Skip to main content
sharethis

จับตาประเด็น 'ไพรมารีโหวต' ใน ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง กรธ.-กตต.เตรียมหารือปัญหาทางปฏิบัติ หลัง กกต.ฟังพรรคการเมือง อลงกรณ์ระบุเป็นหนทางปฏิรูปพรรค จาตุรนต์หวั่นสร้างความแตกแยกในพรรค ไม่สอดคล้องความต้องการประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ 

จากกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้ เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านการพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะในประเด็นไพมารีโหวตว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่นั้น ทางกกต.ได้รับการประสานเป็นการภายในาก กรธ.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาและได้แจ้งว่าวันที่ 19 มิ.ย.ไม่สะดวกเดินทางไปหารือเนื่องจากติดภารกิจจัดประชุมคณะทำงานทำร่างระเบียบหรือประกาศตาม ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีการเชิญพรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนา ภูมิใจไทย มาหารือเพื่อขอความเห็นว่าร่างระเบียบที่ กกต.ยกร่างขึ้นจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งการจะหารือประเด็นปัญหากับ กรธ. ทาง กกต.ต้องรายงานและขอมติจากที่ประชุม กกต.ในวันที่ 20 มิ.ย.ก่อน คาดว่าการหารือกับ กรธ.น่าจะเป็นวันพุธที่ 21 มิ.ย. เบื้องต้นมีประเด็นปัญหาที่ต้องหารือ 5-6 ประเด็น

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อให้สาขาพรรคและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวผู้สมัคร หรือระบบไพรมารีโหวต (Primary Vote) ว่า เป็นการเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.ขั้นต้น โดยให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ร่วมกับคณะกรรมการบริหารพรรคในการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.อย่างเปิดกว้าง เสมอภาค และโปร่งใส เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองที่วางหลักการสำคัญ นั่นคือพรรคการเมืองต้องเป็นของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่ของคนใด ตระกูลใดกลุ่มใด ไม่ว่ากลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอิทธิพลระดับชาติและท้องถิ่น

ส่วนที่พรรคการเมืองกังวลว่าจะทำได้ยาก หรืออาจเกิดความขัดแย้งในการคัดเลือกผู้สมัครหรือทาบทามผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือจะเกิดระบบเครือญาติและกลุ่มทุนครอบงำพรรคนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ความจริงสิ่งที่กังวลทั้ง 4 ประการ คือปัญหาที่เกิดในทุกพรรคการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเพราะระบบไพรมารี่ ในทางตรงข้ามระบบไพรมารี่กลับจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริง

"ผมเป็นคนเสนอให้นำระบบไพรมารีมาใช้เป็นเครื่องมือการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรค โดยทดลองระบบไพรมารีที่จังหวัดอยุธยาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มั่นใจว่าถ้านำมาใช้จะเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน จึงได้เสนอให้บรรจุในแผนปฏิรูปการเมืองของสภาปฏิรูปแห่งชาติตั้งแต่ปลายปี 2557 สืบต่อมาจนถึงยุคของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและเห็นด้วยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติบัญญัติไว้ในพ.ร.ป.พรรคการเมือง" นายอลงกรณ์ กล่าว

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นเรื่องนี้เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) ว่า  กติกาอย่างที่ สนช.เห็นชอบจะทำลายระบบพรรคการเมืองทำให้พรรคการเมืองทั้งหลายเต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน อ่อนแอ ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เว้นพรรคใหญ่ พรรคขนาดเล็กอาจเอาตัวไม่รอด ส่วนพรรคใหม่จะเกิดยากมาก การทำงานของพรรคการเมืองโดยรวมจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้สงสัยว่าวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งของ กมธ.วิสามัญคือต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป

แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ขณะที่การกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสาขาและตัวแทนพรรคในทุกเขตเลือกตั้ง และให้สมาชิกในแต่ละเขตมีอำนาจอย่างมากในการกำหนดตัวผู้สมัครได้ฟังดูเหมือนดี แต่จะเกิดปัญหาการขัดแย้งแก่งแย่งกันหาสมาชิกที่สนับสนุนนักการเมืองเป็นตัวบุคคลมากกว่าสนับสนุนพรรค นักการเมืองที่เคยหาสมาชิกไว้ก่อนจะได้เปรียบเกิดความขัดแย้งระหว่างสาขาพรรคและสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งต่างๆ กับคณะกรรมการบริหารพรรค สุดท้ายอาจจะได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเพียง 100 คนที่จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น ขณะที่คนที่ประชาชนสนับสนุนอาจไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง

จาตุรนต์กล่าวอีกว่า สำหรับการให้ตัวแทนสาขาพรรคและสมาชิกในเขตเลือกตั้งต่างๆ เลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อโดยให้แต่ละคนเลือกผู้สมัครได้ 15 คน จะทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วนตามจังหวัดหรือภูมิภาค นักการเมืองที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศอาจได้เปรียบอยู่บ้าง แต่ก็จะเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะได้ผู้สมัครที่เหมาะจะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มเล็กๆ อย่างกระจัดกระจายมากกว่าจะเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการมีระบบบัญชีรายชื่อ

จาตุรนต์กล่าวด้วยว่า กฎหมายพรรคการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมือง รวมทั้งการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่ถึงแม้สนใจการเมืองและพร้อมจะไปออกเสียงเลือกตั้ง แต่ก็ไม่อยากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็ไม่ต้องการมีสมาชิกมากๆ เพราะถ้าสมาชิกไปทำผิดกฎหมายเข้าพรรคก็จะถูกยุบ แนวโน้มพรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงจะมีสมาชิกน้อย หลายพรรคอาจหาสมาชิกให้ได้ทั่วทุกเขตไม่ได้ด้วยซ้ำ การเอาระบบที่ให้สมาชิกจำนวนน้อยมากำหนดตัวผู้สมัคร จึงไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนและจะสร้างปัญหาทำให้พรรคการเมืองต่างๆ อยู่ในสภาพพิกลพิการกันไปหมด หากกติกาออกมาเช่นนี้ พรรคการเมืองจำนวนมากโดยเฉพาะพรรคการเมืองใหม่ๆ จะทำตามกติกานี้ไม่ทันเพราะต้องใช้เวลามากและอาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกนาน ซึ่งอาจเป็นวัตถุประสงค์ของ กมธ.วิสามัญมาตั้งแต่ต้นก็ได้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมซึ่งจะเกิดการแก้ไขให้ดีขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่แน่ แต่ไม่ว่าแบบไหนก็จะเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ใหญ่หลวงกว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็คือการทำลายระบบพรรคการเมืองที่จะทำให้การเลือกตั้งลดความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนน้อยลง 

 

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์มติชน  เว็บไซต์สำนักข่าวไทย เว็บไซต์ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net