Skip to main content
sharethis
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. ชี้ แก้ พ.ร.บ.30 บาท จะสร้างความขัดแย้ง เพิ่มปัญหาให้นายกฯ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมแต่แรก
 
 
5 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังผลักดันแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวม 14 ประเด็นที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่ตั้งแล้ว และจะเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ 4 ภาคในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ โดยเริ่มมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและนักวิชาการว่า เป็นร่างแก้ไข พรบ.ที่ริดรอนสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจถึงกับทำให้ระบบ 30 บาทอยู่ในอันตรายได้  ต่อการเคลื่อนไหวแก้ไข พ.ร.บดังกล่าว 
 
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดด้วยความเป็นห่วงว่าหลังแก้ไขแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจริงหรือไม่ หน่วยบริการขนาดเล็กทั้งของรัฐและเอกชนในระบบของ สปสช. นับหมื่นแห่งในพื้นที่ จะได้รับการแก้ไขปัญหาทางการเงินและกำลังคนที่ขาดแคลนได้จริงหรือ และรัฐบาลจะสามารถควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้พอเหมาะผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพไม่ให้บานปลายเหมือนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการได้หรือไม่ หรือยิ่งแก้ พรบ. จะยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความขัดแย้งของคนในสังคม และสร้างปัญหาทางการเมืองให้นายกรัฐมนตรีต้องแก้ไขมากขึ้น
 
นพ.ประทีป เปิดเผยต่อว่า พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 ที่ใช้อยู่นี้ และเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ปี 2559  เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน นักวิชาการในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ที่ค่อยๆพัฒนามาหลายปี ทดลองต่อยอดจากจุดแข็งของระบบสาธารณสุขของไทย และจัดระบบให้มีการถ่วงดุลระหว่างหน่วยบริการหรือผู้จัดบริการ และประชาชนหรือผู้ใช้บริการสาธารณสุข จัดระบบให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและการจัดบริการสาธารณสุขที่มีการประเมินการใช้เทคโนโลยี่ ยาราคาแพง ที่เหมาะสมคุ้มค่าเงิน เพื่อรองรับสังคมข้างหน้า ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณด้านสุขภาพในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างให้การยอมรับและชื่นชมความสำเร็จของไทย และเอาเป็นตัวอย่าง  แต่การแก้ไข พรบ.ครั้งนี้ มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างน้อย 3  ประการดังนี้
 
ประการที่หนึ่ง การแก้ไข พรบ. ในครั้งนี้ที่ทำกันอย่างรวดรัด ทำจริงๆเมื่อเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 27 คนที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานและประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่เพิ่งผ่านมา และมีลักษณะปิดลับ เพิ่งเปิดเผยว่ามี 14 ประเด็นที่จะแก้ไขเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม นี้เอง จึงขาดการมีส่วนร่วมกำหนดประเด็นการแก้ไขแต่แรกจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้การแก้ไขหรือออก พรบ.ใหม่ๆ ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของส่วนได้เสียอย่างกว้างขวาง จึงมีปัญหาความชอบธรรมของการยกร่างแก้ไข พรบ. และอาจสร้างปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อย่างกว้างขวาง
 
ประการที่สอง มีการเพิ่มเติมประเด็นการแก้ไขอีกหลายประเด็นนอกเหนือจากที่หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งชั่วคราวทำให้เกิดความชัดเจนของ พรบ. มากขึ้น ทำให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมทั้ง สปสช. สามารถบริหารกองทุนให้เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้มากขึ้น และมอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการแก้ไข พรบ.ตามประเด็นในคำสั่งของหัวหน้า คสช.ดังกล่าว แต่ 14 ประเด็นที่ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมส่วนใหญ่เป็นการดึงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพจากเดิมเป็นเรื่องของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มาจากหลายภาคส่วนในสัดส่วนที่ถ่วงดุลกัน ดึงกลับไปเพิ่มอำนาจให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการในสังกัดมากขึ้น ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื่องประโยชน์ทับซ้อน ผิดหลักการและเจตนารมณ์ใหญ่ของกฎหมายเดิม  
 
ประการที่สาม ขณะที่ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการเงินการคลัง และความเท่าเทียมในระบบประกันสุขภาพที่สรุปจากการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ทางวิชาการและความเห็นจากส่วนได้เสียต่างๆ จนได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นที่รู้จักกันทั่วว่า ข้อเสนอ SAFE ของคณะทำงานวิชาการที่มี ศ.ดร.อัมมาร์ สยามวาลา  และอีกคณะหนึ่งที่มี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุลเป็นประธาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แต่งตั้งขึ้นเอง และให้สัมภาษณ์กับสังคมหลายครั้งว่าเป็นข้อเสนอที่จะใช้ในการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น  แต่การแก้ไข พรบ.ในครั้งนี้กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อยู่ในประเด็นการแก้ไขทั้ง 14 ประเด็นเลย จึงทำให้ทิศทางการแก้ไขไม่ชัดเจนว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร และเป็นการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของประเทศให้ดีขึ้นได้ตามที่นายกรัฐมนตรีได้พูดและสัญญากับประชาคมโลกในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติและสัญญากับประชาชนไทยในรายการทุกเย็นวันศุกร์ได้อย่างไร ทำให้เกิดปัญหาความน่าเชื่อถือทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรีได้
 
“การแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ และเกี่ยวกับระบบบริการสาธารณสุขทั้งหมด รวมทั้งเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของแผ่นดินแสนกว่าล้านบาทต่อปี เป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องทำอย่างรอบคอบ ต้องเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นที่ประจักษ์ยอมรับในทางสากล และต้องใช้ความรับผิดชอบทางการเมืองที่มีจริยธรรมสูงส่ง จึงจะสำเร็จเป็นประโยชน์กับประเทศโดยรวม ตรงข้ามถ้าใช้วิธีลักหลับ ใช้อำนาจฉวยโอกาสอย่างรีบเร่ง ดังแต่จะสร้างความขัดแย้งในสังคม และสร้างปัญหาให้รัฐบาลเพิ่มมากขึ้น” อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net