Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ ชี้พวกต่อต้านแก้ ก.ม.บัตรทอง อาจจะมีคนเสียผลประโยชน์ ระบุจำเป็นบริหารต้องมีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาร่วมด้วย 'สรรเสริญ' ยันไม่มีการลิดรอนสิทธิ์ในการดูแลบริการสุขภาพ

20 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 4 ภาคออกแถลงการณ์คัดค้านและแสดงออกไม่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ว่า การแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณในการดูแลประชาชนให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะการดำเนินงานที่ผ่านมามีปัญหาอยู่บ้าง จึงจำเป็นต้องมีผู้ที่มีความสามารถด้านการบริหารเข้ามาด้วย และจะมีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม 

"มันก็มีสัดส่วนให้ชัดเจน ที่ผ่านมามันอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างมันต้องให้นักบริหารจัดการเข้ามาบ้างก็มีตัวแทนทุกภาคส่วน ไม่ใช่ว่ามีตัวแทนมาก ตัวแทนน้อย ก็ต้องด้วยเหตุด้วยผลตามที่ประชุมของคณะกรรมการ เหตุผลใครดีกว่ามันก็ออกมาเป็นมติ มันไม่ใช่กรรมการคัดสรรเมื่อไหร่เล่า ใช่ไหมเล่า ก็มีตัวแทนทุกภาคส่วนเข้าไป บางครั้งการทำงานของแต่ละหน่วยงาน เอาข้าราชการเพียงอย่างเดียว หรือคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียวในเชิงบริหารมันก็ต้องมีคนบริหารเข้ามาร่วมด้วย มันจะได้รู้ว่าจะบริหารมืออาชีพอย่างไร งบประมาณจำนวนนี้มหาศาล" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ยกเลิกสิทธิบัตรทอง 30 บาท แต่พยายามที่จะให้เกิดการดูแลประชาชนได้มากขึ้น เพิ่มวงเงินดูแลประชาชนต่อคนต่อปี และจะไม่ทำให้เกิดภาระกับประชาชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมีการออกมาให้ข้อมูลบิดเบือนว่ารัฐบาลจะยกเลิกบัตรทอง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน ต้องมีส่วนช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน
 
"ผมไม่ต้องการไปรีดเงินจากประชาชนเลย แม้แต่บาทเดียวก็ไม่ต้องการ เพียงแต่ใช้งบประมาณจากภาษีอย่างอื่นที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ขณะนี้ทำงานหลายหน่วยงาน ไม่เคยทะเลาะกัน เพียงแต่มีการต่อต้านคัดค้าน ก็อาจจะมีคนเสียผลประโยชน์ตรงนี้ไปบ้าง ที่จะนำเงินตรงนี้ไปทำอย่างอื่นด้วยในกิจการของเขา ซึ่งมันก็ดีนะ แต่ก็ต้องเห็นใจเงินก้อนใหญ่ด้วย ประชาชนจะได้อะไร" พล.อ.ประยุทธ์ กกล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลมีแนวทางเพิ่มการดูแลด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนโดยเฉพาะการแก้ปัญหา เข้าถึงยาราคาแพง หรือยาต้านจุลชีพ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด
 

สรรเสริญยันไม่มีการลิดรอนสิทธิ์ในการดูแลบริการสุขภาพ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้กล่าวถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รายงานปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับเวทีประชาพิจารณ์จากกรณี (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....  ซึ่งเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับใหม่ ให้ที่ประชุมครม. รับทราบเนื่องจากเป็นปัญหาร่วมกันของทุกหน่วย โดยพระราชบัญญัติประกันสุขภาพฯ ได้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2545 โดยมุ่งเน้นการซ่อมสุขภาพหรือการรักษาเป็นหลัก จึงมีคำว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นผู้บริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการ ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงานอาจจะไม่ได้ติดต่อประสานงานกันเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ กระทรวงสาธารณสุขกับ สปสช. ได้มีการติดต่อประสานงานระหว่างกันดีขึ้นโดยลำดับ รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยออกคำสั่งตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องให้บางส่วนแล้ว

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานที่ประชุมรับทราบว่า ในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนและหน่วยงานต่าง ๆ โดยได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้ง ในส่วนของภูมิภาค 3 ครั้ง และในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแม้ทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอน แต่ปรากฏว่ายังมีบุคคลบางกลุ่มพยายามที่จะล้มเวทีประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ไปดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วน โดยรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข แจ้ว่า พรุ่งนี้ (21 มิ.ย.60) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะจัดเวทีเสวนาให้ความรู้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเชิบสื่อมวลชนทุกสาขาไปร่วมรับฟังด้วย โดยจะมีการนำ พ.ร.บ. ประกันสุขภาพฉบับเดิมกับร่าง พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ ฉบับใหม่มาเปรียบเทียบชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกัน รวมถึงสิทธิประโยชน์และการดูแลต่าง ๆ ที่ประชาชาได้รับ  อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ฉบับใหม่ ไม่ได้มีการลิดรอนสิทธิ์ในการดูแลบริการสุขภาพต่าง ๆ ของประชาชนแต่อย่างใด ยืนยันประชาชนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ในการรับบริการต่าง ๆ ด้านสาธารณสุขและบริการสุขเช่นเดิม 

 

ที่มา สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและยูทูบ 'ทำเนียบ รัฐบาล'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net