Skip to main content
sharethis
'สมชัย ศรีสุทธิยากร' กกต. ผุดไอเดียแนะนำตัวผู้สมัครเลือกตั้งผ่านคิวอาร์โค้ด เพื่อเข้าถึงประวัติความเป็นมาของผู้สมัครมากขึ้น รองประธาน สนช.แนะ กมธ.ร่างกฏหมายลูกพิจารณาระมัดระวังตามมาตรา 77 ชี้บทเฉพาะไม่กำหนดกรอบเวลา
 
20 พ.ค. 2560 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้การบริหารการเลือกตั้งทำการศึกษาการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเลือกตั้ง โดยจะนำคิวอาร์โค้ดมาใช้ในการสรรหา ส.ว. และ ส.ส.ในปีหน้า โดยในส่วนของ ส.ว.ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) การได้มาซึ่ง ส.ว.ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างอยู่จะให้ผู้สมัครจัดทำเอกสารแนะนำตัวมีขนาด 1 หน้า เอ 4 จำนวน 1 แผ่น โดยจะใช้ข้อความอะไรก็ได้ แต่ต้องส่งเนื้อหามาให้ กกต.เพื่อตรวจสอบ ผลิต และแจกจ่าย ซึ่งเห็นว่าถ้านำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ก็น่าจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าถึงประวัติ ความเป็นมา ของผู้สมัครได้มากขึ้น
 
นายสมชัย กล่าวอีกว่า การใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดมาใช้  กกต.จะพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบกันระหว่างผู้สมัครด้วย จะกำหนดกรอบกติกาที่ชัดเจน เช่น ถ้าใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. หากมีค่าใช้จ่ายในการผลิต ก็จะนำไปรวมเป็นค่าใช่จ่ายของพรรค เช่น หากผลิตเป็นคลิปวีดีโอถ่ายในสตูดิโอ มีการตัดต่อหลายขั้นตอน ก็ต้องนำมาคิดค่าใช่จ่ายด้วย
 
“การใช้คิวอาร์โค้ดก็จะช่วยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้จักผู้สมัครมากขึ้น เพราะเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดแล้ว นอกจากได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถที่จะเข้าไปดูคลิกลิงค์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ หรือเฟสบุ๊คของผู้สมัครใส่ไว้ในคิวอาร์โค้ด เพื่อศึกษาข้อมูลของผู้สมัครได้มากขึ้น  แต่ผู้สมัครจะต้องรับผิดชอบข้อมูลหากมีเนื้อหาเป็นเท็จ หลอกลวง หรือใส่ร้ายป้ายสีผู้สมัครอื่น ก็ต้องถูกดำเนินคดี โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นแนวทางของ กกต. 4.0” นายสมชัย กล่าว
 
รองประธาน สนช.แนะ กมธ.ร่างกฏหมายลูกพิจารณาระมัดระวังตามมาตรา 77
 
ด้านนายนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมเพื่อประกบอการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายในงานสัมมนา เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่โรงแรมนิวแทรเวล ลอด์จ จังหวัดจันทบุรี โดยสรุปภาพรวมกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาล มาตรา 267 ว่าด้วยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ว่า กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ 2 ข้อ คือ ตามมาตรา 267 และในบทถาวร มาตรา 130-132 ที่กำหนดว่า คะแนนลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต้องมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่กึ่งหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะครบกำหนดในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ส่วนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะต้องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับนั้น จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันประกาศรัฐธรรมนูญ หรือครบกำหนดในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 หรือเป็นวันที่ กรธ.จะส่งฉบับสุดท้ายให้ สนช.
 
นายสุรชัย กล่าวว่า เมื่อผ่านกระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบในวาระ 3 เรียบร้อยแล้ว จะยังประกาศใช้เป็นกฎหมายไม่ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ และ กรธ.ด้วย แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า สนช.จะต้องส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกี่วัน ซึ่งความเห็นส่วนตัว มองว่าต้องยึดบทหลักถาวรของรัฐธรรมนูญ คือ 15 วัน
 
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เมื่อส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาตรวจสอบเพื่อทำความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากตรง ก็ถือว่าจบกระบวนการ แล้วส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อรอทูลเกล้าฯ แต่หากเห็นว่า ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา ซึ่งบทเฉพาะกาลก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องตั้งกรรมาธิการร่วมภายในกี่วัน แต่ภายใน 15 วัน กรรมาธิการร่วมต้องเสนอร่างกฎหมายลูกต่อ สนช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้า สนช.มีมติไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ถือว่าเป็นอันตกไป ซึ่งบทเฉพาะกาลเขียนทิ้งไว้เท่านี้ โดยไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นคนเขียนต่อไป จึงเป็นโจทย์ที่รออยู่ข้างหน้า
 
“ในกระบวนการส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อรอการทูลเกล้าฯ คือ มาตรา 145 และมาตรา 148 ต้องรอ 5 วัน เพื่อดูว่ามีประเด็นปัญหาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยบุคคลที่จะยื่นเรื่องต่อศาล คือ นายกรัฐมนตรี หรือสมาชิก สนช. 1 ใน 10 เข้าชื่อกัน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นสมาชิกต้องระวังเรื่องกระบวนการพิจารณาอาจถูกทักท้วงให้ตรวจสอบได้ กระบวนการที่จะตรวจสอบมีหนึ่งกระบวนการที่เป็นของใหม่กำหนดไว้ คือ ในมาตรา 77 ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมกังวล และฝากกรรมาธิการฯ ไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยขอให้ตรวจสอบตามมาตรา 77 จะเป็นการดี การพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ เกี่ยวข้องกับมาตรา 77 แม้มาตรา 267 ไม่ได้กำหนดไว้ แต่เราก็ต้องยึดบทถาวร ต้องจัดให้มีการรับความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระบทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ โดยต้องเปิดเผยต่อประชาชน ซึ่งอย่างน้อย ก็ต้องลงเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้ โดยจะต้องนำข้อต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นนำมาประกอบการพิจารณาทุกขั้นตอน แต่คำถาม คือ ในขณะที่พิจารณา ได้ทำตามขั้นตอนหรือยัง ถ้ายัง กรุณากลับไปทำด้วย รวมทั้งการเขียนรายงาน เจ้าหน้าที่จะต้องไม่เขียนรูปแบบเดิม ๆ ต้องแจกแจงขั้นตอนในกระบวนการทั้งหมด” นายสุรชัย กล่าว
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net