Skip to main content
sharethis

เกมเป็นพื้นที่จำลองให้แก้ปัญหาด้วยความสนุก สังคมสมัยใหม่นำไปใช้ตั้งแต่ตีแผ่ปัญหาสิ่งแวดล้อมยันค้นพบโครงสร้างเอนไซม์ไวรัส แม้แต่สหประชาชาติยังเอาไปใช้ เกมจะดีหรือไม่ดี สังคมเป็นคนตัดสิน ตีแผ่เทรนด์ปัจจุบัน เกมกำลังเป็นภาษาใหม่ สังคมกับเกมแยกจากกันไม่ได้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญชี้ สังคมอนาคตต้องให้เยาวชนกำหนดวันนี้

31 พ.ค. 2560 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัทบ้านปู จำกัด มหาชนจัดเวทีเสวนาสาธารณะ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม” ณ หอศิลปะและวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร โดยมี สฤนี อาชวานันทกุล นักเขียน กรรมการผู้จัดการบริษัทป่าสาละ จำกัด และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ชายขอบ วิศรุต นุชพงษ์ ผู้ดูแลและประเมินผลโครงการ Saturday school และพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) เป็นวิทยากร และวารินทร์ สัจเดว เป็นผู้ดำเนินรายการ

จากซ้ายไปขวา: วิศรุต นุชพงษ์ สฤนี อาชวานันทกุล พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์

ในงานนี้มีการนำเสนอตัวอย่างเกมต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความบันเทิงและเสริมสร้าง พัฒนาทักษะต่างๆ โดยได้รับความสนใจจากนักเรียน และประชาชนจำนวนมาก งานนี้จะจัดออกไปเป็นโรดโชว์ตามจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ในอนาคตหลังจากโรดโชว์ครั้งนี้

โลกยุคใหม่ใช้เกมและความสนุกระดมสมองแก้ปัญหา สหประชาชาติยังเอาไปใช้ เกมจะดี ไม่ดีต้องให้สังคมตัดสิน

สฤนี ระบุว่า เอกลักษณ์ของเกมคือ การมีกติกาทั้งที่อาจมองเห็นหรือมองไม่เห็น มีความท้าทาย สนุก มีความไม่แน่นอน ไม่รู้ผลลัพธ์ล่วงหน้า และสิ่งสำคัญคือ การมีลักษณะเป็นโลกเสมือน การตัดสินใจในเกมไม่มีผลใดๆต่อชีวิตจริง ด้วยความเป็นโลกเสมือนจริงทำให้เกมเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองแก้ปัญหา ดังนั้น เกมหลายเกมจึงเป็นพื้นที่ให้ผู้เล่นทดลองระบุ นิยามและวิเคราะห์ปัญหา สำรวจทางเลือก แก้ไขปัญหาร่วมกัน และสรุปบทเรียน โดยยกตัวอย่างเกมช่วยส่องสภาวะปัญหา ได้แก่ ABZU ซึ่งเป็นเกมที่บ่งชี้ถึงระบบนิเวศที่ถูกทำลาย This War of Mine ที่จำลองผู้เล่นเป็นคนบริสุทธิ์ที่ตกอยู่ในสภาวะสงครามที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ และ Orwell ที่สมมติให้ผู้เล่นเป็นเหยื่อการสอดแนมแบบเหวี่ยงแหจากฝีมือของรัฐบาลสหรัฐฯ

เกม Minecraft มีผู้เล่นหลัก 100 ล้านคน ถูกจัดให้เป็นเกมที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเกม Tetris โดยนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2559 (อ่านบทความต้นฉบับ) Minecraft จึงเหมือนเป็นตัวต่อดินน้ำมันสำหรับเด็กรุ่นที่เกิดมาก็เจอเทคโนโลยีแล้ว ด้วยลักษณะเกมที่เป็นการจินตนาการบนพื้นที่อิสระ ทำให้โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติหรือ UN Habitat ร่วมมือกับบริษัท Mojang ซึ่งตอนนี้ถูกบริษัท Microsoft ซื้อไปแล้ว ทำโครงการ Block by Block ให้คนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ มาออกแบบพื้นที่สาธารณะร่วมกัน โดยโครงการได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 และได้ลงพื้นที่ในหลายประเทศทั่วโลก

