Skip to main content
sharethis
ประธาน บอร์ด สปสช. ชี้ แก้ 'กม.บัตรทอง' เพื่อประโยชน์ ปชช. ระบุวอล์กเอาต์ถือเป็นประชาธิปไตย ขออย่าทำระส่ำ ย้ำร่วมจ่ายไม่มีการแก้ไข ด้านคนรักหลักประกันโต้ไม่ได้ยกเลิกร่วมจ่ายเข้าขึ้นทะเบียนคนจน ชี้ปรับสัดส่วนบอร์ด ทำตัวแทนภาค ปชช.เป็นเสียงข้างน้อยตลอด

 

15 มิ.ย. 2560 จากกรณีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยภาคประชาชนมองว่ากระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวเพียง 2 คน รวมถึงมีข้อกังวลจากภาคประชาชนว่าการแก้ไขจะเป็นการทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง จนเกิดการคัดค้านและวอล์กเอาต์จากเวทีประชาพิจารณ์ใน 2 ภาค คือ ภาคเหนือและภาคใต้ เหลืออีก 2 เวที คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 17 มิถุนายน และภาคกลาง กทม. วันที่ 18 มิ.ย.นี้

แฟ้มภาพ

ประธาน บอร์ด สปสช. ชี้ แก้ 'กม.บัตรทอง' เพื่อประโยชน์ ปชช. 

ล่าสุดวันนี้ (15 มิ.ย.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวระหว่างการแถลงเรื่อง “ความจริงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ว่า อยากให้คนที่ยกประเด็นคัดค้านต่างๆ ได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯที่มีการปรับปรุงแก้ไขจริงๆ บางคนยกประเด็นออกมามองถึงว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในร่าง พ.ร.บ.เองไม่ได้เขียนสิ่งนั้นไว้เลย เป็นการกลัวไปก่อนทั้งสิ้น หากเป็นแบบนี้คิดว่ามันคงจะลำบากในการจับประเด็นที่เกิดขึ้น

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯที่ตนเป็นคนแต่งตั้ง โดยบอกว่ามีผู้แทนภาคประชาชนเพียง 2 คนนั้น ซึ่งก่อนที่จะลงนามตั้งได้มีการสอบถามก่อนแล้วว่า ทุกคนอยู่ในสภาวะสมดุลหรือไม่ คณะกรรมการมีทั้งหมด 27 คน ที่เหลือใช่ภาคประชาชนหรือไม่ เช่น ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็เป็นตัวแทนประชาชน เพราะมาจากการเลือกของประชาชน หรือท่านอื่นๆ ก็เคยทำงานภาคประชาสังคมและประชารัฐ เป็นต้น คณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) จึงมีความสมดุลทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขผลกระทบให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และส่วนตัวไม่เคยเข้าไปละลาบละล้วงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และการทำหน้าที่ไม่มีข้อเคลือบแฝงแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น ต้องเชื่อและไว้ใจคณะกรรมการชุดนี้

วอล์กเอาต์ถือเป็นประชาธิปไตย ขอเพียงอย่าทำให้ระส่ำระสาย

“การวอล์กเอาต์ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ในภูมิภาคของเครือข่ายคนรักหลักประกัน จริงๆ ถือเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ขอเพียงอย่าทำให้เกิดความระส่ำระสาย แต่เวทีประชาพิจารณ์ไม่ได้ล่ม เพราะยังมีภาคประชาชนอื่นๆ เข้าร่วมอีก 300-400 คน แต่มีคนออกจากเวทีราว 80 คน ที่ประชุมก็ยังเดินหน้าต่อไปได้” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ย้ำร่วมจ่ายไม่มีการแก้ไข

ต่อกรณีคำถามที่ว่ายังมีคนมองว่ามีการแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นการร่วมจ่ายนั้น นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ไม่เห็นมีอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขเลย แต่มีอยู่ข้อหนึ่งใน พ.ร.บ.หลักประกันฉบับเดิมที่มีอยู่แล้ว พูดถึงว่าอาจจะให้มีการจ่ายร่วมได้ ที่เห็นภาพชัด คือ คนใช้บริการจ่าย 30 บาท ซึ่งไม่ได้อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ เพียงแต่ไม่ได้มีการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ และร่าง พ.ร.บ.ใหม่ก็ไม่ได้มีสักคำเดียวว่าจะให้มีการจ่ายร่วม ทุกอย่างใน พ.ร.บ.ต้องมีความยืดหยุ่นได้ เพื่อให้อนาคตสามารถปรับได้ก็ปรับได้ เมื่อเห็นว่าประเด็นนี้ใน พ.ร.บ.เดิมมีการยืดหยุ่นดีอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ใหม่

“การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายทั้งหมด แก้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยตรง ถ้าทิ้งปัญหาเรื่องการใช้จ่ายงบหลักประกันสุขภาพบางอย่างที่ดำเนินการไม่ได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟของสถานพยาบาล แต่เป็นงบที่จำเป็นสำหรับ รพ. แต่ไม่ได้จ่ายโดยตรงในการรักษาพยาบาลประชาชน ซึ่งใน พ.ร.บ.เดิมบอกว่าทำไม่ได้ บางคนบอกว่าก็เลิกจ่ายให้ รพ.ทั้งหมด ก็จะทำให้ รพ.ทำงานไม่ได้ นี่คือผลที่ท่านอยากให้เป็นหรือ ก็ต้องแก้ใหม่เพื่อให้ดำเนินการได้ ถ้าไม่แก้แล้วปัญหาเกิดตามเดิมอีก ใครเดือดร้อน ที่แก้เพื่อความยั่งยืนโดยแท้” นพ.ปิยะสกล กล่าว

คนรักหลักประกันโต้ ไม่ได้ยกเลิกร่วมจ่าย เข้าทางการขึ้นทะเบียนคนจน

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ว่า กลุ่มฯ ได้โต้รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่อ้างว่าประเด็นที่แก้ไขเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรัฐมนตรียกเพียงประเด็นเรื่องการไม่ร่วมจ่ายซึ่งในกฎหมายไม่ได้มีการแก้ไข นั่นหมายว่า ไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ซึ่งเข้าทางการขึ้นทะเบียนคนจน เพราะต้องการให้ประชาชนชนร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการและยกเว้นเฉพาะคนที่ขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งเรื่องบริการสุขภาพ มีแนวคิดคนรวยช่วยคนจน คนไม่ป่วยช่วยคนป่วย คนชั้นกลางก็มีสิทธิล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพด้วยตนเอง ขัดต่อหลักสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับทุกคน

ชี้ปรับสัดส่วนบอร์ด ทำตัวแทนภาค ปชช.เป็นเสียงข้างน้อยตลอด

กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ระบุอีกว่า ประเด็นสำคัญที่นอกเหนือจากนี้ที่รัฐมนตรีไม่ได้พูดก็คือการแก้ไขกฎหมายที่ปรับโครงสร้างสัดส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขซึ่งได้เพิ่มสัดส่วนในฝั่งของผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งในสองคณะ ซึ่งปัจจุบันการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากมีสัดส่วนของภาคประชาชนเพียงห้าคนและเป็นเสียงข้างน้อยตลอดเวลา รวมถึงการแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะดีและไม่ต้องกังวลกับบุคลากร แต่นั่นคือการกลับไปสู่การจ่ายเงินตามขนาดของโรงพยาบาลเหมือนก่อนมีระบบหลักประกันเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทำให้ไม่เกิดการกระจายบุคคลากรที่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล

ส่วนประเด็นที่สำคัญมากที่สุดที่รัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงเลยก็คือ ขณะนี้มีข้อถกเถียงเรื่องอำนาจของสปสช.ในการจัดซื้อยาราคาแพงสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยาซึ่ง สปสช. ได้มีการดำเนินการจัดซื้อยาจำเป็นราคาแพงเป็นระบบการจัดซื้อรวมซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ 50,000 ล้านบาท แต่การแก้กฎหมาย กลับไม่ถูกพูดถึง ว่า จะให้ดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร แต่การแก้ไขครั้งนี้ หากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร รัฐบาลจะนำเงินปี ละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมในการร่วมจ่ายของประชาชนในการใช้ยา

การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ระบบการบริหารจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประโยชน์มากขึ้นสำหรับประชาชน น่าเสียดายที่ไม่ได้ยินจากปากของรัฐมนตรีเลยในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net