Skip to main content
sharethis
กรมการจัดหางาน จัดระเบียบบริษัทโมเดลลิ่ง ให้ความคุ้มครอง ดูแล นายแบบ นางแบบต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เร่งจัดระเบียบบริษัทโมเดลลิ่งในประเทศไทยให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ย้ำเตือนนายแบบ นางแบบต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องมีใบอนุญาตทำงานเพื่อได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทยว่า นายแบบ นางแบบต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาการจ้างงาน ซึ่งบางรายพบว่าเป็นบริษัทโมเดลลิ่งที่ไม่ได้จัดตั้งบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมการจัดหางานจะได้เร่งหาแนวทางและมาตรการเพื่อให้บริษัทโมเดลลิ่งปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้นายแบบ นางแบบ ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเกี่ยวกับมาตรการในการจัดระเบียบบริษัทโมเดลลิ่งต่อไป
 
ในปีที่ผ่านมา กรมการจัดหางาน ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย จัดโครงการ "หยุด ! นางแบบนายแบบ และเด็กต่างชาติที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ต่อต้านการค้ามนุษย์" โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับโมเดลลิ่ง นางแบบ นายแบบชาวต่างชาติที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งพบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 19 พฤษภาคม 2560 มีผู้ได้รับอนุญาตทำงานตำแหน่งนายแบบ นางแบบ จำนวนทั้งสิ้น 882 คน โดย 5 อันดับแรกที่ขออนุญาตทำงานมากที่สุด คือ 1.รัสเซีย จำนวน 193 คน 2.ยูเครน จำนวน 130 คน 3.เกาหลีใต้ จำนวน 65 คน 4.จีน จำนวน 52 คน และ 5.ฟิลิปปินส์ จำนวน 43 คน ในขณะที่ปัจจุบัน (วันที่ 19 พฤษภาคม 2560) มีจำนวนคนต่างด้าวที่ทำงานในตำแหน่งนายแบบ นางแบบคงเหลือในประเทศ จำนวน 470 คน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำเตือนว่า นางแบบ นายแบบคนต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยหรือประสงค์จะทำงานในประเทศไทยทุกคนจะต้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยผู้ที่ขอได้จะต้องมีวีซ่า NON – IMMIGRANT ที่ไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยว (TOURIST) หรือผู้เดินทางผ่าน (TRANSIT) แต่อย่างใด
 
นายวรานนท์ฯ กล่าวอีกว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กำลังดำเนินการแก้ไขกฎหมายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ซึ่งหากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้แล้ว นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษหนักปรับตั้งแต่ 400,000 ถึง 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ส่วนแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ที่มา: กรมการจัดหางาน, 21/5/2560
 
แรงงาน เตือนนายจ้างแจ้งรายชื่อสารเคมีที่ใช้ ฝ่าฝืนผิด กม.
 
กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยผลการตรวจสถานประกอบกิจการที่มีการใช้จัดเก็บสารเคมีอันตรายตามมาตรการ ๓-๓-๒ พบสถานประกอบกิจการปฏิบัติไม่ถูกต้องเรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยฯ มากสุด ย้ำนายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายหากฝ่าฝืนมีโทษอาญา
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยถึงผลการตรวจ ความปลอดภัยฯแบบเข้มข้นตามมาตรการ ๓-๓-๒ ในสถานประกอบกิจการที่มีการใช้สารเคมีว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๖๐ ได้ดำเนินการตรวจสถานประกอบกิจการ ๙๘๖ แห่งลูกจ้างเกี่ยวข้อง ๑๒๖,๔๕๘ คน พบสถานประกอบกิจการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ๓๐๗ แห่ง พนักงานตรวจความปลอดภัยได้ออกคำสั่งให้ปรับปรุงแล้ว ๒๘๒ แห่ง ให้นำเอกสารมาแสดง ๒๕ แห่ง ในจำนวนนี้ได้ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย ๑ แห่ง ทั้งนี้พบว่าเรื่องที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ๓ ลำดับแรก ได้แก่ ไม่จัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีอันตรายและรายละเอียดข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีที่มีอยู่ในครอบครองและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบภายในเจ็ดวัน จำนวน ๑๗๗ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๖, ไม่ปิดฉลากรายละเอียดเกี่ยวสารเคมีเป็นภาษาไทยไว้ที่หีบห่อหรือภาชนะบรรจุสารเคมีอันตราย จำนวน ๘๐ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๒๖ และไม่จัดทำคู่มือ ขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย จำนวน ๒๕ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๘.๑๙ ตามลำดับ ซึ่งทั้ง ๓ เรื่องที่ไม่ปฏิบัตินั้น เป็นหลักการพื้นฐานที่ควรปฏิบัติ เพื่อศึกษาทำความเข้าใจสารเคมีที่ตนใช้ ข้อปฏิบัติที่ปลอดภัยในการนำสารเคมีมาใช้ ข้อควรระวังต่างๆ รวมทั้งการไม่ติดฉลากรายละเอียด คู่มือและขั้นตอนการทำงานเพื่อสื่อสารให้ผู้พบเห็นหรือผู้ใช้เข้าใจถึงอันตรายปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ไม่ก่อเกิดอันตรายเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้สถานประกอบกิจการที่มีการใช้สารเคมีอันตรายให้ปฏิบัติให้ถูกต้องที่กฎหมายกำหนดหากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายกรณีมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๑ – ๑๐ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖
 
