 อาจมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง

นับตั้งแต่การรัฐประหารที่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนิยมเจ้าใน พ.ศ.2490 มาจนถึงทศวรรษ 2520 ประวัติศาสตร์ 2475 ถูกครอบงำด้วยโครงเรื่องที่ฝ่าย”สีน้ำเงิน”ผูกขึ้น การยึดอำนาจด้วยวิธีรัฐประหารในวันที่ 24 มิถุนายน กลายเป็นเรื่องร้อนวิชาของนักเรียนนอกไม่กี่คน โดยไม่ตระหนักถึงความไม่พร้อมต่างๆ ของสังคมไทย และแผนการของพระปกเกล้าฯ ที่จะค่อยๆ นำประชาธิปไตยมาสู่บ้านเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การต่อสู้ทัดทานของคนที่เห็นแก่ประโยชน์บ้านเมืองฝ่ายราชสำนัก ทั้งโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเช่นยกกำลังทหารออกมาก่อกบฏ ประสบความล้มเหลว จนพระปกเกล้าฯ ต้องกลายเป็น”ราชันย์ผู้นิราศ”ไป

นักประชาธิปไตยที่แท้จริง ถูกนักประชาธิปไตยจอมปลอมรังแกจนย่อยยับ และนำประเทศไปสู่ความมืดมนอนธกาลสืบมา คือท้องเรื่องหลักของการปฏิวัติ 2475 ที่คนไทยจำนวนมากได้เรียนรู้

ไม่ต้องเตือนก็คงเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์แบบนี้มีส่วนช่วยการฟื้นฟูบทบาททางการเมืองของชนชั้นนำตามประเพณีอย่างไร ยิ่งหลัง 2500 เมื่อคณะทหารที่ยึดอำนาจใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้ความชอบธรรมแก่อำนาจเผด็จการของตน ประวัติศาสตร์แบบนี้ยิ่งช่วยเสริมระบอบเผด็จการของผู้นำกองทัพซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีไปพร้อมกัน และอย่างไม่มีวันสิ้นสุดด้วย

ในช่วงเดียวกันนี้ งานเขียนที่ไม่อยู่ในกรอบโครงเรื่องของฝ่าย”สีน้ำเงิน”ก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอยู่ในภาษาต่างประเทศ เช่นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้พิมพ์หรือไม่ได้พิมพ์เป็นหนังสือในภายหลัง ส่วนหนังสือที่เขียนมาก่อน 2490 แทบไม่ได้ถูกพิมพ์ขึ้นใหม่ ยกเว้นของนักเขียนที่ขายดีเช่นศรีบูรพาหรือมาลัย ชูพินิจ ดังนั้นจึงเป็นเวลาหนึ่งชั่วอายุคนที่คนไทยถูกประวัติศาสตร์สำนวนของ”สีน้ำเงิน”ครอบงำ จนทำให้เกิดนวนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมือง 2475 อีกหลายเรื่องตามมา นับตั้งแต่ สี่แผ่นดิน จนเรื่องที่เขียนหลังทศวรรษ 2520 ซึ่งก็เล่าเหตุการณ์และพฤติกรรมของตัวละครให้สอดคล้องกับโครงเรื่องที่ฝ่าย”สีน้ำเงิน”ผูกขึ้น

ที่ชนชั้นนำเลิกใส่ใจกับ 2475 ก็เพราะได้กลบฝังความหมายอื่นๆ ทั้งหมดของการปฏิวัติในครั้งนั้นไปจนไม่เหลืออะไรแล้ว การปฏิวัติได้เกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ไร้ความหมายใดๆ ทั้งสิ้นแก่ปัจจุบันและอนาคตของชาติไทย

อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษ 2520 ประวัติศาสตร์นิพนธ์ในประเทศไทยได้เปลี่ยนไป นับตั้งแต่การตั้งโจทย์, การอ้างอิงและแหล่งอ้างอิง, เนื้อหา, และวิธีวิเคราะห์ ซึ่งล้วนมีผลต่อกรอบโครงเรื่องของเนื้อหาประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง

ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอะไร เราอาจอธิบายว่ามาจากบุคคลก็ได้ (เช่นจิตร ภูมิศักดิ์, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศรีศักร วัลลิโภดม, สุจิตต์ วงษ์เทศ ฯลฯ) เพราะในความเป็นจริง บทบาทของนักประวัติศาสตร์เหล่านี้มีความสำคัญแน่ หรืออาจอธิบายว่ามาจากความเปลี่ยนแปลงในตัวเล่นของการเมืองไทยก็ได้ (กองทัพ, พคท., มหาวิทยาลัยและปัญญาชน, สถาบันพระมหากษัตริย์, และ ฯลฯ) เพราะตัวเล่นเหล่านี้ก็เปลี่ยนบทบาทของตนไปในความเป็นจริง

แต่ที่ผมสนใจ เพราะเห็นว่ามีความสำคัญกว่าคือการตอบรับของคนไทยเอง ไม่ว่าจะดูจากปกหนังสือที่ออกมาและขายได้ในแต่ละปี, จำนวนของผู้เข้าร่วมการสัมมนาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นบ่อยครั้งมากในรอบปี (ซึ่งต้องคำนึงถึงความยุ่งยากในการจัด และการหาทุน) และการเกิดขึ้นของสถาบันทั้งวิชาการและกึ่งวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ล้วนแสดงว่าคนไทยหันมาใส่ใจประวัติศาสตร์มากขึ้น อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากมองหาที่มาของความเปลี่ยนแปลงกว้างกว่าตัวบุคคล หรือตัวเล่นของการเมืองไทย และผมคิดว่า 14 ตุลาและ 6 ตุลา ทำให้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ที่เล่ากันมาในงานของนักปราชญ์รุ่นก่อน และเป็นหลักในแบบเรียนมานาน พังทะลายลงไปด้วย เพราะอธิบายไม่ได้ว่า เหตุใดในระบอบการุณยภาพของผู้ปกครองซึ่งดำรงมานาน (benevolent despotism) จะเกิดทรราชย์ขึ้นได้อย่างไร และความโหดร้ายป่าเถื่อนกลางเมืองอย่าง 6 ตุลา เป็นผลมาจากอะไร ถ้าเช่นนั้นจะก้าวต่อไปสู่อนาคตได้อย่างไร โดยยังรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้ และไม่ต้องฆ่ากันตายลงเป็นเบือ

ผมคิดว่าสำนึกต่อความมืดมนของอนาคตเช่นนี้ต่างหากที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจอดีต เมื่อไรก็ตามที่เราไม่ได้มองปัจจุบันและอนาคตอย่างที่เคยมองเคยนึก อดีตที่เราเคยใช้ส่องทางก็ไม่อาจทำงานของมันได้อีกต่อไป จำเป็นต้องสร้างอดีตขึ้นมาใหม่ให้เป็นฐานแก่ปัจจุบันที่มองเห็น และอนาคตที่ใฝ่ฝัน

ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้แหละ ที่คนไทยจำนวนมากกว่าที่เคยมีมาก่อน (แน่นอนไม่ใช่ส่วนใหญ่ และไม่กระทบถึงงานสร้างสรรค์ที่ประชาชนเสพย์ เช่นหนัง, ละครทีวี, นวนิยาย, เพลงป๊อป, ฯลฯ ด้วย) พากันเข้ามามีส่วนร่วมในการผูกโครงเรื่องของอดีตขึ้นมาใหม่ ผ่านวิทยานิพนธ์, งานเขียน, งานสัมมนา, งานสอน และงานวิวาทะ ต่างๆ รวมทั้งการเสพย์งานวิชาการและกึ่งวิชาการ ซึ่งเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมของความเปลี่ยนแปลงด้านประวัติศาสตร์นิพนธ์ดังกล่าว

ผมอยากให้สังเกตเนื้อหาของประวัติศาสตร์ไทยส่วนที่ถูกประวัติศาสตร์นิพนธ์ใหม่ทบทวนว่า ล้วนเป็นเรื่องที่กระทบต่อ “ปัจจุบัน”และ”อนาคต”ของสังคมไทยอย่างมากทั้งสิ้น