  

เกม Foldit ที่ผู้เล่นกว่า 50,000 คนเข้ามาเล่นเพื่อไขปริศนา (ที่มา: flickr/Rosenfeld Media)

เกม This War of Mine จำลองผู้เล่นเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ตกอยู่ในวงล้อมสงครามกลางเมือง (ที่มา: Flickr/The_JIFF)

โปรแกรมชื่อ Foldit เป็นเกมปริศนา ให้คนมาระดมสมองออกแบบโครงสร้างโปรตีน ในปี 2554 ผู้เล่น Foldit ช่วยแก้ปริศนาโครงสร้างคริสตัลของไวรัสในลิง Mason-Pfizer (M-PMV) ได้สำเร็จ ไวรัสตัวนี้ทำให้มนุษย์มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง นำไปสู่โรค HIV/AIDS ซึ่งเป็นปริศนาในวงการแพทย์มาตลอด 15 ปี แต่ผู้เล่น Foldit ร่วมกันแก้ได้ในเวลาเพียง 3 สัปดาห์

ทั้งนี้ ในงาน พิรุณ น้อยอิ่มใจ นักสังคมสงเคราะห์ และผู้จัดการศูนย์พักพิงเด็ก มูลนิธิเอช เอช เอ็น เพื่อเด็กไทย แนะนำเกม Child Protection Card Game เป็นเกมการ์ดที่ใช้สอนเด็กในพื้นที่แออัด แคมป์แรงงานต่างด้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการถูกล่อลวงโดยผู้ใหญ่ ออกแบบเกมจำลองสถานการณ์ แบ่งฝั่งเป็นผู้ใหญ่กับเด็ก (เด็กกับเด็กเล่นด้วยกัน) เพื่อให้รู้ว่ารูปแบบการล่อลวงของผู้ใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง วิธีปฏิเสธ ช่องทางขอความช่วยเหลือ โดยได้เริ่มเผยแพร่ในชุมชนพัทยาแล้ว

สฤนี กล่าวว่า ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เกมอะไรก็ได้จะช่วยแก้ปัญหาอะไรก็ได้ แต่ควรจะมีความเหมาะสมกับปัญหาสังคมที่เป็นโจทย์ หากเป็นประเด็นปัญหาที่กว้าง มีผลกระทบเยอะ มีคนเกี่ยวข้องเยอะเช่นความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเมือง เกมต้องให้อิสระแก่คนเล่น เล่นง่าย เข้าถึงคนได้กว้างขวางที่สุด เป็น universal design ถ้าประเด็นแคบ ต้องตีโจทย์อย่างชัดเจน วางกรอบโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน เช่นการออกแบบโปรตีน แปลงโจทย์เป็นกติกาเกมอย่างถูกต้องตามหลัก แต่ไม่ว่าแบบไหน ความสนุกต้องมาก่อนเสมอ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีคนเล่นตั้งแต่ต้น

ต่อประเด็นแนวโน้มของการมีกฎหมายควบคุมเกม สฤนี กล่าวว่า คนที่จะออกกฎหมายควบคุมเกมมีภาระที่ต้องพิสูจน์ความอันตรายของเกม ประโยชน์ของเกม ทุกวันนี้ก็มีการควบคุมเช่นการเซ็นเซอร์ไม่ให้ขายเกม Tropico ด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาเกมมีลักษณะเสียดสีรัฐบาลเผด็จการ หรือความพยายามในการควบคุมการเล่นเกม Pokemon GO ก็เคยพบมาแล้ว จึงต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตีแผ่ข้อดีข้อเสียต่างๆนานาของเกม

เกมกำลังเป็นภาษาใหม่ สังคมกับเกมแยกจากกันไม่ได้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญชี้ สังคมอนาคตต้องให้เยาวชนกำหนดวันนี้

วิศรุต นุชพงษ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะดูว่าเยาวชนเข้ามาในฟันเฟืองการแก้ปัญหา ขอให้ดูว่าทุกวันนี้ ครู คนรุ่นก่อน อยากทำความเข้าใจกับเกมที่เด็กเล่นมากขึ้น ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงทัศนคติจากอดีต

ในปี 2533 มีปฏิญญาจอมเทียน ครั้งแรกที่ 155 ประเทศทั่วโลกมาคุยกันเรื่องการศึกษา ออกมาตรการเร่งด่วนด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพด้านการศึกษา และให้มนุษย์เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น จนกระทั่งปี 2554 เกิดการทบทวน ติดตามผลการดำเนินงานบนปฏิญญาจอมเทียน พบว่า สภาวการณ์ปัจจุบันสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จึงเริ่มต้นปรับปรุงปฏิญญาใหม่ นำไปสู่การตีความผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาว่าต้องมีทักษะสังคม มีความคิดที่เป็นระบบ ตนจึงคิดว่าต้องใช้เครื่องมือด้านไอซีทีเข้ามาเกี่ยวข้อง และคิดว่าไม่มีอะไรง่ายไปกว่าเกม

แม้ในปี 2551 มีเวทีสาธารณะเกี่ยวกับภาวะติดเกมขึ่้น มีเหตุเสียชีวิตจากเกมมากมาย ทัศนคติเกี่ยวกับเกมติดลบมาก แต่ในทุกวันนี้บริบทหลายอย่างเปลี่ยนไป ถ้ายังปฎิเสธว่าเกมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของเยาวชนได้ ก็ำเท่ากับว่าเราไม่สามารถเข้าหาเยาวชนได้เลย คนที่ทำงานเพื่อสังคมคงไม่มีใครปฏิเสธการเล่นเกมแล้ว เดี๋ยวนี้ร้านบอร์ดเกม (เกมที่เล่นบนแผ่นกระดาน เช่น เกมเศรษฐี บันไดงู เป็นต้น – ผู้สื่อข่าว) กลายเป็นพื้นที่พูดคุย ถกประเด็นปัญหา ภาพเกมกับสังคมมันแยกจากกันไม่ได้แล้ว

วิศรุตกล่าวถึงการออกแบบสังคมโดยไม่ฟังเสียงของอนาคตของชาติจะนำไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น “จริงๆแล้วสังคมต้องการเยาวชนให้เป็นแบบไหน เรากล้าให้เยาวชนนำเสนอไอเดียมาพัฒนาประเทศหรือไม่ ถ้าวันนี้เยาวชนต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่เขาไม่มีส่วนออกแบบ ก็ไม่ต้องจินตนาการเลยว่าปัญหาในอนาคตจะซับซ้อนขนาดไหน ดังนั้นต้องเปิดกว้าง เคารพในการมีส่วนร่วมของกันและกัน”

ต่อประเด็นแนวโน้มของสังคมที่มีต่อเกม ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ชายขอบกล่าวว่า ตอนนี้ตัวเขาเองมีอายุเกิน 40 ยังมีคนรุ่นตัวเองครึ่งต่อครึ่งที่ไม่เล่นเกม แต่ยิ่งนานวันยิ่งจะเห็นผู้ใหญ่ที่โตมากับเกม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะได้ผู้ใหญ่จำนวนมากที่โตมากับเกมที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่า นี่คือภาษาของคนรุ่นเรา มีคนเล่น Minecraft กว่าร้อยล้านคน ดังนั้นจะมีคนอีกจำนวนมากที่เติบโตมาพร้อมกับการเล่นเกม สื่อเองก็ควรนำเสนอด้านดีของเกมด้วย ไม่ใช่เสนอแต่ข้อเสียอย่างเดียว มีคนที่เล่นเกมแล้วมีผลดีกับชีวิตประจำวัน ประสบความสำเร็จก็มี แต่ไม่เป็นข่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net