 
ครม.ไฟเขียวบรรจุพยาบาลวิชาชีพใหม่ 8,792 ตำแหน่ง ภายใน 3 ปี
 
ครม.เห็นชอบบรรจุพยาบาลวิชาชีพใหม่ 8,792 ตำแหน่ง โดยทยอยบรรจุภายใน 3 ปี และเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุข
 
(23 พ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบบรรจุพยาบาลวิชาชีพใหม่ 8,792 ตำแหน่ง โดยจะทยอยบรรจุภายใน 3 ปี และเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุข
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าพบ เพื่อหารือปัญหาภาพรวมของระบบราชการรวมทั้งสอบถามรายละเอียดและปัญหาอุปสรรคในการบรรจุอัตราพยาบาลวิชาชีพ
 
 
“แพทย์” ขอแยกคุมบริหารบุคลากรสาธารณสุขออกจาก กพ.
 
(23 พ.ค.2560) พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา เปิดเผยว่า ปัญหาภาระงานของแพทย์ พยาบาล ทำงานหนักมีมานาน โดยสัดส่วนของแพทย์ทำงานจริงมีไม่ถึงครึ่งเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารและอีกส่วนหนึ่งเป็นแพทย์ที่ต้องศึกษาต่อ ทำให้เหลือบุคลากรทำงานน้อยมาก แพทย์โรงพยาบาลชุมชน หรือ โรงพยาบาลศูนย์ ต้องทำงานหนักมากถึง 80-120 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ แบกรับภาระงานดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก
 
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะรับรู้และเข้าใจปัญหา แต่ยังติดอยู่กับอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ไม่สามารถที่จะเพิ่มอัตราข้าราชการได้ เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สปสช.ที่ได้รับงบประมาณจริงจากค่ารักษาพยาบาลเพียงร้อยละ 50-70 ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และยังติดกับดักมาตรฐานการรักษา ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน และแพทย์ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกการรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยของตัวเอง
 
พญ.เชิดชู กล่าวว่า ประชาชนมีอิสระเสรีภาพมากในการไปโรงพยาบาล บางส่วนเข้าไปเรียกร้องสิทธิ์เกินความจำเป็น ทำให้โรงพยาบาลต้องสูญเสียงบประมาณส่วนนี้ไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้มีสิทธิในบัตร 30 บาท อยู่ราว 48 ล้านคน กว่า 20 ล้านคนไม่ไปใช้สิทธิ เพราะไม่เชื่อมั่นมาตรฐานการรักษา แต่งบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ
 
ทั้งนี้ เรียกร้องให้ปฏิรูประบบการให้บริการสาธาณะด้านสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้มีเงินใช้ในระบบอย่างเพียงพอ โดยสามารถที่จะรักษาได้ตามมาตรฐาน เพื่อรักษาคุณภาพการรักษาให้ก้าวหน้าไปย่างต่อเนื่อง รวมทั้งออกกฎหมายการทำงานและเวลาการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับการทำงานในวิชาชีพอื่น
 
นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งกองทุนทดแทนให้บุคลากรที่ทำงานแล้วได้รับผลกระทบจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานที่ชัดเจนไม่แตกต่างจากประกันสังคม
 
“การปฎิรูปประเทศให้ไปถึง 4.0 โครงสร้างพื้นฐานต้องทั่วถึงทุกตำบล อำเภอ หมู่บ้าน ไม่ใช่มีเพียงแค่โรงพยาบาลอำเภอ แล้วมีแค่หมอ 1 คน ที่ต้องรับมือกับคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง หมอก็เป็นมนุษย์ พยาบาลก็เป็นมนุษย์ ต้องการเวลาพักผ่อน ต้องการมีชีวิตที่มีคุณภาพ” พญ.เชิดชู
 
