Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร

เมื่อเอ่ยถึงกองทัพกับการเมืองไทย สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกนึกถึง เขากล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองจะไม่มีทางสำเร็จ หากไม่ปฏิรูปกองทัพ และในทางกลับกัน การปฏิรูปกองทัพก็เป็นไปไม่ได้ หากไม่ปฏิรูปการเมือง ฟังแบบนี้ก็ให้รู้สึกว่าเขากำลังเล่นลิ้นและสร้างสภาวะงูกินหาง

ไม่ใช่ สุรชาติมองว่าการปฏิรูปกองทัพเป็นงานระยะยาวมากกว่าคำตอบสำเร็จรูปเฉพาะหน้า เขาเชื่อว่าสังคมไทยต้องปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยทำงาน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านบทเรียนให้มากพอ โดยไม่มีการขัดจังหวะ ถึงที่สุด การเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะเขย่าองคาพยพภายในให้เข้าที่เข้าทาง และเปลี่ยนทหารการเมืองให้เป็นทหารอาชีพ

แม้ภาพอนาคตจะดูมืดมน แต่มุมวิเคราะห์ของสุรชาติที่มองผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยกับกองทัพ ที่สะท้อนความผิดพลาดของพลังประชาธิปไตยไทยในอดีต และการขาดยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย ก็น่าจะเป็นการถอดบทเรียนที่สำคัญที่จะปูทางอนาคตมิให้เดินย่ำซ้ำรอยนี้อีก

ความฝันที่ไร้ยุทธศาสตร์

เราเคยเชื่อว่ารัฐบาลในช่วงหลังที่มาจากการรัฐประหาร น่าจะมีอายุอยู่ได้ไม่นานนัก สุดท้ายจะต้องเจอกับกระแสต่อต้านและมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่สิ่งที่น่าตกใจสำหรับรัฐประหาร 2557 คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถอยู่ได้นานถึง 3 ปี ซึ่งส่งสัญญาณถึงความผิดปกติทางการเมืองในสังคมไทย เพราะว่าในอดีต หากเราย้อนกลับไปดู ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ขึ้นมาจากการรัฐประหารในปี 2534 หรือว่ารัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2549 ระยะเวลาของรัฐบาลทหารจะอยู่ได้สักปีเศษๆ หรือถ้าคิดตัวเลขแบบหยาบๆ คือปีครึ่ง ผมเคยคาดว่าเต็มที่ที่สุดรัฐบาลทหารชุดนี้ไม่น่าจะอยู่ได้เกิน 2 ปี สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองและนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่พอเข้าสู่ปีที่ 2 และปีที่ 3 ผมเริ่มรู้สึกว่าปัญหาการเมืองไทยน่าจะต้องได้รับการทบทวนใหม่

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้แพ้สงครามทำให้โครงสร้างทางการเมืองและทางทหารไม่ถูกแตะต้อง ในขณะที่ประเทศผู้แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่น อิตาลีและเยอรมนี กองทัพของเขาถูกปลดอาวุธ มีการสร้างกองทัพใหม่และออกแบบสถาบันทางการเมืองใหม่ หลังรัฐประหารปี 2490 มีการเรียกร้องให้รัฐบาลตะวันตกทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษแทรกแซงการเมืองไทย ถ้าสหรัฐฯ หรืออังกฤษตัดสินใจแทรกแซงการเมืองไทยในตอนนั้น อาจจะมีผลกระทบต่อการเมืองและกองทัพไทยในปัจจุบัน แต่จนกระทั่งสงครามเย็นสิ้นสุด โครงสร้างทางทหารของไทยก็แทบไม่ได้รับผลกระทบเลย จึงน่าตั้งคำถามว่าอนาคตจะมีปัจจัยอะไรที่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกองทัพได้บ้าง เพราะในเงื่อนไขที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะแล้วไม่ทำอะไรเลยตั้งแต่ปี 2516 ถึงปี 2535 ถ้าการเมืองอยู่ในสภาวะเช่นนี้ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคการเมืองจะเข้มแข็งพอที่จะปฏิรูปกองทัพ

สิ่งหนึ่งที่ท้าทายเรา แต่เราไม่ค่อยขบคิดกันคือ เราไม่นึกถึงการบริหารจัดการกองทัพ และเราไม่นึกถึงการบริหารจัดการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย พูดง่ายๆ คือเราไม่มีคำตอบกับตัวเราเองว่าเราต้องการระบบการเมืองแบบใด เรามีแต่วาทกรรมว่าเราอยากเห็นการปฏิรูปทางการเมือง แต่มีการถกกันน้อยมาก สุดท้ายมันจึงเป็นเหมือนความฝันชุดใหญ่ และเราไม่ได้ทำอะไรกับมันมากนักนอกจากฝัน เมื่อเราไม่ได้ทำอะไร เราต้องยอมรับว่าแม้กระแสประชาธิปไตยทั้งจากภายนอกและภายในประเทศอาจจะพัดแรงขึ้น แต่ในแง่ของโครงสร้างทางการเมืองหรือมิติทางการบริหารจัดการกองทัพ หากลองมองย้อนกลับไปจะเห็นว่าแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย พูดง่ายๆ คือการเมืองหลังปี 2535 เรายังอยู่ในโลกของการเมืองแบบเก่า แต่เรามีความฝันใหม่ และเราก็ฝันอย่างเดียวว่ามันจะกลายเป็นจริง