2475 เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกทบทวนในงานวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์จำนวนมาก นำไปสู่การทบทวนสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งจู่ๆ ก็สิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เผยให้เห็นจุดอ่อนและเงื่อนไขที่แวดล้อมระบอบนั้นอยู่มากมายหลายประการซึ่งเคยถูกละเลยในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน รัชสมัยหนึ่งที่ใกล้ 2475 เหมือนกันคือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ถูกทบทวนในวิทยานิพนธ์ที่ดีเยี่ยมฉบับหนึ่ง ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในรัชสมัย ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ แม้กระนั้นก็อาจคาดเดาได้เลยว่า รัชสมัยนี้จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะถูกทบทวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็มีการศึกษาลงไปในรายละเอียดมากขึ้น ทำให้มองเห็นข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ในการ”ปฏิรูป”ในรัชสมัย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกเพียงอย่างเดียวดังที่เคยกล่าวกันมา แต่เป็นข้อจำกัดที่เกี่ยวกับการเมืองภายใน และสภาพสังคมภายในอีกหลายอย่างซึ่งถูกละเลยมาในงานเขียนรุ่นก่อนหน้านั้น

ทศวรรษ 2520 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ว่าผลการศึกษาในช่วงนั้นจะมีคุณภาพมากน้อยเพียงไร แต่การที่นักวิชาการจำนวนมากหันไปให้ความสำคัญแก่”ท้องถิ่น” ได้ดึงเอาผู้คนจำนวนมากที่ถูก”ลืม”ไปแล้ว ให้กลับเข้ามามีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทยใหม่อีกครั้่งหนึ่ง ทั้งพ่อค้าท้องถิ่น, กวีท้องถิ่น, จิตรกรท้องถิ่น, สถาปนิกท้องถิ่น, นักการเมืองท้องถิ่น, กบฏท้องถิ่น, ฯลฯ ล้วนเป็นคนที่ห่างไกลจากราชสำนักซึ่งเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์แบบเดิม อดีตของ”ชาติ”อีกชนิดหนึ่งกำลังผุดขึ้นมา ซึ่งมีตัวละครที่หลากหลาย ทั้งสูงทั้งต่ำ ทั้งชายทั้งหญิง ทั้งอาจนับได้ว่าเป็นไทยและไม่อาจนับได้ว่าเป็นไทย

น่าสังเกตเป็นพิเศษว่า วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียวชื่อ”รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ.2417--2476” ถูกสำนักพิมพ์เปลี่ยนชื่อเป็นเปิดแผนยึดล้านนา เพื่อมุ่งผลการตลาด สอดคล้องกับในช่วงทศวรรษ 2520 นักมานุษยวิทยาท่านหนึ่ง เสนอว่าหากเรามองการขยายอำนาจไปผนวกหัวเมืองประเทศราชเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักร ในสมัยสมบูรณาญา¬สิทธิราชย์ด้วยทฤษฎี”อาณานิคมภายใน”ของเลนิน จะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น

การทบทวนเรื่องของอาณาจักรสุโขทัยก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน และเลยต่อมาจนถึงทศวรรษ 2530 สุโขทัยเคยถูกชนชั้นนำใช้เป็นอุดมคติของการปกครองไทย (จึงคลุมอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตไว้พร้อมเสร็จ) แต่งานศึกษาในรุ่นหลังทำให้อุดมคตินั้นน่าสงสัยทั้งในแง่ความเป็นจริง และในแง่ว่าจะเป็นอุดมคติแก่รัฐสมัยใหม่ได้อย่างไร ยังไม่พูดถึงข้อสงสัยว่ามีการเสกสรรค์ปั้นแต่งหลักฐาน

โครงเรื่องของอดีตที่ผูกไว้เพื่อจรรโลงรัฐสมัยใหม่ของไทยอันมีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนัก ซึ่งเท่ากับสถานะ, ความศักดิ์สิทธิ์, ความชอบธรรม ฯลฯ ของตำแหน่งต่างๆ ก็ถูกสั่นคลอนไปด้วย กองทัพที่สืบทอดมาจากกองทัพของสมเด็จพระนเรศวร กับกองทัพที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อวานนี้และเพื่อรักษาอำนาจภายในเท่านั้นด้วย มีความน่านับถือต่างกันไกล

ชนชั้นนำไทยไม่ได้เพียงแต่มองตาปริบๆ กับความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยเบื้องหน้า พวกเขาเข้าใจดีว่านัยยะของมันคืออะไร จึงพยายามตอบโต้ทัดทานด้วยอำนาจที่อยู่ในมือทุกวิถีทาง

