Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ - ประสงค์ - นิยม ถกหลายประเด็น ปฏิรูปของ คสช. ทหารรวบอำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามส่อคอร์รัปชันหรือไม่ 4 คำถามชวนทะเลาะ ควรเปลี่ยนโจทย์ แนะแก้ไขปัญหาปากท้อง ให้ประชาชนตรวจสอบรัฐได้ อภิสิทธิ์เผย รัฐบาลร่วมควรมีอุดมการณ์เดียวกัน ชี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ไม่ว่ากติกาเลือกตั้งเป็นอย่างไร ไทยแลนด์ไร้ดุลยภาพ มีปัญหาทั้งองคาพยพ

จากซ้ายไปขวา: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นิยม รัฐอมฤต ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อดิศักดิ์ ศรีสม

9 มิ.ย. 2560 วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเปิดตัวหนังสือ Thai Politics: Social Imbalance และเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ส่องเมืองไทย: ดุลยภาพทางการเมือง ดุลยภาพทางสังคม” โดยมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี รศ.นิยม รัฐอมฤต คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ประสงค์ เลิศรัตนวิทสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา เป็นแขกรับเชิญและวิทยากร โดยมีอดิศักดิ์ ศรีสม เป็นผู้ดำเนินรายการ

ปฏิรูป คสช. ทหารรวบอำนาจขัดรัฐธรรมนูญ  ดุลยภาพสังคมการเมืองซับซ้อน ย้อนแย้ง

ประสงค์กล่าวว่า การปฏิรูปต่างๆของ คสช. เป็นการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์การกระจายอำนาจในรัฐธรรมนูญ รวมศูนย์อำนาจงานสืบสวนสอบสวน ส่งทหารไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ อีกปัญหาหนึ่งคือปัญหาการคอร์รัปชัน ช่วงชิงผลประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรม เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งในทางเศรษฐกิจ ตั้งคำถามว่าทำไมเผด็จการหรือนักการเมืองที่เข้ามาแล้วร่ำรวยทุกคน สิ่งนี้ทำให้ดุลยภาพเสียไป คำถามคือจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร

ผอ. สถาบันอิศราระบุว่า ดุลยภาพทางการเมืองและสังคมเป็นเรื่องใหญ่ ซับซ้อน หาคำตอบในเวลาอันสั้นไม่ได้ เมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญปี  2540 ก็มีกรอบ มีวิธีคิดที่มุ่งสร้างดุลยภาพทางการเมือง สังคม ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและตรวจสอบได้ เกิดการสร้างองค์กรอิสระ การเมืองภาคประชาชน ให้พลเมืองมีอำนาจในการต่อรอง สิ่งที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคือการเกิดการเมืองบนท้องถนนที่ไร้ขอบเขต ซึ่งกดดันจนชนชั้นกลางที่เคยไม่เอาทหาร กลับบอกให้ทหารอยู่ต่อ เพราะรับไม่ได้กับความไม่สงบ

อภิสิทธิ์ระบุ จับมือกับพรรคอุดมการณ์เดียวกัน งานแรกนักการเมืองคือกู้ศรัทธาจาก ปชช.

อภิสิทธิ์กล่าวถึงแนวทางการเมืองในอนาคตว่า การเล่นการเมืองของพรรคขนาดกลางกับเล็กคงไม่ต่างกันเท่าใด จะเหลือก็แต่พรรคใหญ่ 2 พรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยนั้นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับกติกาที่เป็นอยู่ แต่ยังไม่ทราบว่ามีแผนการอะไร ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจน และร้องขอให้ สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้าเสียงข้างมากในสภาเกิน 250 คนก็ควรได้จัดตั้งรัฐบาล สำหรับกรณีการร่วมกลุ่มกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อตั้งรัฐบาลนั้น อภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์และความคิดเห็นตรงกัน เพราะถ้าไม่ตรงกันแล้วประชาชนจะตั้งข้อสงสัยว่ามีประโยชน์อื่นแอบแฝง

อดีตนายกฯ ระบุว่านักการเมือง ในฐานะของผู้เล่นมีหน้าที่เสนอประชาชนก่อนว่ามีแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลได้แบบไหนบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือประชาชนมีภาพลักษณ์แง่ลบกับนักการเมือง ดังนั้น เมื่อนักการเมืองมีอำนาจ ก็ต้องเข้าไปกอบกู้ศรัทธาของประชาชนต่อพรรคและนักการเมืองเสียก่อน แล้วจะแก้ไขอะไรค่อยทำหลังจากนั้น ส่วนประเด็นการเลือกตั้ง อภิสิทธิ์กล่าวว่า สังคม โดยเฉพาะสื่อ ต้องตั้งคำถามกับนักการเมือง แล้วประเด็นต่างๆ จะค่อยๆถูกตีแผ่ออกมา สำหรับกติกาการเลือกตั้งฉบับใหม่นี้ที่มีคนกะเก็งว่าถูกออกแบบมาเพื่อจะได้สัดส่วน ส.ส. เท่านั้นเท่านี้ อภิสิทธิ์ถามว่า แน่ใจได้อย่างไรว่าเลือกตั้งแบบนี้จะไม่ได้เสียงข้างมาก อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอด สุดท้ายถ้าจะตั้งต้นการสร้างดุลยภาพให้กับสังคมก็ต้องให้ประชาชนขับเคลื่อน

ทว่า ถ้อยคำของผู้มีอำนาจที่ได้สื่อสารกับประชาชนพยายามสื่อว่า ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นปัญหา ถ้าตั้งหลักกันแบบนี้ ประเทศเป็นปัญหาแน่ เพราะประเทศอื่นทั่วโลกที่ก้าวผ่านความไร้ดุลยภาพ เขาตั้งหลักบนหลักประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งด้วย การที่คนคิดไม่เหมือนกันไม่ใช่ปัญหา ปัญหาเกิดต่อเมื่อฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน กลุ่มการเมืองใช้อำนาจโดยล่วงละเมิดหลักประชาธิปไตย ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักการเมือง ประชาชน จึงต้องถ่วงดุลกันเอง ส่วนในหน่วยงานราชการก็มีปัญหา ระบบอุปถัมภ์ก็บ่อนเซาะจริยธรรม หลักการได้ดีด้วยผลงานของระบบราชการ ส่วนสื่อก็โดนจำกัดเสรีภาพจนมีอันดับเสรีภาพสื่อตกต่ำ

นิยม กล่าวในประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า การให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการคัดสรรของ คสช. 250 คนมีอำนาจเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน ทำให้คิดว่าการเลือกตั้งเป็นแค่การเปิดให้นักการเมืองเข้าไป แต่ในความเป็นจริงคงไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2514 ที่จอมพลถนอมไม่ลงเลือกตั้งแต่ก็ได้เป็นนายกฯ การเมืองไทยคงไม่ไปไหน แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทาง คสช. ว่ามีคนส่วนหนึ่งที่เรียกทหารเข้ามาแก้ไขวิกฤติบ้านเมืองจริง ส่วนแผนปฏิรูปที่กินเวลาถึง 20 ปี หมายความว่า ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำตามโรดแมปในรัฐธรรมนูญ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาล คสช. บอกว่าบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย ปรองดองก่อนถึงจะเลือกตั้ง จึงทำให้โรดแมปการเลือกตั้งไม่แน่นอน ขนาดยังไม่มีเลือกตั้งยังมีเหตุระเบิด ดังนั้นคนที่อยากเลือกตั้งก็ต้องทำใจหน่อย

4 คำถามชวนทะเลาะ ควรเปลี่ยนโจทย์ แนะแก้ไขปัญหาปากท้อง ให้ประชาชนตรวจสอบรัฐ

ต่อประเด็น 4 คำถามที่ ประยุทธ์ ตั้งให้ประชาชนตอบนั้นควรเปลี่ยนเป็นคำถามเดียวว่า ในเมื่อทุกคนต้องการธรรมาภิบาลหลังเลือกตั้ง คสช. และประชาชนควรทำอะไรก่อนเลือกตั้งให้บรรลุเป้าหมายนั้นในเวลาที่เหลืออยู่ อย่ามาตั้งคำถามให้คนทะเลาะกันว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ควรถามว่าควรทำอะไรให้มันดีในเวลาที่เหลืออยู่ “เวลาที่เหลือตอนนี้ท่านก็เป็นคนกำหนดของท่านเอง ไม่ว่าท่านจะยอมรับระบบประชาธิปไตย หลักการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ท่านยอมรับหรือไม่ว่าสังคมจะต้องกลับไปจุดนั้น เพราะไม่มิวิถีอื่นที่จะทำให้สังคมคืนสู่ดุลยภาพในระยะยาว” อดีตนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

อภิสิทธิ์กล่าวว่า นักการเมืองประเทศอื่นก็มีเรื่องโกง มีเรื่องอื้อฉาว แต่อยู่ไม่ได้ด้วยแรงเสียดทานจากสังคม ถูกเดินขบวนบ้าง โดนสื่อกัดไม่ปล่อยบ้าง โดยไม่ต้องมีทหารเข้ามาแทรกแซง ในสังคมไทยก็ต้องสร้างความเข้มแข็งแบบนั้นให้ได้ ต้องแก้ไขตั้งแต่รากฐานของสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ถ้ายิ่งถ่างออกก็ยิ่งบ่อนทำลายความศรัทธาต่อระบอบการเมืองการปกครอง ให้กลายเป็นสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย

อภิสิทธิ์ยังกล่าวอีกว่า อย่าจำกัดอำนาจประชาชนในเรื่องการเมือง ควรลดอำนาจรัฐแล้วเอาไปเพิ่มให้กับประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การมีแหล่งข้อมูลเป็น Big Data ให้ประชาชน สื่อมีข้อมูลตรวจสอบภาครัฐได้ เมื่อเข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบได้ก็จะเกิดการตื่นตัว ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมมากขึ้น

ไทยแลนด์ดินแดนไร้ดุลยภาพ แย่ทุกระบบ การเมือง ราชการ เศรษฐกิจ สังคม

นิยม กล่าวว่า หากดูจากช่องว่างทางเศรษฐกิจไทยจะพบว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุดขยายกว้างออกเรื่อยๆ แม้สมัยนี้จะมีคนอยู่ดีกินดีกว่าเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำกลับมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบการเมืองที่ยังเต็มไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ไม่สามารถมุ่งประเด็นไปสู่การเป็นการเมืองเพื่อปากท้องของประชาชน คำถามคือ ภาคการเมือง ภาคราชการประจำ เท่าที่ผ่านมาทำบทบาทในการดูแลบ้านเมืองดีไหม ส่วนข้าราชการก็ขาดอุดมการณ์ที่อยากรับใช้ประชาชนให้เขาได้ดีก่อน เพียงแต่เข้ามาสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมของตนให้ดีขึ้นผ่านการเข้ามาทำงานราชการ

ในทางสังคม ชาวไร่ ชาวนา แรงงาน  พ่อค้า ขาดการรวมตัวรวมกลุ่ม ไม่มีกำลังที่จะดูแลตัวเองให้เข้มแข็ง สามารถต่อรองกับฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำได้ ความไม่ได้ดุลของสังคมจึงมาจากปัจจัยเหล่านี้ รวมถึงความอ่อนแอในการหล่อหลอมสมาชิกของสังคมจากบ้าน วัดและโรงเรียนอ่อนแอ จึงเป็นผลให้สังคมอ่อนแอด้วย

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นว่ามีดุลยภาพทางการเมืองและสังคมไทย ปัญหาการเมืองและสังคมที่ขาดดุลยภาพนั้นมีอยู่ทั่วโลก หลายเรื่องเหมือนกับของเรา เคยได้ยินวลีที่ว่า เราต้องมี “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่าจะมีคนอธิบายว่ามีลักษณะอย่างไร สามารถแก้ปัญหาในไทยได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเลี่ยงคุณค่าประชาธิปไตยไปแค่นั้น

อภิสิทธิ์เชื่อว่า โครงสร้างการเมืองและกฎหมายไทยสามารถเป็นบทเรียนให้กับโลกได้ เพราะลองมาทุกอย่างแล้ว ตนยืนยันว่า ความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการตามกรอบเก่านั้นแก้ปัญหาไม่ได้ วันนี้แปลกใจบทเฉพาะกาลว่าด้วยการแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งเป็นความพยายามในการเอาวิธีในปี 2521 ที่ใช้ ส.ว. แต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ขึ้นมา ซึ่งตนคิดว่าในยุคนั้นกฎหมายดังกล่าวก็มีช่องโหว่อยู่แล้ว แต่การเอามาใช้ในสมัยนี้จะทำให้สังคมวุ่นวายแน่นอน ผนวกกับการนำประเด็นการผิดจริยธรรมมาตีความตามกฎหมาย ยิ่งจะทำให้มีความอันตรายขึ้นไปใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net