Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


การส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แต่ที่น่าสนใจคือ เครื่องยนต์หลักเครื่องนี้กลับทำงานช้าลงในปัจจุบัน เนื่องจากสินค้าส่งออกหลายอย่างของไทยเป็นสินค้าตกรุ่น สะท้อนภาพชัดเจนว่า “ไทยกำลังโต ในสินค้าที่กำลังจะตาย” เพราะไทยยังขาดการพัฒนาสินค้า และมีมูลค่าต่ำ

ในระยะนี้และต่อจากนี้ เราจึงจะได้ยินคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติการค้า” มากยิ่งขึ้น จากความตั้งใจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักที่ร่วมกับทีดีอาร์ ปักธง ดันไทยเป็นชาติการค้า (Trading Nation) ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน อย่างสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) สภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือ หาแนวทางแก้ปัญหาภาคการส่งออกอย่างตรงจุด เพื่อยกระดับการส่งออกของไทยและเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การเป็นชาติการค้าที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ

การเดินหน้ายุทธศาสตร์นี้ จะช่วยนำไทยแก้วิกฤตส่งออกอย่างมีทิศทาง เพราะ การเป็นชาติแห่งการค้า จะต้องเข้มแข็งในเรื่องการส่งออก  แต่หากดูตัวอย่างจากหลายประเทศที่เป็นชาติการค้ามาก่อนไทยนั้น ประสบความสำเร็จในการเป็นชาติการค้า ด้วยการส่งออกสินค้าที่มักมีมูลค่าเพิ่มจากการสร้างแบรนด์และนวัตกรรมสูง ซึ่งต่างจากไทยที่เน้นการสร้างมูลค่าโดยเน้นที่ปริมาณ

เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นชาติการค้าที่มีภาคอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศเหมือนไทย โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่มีโครงสร้างสินค้าส่งออกคล้ายคลึงกับไทยมากถึงร้อยละ 70 แต่มูลค่าการส่งออกนั้นกลับมากกว่าไทยถึง 2.5 เท่า

สินค้าส่งออกของเกาหลีใต้นั้นเป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้ความรู้ความสามารถสูงและมีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตได้ เนื่องจากในกระบวนการผลิตมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) สูงถึงร้อยละ 4.15 ต่อ GDP โดยเป็นสัดส่วนจากภาคเอกชนถึงร้อยละ 80 ในขณะที่ไทยมีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) อยู่ในระดับต่ำ ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.48 ของ GDP

เกาหลีใต้ยังมีการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง เห็นได้จากการที่เกาหลีใต้นั้นมีแบรนด์เป็นที่รู้จักหลายแบรนด์ในระดับโลก เช่น Samsung, LG Hyundai และ KIA เป็นต้น การสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า สร้างความภักดีแก่ลูกค้า และทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าแบบพรีเมี่ยมได้ ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงทำหน้าที่รับจ้างผลิตหรือประกอบชิ้นส่วนอยู่เป็นหลักโดยไม่มีการสร้างแบรนด์ ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มต่ำ

ดังนั้น ทิศทางสินค้าไทยที่ควรมุ่งเน้นเพื่อพลิกวิกฤตส่งออกคือ ปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์และนวัตกรรมแทนการผลิตที่เน้นปริมาณแบบเดิม โดยก่อนการสร้างแบรนด์ ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมในการออกแบบสินค้าเป็นของตัวเอง

วิธีการเรียนรู้นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวทาง  คือ

หนึ่ง การเรียนรู้จากภายนอก ในกรณีของนวัตกรรมที่ต้องการความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) คือ เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น อาจเรียนรู้ได้จากการขออนุญาตการใช้สิทธิในการผลิต (licensing) จากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ หรือการร่วมลงทุน เป็นต้น ตัวอย่างประเทศที่ยึดหลักการเรียนรู้นี้คือ  สิงคโปร์ ที่มีนโยบายเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนโดยตรงเป็นหลัก จึงได้อาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรมจากต่างชาติที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว แตกต่างจาก ประเทศเกาหลี ไต้หวันที่เน้นสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง

สอง การเรียนรู้ด้วยตนเอง ในกรณีของนวัตกรรมที่ต้องการความรู้พื้นฐานที่กว้างขวางมาก่อนซึ่งไม่สามารถถ่ายทอดได้โดยง่าย เพราะเป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความซับซ้อน เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ายานยนต์ เป็นต้น ผู้ประกอบการควรมีการสร้างและสะสมความรู้ (tacit knowledge) และนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้จากการลองผิดลองถูก หรือการวิจัยและพัฒนา (In-house R&D)

ซึ่งแน่นอนว่าในการลงทุนสร้างนวัตกรรมส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีฐานะทางการเงินมากกว่าผู้ประกอบกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังนั้น นอกจากการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแล้ว ภาครัฐควรจะมีการส่งเสริมในส่วนของการบ่มเพราะธุรกิจ (Business incubation) ด้วย โดยเฉพาะการมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจแบบเสมือนจริง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการผลิตหรือคิดค้นสินค้านั้น ๆ ของผู้ประกอบการ (SMEs)

นอกจากนี้ การส่งเสริมหรือสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะอาจจะมีการส่งเสริมภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ผู้ที่มีศักยภาพมากที่สุด (nonperformers) ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุความล้มเหลวของการส่งเสริมอุตสาหกรรมทารกดังเช่นที่ผ่านมา ดังนั้น จึงควรมีมาตรการคัดกรองออกไปควบคู่ด้วย ดังเช่นเกาหลีใต้ที่มีการสนับสนุนกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ Chaebol โดยมีเงื่อนไขว่าต้องพัฒนาตัวเองให้ไล่ตามบริษัทชั้นนำของโลกให้ได้

ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองจากเดิมที่ทำเพียงแค่การผลิต เป็นการลงทุนในเรื่องของการใช้นวัตกรรม ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินค้าส่งออก ทำให้สินค้าไทยกลายเป็นที่ต้องการและมีมูลค่าเพิ่ม และจะทำให้ไทยสามารถเป็นชาติการค้าที่ประสบความสำเร็จและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในที่สุด.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศศิพงศ์ สุมา เป็นนักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net