The Prisoner: นักต่อสู้/นักโทษทางความคิด ที่เราอยากชวนพวกเขาเขียน

เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีสมัยสลายการชุมนุมปี 53 ผู้ที่ไม่ได้รับผิดอาญาใดๆ สัมภาษณ์ประเดิมให้สำนักข่าวออนไลน์ พูดเรื่องปรองดองบอกให้น้ำหนักกับอนาคตมากกว่าอดีต ในขณะที่ผู้มีอำนาจทั้งแผงใช้กฎหมายหุ้มปืนเพื่อปิดปาก คุกมีไว้ขังเสรีภาพ ความตายถูกหยิบยื่นเพื่อพรากจากคนที่เรารัก วิกฤตทางการเมืองที่กินเวลานับทศวรรษจึงทำให้ชีวิตของผู้คนแทบกลายเป็นศูนย์ในทุกมิติ เราจึงล้วนแต่เป็นนักโทษทั้งเป็นถูกจองจำอยู่ในคุกนอกคุกนั่นก็คือประเทศไทยทั้งผืน

เพื่อทวงถามเสรีภาพและความยุติธรรม “The Prisoner” ฉบับเฉพาะกิจนี้เราขอแนะนำรายชื่อ 7 นักต่อสู้/นักโทษทางความคิด ที่เราอยากชวนพวกเขาเขียน พวกเขาบางคนในขณะนี้ยังคงถูกจองจำ โดยแทบเข้าไม่ถึงสิทธิการประกันตัวตลอดการสู้คดี พวกเขาบางคนกำลังถูกคดีความเล่นงานเพียงเพราะเรียกร้องเสรีภาพ พวกเขาบางคนถูกพรากชีวิตคนรัก หรือกระทั่งชีวิตของเขาเอง หากพวกเขามีโอกาสเขียน บอกเล่าเรื่องราวของเขาบ้าง พวกเขาฝันหรือต้องการเขียนถึงสิ่งใด ติดตามได้ต่อจากนี้

000

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
7 ปีของการทวงถามความยุติธรรม
และคอลัมน์ “คนที่คุณก็ไม่รู้ว่าใคร”

นักเขียนคนแรกที่เราอยากแนะนำให้รู้จักคือ "พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ" อาชีพปัจจุบันเป็นคนขับรถแท็กซี่ และยังทำกิจกรรมการเมืองร่วมกับกลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อนเขายังเป็นหนึ่งในผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 โดยที่สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ ลูกชายของเขากลายเป็นเด็กหนุ่มที่ถูกหยุดอายุไว้เพียงแค่ 17 ปี โดยเขาเสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าที่บริเวณศีรษะในวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลอภิสิทธิ์สั่งให้มีการสลายการชุมนุมและปิดล้อมบริเวณโดยรอบของย่านราชประสงค์

หลังจากเฌอ เสียชีวิตได้ไม่นานนัก พันธศักดิ์ได้เขียนสเตตัสลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเล่าถึงความทรงจำของเขากับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ตอนที่พบกันครั้งแรกในห้องน้ำที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

ตอนนั้นคือปี 2546 เฌอยังมีอายุเพียง 10 ปี พันธ์ศักดิ์เล่าว่า เขาไปดูคอนเสิร์ต Coldplay วงดนตรีร็อกแห่งยุคสมัยซึ่งเดินทางมาจัดแสดงสดในเมืองไทยเป็นครั้งแรก เขาพบกับนักการเมืองหนุ่มไฟแรงจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่อีก 2 ปีถัดมานักการเมืองหนุ่มคนนี้จะย่างก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค

ขณะที่กำลังยืนฉี่อยู่ในห้องน้ำ พันธ์ศักดิ์พบว่าอภิสิทธิ์กำลังเดินเข้ามา ในขณะที่โถปัสสาวะเหลืออยู่หลายโถ แต่ดูเหมือนว่าอภิสิทธิ์เลือกที่จะมายื่นฉี่ข้างๆ เขา จากนักการเมืองผู้ไม่วางมาดก็หันมาถามเขาว่า “เป็นไงบ้างครับคอนเสิร์ต Coldplay มันส์ไหม”

พันธ์ศักดิ์ บอกกับเราว่า ตอนนั้นเขารู้สึกถูกใจอภิสิทธิ์อยู่พอสมควรเพราะเห็นว่า “ไอ้นี่มัน แฟรงค์ดีว่ะ” การเขียนถึงอภิสิทธิ์ในครั้งนั้นเขาบอกว่า อภิสิทธิ์กับทักษิณต่างก็เหมือนกันตรงที่มีความเป็นมนุษย์ แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีมันมีความมนุษย์เป็นไม่ได้ อย่างไรก็ตามความทรงจำที่เขามีกับอภิสิทธิ์ และอีกหลายคนก็ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการเสียชีวิตของลูกชาย

พันธ์ศักดิ์ ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียทางการเมืองในปี 2553 อยู่หลายครั้งแต่ถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 7 ปีความยุติธรรมที่ตามหาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมองเห็น

นอกจากนั้นเขายังถูกจับกุมดำเนินคดี 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดจากการจัดกิจกรรมโปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรมกับศาลประชาชน ร่วมกับกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ครั้งนั้นเขาถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรา 10 และ มาตรา 56 ใน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว

การถูกจับกุม ครั้งที่ 2 เกิดจากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ครั้งนั้นเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขณะนี้คดีอยู่ในกระบวนการของศาลทหารกรุงเทพฯ

และครั้งที่ 3 เกิดจากการจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เพื่อตามหาความยุติธรรมและเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนที่ศาลทหาร เขาถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีก 3 ข้อหา คือ ข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 เขาร่วมจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 7 ปีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่วัดปทุมวนาราม โดยร่วมกับกลุ่มญาติผู้สูญเสียแต่งหน้า แต่งตัวเป็นผี และแสดงละครใบ้ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว และเข้าควบคุมตัวเขาและผู้แสดงละครรวม 7 คนไปสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ก่อนจะทำบันทึกประจำวันยืนยันว่าทั้งหมดไม่ได้นัดหมายกันมาเพื่อชุมนุมทางการเมือง และสุดท้ายได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ

เมื่อตั้งคำถามชวนให้พันธ์ศักดิ์ลองจินตนาการว่า เมื่อได้ลบล้างเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นผลกระทบกับชีวิตอันเนื่องมาจากการเมืองออกไป แล้วลองคิดดูว่าหากวันนี้เขามาเป็นคอลัมนิสต์ เขาอยากจะเขียน หรือบอกเล่าเรื่องอะไร

คำตอบที่ได้รับ ไม่ใช่เรื่องฟุตบอลหรือเพลงร็อกอย่างในอดีต หากแต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดาทั่วไป โดยเขาจะตั้งชื่อคอลัมน์ว่า “คนที่คุณก็ไม่รู้ว่าใคร”

เขาคิดว่า การเขียนเล่าเรื่องของคนทั่วไป แต่ทำเป็นเหมือนบทสัมภาษณ์บุคคลมีชื่อเสียงน่าจะเหมาะกับอาชีพปัจจุบันของเขา ซึ่งได้พบเจอได้ผู้คุยกับผู้คนอยู่ตลอดเวลา

“ผมอยากเล่าเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจ เช่นเรื่องของแม่ค้าขายลูกชิ้น อยากรู้ว่าชีวิตเขาเป็นไงบ้าง มันมีความเดือดร้อน มีความยากลำบากอย่างไร” พันธ์ศักดิ์กล่าว

 

พะเยาว์ อัคฮาด
เขียนถึงปี 2553 ในแง่มุมที่ผู้คนยังไม่รู้

พะเยาว์ อัคฮาด นักเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีการเสียชีวิตของลูกสาวจากเหตุสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ The Prisoner เห็นว่าเป็นผู้ที่มีเล่าราวมากมายที่เขาต้องการจะบอกเล่าสู่สาธารณะ

พะเยาว์เป็นที่รู้จากกรณีการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาว “กมนเกด อัคฮาด” พยาบาลอาสาซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

มีหลากหลายกิจกรรมที่เธอทำเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาว รวมทั้งผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ตั้งแต่การพูดบอกเล่าเรื่องราวในเวทีเสวนาในตามโอกาสต่างๆ การยื่นหนังสือเรียกร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเดินเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำเสื้อทหารมาซัก และพูดเพียงสั้นๆ ว่า ซักเท่าไหร่ก็ไม่ขาว

สำหรับการเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาถึง 7 ปีแล้ว แต่เธอยังเห็นว่าคนผิด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากยังไม่ได้รับผิด และยังไม่มีท่าทีที่จะแสดงความรับผิดชอบ หรือแม้แต่คำขอโทษเธอเองก็ยังไม่เคยได้ยิน แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งว่ากมนเกด และอีก 5 ศพที่วัดปทุมวนาราม เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีกระบวนการที่นำมาซึ่งการรับผิดชอบของผู้กระทำผิด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม ‘6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร’)

มากไปกว่านั้น การออกตามหาความยุติธรรมที่ยากจะมองเห็นกลับนำมาซึ่งการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐแทน โดยล่าสุดในวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 วันครบรอบ 7 ปีการเสียชีวิตของลูกสาวเธอได้ออกไปทำกิจกรรมแสดงละครใบ้ที่วัดปทุมวนาม โดยแต่งหน้าเป็นผี แต้มเครื่องหมายกาชาดที่หน้าผาก แต่ยังไม่ทันได้แสดงจบ เธอและกลุ่มนักแสดงรวม 7 คนกลับถูกสั่งให้ยุติการจัดกิจกรรม และนำตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี โดยที่หลังจากนั้นอีกหลายชั่วโมง เธอและกลุ่มนักแสดงจึงได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

อย่างไรก็ตาม มีเหตุคุกคามเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด โดยหลังเกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ลูกชายของเธอซึ่งไปขึ้นเวทีของกลุ่มคนเสื้อแดงถูกทหารควบคุมตัวเป็นเวลา 5 วัน โดยในช่วงที่ถูกควบคุมตัวนั้น เธอไม่รู้เลยว่าลูกชายถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน

The Prisoner ตั้งคำถามกับเธอว่า หากมีพื้นที่เขียนบทความเพื่อสื่อสารกับผู้คนในสังคม เธออยากจะเขียนเรื่องราวแบบไหน พะเยาว์บอกว่า “อยากเขียนความจริงที่เกิดขึ้นในปี 2553” เธอเห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2553 เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในที่อับ ซึ่งผู้คนจำนวนมากในสังคมไม่เคยได้รับรู้

นอกจากความจริงที่เธออยากเล่าแล้ว ยังมีเรื่องราวหลังจากนั้นของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุทางการเมืองอีกมากมายที่ไม่ได้รับความสนใจ รวมไปถึงเรื่องราวของการสลายการชุมนุมเวทีคนเสื้อแดงที่ย่านถนนอักษะหลังรัฐประหารไม่กี่ชั่วโมงด้วย

“ฉันอยู่ข้างเวทีในวันที่เขาทำรัฐประหารกัน เห็นทีวีจอใหญ่เขาฉายว่ามีรัฐประหารแล้ว สักพักก็เป็นภาพของทหารผู้คนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกำลังขึ้นรถบัสกลับบ้าน ตอนนั้นก็คิดว่าเดี๋ยวอีกสักพักเขาก็คงพาคนเสื้อแดงกลับบ้านแบบที่เราเห็นในทีวี แต่ความจริงที่เราเจอคือเสียงปืน”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม ‘6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร’, ประชาไท, 7 สิงหาคม 2556
https://prachatai.org/journal/2013/08/48057

 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เสียงจากแดนตาราง

นักเขียนอีกคนหนึ่งที่ The Prisoner อยากแนะนำให้รู้จักก็คือ “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิแรงงาน อายุ 55 ปี เขาเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 นอกจากการเรียกร้องเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและการส่งเสริมการรวมตัวของกรรมกรแล้ว ในทศวรรษที่ 2530 ในช่วงที่ขบวนการกรรมกรและนักศึกษาเรียกร้อง “ระบบประกันสังคม” ที่เราใช้กันทุกวันนี้ เขาเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทอันโดดเด่นนั้น

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้นำทำนองเพลงเกาหลี March for the beloved” ที่ใช้รำลึกถึงผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกวางจู มาประกอบเนื้อเพลงภาษาไทยในชื่อ Solidarity” เพื่อเป็นเพลงปลุกใจขบวนการต่อสู้ของประชาชนในช่วงเวลานั้นด้วย

ในปี 2549 เขายังมีบทบาทต่อต้านการรัฐประหารของ คมช. เคยเป็นแกนนำ นปช. รุ่น 2 หลังแกนนำ นปช. รุ่นแรกถูกจำคุกจากเหตุชุมนุมในเดือนเมษายนปี 2552 และหลังจากนั้นไม่นานเขาก่อตั้งกลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นเขายังเป็นพิธีกรรายการ “เสียงกรรมกร” ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม DTV ด้วย

สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 หรือ 5 วันหลังจากที่มีการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อให้รัฐสภายกเลิกมาตรา 112 โดยในระหว่างสู้คดี เขาถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว แม้ “ปณิธาน” ลูกชายของเขาเคยอดอาหารประท้วงหน้าศาลอาญาในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับพ่อ แต่ก็ไม่เป็นผล

นอกจากนี้ ระหว่างไต่สวนคดี สมยศยังถูกนำตัวไปขึ้นศาลยังจังหวัดต่างๆ ถึง 4 แห่งตามที่อยู่ของพยานโจทก์ ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว สงขลา ซึ่งทำให้ครอบครัวเพื่อนของเขาต้องเดินทางไปเยี่ยมด้วยความลำบาก เพราะจะมีการย้ายตัวจำเลยไปก่อน 2-4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นศาล

โดยข้อกล่าวหาต่อเขาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาจากการที่เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin มีการตีความว่าบทความ 2 ชิ้นของผู้ใช้นามปากกา “จิตร พลจันทร์” มีลักษณะเสียดสีและเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 112 โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าเขาไม่ใช่ผู้เขียนบทความ เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 มีคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งตัดสินว่า ที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี

ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้โทษจำคุกลดเหลือ 6 ปี โดยเมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี ทำให้สมยศต้องจำคุกรวมเป็นเวลากว่า 7 ปี

ทั้งนี้ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความตั้งข้อสังเกตเรื่องความชอบด้วยหลักกฎหมายอาญาที่ใช้ตัดสินคดีของ “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” ในประเด็นที่ว่าแทนที่ศาลจะพิจารณาว่าสมยศ “รู้ หรือไม่รู้” ถึงเนื้อหา ที่อยู่ในบทความ เพื่อพิจารณาว่า “สมยศ มีเจตนากระทำผิด” ฐานนี้หรือไม่ ศาลกลับเอาการตีความ “เนื้อหา” ของบทความตาม “เจตนาของผู้เขียน” คือ “จิตร พลจันทร์” มาใช้เพื่อลงโทษสมยศ ซึ่งเป็นคนละเรื่องและทั้งไม่เกี่ยวกับประเด็น “เจตนา” หรือ “ความรู้ หรือไม่รู้” เนื้อหาของบทความของตัวสมยศเลย

พร้อมตั้งคำถามด้วยว่าหลักการ “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” รวมทั้ง “บุคคลต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อมีเจตนาเท่านั้น” ยังคงใช้การได้อยู่หรือไม่ รวมทั้งเรื่อง “เจตนา” ที่สอนในวิชากฎหมาย ยังตีความแบบเดิมหรือไม่ (อ่านบทความ)

ปัจจุบันนี้ สมยศ ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นอกจากการเป็นบรรณาธิการประจำห้องสมุดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว เขายังคงเขียนบทความและแสดงความคิดเห็นต่อสังคมเป็นระยะ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เขาแสดงทัศนะต่อข้อเสนอปรองดองด้วยว่า “การปรองดองที่นำเสนอกันอยู่นี้เหมือนเรื่องราวของหมาป่าที่เสนอตัวแก้ปัญหาให้กับวัวควายเรื่องการกินหญ้า ตัวเองกลายเป็นพระเอก ทั้งที่มีจุดมุ่งหมายอีกแบบ จะว่าไปก็เหมือนการเล่นละคร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

และในช่วงที่ถูกจองจำ เขายังได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนที่น่ายกย่องประจำปี 2555 จากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร และในเดือนพฤศจิกายนปี 2559 เขายังได้รับรางวัลชุน แต อิล จากสมาหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี KCTU โดย "ประกายดาว" ลูกสาวของสมยศเดินทางไปรับรางวัลแทนพ่อผู้ถูกคุมขัง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ผู้อ่านยังสามารถติดตามงานเขียนของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ใน คอลัมน์ เสียงจากแดนตารางภายใต้สโลแกน “ห้ามฉันพูด ฉันก็จะพิมพ์ ห้ามฉันพิมพ์ ฉันก็จะเขียน ห้ามฉันเขียน ฉันก็จะยังคิด หากห้ามฉันคิด ก็ต้องห้ามลมหายใจฉัน” ได้ที่ Blogazine ประชาไท https://blogazine.pub/blogs/somyot-redpower

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม, ประชาไท, 23 กุมภาพันธ์ 2560
http://prachatai.org/journal/2017/02/70236

ข้อสังเกตบางประการต่อคำพิพากษาคดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข นับแต่ศาลชั้นต้นถึงชั้นฎีกา, สาวตรี สุขศรี, 24 กุมภาพันธ์ 2560 https://prachatai.org/journal/2017/02/70247

สมยศ พฤกษาเกษมสุข: เสียงจากแดนตาราง 
https://blogazine.pub/blogs/somyot-redpower

 

อำพล ตั้งนพกุล
เผยอัปลักษณะของมาตรา 112

คอลัมนิสต์อีกรายที่ The Prisoner อยากแนะนำก็คือ อำพล ตั้งนพกุล หรือที่รู้จักในนาม "อากง" ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้นหรือ SMS ไปยังเบอร์มือถือของสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จำหนวน 4 ข้อความในเดือนพฤษภาคม

เมื่อถูกจับกุมเขาถูกควบคุมรอบแรกในเรือนจำกินเวลา 63 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวออกมาเป็นเวลาสั้นๆ และภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง เขาก็ไม่ได้รับการประกันตัวอีก โดยเขาถูกจองจำในระหว่างไต่สวนยาวนานเกือบปี ต่อมามีคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำคุก 20 ปีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 และเขาตัดสินใจถอนการอุทธรณ์เพื่อเข้าสู่กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ อย่างไรก็ตามในวันที่ 8 พฤษภาคม 2553 อำพลก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังจากรอรักษาตัวเพราะปวดท้องอย่างหนักเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 แต่ก็ไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพราะติดช่วงพ้นเวลาทำการและติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

คดีและความตายของ “อากง” ทำให้เกิดการตั้งคำถามและการถกเถียงต่อกระบวนการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และขั้นตอนในการพิจารณาคดี ทั้งเรื่องที่จำเลยคือ “อากง” ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี แม้ทนายฝ่ายจำเลยจะชี้ให้เห็นว่าพยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ขัดแย้งกันเองหลายประการ มีพิรุธ น่าสงสัย และมีน้ำหนักน้อย อาจกระทบกระเทือนถึงการที่จำเลยอาจต้องโทษทั้งที่มิได้กระทำความผิด และยังชี้ให้เห็นว่าการใช้หมายเลขเครื่อง(อีมี่) ในการเชื่อมโยงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้ รวมทั้งโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดที่จะชี้ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กดพิมพ์ข้อความ และส่งข้อความดังกล่าว