ขณะที่ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามหลักการหากผู้ใดประสบอันตรายจากการทำงาน จะต้องได้รับค่าทดแทน ไม่ใช่ค่าตอบแทน ซึ่งประเทศไทยมีกองทุนเงินทดแทนเฉพาะแรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในภาคเอกชนเท่านั้น ขณะที่บุคลากรอย่างแพทย์ พยาบาล กลับไม่ได้รับการดูแลในเรื่องงบประมาณและกฎหมายจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ พญ.อรพรรณ์ เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดการทำงานของแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มีมาตรฐานเดียวกับ พ.ร.บ.แรงงานและตามเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยกำหนดภาระงานให้เหมาะสมกับการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลชีวิตผู้ป่วย โดยให้มีระบบบริหารบุคคลเฉพาะ พร้อมตั้งคณะกรรมการข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข (ก.สธ.) แยกการบริหารบุคคลออกจาก กพ.
 
 
กระทรวงแรงงาน ปรับโฉมมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เน้นขับขี่ปลอดภัย สร้างมาตรฐานโลจิสติกส์ตั้งเป้า 5 ปี อบรมได้ จำนวน 171,185 คน
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้งขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความประมาท การไม่เคารพกฎเจรจา ขาดความเชี่ยวชาญในการขับรถ และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากจะสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่าง เป็น 1 ใน 27 วาระที่จะต้องมีการขับเคลื่อน ดังนั้นกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ดำเนิน “โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานในระบบโลจิสติกส์ พนักงานขับรถขนส่งสินค้าและผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง วัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎจราจร การดูแลรักษารถ การขับขี่ยานพาหนะด้วยความปลอดภัย รวมทั้งสร้างความร่วมมือและความรับผิดชอบด้านการลดอุบัติเหตุ และการเพิ่มวินัยจราจร เบื้องต้นได้เปิดนำร่องฝึกอบรมหลักสูตร ผู้ขับขี่ยานพาหนะ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง จำนวน 1 รุ่น 50 คน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร
 
ทั้งนี้ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของประเทศไทย เป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนของผู้ประกอบการไทย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี วางเป้าหมายการพัฒนาคนภาคโลจิสติกส์ จำนวน 171,185 คน
 
 
ทีวีดิจิตอลระส่ำอีกระลอก! “ไทยรัฐทีวี” ประกาศ “เออลีรีไทร์” ลดพนักงาน
 
(24 พ.ค.) รายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ระบุว่า บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ทีวีดิจิตอลระบบความคมชัดสูง (HD) ช่อง 32 ได้ประกาศโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โดยได้รับความช่วยเหลือ ระบุวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารอัตรากำลังภายในองค์กรของแต่ละสายฝ่ายอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ และเพื่อปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรโดยรวมในระยะยาว
 
ทั้งนี้ พนักงานที่ได้รับอนุมัติให้ลาออกตามโครงการจะได้รับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ อายุงานไม่ครบ 1 ปี ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน, อายุงาน 1 - 3 ปี ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน, อายุงาน 3 - 6 ปี ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน, อายุงาน 6 - 10 ปี ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ช่วยเหลือเท่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน และยังจะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วันอีกด้วย
 
โดยพนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จะต้องติดต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคล ภายในวันที่ 14 มิ.ย. 2560 โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ และจะมีผลให้ออกตามโครงการในวันที่ 1 ก.ค. 2560 โดยพนักงานที่ได้รับการอนุมัติให้ออกตามโครงการแล้ว จะถอนเรื่องคืนหรือยกเลิกไม่ได้ และบริษัทฯ จะไม่รับพนักงานที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการ กลับเข้าทำงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ รวมทั้งบริษัทในเครืออีก
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ในปี 2557 ไทยรัฐทีวี มีพนักงานประมาณ 527 คน จากจำนวนพนักงานในเครือไทยรัฐทั้งหมดกว่า 2,000 คน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า สำหรับผลประกอบการของบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือ ไทยรัฐทีวี ปี 2557 มีรายได้รวม 217.32 ล้านบาท ขาดทุน 894.10 ล้านบาท ส่วนปี 2558 มีรายได้รวม 495.55 ล้านบาท ขาดทุน 1,148.09 ล้านบาท ส่วนปี 2559 ยังไม่พบข้อมูลงบการเงิน
 
ก่อนหน้านี้ เครือเนชั่น เครือมติชน และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ได้จัดโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ หรือ เออลีรีไทร์ไปแล้ว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ
 
 
สศช.เผยจ้างงานไตรมาสแรกปี 2560 ยังติดลบ เหตุภาคการผลิตยังมีการผลิตส่วนเกิน
 
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การจ้างงานในไตรมาส 1/2560 มีทั้งสิ้น 37.4 ล้านคน ติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคการเกษตร ติดลบ 1.4% เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคนอกเกษตรต่อเนื่องช่วงปี 2557-59 เพราะประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ประกอบกับแรงงานส่วนหนึ่งออกจากกำลังแรงงานเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่แรงงานใหม่ลดลงจากผลตอบแทนไม่แน่นอนและไม่จูงใจ
 
ส่วนการจ้างงานภาคนอกการเกษตร ติดลบ 0.3% โดยสาขาอุตสาหกรรม ติดลบ 1.5% และสาขาก่อสร้าง ติดลบ 8.7% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ยกเว้นการจ้างงานสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังขยายตัวได้ 4.2% สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัว 2.9% และสาขาขายส่ง/ขายปลีก ขยายตัว 0.9% ตามการบริโภคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี
 
"ตัวเลขผู้ว่างงานมี 4.6 แสนคน หรือคิดเป็น 1.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 0.97% ถือเป็นการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยยังคงทรงตัว สะท้อนการผลิตยังไม่ฟื้นตัวเต็ม"
 
ในส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่น โดยรวมติดลบเล็กน้อย 0.9% โดยค่าจ้างนอกภาคเกษตร ติดลบ 1% แต่ภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 5.2% แต่เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่เท่ากับ 1.3% จะทำให้ค่าจ้างแรงงานแท้จริงของภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ติดลบ 2.1%
 
"แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.3% แต่ยังไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการจ้างงานในปัจจุบันมากนัก เนื่องจากภาคการผลิตยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก และยังสามารถเพิ่มชั่วโมงการทำงานของแรงงานได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการคงชะลอการจ้างงานออกไป แต่ตัวเลขการจ้างงานเดือนเมษายนมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรขยับสูงขึ้น 7% จากภัยแล้งหมดลง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น แต่ภาคการผลิตคาดว่าจะเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง"
 
สำหรับหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 4/2559 เท่ากับ 11,472,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 1/2560 มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ชะลอ โดยชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเหลือ 6.1% จากไตรมาส 4/2559 อยู่ที่ 7% เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการเร่งซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลง ขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ ขยายตัว 2.8% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 1.3%
 
ในด้านความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเป็น 2.82% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.71% โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน ลดลงเหลือ 3.11% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 3.19% ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 9,844 ล้านบาท ลดลง 12.8% และคิดเป็นสัดส่วน 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ส่วนการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิต มีมูลค่า 9,859 ล้านบาท ลดลง 10.1% และคิดเป็นสัดส่วน 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง
 
 
สธ. เผยปีนี้อัตราว่างข้าราชการทุกวิชาชีพ 11,000 ตำแหน่ง ส่วน 7 วิชาชีพในปีนี้มีอัตราว่างบรรจุได้ 300 ตำแหน่ง
 
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ปลัดสธ.) เปิดเผยภายหลังพูดคุยรับฟังปัญหาเรื่องการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการกับผู้แทนชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์ ประกอบด้วย นักเทคนิคการแพทย์ , นักกายภาพบำบัด , นักรังสีการแพทย์ , นักกิจกรรมบำบัด , นักจิตวิทยาคลินิก , นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกและนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายว่า กระทรวงสาธารณสุข เข้าใจถึงความกังวลของบุคลากร 7 วิชาชีพที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการประมาณ 3,000 คน โดยการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการว่าง 11,000 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งของทุกวิชาชีพ และไม่ได้นำตำแหน่งของวิชาชีพอื่นๆ มาบรรจุให้พยาบาล เป็นอัตราว่างของพยาบาลเอง 1,000 ตำแหน่ง ในส่วนของ 7 วิชาชีพมีอัตราว่าง 170 ตำแหน่ง รวมกับที่จะเกษียณอายุในปีนี้ 91 ตำแหน่ง และรอการเลื่อนระดับ 47 ตำแหน่ง รวมอัตราข้าราชการที่สามารถบริหารจัดการ 308 ตำแหน่งที่จะบรรจุในช่วงแรกก่อน
 
ทั้งนี้ ในระยะยาวกระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์ความต้องการกำลังคนของแต่ละวิชาชีพ และกำหนดสัดส่วนการบรรจุเป็นข้าราชการตามที่หลักเกณฑ์ กพ. ไว้แล้ว โดยสายวิชาชีพหลัก และ 7 วิชาชีพ สัดส่วนอัตราข้าราชการที่กำหนดไว้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 75 ซึ่งยังมีช่องว่างบรรจุเป็นข้าราชการได้ไม่ครบทุกคน จะเสนอ คปร.เพื่อพิจารณาต่อไป อีกวิธีหนึ่งคือ อาจไม่ได้เป็นข้าราชการทั้งหมด ต้องหาวิธีการจ้างงานแบบอื่น เช่นเป็นพนักงานราชการ หรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข แต่มีโอกาสศึกษาต่อ ค่าตอบแทน จัดสวัสดิการที่ใกล้เคียงกับข้าราชการ และจะยกเลิกการจ้างเป็นลูกจ้างรายวัน ทั้งนี้ ได้ให้ชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์ ส่งตัวแทนวิชาชีพละ 2 คน ร่วมทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อได้ข้อมูลตำแหน่งข้าราชการที่ตรงกับความเป็นจริง
 
 
ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน เตรียมตั้งโรงงานที่ระยอง เเรงงานอเมริกันไม่พอใจ เหตุทำคนในประเทศตกงาน
 
ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน บริษัทผู้ผลิตจักรยานยนต์ชื่อดัง เตรียมตั้งโรงงานการผลิตจักรยานยนต์ในจังหวัดระยอง คาดเปิดให้บริการภายในปี 2018 โดยจะเป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วนที่นำเข้าจากซัพพลายเออร์ และโรงงานในสหรัฐฯ
 
โดย นายมาร์ค แมคอัลลิสเตอร์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท แผนกการขายในต่างประเทศของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ออกมาเปิดเผยว่า แผนการย้ายโรงงานของบริษัทมีขึ้นเพื่อผลักดันให้ธุรกิจขายจักรยานยนต์ในเอเชียเติบโตเท่านั้น โดยจักรยานยนต์ที่ประกอบในไทยจะถูกส่งไปขายในเอเชีย และในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
 
ซึ่งก่อนหน้านี้ จักรยานยนต์ยี่ห้อฮาร์ลีย์ เดวิดสัน โดนอัตราการเก็บภาษีสูง เพราะถือเป็นสินค้านำเข้า ทำให้จักรยานยนต์มีราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งการตั้งโรงงานในภูมิภาค จะทำให้บริษัทลดภาษีนำเข้าในหลายประเทศ และยังลดระยะเวลาการขนส่งไปยังประเทศใกล้เคียง
 
อย่างไรก็ตาม การตั้งโรงงานในไทยจะทำให้สหภาพแรงงานในสหรัฐฯ ออกมาประณามบริษัท ว่ากำลังทำให้ชาวอเมริกันต้องตกงาน ทั้งๆ ที่เป็นผู้สร้างแบรนด์จักรยานยนต์ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ด้านบริษัทยังคงปฏิเสธ และยืนยันว่า เอเชียเป็นตลาดของฮาร์ลีย์ที่กำลังเติบโต เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัว และมีแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสูง จากปีที่ผ่านมา ยอดขายของฮาร์ลีย์ เดวิดสัน ในต่างประเทศเติบโตมากขึ้น ขณะที่ยอดขายในสหรัฐฯ ตกลง
 
 
อนุมัติเงินกู้ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ 4 แห่ง รวม 37 ล้าน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ได้พิจารณาอนุมัติวงเงินกู้จำนวน 37 ล้านบาท ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ 4 แห่ง แบ่งเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ เอส พี เอส จำกัด จำนวน 10 ล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานคลังพลาซ่า จำกัด 7 ล้านบาท และพิจารณาคำขอกู้ในโครงลดภาระหนี้เพื่อสร้างสุขแก่แรงงานให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าวหงษ์ทอง (กลุ่มเจียเม้ง) จำกัด 10 ล้านบาท และสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ 10 ล้านบาท รวมวงเงิน ที่อนุมัติจำนวน 37 ล้านบาท มีสมาชิกได้รับประโยชน์ รวม 2,492 คน
 
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่ตุลาคม 2559 ถึงปัจจุบัน กสร. ได้อนุมัติเงินกู้ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการไปแล้ว 11 แห่ง เป็นเงิน 92.5 ล้านบาท
 
โครงการลดภาระหนี้เพื่อสร้างสุขแก่แรงงาน เป็นโครงการให้กู้เพื่อนำไปปลดเปลื้องภาระหนี้สิน โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ต่อปีและสหกรณ์นำไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิก ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี จึงขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ และหากสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจใดสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน กลุ่มงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 6774 หรือ 0 2246 0383
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net