Skip to main content
sharethis

กทม. สมาคมสถาปนิกสยาม นักวิชาการ ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ เห็นพ้อง สงวนบ้านที่มีคุณค่าเอาไว้ วันนี้ได้ 2 หลัง รอถกกันต่อพรุ่งนี้ แจง ชุมชนป้อมฯ ร่ำรวยวัฒนธรรมหลายด้าน เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ตัวแทนชุมชนท้วง กทม. ทะเบียนราษฎร์ไม่อัพเดท ระบุบ้านว่างแต่จริงๆ คนยังอยู่


2 มิ.ย. 2560 มีการประชุมคณะกรรมการระบุคุณค่าป้อมมหากาฬ ครั้งที่ 5 เรื่องข้อมูลกรรมสิทธิ์ การถือครองและการออกแบบวิธีการในการสำรวจคุณค่า ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย ฝ่ายกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณัฐนันทน์ กัลยศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่ากทม. เป็นต้น  ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ ได้แก่ ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ผศ.สุดจิต สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต อุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ. สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ ผศ.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร, ธนภณ วัฒนกุล สำนักบริการวิชาการ ม.ศิลปากร ,นายศานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล ,นางสาวอินทิรา วิทยาสมบูรณ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ  ส่วนฝ่ายทหาร มีพ.ท. โชคดี อัมพรดิษฐ์ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที 1 รักษาพระองค์ ทั้งนี้ยังมีอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เข้าร่วมประชุมด้วย

เห็นชอบร่วมสงวนบ้านที่มีคุณค่าเอาไว้ วันนี้อนุมัติ 2 หลัง คุยต่อพรุ่งนี้

อัชชพล กล่าวว่า หลังทำการประเมินคุณค่าของบ้าน พบว่ามีบ้านที่มีคุณค่าดังกล่าว 24 หลัง ทุบไปเหลือ 22 หลัง ส่วนการพัฒนาที่ตั้ง ผังเมือง ได้มองไปถึงพื้นที่ต่างๆข้างเคียง เช่น วัด บ้าน ถนน ตนเห็นว่าชุมชนควรเข้าใจว่า ชุมชนจะเปลี่ยนไปเป็นชุมชนอนุรักษ์ คนที่ยังอยู่ในชุมชนห้ามเปลี่ยนตัวบ้าน หรือลักษณะอาคาร ตนเชื่อว่าป้อมมหากาฬจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นในอนาคต และชาวบ้านจะยังได้อยู่ในพื้นที่ชุมชนอย่างสง่างามอีกด้วย ถ้า กทม. ทำสนามหญ้าจะไม่ได้อะไรนอกจากค่าคนสวนกับค่าน้ำ

ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันเบื้องต้น ให้สงวนบ้านที่ทรงคุณค่าเอาไว้จำนวน 22 หลัง จาก 33 หลัง โดยสองหลังแรกที่ได้อนุญาตให้สงวนไว้คือบ้านหลังที่ 97 และ 99 เป็นเรือนไม้กลางชุมชน และบ้านหลอมทองตามลำดับ ซึ่งเป็นบ้านที่มีมาตั้งแต่สมัย ร.5 ผ่านการประเมินคุณค่าและ กทม. อนุมัติให้สงวนไว้ ส่วนทางนักวิชาการได้ระบุว่าได้ทำการสำรวจบ้านในชุมชนมาแล้ว 4 หลัง และทาง กทม. ขอ “แขวน” ไว้ ยังไม่พิจารณา ส่วนบ้านอีก 16 หลังที่เหลือจะได้รับการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ กระบวนการระบุคุณค่าจะต้องมีการไปลงพื้นที่พิสูจน์ร่วมกันก่อนว่ามีคุณค่าครบถ้วนเพียงพอใน 5 ด้าน ได้แก่ คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ เขิงสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและผังเมือง เชิงสังคมและวิถีชีวิต เชิงโบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และคุณค่าเชิงวิชาการ

ทีมนักวิชาการแจง ชุมชนป้อมฯ ร่ำรวยวัฒนธรรมเก่าแก่หลายด้าน เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต

ประภัสสร์ กล่าวถึงความสำคัญของชุมชนป้อมมหากาฬว่า ชุมชนเป็นแหล่งที่พักอาศัยตั้งแต่ตอนก่อตั้งกรุงเทพฯ เป็นทั้งพื้นที่พักอาศัยและจุดยุทธศาสตร์ทางการป้องกัน เป็นชุมชนทางยุทธศาสตร์ของกำแพงพระนคร ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่น้อยเต็มที ในส่วนของตัวบ้านเรือนนั้นมีคุณค่าในแง่เชิงช่างที่ต่างสมัย ภูมิปัญญาในการก่อสร้าง มีระบบการเข้าไม้ ตอกไม้ การเข้าเรือนอย่างไร ถ้าเป็นบ้านสมัย ร.5 ที่ตอนนี้เหลือสองหลังก็จะมีวิธีฉลุลายอีกแบบ

