จากชาวนา ถึง คสช. หวั่นงบฯ 6 แสนล้าน จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แถมยังสร้างหนี้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หลายปีที่ผ่านมามูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ร่วมกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์กรชาวนาภาคกลาง ศึกษาสถานภาพของชาวนาและนโยบายช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล คสช.เพื่อประเมินถึงมีประโยชน์และข้อจำกัดของนโยบายและค้นหานโยบายที่สอดรับกับความต้องการของชาวนาปัจจุบัน

จากข้อมูลภาพรวมปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งประเทศ 320 ล้านไร่ คิดเป็นเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 149 ล้านไร่และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 67 ล้านไร่ มีสัดส่วนครัวเรือนเกษตรก 5.9 ล้าน ครอบครัวในจำนวนนี้เป็นชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 66ของเกษตรกรทั้งประเทศ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,2558)  ในแต่ละปีชาวนาผลิตข้าวได้ประมาณ 28-30 ล้านตันข้าวเปลือกและประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกข้าวปีละประมาณ 80,000-100,000ล้านบาท

ในขณะที่ชาวนาเผชิญกับราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำและปริมาณสต๊อกข้าวคงเหลือในคลังของรัฐบาลมีจำนวนมาก จากข้อมูลของกรมการข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแค่เดือนมกราคม 2557ถึงพฤศจิกายน 2558 ราคาข้าวเปลือกที่ความชื้น 15%อยู่ที่ตันละ 7,000-8,000บาทและเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวราคาจะต่ำลงเหลือเพียง7,200-7,600 บาทจึงทำให้ชาวนาประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง  นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรในสังคมไทยไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่รอดทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากค่าครองชีพที่เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้แก่ค่าอาหาร และค่าเล่าเรียนของบุตรหลานเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเงินลงทุนในภาคเกษตรด้านปัจจัยการผลิตทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ ค่าเช่าที่นา ราคาปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ได้เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่รายได้มีอยู่ทางเดียวคือการขายข้าวและผลผลิตทางการเกษตร

จากงานศึกษาเห็นได้ว่ารากฐานของปัญหาชาวนาและเกษตรกร คือ ที่ดินทำกินน้อยต้องเช่าที่ทำกินเพิ่ม มีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเงินลงทุนภาคเกษตรสูงและมีความเสี่ยงจากราคาข้าวและผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่แน่นอน

รัฐบาลยุคคสช.ภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้บริหารงานมาครบ 3 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ได้ออกนโยบายช่วยชาวนาและเกษตรกรโดยใช้งบประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินช่วยเหลือโดยตรง 162,321 ล้านบาท  เป็นมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ 209,730 ล้านบาท และมาตรการด้านการเกษตรอื่นๆอีก 219,231 ล้านบาท โดยรัฐหวังว่าเป็นมาตรการดูแลเกษตรกรครบวงจร ตั้งแต่ด้านปัจจัยการผลิต ชะลอขายข้าว ช่วยเหลือด้านภัยแล้ง ประกันภัยนาข้าว และปรับพื้นที่นามาปลูกพืชชนิดอื่นแทน ให้ดำเนินงานผ่านธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)

จากการศึกษาแนวทางทางช่วยเหลือชาวนาใน 6โครงการสำคัญอาทิเช่น โครงการลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท โครงการสินเชื่อเกษตรแปลงใหญ่ โครงการปรับเปลี่ยนนาข้าวไปปลูกพืชชนิดอื่น โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยประเมินในด้านวัตถุ เป้าหมาย งบประมาณที่ใช้ และข้อจำกัดของแต่ละโครงการ ด้วยการจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวนาและเกษตรกรในพื้นที่ศึกษา 3 แห่ง ได้แก่กลุ่มส่งเสริมเกษตรครบวงจร ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองแค อ.เมือง จ.ชัยนาทและ สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคกลางในพื้นที่ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ผลการศึกษาพบว่า

โครงการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกร ข้อจำกัด

โครงการลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของชาวนาแบบชั่วคราว โดยมอบเงินชดเชยรายได้ให้ชาวนาและเกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่และในรอบสองสำหรับชาวนาที่ทำนาปีรายละไม่เกิน 10 ไร่ รวมวงเงินทั้งหมด 82,860 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 7.1 ล้านครัวเรือนและช่วยลดต้นทุนได้ตันละ 2,500 บาท

แม้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ แต่ยังเป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น งบประมาณที่ได้น้อยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก ประกอบกับเกษตรกรบางรายโดนธ.ก.ส.หักใช้หนี้ จนไม่มีเงินเหลือมาใช้จ่ายจริง รวมทั้ง เกษตรกรนาเช่าบางส่วนไม่สามารถใช้สิทธิเพราะไม่มีสัญญาเช่าหรือบางรายต้องแบ่งเงินที่ได้รับการช่วยเหลือกับเจ้าของนา

โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี(จำนำยุ้งฉาง) ครั้งแรกปี2557/2558 วงเงิน 17,280 ล้านบาทเปิดให้เฉพาะชาวนาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการจ่ายเงินกู้ภายใน 4 เดือน และมีสินเชื่อสร้างหรือปรับปรุงยุ้งฉาง วงเงิน 1,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรที่ 7%และสถาบันเกษตรกรที่ 5%ให้ชำระคืนภายใน 5 ปีและ 10 ปี ครั้งที่สองปี 2558/2559 ให้สินเชื่อชะลอขการขายข้าวเปลือกหอมมะลินาปีตันละ 14,500 บาทและข้าวเปลือกเหนียวตันละ 12,300 บาท ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือวงเงิน 26,740 ล้านบาทรายละไม่เกิน 300,000 บาท ครั้งที่สาม ปี2559/2560 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีวงเงินสินเชื่อรวมค่าใช้จ่ายรวม 27,712 ล้านบาท กำหนดวงเงินสินเชื่อ 90%ของราคาตลาด

รวมงบประมาณสามรอบ 71,732 ล้านบาท

เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากไม่ได้มียุ้งฉางและไม่ครอบคลุมเกษตรกรทีปลูกข้าวสายพันธุ์อื่นๆที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ แต่ชาวนาสามารถเข้าร่วมโครงการโดยเอาข้าวไปจำนำกับโรงสี เพราะ ธ.ก.ส.สนับสนุนเงินผ่านโรงสี โรงสีจ่ายให้ชาวนาเป็นค่าปุ๋ยค่ายากำจัดศัตรูพืช ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จากเงินค่าข้าวที่ชาวนานำไปจำนำ  ในขณะที่ชาวบ้านต้องการเงินสดเป็นก้อนจึงตัดสินใจเอาไปขายพ่อค้าดีกว่า

โครงการสนับสนุนสินเชื่อพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2558 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันผลิตเป็นแปลงขนาดใหญ่ให้สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดที่มีศักยภาพ วงมีเงินสินเชื่อทั้งหมด 20,000 ล้านบาทระยะเวลา 5 ปี กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร โดยได้รับเงินแปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ย0.01%ต่อปีและรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้องค์กรเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 3%ต่อปี อาจเป็นนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์นายทุนอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากมีความพร้อมในด้านพื้นที่ถือครองขนาดใหญ่ มีเครื่องจักร แรงงาน รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่นๆ สำหรับชาวบ้านเข้าร่วมโครงการนี้ยาก เพราะชาวนาแต่ละคนใช้ยา ใช้ปุ๋ย พันธุ์ข้าวที่ปลูก เมื่อผลผลิตออกมารัฐบาลก็ไม่ได้ประกันราคา 

โครงการช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เริ่มนโยบาย ตุลาคม 2558 เพื่อช่วยเกษตรกรปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ให้มีรายได้ทดแทนจากกิจกรรมอื่น ครอบคลุมใน 22 จังหวัดในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ภัยแล้งทั้วไปอีก 55 จังหวัดวงเงิน 204,985 ล้านบาท โดยมีทั้งหมด 8 มาตรการ เช่น มาตรการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน  การชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

