Skip to main content
sharethis

31 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ ​(​31 พ.ค.60​)​ องค์กรภาคประชาสังคม 20 องค์กร นำโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย แพร่แถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

โดยองค์กรภาคประชาสังคมดังกล่าว ระบุว่า มีความกังวลยิ่งว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในบริบทดังกล่าวตกเป็นเป้าโจมตีและไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการตัดสินใจการดำเนินโครงการหรือธุรกิจ และบางกรณีนำไปสู่การละเมิดสิทธิโดยรัฐและการปฏิบัติมิชอบโดยกลุ่มธุรกิจโดยนักปกป้องสิทธิไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ 

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์ร่วม : รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจควรประกันให้มีการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

(กรุงเทพฯ 31 พฤษภาคม 2560) พวกเราซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ลงชื่อด้านท้าย เรียกร้องให้ทางการไทยและภาคธุรกิจในประเทศ ให้ยึดมั่นตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights)

ในวันนี้ หน่วยงานของรัฐบาล ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคธุรกิจและตัวแทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เข้าร่วมการสัมมนาเพื่ออภิปรายถึงการดำเนินงานตามและการส่งเสริมหลักปฏิบัตินี้ในประเทศไทย ผู้เข้าร่วมต่างเห็นชอบที่จะต้องรณรงค์สร้างความรับรู้และความเข้าใจ ต่อบทบาทของสาธารณะและภาคเอกชนตามกรอบของหลักปฏิบัตินี้

หลักปฏิบัตินี้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2554 ประกอบด้วยหลักการพื้นฐานและหลักการเชิงปฏิบัติ 31 ข้อ อธิบายถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐและวิสาหกิจต่าง ๆ ที่จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทของการดำเนินธุรกิจ

เราชื่นชมกับความพยามของรัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจของไทย ในการส่งเสริมให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปฏิบัตินี้ อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลกับข้อกล่าวหาเรื่องการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากการกระทำของหน่วยงานธุรกิจและการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลในไทย โดยที่ยังไม่มีการลงโทษผู้กระทำละเมิด

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงต้องเผชิญกับการตอบโต้โดยไม่มีการตรวจสอบ อันเป็นผลมาจากการที่พวกเขาดำเนินกิจกรรมที่ชอบธรรม เพื่อแก้ปัญหาข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานธุรกิจและตัวแทนของรัฐ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ต้องเผชิญกับการโจมตี การข่มขู่ และการคุกคามประการต่าง ๆ โดยมักไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากทางการไทย หน่วยงานธุรกิจและทางการไทยยังได้แจ้งข้อหาที่กุขึ้นมาอย่างปราศจากความจริง เพื่อเอาผิดกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานธุรกิจ ทางการไทยและหน่วยงานธุรกิจใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย ข้อบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะซึ่งจำกัดสิทธิในการรวมตัว รวมถึงใช้อำนาจอย่างกว้างขวางของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อพุ่งเป้าโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื้อหาของกฎหมายเหล่านี้และบทลงโทษที่รุนแรงไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

นอกจากนั้น การดำเนินธุรกิจที่คาดว่าจะมีผลกระทบร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน มักเดินหน้าต่อไปโดยปราศจากการปรึกษาหารืออย่างจริงจังหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบในกระบวนการตัดสินใจ ทั้งนี้ ยังพบประเด็นเรื่องการขาดความโปร่งใสในการกำกับดูแลกิจการและการลงทุนของหน่วยงานธุรกิจในประเทศไทย

ในบรรดาภาระหน้าที่ต่าง ๆ หลักปฏิบัตินี้ยังกำหนดให้รัฐควร “คุ้มครองไม่ให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในดินแดนและ/หรือเขตอำนาจของตน โดยเป็นการกระทำของบุคคลที่สามรวมทั้งหน่วยงานทางธุรกิจ” ประกัน “ไม่ให้มีการขัดขวางการดำเนินงานที่ชอบธรรมและสันติของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” และประกันว่าหน่วยงานด้านธุรกิจจะเข้าร่วม “กับการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ อย่างเหมาะสมกับขนาดของหน่วยงานธุรกิจและธรรมชาติและลักษณะการดำเนินงานธุรกิจนั้น”

ตามหลักปฏิบัตินี้ เราเรียกร้องรัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจให้

·      ประกันให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสุขภาพ อันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของภาครัฐและธุรกิจ หรือมาจากผลความสัมพันธ์ทางธุรกิจของรัฐบาล

·      คุ้มครองการดำเนินงานอย่างชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจควรป้องกันไม่ให้มีการดำเนินคดีโดยไม่จำเป็นต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการดำเนินธุรกิจ

·      ลดการเอาผิดทางอาญาต่อความผิดฐานหมิ่นประมาทใด ๆ และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในประเทศ รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

·      รับรองสิทธิการเข้าถึงการเยียวยาอย่างมีประสิทธิผล ในกรณีที่เกิดผลกระทบร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบอื่น ๆ ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงให้การเยียวยาต่อการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางการไทยต้องรับรองว่าชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะสามารถเข้าถึงกลไกต่าง ๆ ของกระทรวงยุติธรรม เช่น กองทุนยุติธรรม และประโยชน์จากพระราชบัญญัติการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มีตัวแทนทางกฎหมายและการคุ้มครองอย่างเป็นทางการจากความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้

·      คุ้มครองไม่ให้เกิดการตอบโต้ ทั้งการโจมตีทำร้าย การข่มขู่และการคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยควรดำเนินการให้มีการสอบสวนอย่างไม่ลำเอียงและอย่างเป็นอิสระ กรณีที่มีรายงานการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษและประกันให้มีการเยียวยาอย่างเป็นผลต่อผู้เสียหาย

·      ตอบรับคำขอของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคณะทำงานของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน บรรษัทข้ามชาติ และกลุ่มธุรกิจ เพื่อมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการดำเนินงานของกลไกดังกล่าว

 

องค์กรที่ร่วมลงนาม:

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย

สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่ม—เอเชีย)

สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

กลุ่มด้วยใจ

มูลนิธิบูรณะนิเวศ

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ฟอร์ติฟายไรท์

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดหกหมู่บ้าน จ.เลย

เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

องค์กรโพรเทคชัน อินเตอร์เนชันแนล

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

โรงน้ำชา

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net