อุทธรณ์ยกฟ้อง 'มือปืนป็อปคอร์น' เหตุมีเพียงภาพจากสื่อ ไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยัน

ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง 'มือปืนป็อปคอร์น' คดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ศึกชิงคูหาเลือกตั้งปี 57 ระบุหลักฐานไม่อาจยืนยันได้ มีเพียงภาพจากสื่อมวลชน โดยไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยัน และคำรับสารภาพ แต่ยังมีข้อพิรุธ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา

แฟ้มภาพ

27 มิ.ย. 2560 เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (27 มิ.ย.60) ที่ห้องพิจารณาคดี 713 ศาลอาญาถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีฆ่าผู้อื่นหมายเลขดำที่ อ.1626/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้อง วิวัฒน์ หรือท็อป ยอดประสิทธิ์ มือปืนป็อปคอร์น อายุ 25 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและนำอาวุธปืนออกนอกเคหะสถาน ภายในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ลงโทษตามป.อาญา มาตรา 288, 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา ม.4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ม.5, 6, 11, และ 18

สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้ 37 ปี 4 เดือน

ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่ง ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุยิงใส่ผู้ชุมนุม และตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด พบชายแต่งกายด้วยชุดดำสวมหมวกไหมพรม จากนั้นนำภาพมาเปรียบเทียบกับจำเลย หลักฐานดังกล่าวจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าภาพจากกล้องวงจรปิด และตัวจำเลยนั้น เป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งมีเพียงภาพจากสื่อมวลชน โดยไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยัน และคำให้การของจำเลยที่ให้การรับสารภาพ แต่ยังมีข้อพิรุธ เคลือบแคลงน่าสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น  พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา

หลังฟังคำพิพากษา วิวัฒน์ กล่าวสั้นๆ ว่ารู้สึกดีใจมามากจนพูดอะไรไม่ออก

สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2557 สรุปความผิดจำเลยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2557 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้มีปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิดและขนาดติดตัวไปที่ทางแยกหลักสี่ เขตหลักสี่ พื้นที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และยิงปืนเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอทีสแควร์ จน อะแกว แซ่ลิ้ว เสียชีวิต ส่วน สมบุญ สักทอง นครินทร์ อุตสาหะ และพยนต์ คงปรางค์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย เหตุเกิดที่แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ

ภาพบางส่วนที่ถูกใช้เป็นหลักฐานในการจับกุม จากเพจ Policespokesmen

ขณะที่ พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความจำเลย กล่าวภายหลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีมือปืนป็อปคอร์นว่า หลังจากนี้เตรียมที่จะยื่นขอประกันตัวนายวิวัฒน์จำเลย ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าการประกันตัวจะต้องใช้หลักทรัพย์3.7 ล้านบาท ซึ่งแม้ตอนนี้เรายังไม่มีหลักทรัพย์แต่เชื่อว่ามีคนที่พร้อมจะช่วย หากอัยการโจทก์ยื่นฎีกาก็เตรียมที่จะแก้ฎีกา แต่หากอัยการไม่ยื่นฎีกาตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีก็จะถึงสุดตามที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

เมื่อถามว่าผลคำพิพากษาเกินความคาดหมายหรือไม่ พวงทิพย์ กล่าวว่าเราทราบอยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นอย่างไรและมีพยานหลักฐานอะไรบ้าง ซึ่งอาวุธปืนที่ทำให้มีคนบาดเจ็บเป็นปืนกระบอกอื่น 

วิดีโอคลิป วิวัฒน์ ยอดประเสริฐ มือปืนป๊อบคอร์น ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย หลังถูกจับกุม เป็นส่วนหนึ่งในสกู๊ป TNA SPECIAL ตอน มือปืนป๊อบคอร์น เหยื่อเกมการเมือง นี่เป็นเทปฉบับเต็มของการสัมภาษณ์ครั้งนั้­น ความยาว 16 นาที

ผู้จัดการออนไลน์ เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

โดยคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติในเบื้องต้น ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ มีการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ส. กับผู้ชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้งที่แยกหลักสี่ ใกล้ห้างไอที สแควร์ โดยมีผู้ใช้อาวุธปืนชนิดต่างๆ ยิงตอบโต้ กระทั่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุน 4 ราย โดย 1 ในนั้นได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยแล้วจำเลยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ
       
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย ว่า ได้กระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากบุคคลต้องสงสัย 22 คน รวมถึงชายชุดดำสวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้า ซึ่งถือถุงใส่ข้าวโพดสีเขียวเหลือง โดยมีการตรวจสอบภาพบุคคลดังกล่าวจากกล้องวงจรปิดของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ติดตั้งอยู่ใต้สะพานข้ามแยกหลักสี่ และจากภาพเหตุการณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ต รวมทั้งการนำภาพเคลื่อนไหวมาบันทึกเป็นภาพนิ่ง และเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้นำภาพเหตุการณ์ที่บันทึกในแผ่นซีดี ซึ่งเป็นวัตถุพยาน มีภาพชายถือถุงใส่ข้าวโพดสีเขียวเหลืองขณะเดินกลุ่มตามถนนแจ้งวัฒนะ แล้วต่อมาพบชายดังกล่าวแต่งกายคล้ายกัน แต่สวมหมวกไหมพรมเปิดหน้า นำมาเปรียบเทียบกันชายที่ปิดบังใบหน้า ปรากฏว่า มีรูปร่างลักษณะเหมือนกัน จึงเชื่อว่าชายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้าและถือถุงข้าวโพดคือจำเลยจนเป็นเหตุให้มีการจับกุมจำเลย
       
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กรณีดังกล่าว พ.ต.ท.นพดล ดรศรีจันทร์ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้าน ว่า ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่า มีร่องรอยการตัดต่อข้อมูลที่บันทึกอยู่ในแผ่นซีดีของกลางดังนั้น เมื่อข้อมูลที่ฝ่ายสืบสวนได้มาจากสื่ออินเทอร์เน็ตแล้วทำการคัดลอกข้อมูลภาพเคลื่อนไหวมาเก็บไว้ในแผ่นซีดีก็เป็นข้อมูลที่ได้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป สามารถนำเข้าข้อมูลและคัดลอกข้อมูลดังกล่าวมาโดยง่าย และโจทก์ไม่มีพยานบุคคลผู้ทำการบันทึกภาพในที่เกิดเหตุมายืนยันได้ว่ามีการบันทึกภาพมาจากสถานที่เกิดเหตุและในวันเวลาเกิดเหตุ
       
แม้โจทก์อ้างว่ามีการบันทึกภาพเหตุการณ์จากสื่อมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และภาพถ่ายประกอบที่มีชายชุดดำของสำนักข่าวมติชน ซึ่งโจทก์อ้างว่าภาพชายชุดดำ คือ จำเลยยกถุงใส่ข้าวโพดที่ภายในมีอาวุธปืนเล็งยิงไปทางฝั่งผู้สนับสนุนการเลือกตั้งนั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพถ่ายชายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรมช่วงที่ปิดใบหน้าและเปิดหน้า ก็ยังไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน เนื่องจากไม่เห็นลักษณะรูปร่างและสิ่งสำคัญอื่นๆ คงเห็นเพียงแต่หมวกไหมพรมสีดำ ซึ่งภาพที่คลุมหน้าก็เห็นแต่ดวงตา ปาก และไหล่ ซึ่งเป็นการยากที่จะยืนยันได้ว่าบุคคลดังกล่าวคือจำเลย เพราะเหตุว่าบุคคลที่แต่งกายชุดดำและสวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้าในวันเกิดเหตุมีจำนวน 5 - 6 คน และภาพที่อ้างว่าคือจำเลยเปิดใบหน้า ก็ไม่ได้ถือถุงใส่ข้าวโพด และไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนหรือหลัง และเป็นวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุหรือไม่
       
ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่อาจยืนยันว่า ภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาจากการสืบสวนไม่ได้มีการตัดต่อ การคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตไม่ใช่พยานหลักฐานที่ได้มาจากบันทึกของเจ้าหน้าที่ซึ่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะมีการตัดต่อแก้ไขดัดแปลงข้อมูลได้เหมือนที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป ลำพังการสืบสวนหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำผิดจากสื่อมวลชนและข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่โจทก์ได้มานี้จึงมีน้ำหนักน้อย
       
นอกจากนี้ ที่โจทก์กล่าวหาจำเลยใช้อาวุธปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงถูกผู้เสียหาย 3 คน และเสียชีวิต 1 คน ก็ได้ความจาก พ.ต.ท.ชุมไชศักดิ์ อัครธรอนันต์ พยานโจทก์ที่ยืนสังเกตการณ์อยู่บนสะพานข้ามแยกหลักสี่ ว่า เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นได้ก้มหน้าลงไปดูเห็นผู้ตายถูกยิงและเห็นชายชุดดำถือปืนลูกซองชนิดบรรจุลูกกระสุน 5 นัด เดินออกมาจากบริเวณใต้สะพาน สอดคล้องกับพยานโจทก์และโจทก์ร่วมอื่นที่ได้ความว่าผู้ตายถูกยิงด้วยปืนลูกซอง ขณะอยู่บริเวณใกล้ศาลพระพรหม ซึ่งส่วนของผู้ตายแพทย์ได้ผ่าตัดหัวกระสุนปืนที่มีลักษณะกลมทำจากตะกั่ว ออกจากคอผู้ตาย 1 ลูก และมีภาพถ่ายชายชุดดำสวมหมวกคล้ายหมวกไหมพรมแล้ว สวมหมวกแก๊ปทับถือปืนคล้ายปืนลูกซองมาประกอบยืนยันจึงเป็นหลักฐานแสดงได้ว่าเป็นบุคคลคนละคนกับชายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรมถือถุงใส่ข้าวโพดที่โจทก์อ้างว่าคือจำเลย
       
และแม้ภาพถ่ายจำเลยตามข้อมูลทะเบียนราษฎรตรงกับชายชุดดำที่สวมหมวกไหมพรมเปิดหน้า แต่พี่ชายจำเลยก็ไม่ได้ยืนยันว่า จำเลยคือชายชุดดำที่ถือถุงใส่ข้าวโพด ส่วนที่จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกที่เขียนด้วยลายมือของจำเลยเอง และคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนก็ไม่ปรากฏว่ามีทนายความ หรือบุคคลที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย ดังนั้ นคำให้การของจำเลย จึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย, 134/1 และ 134/3 โดยภายหลังจากการทำบันทึกคำให้การรับสารภาพแล้ววันรุ่งขึ้นได้จัดให้จำเลยนำชี้จุดที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพทันที โดยไม่ปรากฏว่ายึดอาวุธปืนที่อ้างว่าจำเลยใช้กระทำผิดมาเป็นของกลาง อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุขัดข้องว่าเพราะอะไรจึงนำอาวุธปืนมาไม่ได้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ นอกจากนี้ ไม่ปรากฏว่ามีการตรวจพบลายนิ้วมือแฝงของจำเลยในที่เกิดเหตุอีกด้วย จึงเป็นพิรุธ
       
แม้โจทก์ร่วมอ้างถึงกรณีที่จำเลยให้สัมภาษณ์นักข่าวเล่าถึงประวัติ และยอมรับว่า เป็นชายชุดดำที่ถือถุงใส่ข้าวโพด แต่ขณะนั้นจำเลยอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมมีความเกรงกลัวว่าจะถูกทำร้ายในภายหลัง หากให้สัมภาษณ์ไม่ตรงตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่ กรณีจึงไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายกับจำเลยได้เช่นกัน
       
เมื่อพยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงภาพเหตุการณ์จากสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อมวลชน โดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานบุคคลผู้ทำการบันทึกภาพขณะเกิดเหตุยืนยัน ทั้งๆ ที่มีประจักษ์พยานมากมายในวันเกิดเหตุ โดยมีเพียงคำให้การรับสารภาพของจำเลยซึ่งเป็นพิรุธและเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยระหว่างฎีกา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท