Skip to main content
sharethis

กระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมตั้งศูนย์ Big Data งบร้อยล้าน ส่องพฤติกรรมวิเคราะห์ข้อความในโลกโซเชียลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์และความมั่นคง จ้าง 30 เจ้าหน้าที่เฝ้าจอตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์กระทรวงดิจิตอล

ร่างข้อกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ โครงการจัดทำศูนย์ข้อมูล Big Data

22 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์กระทรวงดิจิตอลฯ ได้เผยแพร่ประกาศราคากลางโครงการจัดทำศูนย์ข้อมูล Big Data และวิเคราะห์อาชญากรรมเทคโนโลยี เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ มีงบประมาณทั้งสิ้น 102,554,383 บาท โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้

“จากปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่ได้ก่อตัวและขยายวงกว้างมากขึ้น พฤติกรรมการกระทำความผิดผ่าน Social network มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความมั่นคงประเทศ รวมไปถึงการกระทำ หรือ การแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เป็นการ ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มีเทคโนโลยีใดมาตรวจจับและเก็บพยานหลักฐาน วิเคราะห์กลุ่มบุคคลนี้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ Social network เพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชน และเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่หลักเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะคดีความมั่นคงต่อราชอาณาจักรต่างๆ...”

โดยโครงการดังกล่าวระบุวัตถุประสงค์ดังนี้

1.เพื่อจัดหาข้อมูล Big Data และวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ

2.ระบบจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจาก Social network เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ

3.เพื่อจัดหา เครื่องมือ พัสดุ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์พิเศษระบบเฝ้าระวังการโจมตี เพื่อใช้ในการตรวจสอบ เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ และภัยคุกคามระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจจับการโจมตี และภัยคุกคามระบบคอมพิวเตอร์ ของหน่วยงานรัฐ เป็นการป้องกันก่อนเกิดเหตุ คอมพิวเตอร์ในหน่วยงานรัฐ ถูกโจมตี และโพสต์ข้อความดังที่ปรากฎเป็นคดีความเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ

4.รวบรวมผลข้อมูลคดี รูปแบบ วิธีการ พฤติการณ์กระทำผิดของบุคคลที่มีลักษณะเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ

5.เพื่อจัดหาเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันตัวบุคคลพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลโดยใช้ภาพใบหน้าและระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการระบุตัวบุคคลทางข้อมูลชีวภาพ (Biometric) หรืออื่นๆ เพื่อการตรวจสอบ และค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต และระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการระบุตัวบุคคล

6.เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มีอุปกรณ์เครื่องมือ อุปกรณ์พิเศษ และระบบสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

โดยคุณลักษณะเฉพาะของศูนย์ข้อมูล Big Data และวิเคราะห์อาชญากรรมเทคโนโลยีฯ คือ

1. จัดห้องปฏิบัติการศูนย์ข้อมูล Big Data และวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ให้มีอุปกรณ์พร้อมปฏิบัติงาน รวมทั้งระบบไฟฟ้าและแสงสว่างเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน รองรับเจ้าหน้าที่

2. ชุดอุปกรณ์ Video wall จำนวน 1 ชุด

3. เครื่องโปรเจคเตอร์แบบ Inter active

4. จัดจ้างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวน 30 คน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 31 กรกฎาคม 2561 โดยต้องจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และสามารถทำงานเป็นกะ สำหรับการปฏิบัติงานในส่วนที่จะต้องทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง

5. จัดหาผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติงานที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อย่างน้อย สัปดาห์ละ 2 วันทำการ จำนวน 2 คน นับตั้งแต่วันถัดจากวันลงนามในสัญญา จนถึงวันสิ้นสุดสัญญา โดยต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง และมีผลงานวิจัยในด้านใดด้านหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีคุณลักษณะอื่น คือ

·         ระบบจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจาก Social network เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ

·         ระบบเฝ้าระวังการโจมตี เพื่อใช้ในการตรวจสอล เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ และภัยคุกคามระบบคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจจับการโจมตี และภัยคุกคามระบบคอมพิวเตอร์ ของหน่วยงานรัฐ

·         ระบบฐานข้อมูลคดี รูปแบบ วิธีการ พฤติการณ์กระทำผิดของบุคคลที่มีลักษณะเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ

·         ระบบยืนยันตัวบุคคลพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลโดยใช้ภาพใบหน้า และระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการระบุตัวบุคคลทางข้อมูลชีวภาพ (Biometric) อื่นๆ เพื่อการตรวจสอบ และค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต และระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการระบุตัวบุคคล ซึ่งมีการทำงานที่สามารถวิเคราะห์ อาทิเช่น วิเคราะห์ข้อความเพื่อค้นหาคำสำคัญภาษาไทยและภาษาอังกฎษที่ปรากฎในเอกสาร เช่น สเตตัสและคอมเมนต์ บน facebook, Tweet บน Twitter

ขณะเดียวกันวันนี้ (22 พ.ค.) เว็บไซต์ Bangkok Post รายงานว่าตำรวจกำลังเพ่งเล็งคนที่ดูรูปและอ่านคอนเทนต์ผิดกฎหมาย แม้ไม่ได้กดไลค์กดแชร์ ก็อาจมีความผิดเช่นกัน

พล.ต.ท. ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บอกเพิ่มเติมกับนักข่าวว่า ตัวกฎหมายจะรวมผู้กระทำผิดในสามส่วนด้วยกันคือ ผู้ผลิตคอนเทนต์นั้นๆ ผู้ที่เข้าไปคอมเมนท์ ไลค์ แชร์ และผู้ที่อ่านคอนเทนต์นั้นแม้ไม่ได้กดไลค์กดแชร์ แต่เบื้องต้นจะยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายต่อบุคคลกลุ่มที่สามนี้ เพียงแต่จะเข้าไปตักเตือนและทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ทำให้ตัวเองไปอยู่ในกลุ่มที่สองซึ่งมีความผิด

พล.ต.ท. ฐิติราช ระบุอีกว่า ทางตำรวจจะจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อระบุบุคคลในกลุ่มที่สาม และตรวจสอบสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงดูเนื้อหาดังกล่าว

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงดีอีประกาศเตือนประชาชนให้งดติดตามและติดต่อกับ 3 บุคคล คือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต และ นาย Andrew MacGregor Marshall นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net