Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านกฎหมาย ชี้การนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักกำลังสร้างความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นกลาง และอคติในคดีเปรี้ยว อาจเป็นอุปสรรคในการทำงานของกระบวนการยุติธรรม ด้านนักวิชาการสื่อสารมวลชนระบุสื่อกำลังดูถูกคนในสังคม แนะเร่งปรับตัว

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ได้มีการจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 6 ขึ้น ในหัวข้อ ‘ฆ่า หรือ ค่า: สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย’ ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเสวนามีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นวิทยากรทั้งหมด 5 ท่าน และมีสื่อมวลชนตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมการเสวนาเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าสื่อกระแสหลักบางสื่อที่กำลังเผยแพร่ข่าวสารตามกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้มีส่วนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นกลาง ตลอดจนเกิดอคติขึ้นในหมู่ผู้เสพสื่อ และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของกระบวนการยุติธรรม

ผศ.ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์ (คนกลาง)

“หลักสำคัญในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีก็คือต้องเป็นธรรม เป็นธรรมแปลว่าต้องให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์กับผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีเฉพาะแค่ผู้ต้องหา แต่มีผู้เสียหายด้วย”

ในขณะเดียวกัน ปารีณายังกล่าวถึงความเป็นกลางและอคติ โดยมองว่าเป็นการชี้นำให้สังคมเชื่อไปตามที่สื่อประโคมข่าวไปแล้ว เพราะการนำเสนอของสื่อน่าสนใจและน่าติดตามมากกว่าการนำเสนอของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแม้กระทั่งคำพิพากษาจากศาลเอง ด้วยเหตุที่สื่อใช้วิธีการนำเสนอโดยเล่าเป็นเรื่อง ทำให้น่าติดตามและทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อไปแล้ว ซึ่งปารีณามีความเห็นว่า การเล่าเรื่องนี้สามารถทำได้ แต่ควรทำหลังจากการพิจารณาคดีสิ้นสุดลงแล้ว

“แม้ว่าข้อเท็จจริงที่นำเสนอมาภายหลังจากการสืบสวนสอบสวน หรือกระทั่งจากการพิจารณาจากผู้พิพากษาเองจะออกมาเป็นอย่างไร สังคมก็พร้อมที่จะไม่เชื่อ ถ้ามันแตกต่างจากข้อมูลการนำเสนอของสื่อในครั้งแรก เพราะว่าเรื่องของสื่อมันน่าสนใจกว่าเยอะ ดูน่าเชื่อถือกว่าการนำเสนอของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาก นั่นคือเทคนิคการนำเสนอที่สื่อมี แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มี ยิ่งถ้าเป็นศาลซึ่งไม่สามารถออกมาอธิบายได้ว่าทำไม อ่านคำพิพากษาของศาลไม่สนุกเท่ากับการดูละครหรือเรื่องที่นำเสนอผ่านสื่อ”

ทั้งนี้ ปารีณามองว่าการที่สื่อนำเสนอก็มีข้อดีอยู่บ้างในแง่ของการติดตามคดี การหาพยานหลักฐาน การเร่งรัดและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ก็อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในเรื่องความปลอดภัยของพยานบุคคล

“พยานที่กำลังจะเข้ามาก็อาจเกรงกลัว เพราะไม่อยากตกเป็นเป้าความสนใจว่าเป็นพยานบุคคล”

ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ (คนซ้าย)

ด้าน ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าปรากฏการณ์นี้จะทำให้สื่อพากันตาย เพราะสื่อกระแสหลักเสนอแต่ข้อมูลที่นำมาจาก ‘ชาวเน็ต’ หมายความว่าสื่อกำลังทำงานตามหลัง ไม่ได้แข่งขันอย่างแท้จริง และเพียงทำตามกระแสเพื่อความอยู่รอดในกระแสทุนนิยม ทั้งๆ ที่ความสนใจของคนในสังคมมีไม่เหมือนกัน

“นั่นแปลว่าเรากำลังดูถูกคนในสังคมว่าต้องการทิศทางเดียว มันไม่ควรเป็นเช่นนั้น คนจะได้ไม่เหมารวมว่าสื่อก็เป็นเหมือนกันหมด เลวเหมือนกันหมด เป็นผู้ร้ายเหมือนกันหมด”

มรรยาทยังมองว่า สื่อกระแสหลักไม่ควรแข่งขันกันที่ปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ควรแข่งขันกันที่คุณภาพด้วย และควรต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวสื่อเอง ไม่ควรอ้างว่าเพราะสังคมต้องการเสพข่าวเช่นนี้ สื่อจึงต้องนำเสนอ

“เหมือนเป็นไก่กับไข่ที่มันก็วนเวียนไปไม่รู้จักจบ ถ้ามัวแต่พูดแบบนี้เราจะไม่มีทางแก้ปัญหาอะไรได้เลย เราจะวนอยู่แต่ว่าไม่ใช่ความผิดของฉัน เพราะสังคมอยากได้ ฉันเลยเสนอ ถ้าจะแก้ก็ไปแก้สังคมสิ สังคมก็บอกว่า ไม่ใช่มาเปลี่ยนคนในสังคม ก็เป็นเพราะสื่อเสนอมา มันจะวนอยู่ในอ่าง เราจึงต้องหยุด ไม่ต้องพูดว่าอะไรเกิดก่อนอะไรหรือทำให้เกิดอะไร แต่เรามาปรับปรุงและแก้ไขที่ตัวเราเอง”

นอกจากนี้ มรรยาทยังมีความเห็นต่อเรื่องเสรีภาพกับการควบคุมสื่อ โดยมองว่าสื่อยังต้องการสิทธิเสรีภาพ เพราะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำเสนอข้อมูลนั้นออกไปได้ แต่ในเสรีภาพนั้นก็ยังมีเรื่องที่สื่อต้องคิดและตั้งคำถามกับตนเอง

“แต่มันต้องตั้งคำถามว่าทำไปทำไม เสนอข่าวนี้ไปทำไม เสนอแล้วได้อะไร จะไปรู้ทำไมว่าเขามีแฟนกี่คน หรือการไปสัมภาษณ์นักบินที่พาเขามา เหมือนใครเกี่ยวข้องหรือแตะแค่นิดเดียวเราก็ไปถามเขาหมด โดยที่ไม่รู้ว่าถามไปแล้วสังคมได้อะไร เราก็ต้องกลับไปถามตัวเอง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net