เกษตรกรยังขาดข้อมูลในการพิจารณาและการช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นวิธีการที่หน่วยงานตัดสินใจแทนชาวบ้าน รวมทั้งมีจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงโครงการที่เป็นประโยชน์ได้เนื่องจากการสนับสนุนน้อยรายแต่ผู้ต้องการจำนวนหลายราย 

ครงการประกันภัยนาข้าว ได้ดำเนินการ 2 ช่วงครั้งแรกปี 2558และครั้งที่สองปี2559 โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในการทำประกันภัยข้าวนาปีในสภาวะที่สภาพอากาศแปรปรวน(น้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ อากาศหนาวเย็น ไฟไหม้) วงเงินรวม 2,547.13 ล้านบาท โดยอัตราเงินประกันขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงสูงสุด 100 บาทต่อไร่ ต่ำสุด 60 บาทต่อไร่ ทั้งนี้เกษตรกรจะได้รับสินไหมทดแทนไร่ละ 1,111 บาทส่วนหากเกิดศัตรูพืชระบาดเกษตรกรรับเงินไร่ละ 555 บาท 

เป็นนโยบายที่ดี แต่มีข้อจำกัด เรื่องพื้นที่ที่จะได้รับเบี้ยประกันจำเป็นต้องเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ หากไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงแม้ได้รับความเสียหายจากภัยต่างๆก็ไม่รับเบี้ยประกันได้

โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวไปทำเกษตรอย่างอื่น เพื่อแก้ปัญหาข้าวล้นตลาดและราคาข้าวที่ไม่แน่นอน ให้มาทำเกษตรอย่างอื่น ดำเนินการ 2 รอบ รอบแรกสำหรับเกษตรกรที่ทำนาปี มี 2 โครงการคือสนับสนุนทำเกษตรผสมผสานงบประมาณ 2,610ล้านบาทและ โครงการส่งเสริมเลี้ยงปศุสัตว์(โค กระบือ แพะ และทำนาหญ้า)รวมงบประมาณ 12,987 ล้านบาท และในรอบสองสำหรับเกษตรกรทำนาปรัง ได้สนับสนุนโครงการไปปลูกพืชหลากหลาย ปลูกพืชปุ๋ยสด ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ งบประมาณรวม 1,135 ล้านบาท

เกษตรกรต้องลงทุนเพาะปลูกก่อนและได้รับผลผลิตจึงได้รับการช่วยเหลือ ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงเพราะถ้าไม่มีผลผลิตก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ในขณะเดียวกัน รัฐกลับสนับสนุนให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างอื่นเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(รัฐให้สินเชื่อ4,000บาทต่อไร่ชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ3ต่อปี)

โครงการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล คสช.บางโครงการเป็นโครงการทีมีประโยชน์ช่วยบรรเทาปัญหาให้เกษตรกร แต่มีจุดอ่อนคือเป็นมาตรการระยะสั้นและใช้วิธีการคิดแทนชาวบ้าน ส่งผลให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เช่น โครงการประกันภัยนาข้าว การลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000บาท บางพื้นที่โดนธ.ก.ส.หักเงินช่วยเหลือบางรายได้กลับมา 2,000 บาท

สำหรับโครงการช่วยเหลือประเภทสินเขื่อ เช่น การปรับพื้นที่นาไปทำเกษตรอย่างอื่น หรือ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า โครงการช่วยเหลือในลักษณะนี้จะเข้าทางนายทุนมากกว่า เพราะชาวนามีที่ดินทำกินครอบครัวละไม่ถึง 5 ไร่ อีกทั้งเกษตรกรไม่ต้องการเป็นหนี้หรือมีหนี้อยู่แล้วทำให้ไม่อยากกู้เงินมาลงทุน  อีกทั้งภายใต้โครงการนี้ เกษตรกรยังแบกรับความเสี่ยงสูงเกษตรกรต้องลงทุนเพาะปลูกก่อนเมื่อได้รับผลผลิตจึงได้รับเงินความช่วยเหลือ เกษตรกรยังไม่มีองค์ความรู้ในการปลูกพืชชนิดอื่นและหากผลิตได้ก็ไม่มีตลาดมารองรับ ดังที่  ลำพอง ภู่วงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองแค อ.เมือง จ.ชัยนาท ให้ข้อมูลว่า “อาจเป็นนโยบายที่เข้าทางนายทุนอุตสาหกรรมการเกษตรชาวบ้านเข้าร่วมโครงการนี้ยากเพราะ ชาวนาแต่ละคนใช้ยา ใช้ปุ๋ย พันธุ์ข้าวที่ปลูกไม่เหมือนกัน เมื่อผลผลิตออกมารัฐบาลก็ไม่ได้ประกันราคา ซึ่งโครงการนี้เหมือนเข้าทางบริษัทใหญ่ๆซึ่งมีความพร้อมด้านต้นทุนการผลิต”

ศรีไพร แก้วเอี่ยม สมาชิกกลุ่มเกษตรกรครบวงจร กล่าวว่า  “เฉพาะที่บางขุดมีเกษตรกรไปลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการปลูกพืชอื่นทดแทนจำนวน 800 รายตอนนี้เหลือ 200 ราย เนื่องจากชาวบ้านบางคนยังกลัวสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ถั่วเขียวต้องปลูกเดือนธันวาคมหลังฤดูเก็บเกี่ยว ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงหน้าฝนชาวบ้านก็หันมาทำนา เป็นช่วงที่ไม่สามารถปลูกถั่วเขียว เกษตรกรบางรายปลูก5 ไร่ ได้ 4 ถัง ลงทุนไป 5 ถังๆละ 700 บาทและตอนนี้ก็ยังไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ  สำหรับข้าวโพดเลั้ยงสัตว์ รัฐจะช่วยเหลือในลักษณะของกู้ไร่ละ4,000 บาท บางรายที่ปลูกข้าวโพดก็ไม่กล้าไปกลัว ธ.ก.ส.หักเงิน” เช่นเดียวกับ สงวน ทับมงคล เล่าว่า  “เธอเป็นหนี้เงินต้น ธ.ก.ส.อยู่ 90,000บาท เมื่อหลายปีมาแล้ว โดน ธ.ก.ส เกลี้ยกล่อมให้เซ็นยินยอมทั้งน้ำตาบอกว่าเป็นหนี้ก็ต้องจ่ายเงิน ในขณะที่เธอมีความเห็นว่า ธ.ก.สไม่ควรหักเงินชาวบ้านเพราะเกษตรกรต้องการนำเงินที่รัฐช่วยเหลือมาทำการผลิตก่อน และเมื่อได้ผลผลิตออกมาจะได้เอาไปขายเอาเงินบางส่วนไปชำระหนี้ ”

พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผอ.มูลนิธิชีวิตไท ที่ปรึกษาโครงการให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “นโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุคเป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นและงบประมาณช่วยเหลือส่วนใหญ่อยูในรูปของเงินกู้มากกว่าร้อยละ50ของงบประมาณการช่วยเหลือทั้งหมด ในขณะที่รัฐยังต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยส่วนต่างให้ ธ.ก.ส เกษตรกรยังได้ประโยชน์น้อย สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือเงินช่วยเหลือด้านการศึกษาบุตร ลดอัตราดอกเบี้ย(ปัจจุบัน7-9%) ประกันราคาพืชผลการเกษตรอย่างจริงจัง ดังนั้นการแก้ปัญหาชาวนาให้ถูกจุดหรือเกาให้ถูกที่คันควรดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 คือการรักษาพื้นที่เกษตรกรรม ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ15 เพิ่มพื้นทีชลประทาน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม จึงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรในระยะยาว

 

หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ เสียงชาวนา ถึงรัฐบาล  คสช.ทุ่มงบกว่า 6 แสนล้าน หวังแก้ทั้งระบบ หวั่นจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แถมสร้างหนี้เพิ่ม* 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท