คอบช.ค้าน ร่าง ก.ม.มาตรฐานสินค้าเกษตร - อาหารฯ ฉบับ ก.เกษตรฯ ชี้ทำลายระบบการคุ้มครองผู้บริโภค

คอบช. ด้านอาหารฯ ค้านร่าง ก.ม. มาตรฐานสินค้าเกษตร - ก.ม.อาหารฯ ฉบับกระทรวงเกษตรฯ  ชี้ประชาพิจารณ์แก้ร่าง ก.ม. เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นเพียงพิธีกรรม หากร่าง ก.ม.ผ่านเท่ากับกินรวบคุมอำนาจนำเข้า-ส่งออกอาหาร สุ่มเสี่ยงลักไก่เจรจาต่อรองการค้า ทำลายระบบคุ้มครองผู้บริโภค

16 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจาก องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน แจ้งว่า วันนี้ (16 พ.ค.60) เมื่อเวลา 14.00 น. ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวคัดค้านให้ยุติการแก้ ร่าง กฎหมายเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยล่าสุดได้จัดรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย คอบช. ระบุว่า เป็นการทำลายระบบการคุ้มครองผู้บริโภค

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ (คอบช.) เปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยและขอให้หยุดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แม้กระทรวงเกษตรฯ จะอ้างว่าต้องการเครื่องมือในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ทางการค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับประเทศคู่ค้า แต่เมื่อผู้บริโภคจะต้องเสี่ยงกับการหลุดรอดของสินค้านำเข้าและสินค้าตีกลับที่ไม่ปลอดภัย ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า เป็นการผิดหลักการสากลและมนุษยธรรมรวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเดิมการตรวจพิจารณาอาหารนำเข้าเป็นภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนการดูแลสินค้าหรืออาหารส่งออกนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ก็ดีอยู่แล้ว

กรรณิการ์ ระบุว่า บทบาทหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่เน้นสนับสนุนการส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ อาจเป็นเหตุผลข้ออ้างที่มักถูกนำมาใช้ตลอดเวลาว่า หากกระทรวงเกษตรฯ มีอำนาจดูแลเฉพาะการส่งออก จะไม่มีอำนาจ ในการต่อรอง ในทางเศรษฐกิจอาจฟังดูแล้วดีมาก แต่สะท้อนว่า หน่วยราชการคำนึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก่อนความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งที่การตรวจสอบอาหารนำเข้าและอาหารส่งออกที่ถูกตีกลับควรถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดคำถามว่า นั่นเป็นการดูแลประชาชนจริงหรือไม่ หากเอาอำนาจการตรวจสอบอาหารนำเข้าไปไว้ที่ ก.เกษตรฯ

"เหตุผลที่เราค้านและไม่ยอมรับการรับฟังความคิดเห็นในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา เพราะทำเหมือนแค่พิธีกรรม เราค้านหลักการที่สนใจแต่การค้าแต่ไม่ห่วงใยความปลอดภัยของผู้บริโภค ดูจากโมเดลความล้มเหลว จากกรณีโรควัวบ้าที่เคยระบาดในแถบประเทศยุโรปและลุกลามไปทั้งประเทศจนยากจะแก้ไข ก็เพราะกลไกการตรวจสอบอาหารที่ถูกนำไปผูกโยงกับผลประโยชน์การค้า ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน ลองสมมุติดูว่าถ้าเกิดการลักไก่นำสินค้าส่งออกที่มีสารตกค้างปนเปื้อนแล้วถูกตีกลับมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคในประเทศ หรือมีการเจรจาต่อรองผ่อนปรนมาตรฐานการนำเข้าสินค้าแล้วเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จะมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยอย่างไร" กรรณิการ์ กล่าว

กรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า แม้กระทรวงเกษตรฯ จะมีอำนาจเรียกคืนสินค้า (Recall) แต่ถึงอย่างไรก็ต้องใช้อำนาจ อย. อยู่ดี และหากสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา การถ่ายโอนโยกย้ายภารกิจรังแต่จะสร้างความสับสนในการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง สุดท้ายผลกระทบก็จะมาตกอยู่กับประชาชน

ปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหารฯ กล่าวว่า คอบช.ได้เคยขอข้อมูลและแนวทางการจัดการสินค้าส่งกลับที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในกระบวนการตรวจสอบสินค้าส่งกลับที่พบสิ่งไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ติดฉลากโภชนาการ มีสารตกค้างปนเปื้อน จะมีมาตรการในการดูแลและเฝ้าระวังสินค้าที่ถูกส่งกลับอย่างไร จะมีแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคในการบริโภคสินค้าที่ถูกส่งกลับและนำมาจำหน่ายในประเทศอย่างไร แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลและคำชี้แจงจากกระทรวงเกษตรฯ แต่อย่างใด ทั้งที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการตีกลับสินค้าจากสหรัฐฯ ในเรื่องคุณภาพไม่ใช่แค่เรื่องติดฉลากผิด

“ทำไมกระทรวงเกษตรฯ จึงยังไม่เผยแพร่ผลการประเมินการทำงานหลังจากได้รับการถ่ายโอนภารกิจมาแล้วเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี โดยหน่วยงานที่ควรต้องทำการประเมินควรเป็น อย. เพราะเป็นหน่วยงานที่ส่งมอบภารกิจดังกล่าว หลังจากการประเมินผลแล้วค่อยจัดทำประชาพิจารณ์กันใหม่ จะได้ทราบว่าเมื่อกระทรวงเกษตรฯ รับมอบภารกิจแล้ว ทำงานเป็นอย่างไร ทั้งนี้ คอบช.ได้ทำหนังสือกระตุ้นให้ อย.ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย” ปรกชล กล่าว

ขณะที่ มลฤดี  โพธิ์อินทร์  เลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ กล่าวว่า หากมีการปรับแก้ กม.ทั้ง 2 ฉบับจะเป็นการทำลายระบบการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด เพราะเดิม อย. เคยดูแลการนำเข้า ถ้าสินค้ามีปัญหาก็ตีกลับเลย พอถ่ายโอนภารกิจมาให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแล จะมีปัญหาในเรื่องการติดตาม (Traceability) และ เรียกคืนสินค้า (Recall) ถ้าสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเกิดหลุดรอดออกมา แม้ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะมีอำนาจที่จะเรียกสินค้ากลับ แต่กว่า อย. จะรู้เรื่อง กว่า อย. จะเตือนภัยประชาชน และกว่าสินค้าจะถูกดึงออกจากตลาดก็สายไปเสียแล้ว หากกระทรวงเกษตรฯ จะสนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจ โดยไม่ใส่ใจกลไกดูแลความปลอดภัยของประชาชน ก็คงเห็นได้ชัดเจนว่าระบบการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถูกทำลายลงแล้

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน จะทำหนังสือเรียนไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอให้ยกเลิกการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท