Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


อ่าน “แผ่นดินจึงดาล : การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ” ซึ่งเป็นหนังสือนำเสนอบทสัมภาษณ์ของ 9 นักวิชาการผู้เกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เรากำลังเผชิญร่วมกันมายาวนานกว่าทศวรรษ ได้เห็นมุมมองตรงกันว่า สังคมไทยต้องเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในอนาคตแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะใช้เวลายาวนานเพียงใด และจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้หรือไม่

เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ชัดว่าเป็นผลผลิตของระบอบการปกครองแบบไหน และเขียนไว้ในลักษณะที่แทบจะ “ปิดประตู” การแก้ไข ประกอบกับปัญหาวัฒนธรรมชนชั้นกลางที่มีทัศนะทางการเมืองและผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ปัญหาความอยุติธรรมอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจ กองทัพ และสถาบันหลักต่างๆ ทางสังคมที่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทางความคิด โครงสร้างอำนาจ วัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก ทั้งหมดนี้ทำให้ยากที่จะเชื่อมั่นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะไม่เกิดการสูญเสียซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มา

จะว่าไปแล้ว วิกฤตการเมืองก่อนรัฐประหาร 2549 หรือแม้แต่ก่อนรัฐประหาร 2557 ที่เด่นชัดจริงๆ คือการชุมนุมทางการเมืองของมวลชนจำนวนมาก ซึ่งที่จริงแล้วยังอยู่ในสภาวะที่สามารถควบคุมสถานการณ์และแก้วิกฤตนั้นๆ ได้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ เช่นรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ปัญหาทางความคิดและอุดมการณ์แม้จะเริ่มเห็นชัดขึ้นโดยลำดับ แต่ก็ยังไม่ชัดแจ้งมากเท่ากับเวลานี้

ในหนังสือแผ่นดินจึงดาลฯ หน้า 108 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ชี้ให้เห็นรูปธรรมของของปัญหาทางความคิดและอุดมการณ์ อันเป็นที่มาของความไม่ชัดเจนว่าเรากำลังอยู่ในระบอบการปกครองอะไรว่า

“ จริงๆ น่าสนใจว่าตอนนี้เราอยู่ในระบอบไหน เราอาจรู้ว่าเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารแน่ๆ ในเวลานี้ แต่เมื่อรัฐบาลทหารไปแล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกมามันพูดยากว่าเราอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะเขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ใช้อยู่ (ในขณะสัมภาษณ์) ก็เขียนแบบนี้เหมือนกัน แล้วขณะเดียวกันก็มีบทบัญญัติแบบมาตรา 44 ที่อำนาจสูงสุดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมกันไปด้วย จะหาสิ่งที่ย้อนแย้งระดับนี้จากรัฐธรรมนูญในโลกนี้และอาจจะโลกอื่นด้วย น่าจะไม่ง่ายเลย ”

ในมุมมองของวรเจตน์ รัฐธรรมนูญที่จะวางโครงสร้างอำนาจปกครองและให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นเหตุเป็นผลลงรอยกันได้อย่างแท้จริง ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นบนระบอบประชาธิปไตย คือเราต้องชัดเจนก่อนว่าสังคมเราจะต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (อย่างสังคมอารยะ) เราถึงจะออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นจากหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยได้

เมื่อไม่ชัดเจนว่าเราออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นบนระบอบอะไร จึงทำให้ข้อความที่เขียนขึ้นในรัฐธรรมไร้ความหมาย หรือ “ไม่สามารถมีความหมาย” ตามที่เขียนไว้จริง เช่นข้อความว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ย่อมไม่สามารถมีความหมายได้จริงภายใต้มาตรา 44 เป็นต้น

นอกจากนี้ข้อความที่เราพูดๆ กันทุกวันนี้ เช่นนิติรัฐ ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย ความยุติธรรม เสรีภาพการแสดงออก สิทธิมนุษยชน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นข้อความที่ไม่มีความหมายเช่นนั้นจริงๆ เนื่องจากว่า “ความหมายที่ถูกต้อง” ของข้อความเหล่านี้ยึดโยงอยู่กับระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ เมื่อมีระบอบประชาธิปไตยจึงมีนิติรัฐได้ และจึงทำให้ข้อความอื่นๆ ที่สอดคล้องกันมีความหมายที่ถูกต้องได้ในทางปฏิบัติ

ที่น่าวิตกคือ ภายใต้สภาวะที่สังคมเราไม่ชัดเจนว่ากำลังอยู่ในระบบการปกครองแบบไหน การเถียงกันตั้งแต่เรื่องลำไย ไหทองคำ ไปจนถึงปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ความหมายของประชาธิปไตย เผด็จการ ปัญหาทางศาสนา และอื่นๆ แทบทุกเรื่องมักถูกทำให้มี “ความเป็นการเมือง” แล้วก็เถียงกันบนพื้นฐานของการเลือกข้างตาม “สี” ของฝ่ายตน มากกว่าที่จะยึดหลักการ และใช้เหตุผลโต้แย้งอย่างสอดคล้องกับหลักการ กลายเป็นว่าแทบทุกเรื่องอาจถูกทำให้กลายเป็นการเมืองเรื่องความขัดแย้งได้แทบทั้งหมด

จึงมีบางคนเสนอว่า เราควรจะสร้าง “พื้นที่การพูดคุยเพื่ออยู่ร่วมกันทางสังคม” ให้ได้  โดยให้แต่ละคนวางเรื่องเอาประชาธิปไตย เอาสังคมนิยม ไม่เอาเอาคอร์รัปชัน ฯลฯ ลงก่อน แล้วเปิดอกคุยกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่มีเจตนาดี

แต่เมื่อเห็นข้อเสนอนี้แล้ว ผมนึกถึงที่เคยเข้าไปห้องพักอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งช่วงที่ยังมีการชุมนุมทางการเมือง เห็นมีข้อความแปะผนังห้องว่า “งดคุยเรื่องการเมือง” เมื่อสอบถามจึงรู้ว่าในห้องนี้มีหลายสี ถ้าคุยการเมืองจะขัดแย้งกัน แต่ชีวิตการทำงานประจำวันและอื่นๆ ไม่มีปัญหาอะไร ทุกคนทำงานร่วมกันได้ อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ ผมจึงคิดว่าการอยู่ร่วมกันทางสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชน หรือสังคมวงกว้างมันไม่ได้มีปัญหาที่ต้องสร้างพื้นที่คุยกัน

แต่ที่จำเป็นต้องสร้างพื้นที่คุยกันคือ “พื้นที่พูดคุยปัญหาทางการเมือง” ซึ่งทุกฝ่ายจะวางความต้องการทางการเมืองของตนเองลงไม่ได้ จำเป็นต้องนำสิ่งที่ตัวเองต้องการมาคุยกัน เพื่อให้เข้าใจเหตุผลของกันและกัน และนำไปสู่การสร้างฉันทามติหรือข้อตกลงร่วมกันให้ได้ว่า สังคมเราควรอยู่รวมกันภายใต้ระบบการปกครองและกติกาที่ยุติธรรมกับทุกคนอย่างไร

แน่นอนว่า ในภาวะปัจจุบันการสร้างพื้นที่พูดคุยทางการเมืองแบบนี้ย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีคำถามตามมาอีกมาก เช่น ใครหรือกลุ่มไหนคือตัวแทนของสีต่างๆ กลุ่มไหนเป็นกลาง เรามีพื้นที่พูดคุยการเมืองกันได้ภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมหรือไม่ คุยปัญหาได้ทุกเรื่องหรือเปล่า เป็นต้น

แต่ถ้ายังไม่สามารถสร้างพื้นที่พูดคุยทางการเมืองเพื่อหาฉันทามติร่วมกันได้ เราควรจะทำอย่างไร ผมคิดว่าคำตอบสำคัญหนึ่งคือคำตอบที่เกษียร เตชะพีระ อธิบายไว้ในหนังสือแผ่นดินจึงดาลฯ หน้า 217 ว่า

“ ...เราต้องรักษาสิทธิมนุษยชนไว้ให้ได้ ...ทุกฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ในความเชื่อทางการเมืองแบบไหน อยู่ค่ายอะไร ต้องมีสิทธิมนุษยชน ...เพราะการรักษาสิทธิมนุษยชนคือการรักษาพื้นที่ต่อสู้สันติวิธีไว้ให้ทุกฝ่าย...ถ้าไม่รักษาตรงนี้ พื้นที่การต่อสู้แบบสันติมันจะหดลงเรื่อยๆ “

ผมคิดว่าข้อเสนอเช่นนี้สำคัญมาก ถ้าสังคมเราตระหนักร่วมกันว่า ไม่ควรมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อประชาชนอีกแล้ว เพราะเราจ่ายด้วยราคาแพงมามากเกินพอแล้วในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านๆ มา แต่การสูญเสียก็ไม่ใช่หลักประกันใดๆ ให้เกิดประชาธิปไตยได้จริงเสียที

ข้อเสนอ “การรักษาพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติ” นี้ อาจเห็นเป็นรูปธรรมได้ ถ้าแต่ละฝ่ายลด ละ เลิกการแสดงความสะใจเมื่อเห็นอีกฝ่ายถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะขยับเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ถ้าวันหนึ่งฝ่ายเสื้อแดงแสดงออกถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพเมื่อเห็นฝ่ายเสื้อเหลืองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือฝ่ายเสื้อเหลืองแสดงออกถึงการยืนยันและปกป้องสิทธิมนุษยชนของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ตกเป็น “นักโทษทางความคิด” อย่างไผ่ ดาวดิน เป็นต้น

เมื่อพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติอยู่บนฐานของการรักษาสิทธิมนุษยชน จึงไม่ใช่พื้นที่สันติวิธีที่เลื่อนลอย แต่เป็นพื้นที่สันติวิธีที่ยืนยันการเคารพ เรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นไปอีก เมื่อทุกฝ่ายที่เชื่อในการรักษาพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติบนฐานสิทธิมนุษยชนร่วมกันเรียกร้องความยุติธรรมแก่นักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดที่ถูกขังลืมในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา

กล่าวโดยสรุป การต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง และการแสวงหาฉันทามติร่วมกันว่าเราทุกคน ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาทางสังคมการเมืองแบบใด คงจะใช้เวลาอีกนาน ฉะนั้น การรักษาพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติ จึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญแรกสุดที่ทุกฝ่ายควรตระหนักและยึดถือร่วมกัน

  

หมายเหตุ: สั่งซื้อหนังสือ แผ่นดินจึงดาล การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ ได้ที่ www.prachataistore.net หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 02 6902711 หรือ 0970178060

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net