สปท.ชง ประยุทธ์ งัดม.44 ตั้ง ‘บอร์ดมั่นคงไซเบอร์’ พร้อมนั่งประธาน

สปท. ถก ผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ชง ประยุทธ์ งัดม.44 ตั้ง ‘บอร์ดมั่นคงไซเบอร์’ พร้อมนั่งประธาน ขณะที่ คำนูณ หวั่น จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน รมว.ดีอี ขออย่ากังวล ไม่ล้วงข้อมูล

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน เรื่องผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งมีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญ คือ การวางมาตรการรับมือและป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต การสื่อสารโทรคมนาคม และดาวเทียม หากเกิดสถานการณ์รุนแรงต่อระบบดังกล่าว

ทั้งนี้ สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเรื่องของโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องของเนื้อหา ควรต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับระบบของไซเบอร์และความมั่นคงด้านโซเซียลมีเดีย รวมถึงต้องมีมาตรการป้องกันระบบไซเบอร์ ที่สำคัญควรกำหนดคำนิยามให้แคบลงเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

โดยการอภิปรายเกี่ยวกับผลการศึกษาและข้อเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกมธ. ชี้แจงต่อที่ประชุมสปท.ว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ สาธารณูปโภค ดาวเทียม ฯลฯ ถือเป็นภัยคุกคามใกล้ตัว ทั้งในส่วนบุคคล ภาครัฐ เอกชน สร้างความเสียหายมาก

กมธ.เสนอ ตั้งนายกฯ เป็นประธาน ใช้ม.44 ตั้ง กปช.

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า กมธ.ศึกษาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมนำร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.มาพิจารณา และมีข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ไข เช่น การแก้ไขคำจำกัดความของไซเบอร์ให้กว้างขวาง ครอบคลุมความมั่นคงของชาติในทุกมิติ ทั้งด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม การให้บริการดาวเทียม ระบบกิจการสาธารณูปโภค ระบบกิจการสาธารณะ เช่น ระบบขนส่ง ถือเป็นเครือข่ายระดับประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ยังเสนอแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) จากเดิมให้รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธาน มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีรมว.กลาโหม รมว.ดีอี เป็นรองประธาน เนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน

"เพื่อให้ทันต่อภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคต ได้เสนอให้รัฐบาลเสนอร่างดังกล่าวต่อสนช. เพื่อให้ประกาศใช้โดยเร็ว แต่ในระหว่างนี้กมธ.เสนอให้นายกฯใช้อำนาจ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ตั้ง กปช.ขึ้นมาทำหน้าที่ก่อน และเมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ให้โอนกิจการทั้งปวงของกปช.ที่ตั้งขึ้นไปเป็นของกปช.ชุดใหม่ เสมือนเป็นการทำงานของกปช." พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

คำนูณ กังวล จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน

สมาชิกสปท.อภิปรายแสดงความเห็นโดยส่วนใหญ่ท้วงติงเรื่องการกำหนดคำนิยาม “ไซเบอร์” ที่กว้างเกินไป และการมีอำนาจสั่งการให้เอกชนต้องปฏิบัติตาม อาจก้าวล่วงไปถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดย คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. กล่าวว่า มาตรา 44 (3) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากศาล ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ที่ให้ กปช.ดำเนินการตามมาตรการเหมาะสม แล้วค่อยรายงานให้ศาลทราบโดยเร็วนั้น หมายความว่านอกจากจะให้มีอำนาจดักฟังได้แล้ว ยังให้ดำเนินการตามมาตรการเหมาะสมได้อีก น่าเป็นห่วงว่าการที่ กปช.มีอำนาจสั่งการครอบคลุมไปถึงเอกชนนั้น จะมีหลักประกันอย่างไรว่าอำนาจสั่งการครอบคลุมไปถึงเอกชนนั้น จะมีหลักประกันอย่างไรว่าอำนาจเหล่านี้จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่นำไปใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จึงควรระบุให้ชัดเจนว่าอำนาจเหล่านี้จะไม่ก้าวล่วงถึงเนื้อหาในการแสดงออกของประชาชน ทั้งนี้หลังจากสมาชิก สปท.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าว จากนั้นจะส่งรายงานให้ ครม.และคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาต่อไป

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวถึงข้อกังวลของภาครัฐและเอกชนที่เกรงว่า การเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของกปช.จะกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น ว่า ได้มีการแก้ไขให้การดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายในคำสั่งศาล ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหากไม่ดำเนินการอาจเกิดความเสียหายร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการอนุมัติของกปช.ดำเนินการเข้าถึงข้อมูลได้ และรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ส่วนบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก้ไขให้มีโทษทางอาญาโดยเจตนาด้วย จากเดิมมีแค่โทษทางวินัยแก่หัวหน้าส่วนราชการที่ไม่ปฎิบัติตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

รมว. ดีอี ยัน ไม่ล้วงข้อมูล

ล่าสุดวันนี้ (16 พ.ค. 60) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวกรณี กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 แต่งตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการทำตามขั้นตอน เป็นเรื่องที่เราจะคุ้มครองสังคม จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ โดยดังประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนที่มีความกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะล้วงข้อมูลนั้น คงไม่เกี่ยวเพราะเป็นการคุ้มครองป้องกันฐานข้อมูล ทั้งในภาครัฐและเอกชน และข้อมูลต่างๆ ของประชาชน ยืนยัน เรากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ของสังคม ขออย่ากังวลสิ่งที่เราทำไม่เข้าข่ายล้วงข้อมูล แต่เป็นการประกาศให้เจ้าของข้อมูลช่วยเหลือตัวเอง

 

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, โพสต์ทูเดย์, ไทยรัฐออนไลน์1, ไทยรัฐออนไลน์2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท