Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลการสำรวจ '2017 ITUC Global Rights Index' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ บังกลาเทศ, โคลอมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์,กาตาร์, เกาหลีใต้, ตุรกี และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานจากรายงานของ ITUC  ปี 2560 ได้แก่ บังกลาเทศ, โคลอมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์,กาตาร์, เกาหลีใต้, ตุรกี และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากระดับ +5 ถึง 1 (ที่มาภาพ: ITUC)

จากรายงาน 2017 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) ที่เผยแพร่เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสำรวจใน 139 ประเทศ พบว่า บังกลาเทศ, โคลอมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, คาซัคสถาน, ฟิลิปปินส์, กาตาร์, เกาหลีใต้, ตุรกี และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ติดอันดับประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงาน โดยฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้ และคาซัคสถาน ถูกจัดอยู่ใน 10 อันดับนี้เป็นครั้งแรก

ในประเทศฟิลิปปินส์บรรยากาศทางการเมืองภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เตส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิของแรงงานโดยตรง ที่เกาหลีใต้ประธานสหพันธ์สมาพันธ์แรงงานแห่งเกาหลี (KCTU) ถูกคุมขังตั้งแต่ปี 2558 หลังจัดงานประท้วงนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาล และที่คาซัคสถานผู้นำสหภาพแรงงานถูกจับเพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องให้มีการประท้วง

ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ยังคงเป็นพื้นที่ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงาน ระบบอุปถัมภ์แรงงาน ‘Kafala’ ของประเทศในกลุ่มอ่าวเปอร์เซียยังคงทำให้แรงงานข้ามชาตินับล้านถูกกระทำเหมือนทาส การปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานยังคงอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ส่วนอิรัก, ลิเบีย, ซีเรีย และเยเมน ความขัดแย้งทางการเมืองและความง่อนแง่นของหลักนิติธรรมในประเทศ ทำให้แรงงานไม่ได้รับการรับรองสิทธิ ในเยเมนพนักงานภาครัฐกว่า 650,000 คน ยังไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 8 เดือน

นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ อาทิเช่น มีประเทศที่แรงงานได้รับความรุนแรงทางร่างกายและภัยคุกคามเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จาก 52 ประเทศในรายงานปี 2559 สู่ 59 ประเทศในรายงานปี 2560 และมีนักสหภาพแรงงานได้ถูกฆาตกรรมใน 11 ประเทศ ได่แก่ บังกลาเทศ, บราซิล, โคลัมเบีย, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, อิตาลี, มอริเตเนีย, เม็กซิโก,เปรู, ฟิลิปปินส์ และเวเนซุเอลา รวมทั้งมีกว่า 3 ใน 4 จาก 139 ประเทศที่ปฏิเสธการเจรจาและต่อรองร่วมของแรงงาน และอีก 50 ประเทศมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

อนึ่งดัชนีนี้ ITUC ได้จัดอันดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากมากไปหาน้อยอีก 6 ระดับไล่ตั้งแต่รุนแรงมากไปหาน้อย คือตั้งแต่ +5 ถึง 1 สำหรับประเทศไทย ITUC จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ (ระดับความรุนแรงที่ 4) เช่นเดียวกับรายงานเมื่อปี 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net