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ผู้นำทางการเมืองไทยหลายคน ทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านการเลือกตั้ง เรียกร้องและสั่งการให้นำเอาประวัติศาสตร์โครงเรื่องเดิม กลับเข้ามาในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถมและมัธยม แทนที่จะรวมวิชานี้ไว้ในหมวดสังคมศึกษา ซึ่งทำให้มีแนวโน้มจะมองอดีตจากมุมมองอื่นๆ ได้มาก

การฟื้นฟูสมเด็จพระเจ้าตากสิน – ในแง่ประวัติศาสตร์, ตำนาน, ศาลและลัทธิพิธี ฯลฯ – ทำให้มีมติ ค.ร.ม.ยกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขึ้นเป็นมหาราช อันที่จริง”มหาราช”ที่ใช้ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก (ซึ่งเราลอกเลียนมา) เป็นเพียงสมญาเท่านั้น เพื่ีอแยกพระเจ้าแผ่นดินชื่อเดียวกันออกจากกัน เช่น Napoleon the Great เป็นจักรพรรดิคนละองค์กับหลาน Napoleon the Little ไม่ใช่ชื่อทางการที่รัฐบาลใดจะแต่งตั้งอดีตกษัตริย์องค์ใดได้ แต่”มหาราช”ในกรณีนี้ เป็นหลักประกันสถานะทางประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ว่า จะต้องไม่ตกต่ำลงในทางใดเป็นอันขาด ไม่ว่าจะยกย่องสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างไรก็ตาม

จุดสุดยอดของการปกป้องประวัติศาสตร์นิพนธ์เดิม คงเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตีความว่า ม.112 ในกฎหมายอาญาครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันด้วย แต่การดำเนินคดี ม.112 กับคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ฐานดูหมิ่นสมเด็จพระนเรศวร กำลังขยายความในมาตรานี้ไปรวมอดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ (รวมขุนวรวงศาธิราชและพระเจ้าเอกทัศน์ด้วย หรือแม้แต่พระองค์ที่นักประวัติศาสตร์ยังเถียงกันอยู่ว่า มีรัชสมัยนั้นในอยุธยาจริงหรือไม่)

ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้ขัดขวางการศึกษาประวัติศาสตร์ เพียงแต่ต้องศึกษาตามโครงเรื่องที่นักปราชญ์แต่ก่อนผูกไว้ให้เท่านั้น อย่าถามอะไรมากไปกว่าพระเจ้ารามคำแหงเสด็จไปเมืองจีนหรือไม่ อยุธยาตีนครวัดกี่ครั้งกันแน่ เมืองเชลียงเป็นเมืองเดียวกับเชียงชื่นใช่หรือไม่ ฯลฯ

นอกจาก 2475 และหมุดคณะราษฎร ซึ่งเสื้อแดงใช้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เสื้อแดงนำมาใช้มาก ไม่นานมานี้เอง ทหารนายหนึ่งเข้าไปถามเจ้าของร้านค้าแถวฝั่งธนว่า ติดพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ทำไม

ที่ผมเสนอมาทั้งหมดเหล่านี้ก็คือ ความไม่ลงรอยกันในทรรศนะ (perception) ที่มีต่ออดีต เป็นส่วนหนึ่งของผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสังคมไทยเริ่มมีทรรรศนะต่อปัจจุบันและอนาคตแตกต่างกันอย่างหนัก ความไม่ลงรอยนี้เริ่มมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, เศรษฐกิจ, และสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งล้วนกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ไม่เคยมีครั้งไหนที่คนไทยคิดถึงปัจจุบันและอนาคตแตกต่างหลากหลายต่อกันมากเท่านี้ ต่างฝ่ายจึงต้องหันมานิยามอดีต เพื่อกำหนดให้ปัจจุบันและอนาคตเป็นไปตามจินตกรรมของตนเอง

สงครามแย่งชิงอดีตได้เริ่มมานานแล้ว ฝ่ายมีอำนาจใช้อำนาจ ฝ่ายไม่มีอำนาจใช้วิทยาการสมัยใหม่บ้าง บทความยอพระเกียรติบ้าง กวีนิพนธ์บ้าง ภาพยนตร์บ้าง เพลงและดนตรีบ้าง ฯลฯ สงครามนี้ครอบคลุมความขัดแย้งอื่นๆ ไว้อีกมาก

ฝ่ายเสื้อแดงเพียงแต่หยิบฉวยเอาเชลยและสรรพาวุธที่ยึดมาได้จากข้าศึกไปใช้เท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท