Skip to main content
sharethis

ทีมนักวิจัยชี้ปัญหาเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาของไทย พบว่าระบบการสอนไม่สามารถใช้ได้จริง เผยประเด็นสิทธิ อำนาจ และเพศสภาพ หลายที่ยังไม่เข้าถึง แนะอบรม-พัฒนาการสอนของครู เน้นกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น

ภาพบอร์ดจัดแสดงผลการวิจัย

31 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 พ.ค.60) เวลา 8.00-11.00 น. ห้องประชุม มล.ปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ มีเผยแพร่ผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทย จากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและองค์การยูนิเซฟหรือองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พร้อมทั้งแคมเปญ #Fightunfair ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อต่อสู้ความไม่เท่าเทียมสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า เพศวิถีศึกษา เป็นการเรียนรู้กระบวนการเกี่ยวกับเพศ สรีระร่างกาย รวมถึงมิติอื่นๆ อาทิ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และการใช้ชีวิตโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนการเรียนในสถานศึกษาของไทย พร้อมทั้งศึกษาทัศนคติของผู้เรียน และครูผู้สอน โดยมุ่งหวังสิ่งไหนที่ควรทำให้สำเร็จ ประกอบกับการศึกษานโยบายรัฐที่เกี่ยวข้อง

ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาจากงานวิจัยพบว่า สัดส่วนหัวข้อที่สอนครอบคลุมในทุกประเด็นเป็นร้อยละ 70-80 แต่มีเรื่องสิทธิ อำนาจ เพศสภาพ ยังไม่ถึงร้อยละดังกล่าว โดยในการศึกษาผ่านวาดภาพเปิดประเด็นเรื่องเพศศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างนึกถึงอวัยวะเพศชายหญิง คู่รักชายหญิง ความรัก ขณะที่แง่มุมสิทธิ อำนาจความหลากหลายทางเพศ แม้แต่สื่อโป๊ การค้าประเวณี  กลับพบว่ามีจำนวนไม่มาก และความรู้หลายๆคนในกลุ่มตัวอย่างกลับไม่เข้าถึง ยกตัวอย่าง เรื่องประจำเดือน และแบบสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ไม่สวมใส่ถุงยางอนามัยในครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์

มนชนก เดชคำแหง ผู้แทนนักเรียน กล่าวว่า ระบบการศึกษาไม่ส่งเสริมให้การสอนเพศศึกษาสามารถใช้ได้ในชีวิตจริง เช่น การปฏิเสธผู้ชายไม่ให้เกิกการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น และปัญหาเด็กที่ตั้งครรภ์ไม่ได้เรียนต่อ ทำให้เกิดปัญหาสังคม จึงอยากให้ปรับทัศนคติของผู้สอน เริ่มจากสอนข้อดี และผลกระทบ วิธีป้องกันและการการแก้ไข โดนเน้นถึงรูปแบบการสอนเชิงกิจกรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ทีมนักวิจัยกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า วิธีการสอน ใช้การบรรยายมากกว่าร้อยละ 80 ขณะที่กิจกรรมร่วมกันมีเป็นหลักมีส่วนน้อย โดยให้อาจารย์ที่สอนเพศวิถีศึกษาไปอบรมการสอนเพศวิถีศึกษา โดยมีค่ากลางในการอบรมแบ่งเป็นครูสายสามัญ 16 ชั่วโมงและครูอาชีวะ 23 ชั่วโมงตามลำดับ พบว่าเมื่อผ่านอบรมมีการใช้กิจกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ผลวิจัยระบุต่อไปว่า สถานศึกษาไทยแทบทุกแห่งมีการสอนเพศวิถีศึกษาที่ยังไม่รอบด้าน โดยมักเน้นย้ำเพียงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสรีระ พัฒนาการทางเพศ การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ยังพบว่าครูเกินครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการอบรมในการสอนเพศวิถีศึกษา  ทำให้การสอนมักใช้การบรรยายแทนการจัดกิจกรรมที่จะเอื้อให้เด็กได้คิด วิเคราะห์และตั้งคำถามเชิงลึก

ทีมผู้วิจัยกล่าวถึงในแง่ความสำเร็จของกระทรวงศึกษาธิการพัฒนาการเรียนการสอนเพศศึกษาตั้งแต่ปี 2521 โดยออกนโยบายเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเพศวิถีศึกษา การป้องกันโรคเอดส์ การป้องกันตั้งครรภ์ จนกระทั่ง พรบ.การป้องกันและการแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559 แต่การรับความรู้เกี่ยวกับเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน สิทธิเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ยังไปไม่ถึง อำนาจ เพศสภาพ ยังไม่คลอบคลุมเช่นกัน

คำแนะนำของงานวิจัยได้รายงานกล่าวว่า ในเรื่องของเพศวิถีศึกษา ควรสร้างทักษะนักเรียน อาทิ การใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และคลอบคลุมเนื้อหาที่กว้างขึ้น เช่น สิทธิ อำนาจ เพศสภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ควรพัฒนาการสอนของครู และสุดท้ายควรสนับสนุนสถานศึกษาในการสอนเพศวิถีศึกษา อาจออกแบบกลไกและตัวชี้วัดในการติดตามประเมินผล

การวิจัยครั้งนี้เสนอให้สถานศึกษาต่างๆ มีการสอนเพศวิถีศึกษาที่รอบด้านอย่างแท้จริง โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น และเสนอให้สถานศึกษาจัดสรรเวลาในการสอนวิชานี้เพิ่มขึ้น และจัดการอบรมครูในการสอนประเด็นเหล่านี้ในชั้นเรียน

ขณะที่ เจตน์ ศิรธรานนท์สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ปรับแก้ไขกฎหมายจาก อนามัยเจริญพันธุ์ ไปพัฒนาสู่ พรบ.การป้องกันแลแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนนิยามของคำว่า “วัยรุ่น” จากช่วงอายุ 13-19 ปี เป็นอายุ 10-20ปี ทำให้มีความคลอบคลุมมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น ทั้งนี้ ให้ปรับการเรียนการสอนไปสู่การสื่อสารสองทางจากการสื่อสารทางเดียวหรือการสอนแบบบรรยาย โดยจับลำดับความสำคัญว่า เรื่องเพศวิถีศึกษาเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันไม่แตกต่างกับเรื่องอื่นๆ 

สำหรับการวิจัยครั้งนี้จัดทำโดยศูนย์นโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟและความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ และยูเนสโก โดยได้สำรวจข้อมูลจากนักเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาจำนวน 8,837 คน และครู 692 คนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 398 แห่งในช่วงเดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 เพื่อทบทวนความสำเร็จและความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา พร้อมสำรวจทัศนคติของครูและนักเรียน
ภาพบอร์ดจัดแสดงผลการวิจัย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net