แต่ในคำพิพากษา ศาลเห็นว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี โดยชี้ว่าหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์น่าเชื่อว่าส่งจากเครื่องโทรศัพท์ที่จำเลยใช้ และจากย่านที่พักของจำเลย

นอกจากนี้ศาลยังไม่รับฟัง คำให้การที่จำเลยอ้างว่าโทรศัพท์มือถือของจำเลยเสียจึงนำไปซ่อมที่ร้านค้าในห้างอิมพีเรียลสำโรง โดยศาลเห็นว่าจำเลยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะแจ้งเวลาที่นำไปซ่อม ในชั้นจับกุมกับแจ้งในชั้นศาลไม่ตรงกัน และจำร้านที่นำไปซ่อมไม่ได้ ศาลจึงไม่เชื่อถือข้อมูลนี้

ในเดือนสิงหาคม 255 Blognone เว็บไซต์ด้านไอทีชื่อดังเปิดเอกสารข้อมูลการโทรของเบอร์มือถือที่เกี่ยวข้องกับคดีพร้อมตั้งข้อสังเกตมีการส่งข้อความจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่นาที เช่นในวันที่ 22 พฤษภาคม มีข้อความถูกส่งออกไป 8 ข้อความภายในเวลาเพียง 2 นาที และล็อกของหมายเลข -4627 ของอำพล ก็มีล็อกการรับ SMS จำนวนมาก แต่ไม่มีล็อกการส่ง SMS ออกไปแต่อย่างใด (อ่านข้อสังเกต)

คดีที่เกิดขึ้นกับ “อากง” ทำให้เกิดการตื่นตัวของสาธารณชนโดยประชาชนและนักวิชาการหลายกลุ่มได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเดิน “อภยยาตรา” หรือ Fearlessness walk ในเดือนธันวาคม 2554 โดยมีข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งการรณรงค์ออนไลน์ “ฝ่ามืออากง” หลังจากนั้นยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มของ “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112” หรือ “ครก.112” ที่เริ่มต้นในเดือนมกราคม 2555 รวบรวมรายชื่อผู้ขอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่งให้กับประธานรัฐสภาในวันที่ 29 พฤษภาคม 2555

แม้เราจะไม่มีโอกาสได้อ่านข้อเขียนจากอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” อีกต่อไปแล้ว ในหนังสือ “รักเอย” หนังสือบันทึกความทรงจำของ “ป้าอุ๊” รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาคู่ชีวิตของอากง ซึ่งเนื้อหาในเล่มนอกจากจะประกอบด้วยชีวิตของ “อากง” ซึ่งสะท้อนผ่านเรื่องราวของชีวิตคู่ ความเป็นอยู่ในครอบครัวแล้ว ยังมีส่วนของชะตากรรมที่ทุกคนในครอบครัวต้องเผชิญ

สำหรับหนังสือ “รักเอย” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน พิมพ์ครั้งแรกเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจ “อำพล ตั้งนพกุล” และมีการพิมพ์ซ้ำเพื่อจำหน่ายในเดือนกันยายน 2555 โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 (อ่านรายละเอียด)

อนึ่ง ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวคำไว้อาลัยในวันฌาปนกิจ "อากง" ที่วัดลาดพร้าวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 ตอนหนึ่งว่า "แม้อากงจากไปแล้ว ร่างกายอากงจะไม่หลงเหลืออะไรอีกนอกจากเถ้าถ่าน แต่มาตรา 112 ยังคงอยู่ อัปลักษณะของมาตรา 112 ยังคงอยู่ คำพิพากษาคดีของอากงก็ยังดำรงอยู่ต่อไปเสมือนเป็นอนุสรณ์ ส่วนจะเป็นอนุสรณ์แห่งความดีงาม หรืออนุสรณ์แห่งความเลวร้าย วิญญูชนทุกท่านในที่นี้ย่อมพิจารณากันได้เอง"

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฐานข้อมูลคดี: อากงเอสเอ็มเอส, iLaw https://freedom.ilaw.or.th/th/case/21

 

สมอลล์ บัณฑิต อานียา
Mr.ZERO และแพ็กเกจคดี .112

 

สมอลล์ บัณฑิต อานียา เป็นนามปากกาของนักเขียนใหญ่หัวใจหนุ่มน้อย วัย 76 ปี

ในปี พ.ศ. 2508 เขาเคยไปกางมุ้งอยู่หน้าสถานทูตสหภาพโซเวียตเพื่อรอทำวีซ่าหวังเดินทางไปโลกหลังม่านเหล็ก

“It is better to die in Moscow than to stay in Thailand”

นี่คือข้อความที่เขาเขียนติดกำแพงสถานทูตสหภาพโซเวียต

แต่ตำรวจก็จับกุมเขาเสียก่อนเพราะเห็นว่าคิดก่อกวนรัฐบาล และจับเขาส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา ทำให้เขาต้องอยู่ที่นั่นนาน 42 วัน ก่อนที่จะออกมาได้เนื่องขัดขืนการรักษาด้วยการเอาแก้วแทงขา และไม่ยอมเปิดปากให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลนำไม้พันผ้าเข้าไปอุดในปากของเขา เพื่อป้องกันการกัดลิ้นขณะทำการช็อตไฟฟ้า

ปัจจุบัน สมอลล์ บัณฑิต อานียา ถูกจับ/ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว 4 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2518 ถูกจับกุมเพราะแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ไม่ถูกดำเนินคดีต่อ ครั้งที่ 2 ในปี 2546 ซึ่งเขาถูกควบคุมตัว 98 วันระหว่างพิจารณาคดี ก่อนได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท และในที่สุดเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาให้รอลงอาญา 3 ปี และให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี

และครั้งที่ 3 ปลายปี 2557 ภายหลังการรัฐประหาร เขาถูกจับกุมเพราะแสดงความเห็นในวงเสวนาเรื่องการปฏิรูป โดยเขาได้รับการประกันตัว และคดีอยู่ในการพิจารณาที่ศาลทหาร (อ่านข่าวที่นี่)

และล่าสุดครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 หลังจากเขาแสดงความเห็นในการเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเขาเสนอให้บัญญัติสิ่งที่สำคัญ 5 เรื่องในรัฐธรรมนูญ และข้อหนึ่งในนั้นระบุถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่ามีส่วนที่พาดพิงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ต่อมาศาลออกหมายจับ และตำรวจ สน.ชนะสงคราม มาควบคุมตัวเขาไปดำเนินคดีเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2559 ก่อนได้รับการประกันตัวในช่วงฝากขัง โดยคดีที่ 4 นี้ยังไม่มีการสืบพยาน

“อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ตัวเองถูกดำเนินคดีมาแล้ว 4 คดี เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิตของคนทั้งประเทศ เกี่ยวกับเสรีภาพของคนไทยทั้งประเทศ”

“นี่ยังอยากให้มาถ่ายวิดีโอเก็บไว้เลย จะพูดให้สักชั่วโมงเลย แล้วยังไม่เผยแพร่ เก็บไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็ให้เผยแพร่ เพราะเราไม่ได้พูดในสิ่งที่ผิดกฎหมาย” ลุงบัณฑิตบอก

ซึ่งการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 แบบนี้ไม่ยุติธรรม แม้แต่พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ก็ไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน พระองค์มีพระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคม 2548 แต่หลังจากที่พระองค์มีพระราชดำรัสในปี 2548 จนกระทั่งสวรรคตปี 2559 ก็ไม่มีใครในรัฐบาลทำตามที่พระองค์แนะนำ ที่ผ่านมาผมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจ ให้ฟ้องฟ้องคนในรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี จนถึงประธานศาลฎีกา ที่ไม่ทำตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แต่ไปดำเนินคดีร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจก็ไม่มีความคืบหน้า

เมื่อถามถึงงานเขียนที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน? ลุงสมอลล์ บัณฑิต อานียา บอกว่ามีหนังสือที่เคยพิมพ์ไปแล้ว แต่เหลือต้นฉบับกับตัวอยู่เล่มเดียว จึงนำมาถ่ายเอกสารเพื่อวางจำหน่ายใหม่ชื่อ "เด็กหญิงแมวเป็นนายกรัฐมนตรี" เป็นเรื่องสั้นที่มีสาระ อ่านได้ทุกวัย ตัวละครเอกก็เป็นเยาวชนนักเรียนมัธยมชื่อเด็กหญิงแมว ในเล่มก็มีเรื่องสั้นหลายๆ เรื่อง นอกจากนี้ก็มีพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เขาถูกดำเนินคดี

ทั้งนี่ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เพจของลุงสมอลล์ บัณฑิต อานียา

 

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ “จ่านิว”
ชีวิตยุ่งยากเพราะคดีการเมือง
แต่ห่วงมากกว่าคือคดีที่เกิดกับแม่

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ประชาธิปไตยศึกษา” ผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องร่วมกับกลุ่มต่างๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องใกล้ตัววัยเรียนอย่างยกเลิกระบบรับน้อง ปฏิรูปการศึกษา ไปจนถึงประเด็นทางสังคม อย่างการต่อต้านรัฐประหาร จนถึงการบุกตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ จนทำให้เขาถูกตั้งข้อหาสารพัด ต้องขึ้นศาลทหาร

ร้ายที่สุดก็คือในเดือนมกราคม 2559 เขาถูกทหารบุก “อุ้ม” กลางดึกที่ด้านประตูเชียงราก หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก่อนนำตัวไปส่งสถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียง โดยอ้างว่าเพื่อให้นำไปตัวไปดำเนินคดีกรณีนั่งรถไฟไปตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ถึงกับเอ่ยปากว่าเมื่อไหร่จะเรียนจบ รวมทั้งบอกให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปตรวจสอบสถานภาพนักศึกษา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะพูดแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะสิรวิชญ์เพิ่งเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเตรียมตัวศึกษาต่อ โดยกิจวัตรหนึ่งของเขาช่วงนี้คือการเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม

ปัจจุบันนี้เขายังต้องต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขาร่วมรณรงค์เคลื่อนไหว โดยกรณีที่เขาจัดกิจกรรม ‘โพสต์–สิทธิ’ เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองเมื่อ 1 พฤษภาคม 2559 นั้นต่อมาศาลแขวงพระนครใต้ สั่งปรับเงิน 1,000 บาท ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ โดยคดีนี้อยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์

และผลจากการร่วมกิจกรรม “เลือกตั้งที่รัก” เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2558 นอกจากเขาและเพื่อนนักกิจกรรมรายอื่นจะถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 แล้ว ตัวสิรวิชญ์เองยังถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งถือเป็นความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากร่วม

ส่วนคดีตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เมื่อ 9 ธันวาคม 2558 ที่เขารวมทั้งเพื่อนนักศึกษาและประชาชน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 จะมีการตรวจสอบพยานที่ศาลทหารในวันที่ 19 มิถุนายนนี้

และคดีล่าสุดคือข้อหาละเมิดอำนาจศาลที่เขา รวมทั้งนักศึกษาและอาจารย์ 7 ราย ถูกดำเนินคดีหลังจากเดินทางไปเยี่ยม “ไผ่ ดาวดิน” และทำกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2560 โดยคดีนี้มีการเลื่อนไต่สวนพยานจาก 31 พฤษภาคม 2560 ไปเป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2560

ทั้งนี้ “จ่านิว” หรือสิรวิชญ์บอกว่าคดีที่เกิดกับเขาไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะคดีความเหล่านี้เป็นคดีการเมือง แต่ที่วิตกและห่วงมากกว่าคือคดีซึ่งพุ่งเป้าไปที่แม่ของเขา กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำบทสนทนาที่มีผู้ส่งข้อความมาที่โทรศัพท์มือถือของแม่จ่านิว มาฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยสิรวิชญ์เห็นว่าคดีความเหล่านี้ ทำให้เขาประสบความยุ่งยากในการใช้ชีวิต ทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสที่จะดำเนินการเรื่องต่างๆ เพราะต้องไปต่อสู้เรื่องคดีความ

เมื่อชวนเขียนบทความ สิรวิชญ์บอกว่า อยากเขียนเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง และบทเรียนการต่อสู้ทางความคิดในต่างประเทศ เขาอยากชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่โดดเดี่ยว ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่ทุกสังคมก็เคยเผชิญปัญหาแบบนี้และก็สามารถแก้ไขคลี่คลายให้ผ่านไปได้ โดยเขาอยากชี้ให้สังคมไทยเห็นตรงนี้

“ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อย กลัวว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ตก ไม่รู้ว่าเราจะหลุดออกจากปัญหานี้อย่างไร นึกว่าเป็นปัญหาเฉพาะ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทุกสังคมเคยผ่านปัญหานี้เช่นเดียวกัน”

ด้วยความที่ตัวเขาเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ โดยตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม วันไหนที่ว่างเขาก็จะนั่งรถเมล์ไปหอสมุดแห่งชาติ เพื่อไปนั่งอ่านหนังสือ อีกเรื่องที่เขาอยากเขียนคือเรื่องปฏิรูปศึกษา โดยเขาอยากนำเสนอประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาการศึกษาของต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ว่าประเทศเหล่านี้บางประเทศเคยประสบความล้มเหลวทางการศึกษา แต่พวกเขามีวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

และอีกประเด็นที่เขาอยากเขียนบทความก็คือ การสอนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยที่ล้มเหลว ซึ่งตัวเขาเองก็เคยประสบปัญหานี้ จึงอยากถ่ายทอดประเด็นความไม่ถูกที่ถูกทางของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยด้วย

 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
อีกผู้ต้องขัง 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัว
และการท่องโลกวรรณกรรม

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ไผ่ ดาวดิน’ เขาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมทางสังคม/การเมือง เขาเป็นที่รู้จักอย่างเผยหลายจากการทำกิจกรรมช่วยชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ที่ จ.เลย ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ

ภาพนักศึกษานั่งคุกเข่าท่ามกลางสายฝน ขณะที่เบิ้องหน้าเต็มไปด้วยชายสวมชุดเจ้าหน้าที่คุมควมฝูงชนยืนเผชิญหน้าซ้อนกันราว 2-3 แถว อาจจะเป็นภาพแรกที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จักเขามากขึ้น จนกระทั้งปลายปี 2556 ไผ่รวมทั้งนักศึกษากลุ่มดาวดินได้รับการมอบรางวัล ‘เยาวชนต้นแบบ’ โดยรายการคนค้นฅน ก่อนหน้าการรัฐประหารราว 6 เดือน

อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐประหารปี 2557 ผ่านไป ไผ่และเพื่อนๆ ยังคงทำงานเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและทุนต่อไป และนั่นอาจจะส่วนที่ทำให้เขามองเห็นว่าปัญหาเรื่องต่างๆของชาวบ้าน ต้องการแก้ที่โครงสร้างอำนาจทางการเมือง เพราะหลังจากรัฐประหารได้ไม่นานผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกๆ คือ ชาวบ้าน อันเนื่องมาจากความเร่งรีบในการจัดการโครงการพัฒนา และโครงการขนาดใหญ่ให้ประสบความสำเร็จ จนไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอให้เสียงของผู้คนที่อาจได้รับผลกระทบได้ปรากฎอย่างมีความหมาย ภายใต้รัฐบาลทหาร

และนั่นนำไปสู่การที่เขาและเพื่อนรวม 5 คน ไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการชูสามนิ้วต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะตรวจราชการที่ศาลากลาง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 และในวันเดียวกันกลุ่มดาวดินได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “เราไม่ต้อนรับเผด็จการ” มีเนื้อหาระบุถึงปัญหาที่รัฐบาลเผด็จการจับมือกับทุน ละเมิดสิทธิของชาวบ้าน

จากนั้นเขาและเพื่อนออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร และช่วงวันที่ 24 มิถุนายน 2558จนในที่สุดถูกดำเนินการจับกุมฐานยุยงปลุกปั่นและถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 12 วัน ก่อนที่จะมีการปล่อยตัวเขาและเพื่อนร่วม 14 คนออกมาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่คดีความดังกล่าวยังคงอยู่ในที่ศาลทหารกรุงเทพฯ

ไผ่เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงปี 2559 ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยการแจกเอกสาร ใบปลิว และจัดเวทีเสวนา จนในที่สุดเขาถูกจับกุมก่อนวันทำประชามติเพียง 1 วัน เพราะไปเดินแจกเอกสารรณรงค์โหวตโนที่ตลาดสดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง

รายงานข่าวระบุว่า เขาเดินแจกเอกสารไม่ไม่ถึง 500 เมตรก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าแสดงตัวเพื่อจับกุม จากนั้นถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำภูเขียวอีก 12 วันก่อนจะขอประกันตัวออกมา เพราะระหว่างที่ถูกควบคุมตัวเขาอดอาหารประท้วงการจับกุม

ไผ่ถูกจับกุมและถูกนำตัวเข้าเรือนจำอีกครั้งในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 จากการแชร์พระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai ซึ่งมีคนแชร์เหมือนกับเขาราว 2,800 คน แต่มีเพียงเขาคนเดียวที่ถูกจับกุม เขายื่นขอประกันตัวรวมทั้งหมด 9 ครั้ง และอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนสิทธิประกันตัวอีก 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวอีกเลย โดยพ่อแม่ของเขาต้องเดินทางไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจูประจำปี 2017 ที่เกาหลีใต้แทนลูกชาย และนำมามอบให้เมื่อลูกชายต้องเดินทางมาขึ้นศาลทหารที่ จ.ขอนแก่น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ไผ่เคยเล่าว่า กิจกรรมหลักที่เขาทำระหว่างถูกจองจำอยู่คือการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะงานวรรณกรรม เข้าใจว่าตลอดระยะเวลา 169 วัน (8 มิถุนายน 2560) ไผ่อ่านจบไปหลายเล่ม เท่าทีทราบเขาอ่าน ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา ปีกหัก ของคาลิล ยิบราน พันธุ์หมาบ้า ของชาติ กอบจิตติ บุกคนสำคัญ ของนิ้วกลม และงานอีกหลายเล่มของรงค์ วงษ์สวรรค์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

แม้จะไม่ได้ทาบทามไผ่โดยตรงให้มาเขียนคอลัมน์ และก็คงเป็นเรื่องยากที่ผู้ที่ถูกคุมขังจะส่งงานเขียนออกมาจากเรือนจำขนาดเล็กสู่เรือนจำแดนใหญ่ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘เรือนจำพิเศษประเทศไทย’ แต่ “The Prisoner” เชื่อว่า ไผ่ น่าจะมีเรื่องที่อยากเล่าอีกมากมาย ทั้งเรื่องราวต่างๆ ในเรือนจำ และเรื่องความอยุติธรรมที่เขาเผชิญอยู่ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้อ่านงานเขียนที่ดี โดยผู้เขียนที่ชื่อ “จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” ก็ได้ ขอเพียงแค่เขาได้สิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของการตกเป็นจำเลยในคดีอาญา นั่นคือการได้รับสิทธิการประกันตัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท