Skip to main content
sharethis
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงปรับแอลกอฮอล์ในเลือดจากเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็นหากผู้ขับขี่ที่อายุไม่ถึง 20 ปี ถ้ามีปริมาณ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา รวมถึงผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขณะที่ 1 มิ.ย.นี้ เมาเกิน 50 มก.ประกันไม่ต้องจ่าย 

 

31 พ.ค. 2560 หลังจากเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบ แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 16 ของ พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนน ในเรื่องเมาและขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ โดยมีการปรับปรุงเกณฑ์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ให้ถือว่าเมาสุรา จากเดิมกำหนดว่าปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา แต่การปรับแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว คือ ผู้ขับขี่ที่อายุไม่ถึง 20 ปี ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา รวมถึงผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา สำหรับบุคคลอื่นๆยังใช้กฎหมายเดิมคือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ล่าสุดวันนี้ (31 พ.ค.60) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมให้เหตุผลในหมายเหตุประกอบประกาศนี้ด้วยว่า เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีผลทําให้ ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยหรือมีประสบการณ์ในการขับขี่ ไม่เพียงพอ แม้จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพียงเล็กน้อยก็มีผลทําให้ความสามารถในการควบคุมยานพาหนะ ลดลงได้ สมควรกําหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้เหมาะสําหรับผู้ขับขี่ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ ทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เมาเกิน 50 มก.ประกันไม่ต้องจ่าย เริ่ม 1 มิ.ย.นี้

กรุงเพทธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. นี้ เป็นต้นไป คำสั่งนายทะเบียนเกี่ยวกับแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งส่งผลให้บุคคลที่ขับขี่รถยนต์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากทำประกันและเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากการทำประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถึงจะไม่ได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประสบภัยหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถคันดังกล่าว ยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ โดยบริษัทที่รับทำประกันภัยของรถคันที่เป็นฝ่ายผิดจะยังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพราะหลังจากนั้นบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนกับผู้ขับขี่ที่เมาต่อแทน ส่วนประกันภัยภาคบังคับยังคงให้ความคุ้มครองในกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นเดิม

"การปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้ต่ำกว่าเดิมนั้น ได้มีการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว โดยหลายฝ่ายเห็นว่า ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์นั้น ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งบัญญัติว่าต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตรวจวัดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ให้ถือว่าเมาสุรา"

สุทธิพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่ดื่มสุรา เมื่อขับขี่รถยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุบริษัทประกันภัยก็ยังจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไขกฎหมายจะทำให้เสมือนเป็นการจูงใจให้คนที่ดื่มสุรานิ่งนอนใจว่าถึงแม้เมาแล้วขับรถยนต์ชนเกิดความสูญเสีย ก็ยังมีประกันภัยจ่ายแทน แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขกติกาในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม จนกระทั่งถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net