ปฏิรูปการเมืองที่ไม่ปฏิรูปกองทัพ

แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ จนกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ได้แตะกองทัพ ไม่ต่างกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุค 14 ตุลา รัฐธรรมนูญหลัง 14 ตุลา แม้จะมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้แตะกองทัพ หรือแม้กระทั่งย้อนกลับดูหลัง 2475 เราก็แตะกองทัพน้อยมาก ถ้าเราฝันอยากเห็นประชาธิปไตย เราต้องมียุทธศาสตร์ของการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งเป็นชุดความคิดที่เราอ่อนมาก

ถ้าเรากลับไปดูจะเห็นว่าสุดท้าย แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 สามารถทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ระบบรัฐสภาเข้มแข็งและหยั่งรากลึกได้อย่างแท้จริงในการเมืองไทย หากจะใช้ศัพท์ทางทฤษฎีคือเรายังไม่ก้าวไปสู่ Democratic Consolidation แปลไทยคือ ความสามารถในการสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตย นี่เป็นสิ่งที่เรายังทำไม่ได้หรือทำไม่ได้มากเท่าที่ควร เมื่อทำไม่ได้ หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 และสังคมไทยก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2547-2549 แต่พอเริ่มเข้าปี 2548 เราก็เริ่มพูดกันแล้วว่า ทหารจะยึดอำนาจไหม? และสุดท้ายในความขัดแย้งชุดนี้ก็จบลงแบบเดิม คือรัฐประหาร

เมื่อขาดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการการเมืองและการสร้างประชาธิปไตยจึงเท่ากับเราปล่อยให้โครงสร้างแบบเก่ามันเดินหน้าไปเรื่อยๆ เราจึงไม่มีหลักประกันว่าถ้าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว สุดท้ายรัฐสภาจะเป็นเครื่องมือในการตัดสินปัญหาดังกล่าว หรือเป็นเครื่องมือและกลไกในการควบคุมความขัดแย้งไม่ให้มันลุกลามจนกลายเป็นประตูที่เปิดรับทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมือง

Military exits from politics?

ถ้าทุกฝ่ายยอมรับกติกากลาง ยอมรับว่าการเลือกตั้งคือวิธีการที่ถูกต้อง ฝ่ายขวาก็สามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ หรือในทำนองเดียวกัน ฝ่ายซ้ายก็ต้องเลิกคิดเรื่องการยึดอำนาจรัฐแบบปฏิวัติรัสเซียเช่นกัน ไม่ว่าจะยืนอยู่บนอุดมการณ์แบบซ้ายจัด ขวาจัด หรือกลาง ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นข้อเสนอทางนโยบายและให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าตราบใดที่ปีกขวายังเชื่อในอุดการณ์ต่อต้านการเมือง เขาก็จะมองการเลือกตั้งเป็นดั่งมะเร็งร้ายและพรรคการเมืองเป็นสิ่งน่ารังเกียจ นักการเมืองคือคนบาป ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญ คสช.

และทัศนะเช่นนี้จะนำการเมืองไปสู่จุดจบด้วยการรัฐประหารอย่างแน่นอน หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นการเมืองของคนกลาง และคนกลางจะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากผู้นำทหารหรือเป็นคนที่เป็นนอมินีของทหาร ผู้นำรัฐบาลในเงื่อนไขเช่นนี้จะเสมือนกับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกองทัพและชนชั้นนำ การเลือกตั้งหากจะเกิดขึ้นจึงไม่ใช่การออกเสียงที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมของระบอบกึ่งอำนาจนิยมโดยมีคูหาเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการลดแรงกดดันจากฝ่ายที่เห็นต่างทั้งในและนอกบ้าน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เราอาจจะล้อสำนวนของการลงประชามติในอังกฤษว่า โจทย์สำคัญของการสร้างประชาธิปไตยไทยคือ Mixit หรือ Military exits from politics คือการพาทหารออกจากการเมือง ทั้งหมดนี้ผมไม่แน่ใจอย่างเดียวว่า ถ้า Brexit ชนะในอังกฤษแล้ว Mixit จะชนะในไทยหรือไม่?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net