ในแง่โบราณคดี ให้คุณค่ากับการคงอยู่ของหลักฐานในพื้นที่ การมีบ้านอยู่ที่เดิมสะท้อนว่ามีคนทำกิจกรรมในพื้นที่ในอดีตอย่างไร ทั้งยังไม่ทราบว่าใต้ดินจะมีหลักฐานของการอยู่อาศัยเก่าอยู่หรือไม่อีกด้วย จากการสำรวจบ้านเบื้องต้นพบว่ามีวัตถุโบราณ ของเก่า ที่แสดงถึงกิจกรรมของผู้คนที่อาศัยในนั้น เช่นเบ้าหลอมทอง การทำเตา เครื่องมือเครื่องใช้ทำดนตรีไทย ซึ่งบางกิจกรรมยังคงทำอยู่ ทางยุทธศาสตร์ การเป็นชุมชนริมคลองแบบชุมชนป้อมมหากาฬเป็นภาพสะท้อนระบบผังเมืองยุคโบราณ รวมถึงระบบจัดการน้ำในชุมชน

อินทิรา กล่าวถึงชุมชนป้อมมหากาฬว่า เป็นชุมชนในพระนครที่ยังคงมีการคงอยู่อาศัยต่อเนื่อง ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเก่าแก่โดยรอบยังมี ไม่ได้เติบโตอย่างโดดเดี่ยว ชุมชน้อมฯ เป็นพื้นที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ด้วยมุขปาฐะ คนในชุมชนยังสามารถเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ได้ตรงตามที่บันทึกไว้ นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ที่พบเห็นได้อยู่ในขณะที่ที่อื่นพบเห็นได้น้อยแล้ว ทั้งภูมิปัญญาทางอาชีพที่สืบทอดมาแต่โบราณ ตรงกับนโยบายรัฐเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

ภายในชุมชนแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน แม่บ้าน สหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนว่ามีกลไกในการอยู่ร่วมกัน และมีการรวมกลุ่มเพื่อเป็นต้นทุนในการจัดการป้อมมหากาฬในอนาคตได้ ทั้งยังมีภาคีร่วมคิดพัฒนาพื้นที่ป้อมมากมายจากนอกชุมชน ทีมนักวิชาการเชื่อว่าถ้าให้โอกาสสำรวจบ้านต่างๆ เพิ่มเติม คงจะได้พบคุณค่าต่างๆ ที่น่าสนใจในบ้านหลังอื่นเช่นกัน

ตัวแทนชุมชนท้วง กทม. ทะเบียนราษฎร์ไม่อัพเดท ระบุบ้านว่างแต่จริงๆ คนยังอยู่

สุทัศน์ รายงานภาพแปลงที่ดิน ข้อมูลผู้อยู่อาศัย เลขที่บ้านดังปรากฏในทะเบียน เทียบกับสิ่งปลูกสร้างในความเป็นจริง หลายพื้นที่เป็นที่ดินของวัดที่ชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยโดยเช่าที่อยู่อาศัย หรือเช่าที่ดินแล้วปลูกบ้านอยู่ แต่ทางกรุงเทพฯ ได้เวนคืนและดำเนินการจ่ายเงินชดใช้อยู่ โดยการชดใช้ค่าที่ดินได้จ่ายให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ตามโฉนด ในส่วนสิ่งปลูกสร้างก็จ่ายตามกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของบ้าน ส่วนผู้เช่าอาศัยก็ได้รับเงินช่วยเหลือ ที่ประชุมพบปัญหาความคลุมเครือของข้อมูลผู้อยู่อาศัยและแปลงที่ดินตามระบุในทะเบียนราษฎร์กับที่เป็นอยู่จริง ยุทธพันธ์ จึงได้สั่งการให้มีการไปตรวจสอบอีกครั้งในเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว หรือสร้างขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ ซึ่งตัวธวัชชัยได้แย้งว่า ทะเบียนราษฎร์ไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ทันสมัย ในความเป็นจริงไม่มีบ้านหลังไหนที่ว่าง ดังที่ระบุไว้ในทะเบียนราษฎร์เลย การตรวจสอบและพบมีบ้านว่างอาจเป็นเพราะไม่ได้ตรวจสอบชื่อผู้อาศัย แต่กลับตรวจสอบตามรายชื่อผู้เช่าที่ดินของวัด ซึ่งในปี 2535 ที่มีการเวนคืน ชาวบ้านในชุมชนไม่เคยย้ายออกไปแล้วกลับมาอยู่ใหม่ในพื้นที่สาธารณะดังที่กทม. แจ้งโครงการบ้านมั่นคงเป็นสิ่งที่ชุมชนเรียกร้องกันอยู่ และหวังว่าในอนาคตจะได้พิสูจน์เรื่องคุณค่าของบ้านและชีวิตคนในชุมชนที่ยืนหยัดกับปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัยมากว่า 25 ปี

ยุทธพันธ์ กล่าวว่า กทม. ได้ที่ดินมาจากสองวิธี ได้แก่ การจัดซื้อและกฎหมาย ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ภายใต้ความรับผิดชอบของเทศบาลพระนคร โดยในพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ทาง กทม ได้จ่ายเงินให้เจ้าของบ้านทำการรื้อถอน และซื้อที่ดินเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2503 จนปี 2535 มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินจึงมีกระบวนการได้ที่ดินเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ

หมายเหตุ:

- ประชาไทแก้ไขชื่อของเลขานุการ ผู้ว่าฯ กทม. จาก ธีรพันธ์ มีชัย เป็น ยุทธภัณฑ์ มีชัย  เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2560 เวลา 16.29 น.

- ประชาไทแก้ไขชื่อเลขานุการ ผู้ว่าฯ กทม. จากยุทธภัณฑ์ มีชัย เป็น ยุทธพันธ์ มีชัย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560 เวลา 11.48 น.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net