Skip to main content
sharethis

ประชาไทสัมภาษณ์อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชี้ แค่ดูเนื้อหาจะกระทบความมั่นคงของชาติอย่างไร? คำสั่งศาลให้ปิดกั้นไม่ได้แปลว่าผิดกฎหมายเพราะยังไม่พิพากษา

วันนี้ (22 พ.ค.) จากกรณี เว็บไซต์ Bangkok Post รายงานว่าตำรวจกำลังเพ่งเล็งคนที่ดูรูปและอ่านคอนเทนต์ผิดกฎหมาย แม้ไม่ได้กดไลค์กดแชร์ ก็อาจมีความผิดเช่นกัน

พล.ต.ท. ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บอกเพิ่มเติมกับนักข่าวว่า ตัวกฎหมายจะรวมผู้กระทำผิดในสามส่วนด้วยกันคือ ผู้ผลิตคอนเทนต์นั้นๆ ผู้ที่เข้าไปคอมเมนท์ ไลค์ แชร์ และผู้ที่อ่านคอนเทนต์นั้นแม้ไม่ได้กดไลค์กดแชร์ แต่เบื้องต้นจะยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายต่อบุคคลกลุ่มที่สามนี้ เพียงแต่จะเข้าไปตักเตือนและทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ทำให้ตัวเองไปอยู่ในกลุ่มที่สองซึ่งมีความผิด

พล.ต.ท. ฐิติราช ระบุอีกว่า ทางตำรวจจะจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อระบุบุคคลในกลุ่มที่สาม และตรวจสอบสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงดูเนื้อหาดังกล่าว

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล

ประชาไทสัมภาษณ์ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เกี่ยวกับกรณีที่ผู้อ่านคอนเทนต์อาจเป็นผู้กระทำความผิดด้วย โดยอาทิตย์อธิบายว่า แม้เจ้าหน้าที่อาจจะอ้างได้ว่าเป็นการเฝ้าระวังสอดส่องคนที่ดูเนื้อหาผิดกฎหมาย แต่การดูนั้นไม่ได้ผิดกฎหมาย  เช่น การเผยแพร่ภาพโป๊ การเผยแพร่นั้นเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่การดูภาพโป๊ไม่ได้ผิดกฎหมาย

อาทิตย์ยกตัวอย่างกรณีการเฝ้าระวังคนก่ออาชญกรรม เจ้าหน้าที่อาจอ้างได้ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ คือจำเป็นต้องรู้ว่าเขามีการสื่อสารเพื่อเตรียมการก่ออาชญากรรม แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะกฎหมายก่อการร้ายหรือกฎหมายสอบสวนคดีพิเศษก็ต้องมีคำสั่งศาล ต้องมีเหตุอันสมควรให้เชื่อได้ว่าจะเกิดอาชญากรรมจริง แต่ในกรณีนี้ไม่ใช่การก่ออาชญากรรม เป็นแค่การดูเฉยๆ ซึ่งไม่มีความผิดโดยตัวมันเอง

อาทิตย์ตั้งคำถามว่า การเข้าถึงเนื้อหาเฉยๆ เป็นการเตรียมการก่ออาชญากรรมรึเปล่า? คำถามคือใช้ข้ออ้างอะไรที่ชอบธรรมในการสอดส่องคนที่มาดู หากเจ้าหน้าที่อ้างถึงเรื่องความมั่นคงของชาติ แค่การดูเนื้อหานั้นจะไปกระทบความมั่นคงของชาติอย่างไร?

ถ้าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลเท็จ เป็นสิ่งที่เป็นความผิดจริงๆ สิ่งที่คุณทำได้คือ คุณก็ไปสั่งปิด ซึ่งตอนนี้กทสช. และกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้รับความร่วมมือจากเฟซบุ๊คและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) แต่สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือคุณไปสอดส่องแม้กระทั่งคนที่กำลังดูสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงอยู่รึเปล่า ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงแล้วมันผิดกฎหมายอย่างไร หรือมีข้อเท็จจริงอะไรที่กระทบความมั่นคง และถ้ามีข้อเท็จจริงที่กระทบความมั่นคงก็น่าสนใจมากว่ารัฐบาลกำลังปกปิดอะไรอยู่ ตกลงเป็นความมั่นคงของรัฐบาลใช่ไหมที่ไม่สามารถให้คนทั่วไปรู้ได้

นอกจากนี้ เขาเสริมว่า แม้กระทั่งมีคำสั่งศาลให้ปิดกั้นก็ไม่ได้แปลว่าผิดกฎหมาย เพราะยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าผิดกฎหมาย คำสั่งศาลมีเพื่อระงับการเข้าถึงเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วคำสั่งศาลเป็นมาตราการชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเสียหายเป็นการชั่วคราว ไม่ใช่คำพิพากษาว่าผิดกฎหมาย

“แต่คำสั่งศาลในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องถาวร คำสั่งศาลราวกับว่าเป็นคำพิพากษา เช่นกรณีบล็อกเฟซบุ๊ก ตามกฎหมายปฏิบัติมันกลายเป็นการปิดกั้นถาวร จริงๆ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องส่งฟ้องแล้วพิสูจน์ให้ได้ว่าผิดหรือไม่ผิด ถ้าไม่ผิดจะต้องยกเลิกคำสั่งการปิดกั้น แต่ถ้าพิสูจน์ว่าเป็นความผิดก็ปิดถาวรไป” อาทิตย์กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net