Skip to main content
sharethis

กลุ่มเครือข่ายติดตามคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส ร่วมพิธีวางหมุด ณ ด่านตรวจรินหลวง จ.เชียงใหม่ เพื่อรำลึกและติดตามความคืบหน้าภายหลัง 60 วันจากเหตุการณ์วิสามัญฯ และคดีไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน

17 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ ที่ด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กลุ่มเครือข่ายติดตามคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นำโดย มาลี สิทธิเกรียงไกร, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ชำนาญ จันทร์เรือง, สมชาย ปรีชาศิลปกุล พร้อมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมพิธีวางหมุดเนื่องในโอกาส “รำลึก 60 วันชัยภูมิ – สานฝัน จะอุ๊” เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส ในข้อกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและต่อสู้ขัดขืนทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐซึ่งมิได้เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีแต่กลับออกมาแสดงความเห็นในเชิงปกป้องเพื่อนร่วมอาชีพของตน โดยมิได้สนใจต่อข้อเท็จจริงภายในคดีที่ยังไม่มีความกระจ่าง

นานู ในฐานะตัวแทนชุมชนและกลุ่มสตรีลาหู่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดพิธีดังกล่าวว่าการจัดงานในวันนี้เกิดขึ้นก็เพื่อต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชัยภูมิและไม่ต้องการให้เรื่องนี้เงียบหายไปกับกาลเวลา พิธีในวันนี้เราจัดตามประเพณีของชนเผ่า แม้ว่าชัยภูมิจะนับถือศาสนาคริสต์แต่พิธีกรรมที่ในวันนี้เป็นพิธีกรรมของชาวลาหู่ซึ่งมีความศักดิ์มาก และหวังว่าความศักดิ์สิทธิ์อันนี้จะช่วยส่งผลต่อการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชัยภูมิได้

ในขณะที่ สุรพงษ์ กองจันทร์ทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่าคดีของชัยภูมิไม่ใช่โศกนาฏกรรมแรกที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ลุกขึ้นท้าทายอำนาจรัฐเพื่อเรียกสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การกระทำและการให้เหตุผลที่ไม่เป็นกลางได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐควรหยุดการกระทำเหล่านี้พร้อมกับควรออกมาแสดงความเสียใจ ออกมาแสดงความรับผิดชอบ และต้องออกมาให้การช่วยเหลือเยียวยาต่อกรณีดังกล่าวอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ รัฐควรนำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและสูญหาย กลับมาพิจารณาอีกครั้ง ต้องมีการกำหนดกระบวนการการให้ความช่วยเหลือเยียวยากลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่ชัดเจนเพื่อสร้างเป็นมาตรฐานในการคุ้มครองแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าว นอกจากนี้รัฐและเจ้าหน้าที่ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและยอมรับว่าประเทศไทยคือสังคมพหุวัฒนธรรม

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนคดีไปให้อัยการแล้ว ซึ่งวันพรุ่งนี้ (18 พ.ค. 60) ทางทีมทนายของเราก็จะเดินทางไปยังสำนักงานอัยการภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับพนักงานอัยการให้มีการพิจารณาพยานหลักฐานอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องกล้องวงจรปิดที่กลัวว่าจะไม่ถูกส่งเป็นหลักฐานให้แก่พนักงานอัยการ อีกทั้งทีมทนายยังเห็นว่ามีพยานหลักฐานบางประการที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณารูปคดีของพนักงานอัยการได้ เช่น ครูในโรงเรียนของชัยภูมิ ที่มีความใกล้ชิดและทราบถึงภูมิหลังของชัยภูมิเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้ถูกเรียกไปสอบสวนหรือให้ปากคำแต่อย่างใด

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าจากกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐได้มีการออกมาให้ความเห็นต่อการเสียชีวิตของชัยภูมินั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ควรวางตัวเป็นกลางและปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายอาญาโดยที่ต้องไม่ตัดสินใครก่อนที่บุคคลนั้นจะถูกตัดสินว่ามีความผิด นอกจากนี้การกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงดังกล่าวยังก่อให้เกิดความลำบากต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เพราะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติดังกล่าวไม่สามารถใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่พวกเราเรียกร้องก็คือ อยากให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทั้งในเชิงกระบวนการและพยานหลักฐาน เพราะกระสุนที่คร่าชีวิตชัยภูมิไปนั้น ล้วนมาจากภาษีของประชาชน ฉะนั้นประชาชนจึงควรมีสิทธิที่จะรู้และได้รับความร่วมจากเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net