ฮาร์วาร์ดตัดสิทธิบุคคล 10 คน เป็นนักศึกษาฐานโพสต์เนื้อหา 'น่ารังเกียจ'

บุคคล 10 คนถูกมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ดปฏิเสธไม่รับเป็นนักศึกษาใหม่ ด้วยเหตุผลที่พวกเขาเคยโพสต์มีมเกี่ยวกับการข่มขืน ล้อเด็กที่เสียชีวิต และการสังหารหมู่ชาวยิว ในกลุ่มที่ไม่เปิดให้คนนอกดู แม้จะมีคนในโซเชียลจำนวนมากสนับสนุนการตัดสินใจของฮาร์วาร์ดแต่ก็มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ตั้งคำถามว่าเป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุหรือไม่

Widener Library ภายในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ที่มาของภาพประกอบ: Joseph Williams/Wikipedia)

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2560 สื่อของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเปิดเผยว่าพวกเขายกเลิกการรับบุคคลอย่างน้อย 10 คนเข้าเป็นนักศึกษาใหม่ในปี 2564 หลังจากมีการตรวจสอบพบว่าบุคคลเหล่านี้เคยโพสต์มีมในเรื่องน่ารังเกียจอย่างการข่มขืน หรือการล้อเด็กเม็กซิกันที่เสียชีวิตจากการถูกแขวนคอว่า "ถึงเวลาของปินญาตาแล้ว" (ปินญาตาเป็นของเล่นแบบเม็กซิกันที่ทำจากกระดาษหรือวัสดุอื่นๆ นำไปแขวนแล้วตีให้แตกแล้วจะมีของเล่นหรือขนมหล่นลงมา)

ข้อความจากสื่อฮาร์วาร์ดคริมสันระบุว่า มีคนที่สมัครเข้าเป็นนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ตั้งชื่อกลุ่มเฟซบุ๊กซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่ช่วงหนึ่งเคยใช้ชื่อว่า "ฮาร์วาร์ดมีมสำหรับวัยรุ่นกระฎุมพีหื่นๆ" (Harvard memes for horny bourgeois teens) ในเฟซบุ๊กตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2559 จากปากคำของนักศึกษาใหม่ 2 ราย ในกลุ่มดังกล่าวนักศึกษาเหล่านี้ส่งมีมและรูปภาพล้อเลียนการล่วงละเมิดทางเพศ การสังหารหมู่ชาวยิว การเสียชีวิตของเด็ก มีบางข้อความพยายามเล่นตลกว่ารูปของเด็กที่ถูกทำร้ายทำให้มีอารมณ์ทางเพศ หรือบางคนก็ใช้คำโจมตีกลุ่มเชื้อชาติหรือชนชาติ

กลุ่มดังกล่าวนี้กลายเป็นที่รับรู้หลังจากที่มีกลุ่มนักศึกษาอีกส่วนหนึ่งที่สร้างกลุ่มเพิ่มเกี่ยวกับมีมตลก โดยที่นักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มได้พบเจอกันผ่านกลุ่มเฟซบุ๊กสำหรับนักศึกษาใหม่ฮาร์วาร์ดที่เป็นกลุ่มทางการ โดยที่มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งบอกให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทราบเกี่ยวกับกลุ่มนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยอีเมลล์เรียกร้องให้นักศึกษาเปิดเผยรูปภาพทุกรูปที่โพสต์ในกลุ่มรวมถึงข้อความอธิบายประกอบ

ทั้งนี้มีมคือ การที่บุคคลทั่วไปสร้างสื่ออย่างรูปภาพ คำพูด วิดีโอ และอื่นๆ ที่มีการทำเลียนแบบและแพร่กระจายต่อไปเรื่อยๆ ทางอินเทอร์เน็ต บางครั้งมีมก็เป็นไปในลักษณะการแสดงอารมณ์ขันทั่วๆ ไปโดยไม่มีพิษมีภัย แต่บางครั้งก็มีลักษณะชวนให้เกิดข้อกังขา 

ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้อธิบายโดยตรงถึงสาเหตุที่ปฏิเสธรับนักศึกษาที่เล่นมีมเช่นนี้โดยอ้างว่าพวกเขาจะไม่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการรับเข้าศึกษาในระดับรายบุคคลต่อสาธารณะ อย่างไรก้ตามฮาร์วาร์ดกล่าวถึงนโยบายของพวกเขาว่าพวกเขามีสิทธิในการยกเลิกการรับบุคคลเข้าเป็นนักศึกษาถ้าหากพวกเขาเหล่านั้น "กระทำพฤติกรรมที่ชวนให้เกิดการตั้งคำถามต่อ ความซื่อสัตย์ วุฒิภาวะ หรือลักษณะทางจริยธรรม"

สื่อฟอร์จูนรายงานว่าปฏิกิริยาจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่อการตัดสินใจของฮาร์วาร์ดในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวกคือสนับสนุนการกระทำของฮาร์วาร์ดและมีอยู่น้อยที่แสดงความเห็นใจคนที่ถูกตัดสิทธิเข้าเรียน ขณะที่บางส่วนก็มองว่ามันกลายเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับผู้โพสต์โซเชียลมีเดียทั้งหลายว่าต้องระวังการโพสต์ในเฟซบุ๊ก

มีบางส่วนที่มองว่าการโต้ตอบด้วยการตัดสิทธิรับเข้าเรียนของฮาร์วาร์ดเป็นการทำเกิดกว่าเหตุหรือไม่ มีหนึ่งในนักศึกษาใหม่ระบุในกลุ่มว่า "นี้เรียกว่า เพียงแค่เพราะพวกเราเข้าเรียนฮาร์วาร์ดไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะไม่สามารถทำอะไรสนุกๆ ได้"

มีศาตราจารย์ฮาร์วาร์ด 2 คนที่ตั้งคำถามกับการตัดสินในครั้งนี้เช่นกันว่าเป็นการลงโทษที่โหดร้ายเกินไปหรือไม่ อลัน เดอโชวิตซ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ดกล่าววิจารณ์อีกว่าฮาร์วาร์ดกำลังรุกล้ำ "ชีวิตส่วนตัว" ของนักศึกษามากเกินไปหรือไม่กับการตัดสินใจที่อาจจะกระทบชีวิตพวกเขาไปตลอด โดยที่เดอโชวิตซ์เคยเป็นทนายความให้กับคดีดังอย่างคดีฆาตกรรมของโอ. เจ. ซิมป์สัน ในปี 2538 ศาตราจารย์อนุรักษ์นิยมตัวยงอีกคนหนึ่งอ้างว่าเรื่องการล่วงละเมิดของผู้สมัครเป็นนักศึกษาเหล่านี้เป็นการ "บิดเบือนและขยายความเกินจริง"

Mic เคยรายงานว่าการตั้งกลุ่มแชร์มีมต่างๆ ในเฟซบุ๊กดูเหมือนจะกลายเป็นประเพณีสำหรับนักศึกษาใหม่ในสหรัฐฯ ไปแล้ว โดยมีการเล่นมุขภายใน หรือบางทีก็ตอบโต้กันระหว่างมหาวิทยาลัยคู่อริผ่าน "การแค็ปรูปหน้าจอ" พร้อมข้อความ

 

เรียบเรียงจาก

Harvard Yanks 10 Acceptance Letters Over Offensive Facebook Posts, Fortune, 05-06-2017

http://fortune.com/2017/06/05/harvard-acceptance-rescinded/

Harvard rescinds admissions offers over offensive memes on Facebook – report, The Guardian, 05-06-2017

https://www.theguardian.com/education/2017/jun/05/harvard-rescinds-admissions-offers-offensive-memes

https://en.wikipedia.org/wiki/Pi%C3%B1ata

https://en.wikipedia.org/wiki/O._J._Simpson_murder_case

https://en.wikipedia.org/wiki/Internet_meme

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท