Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านฮึดสู้! เพื่อผืนดินสุดท้ายของบรรพชน โร่ร้องขอความเป็นธรรมที่ทำกินครั้งแล้วครั้งเล่า กลับเงียบเป็นป่าสาก ชาวบ้านชุมชนป่าโคกโชค อ.เมือง จ. สุรินทร์ กว่า 36 หลังคาเรือน จ่อบุกยื่นหนังสือหวังพึ่งรัฐบาลหลังชาวบ้าน 31 คนถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาฐานบุกรุก

จากกรณีปัญหาข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านบนพื้นที่พิพาท 883 ไร่ ที่บริเวณที่สาธารณประโยชน์ ทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าโชคเหนือ ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ อยู่ติดถนนหลวงแผ่นดิน 226 ประมาณ ก.ม.ที่ 9-10 ถนนสุรินทร์-กระสัง ชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือน ได้รวมตัวกัน ฮึดสู้ เพื่อผืนดินสุดท้ายของบรรพชน หลังโร่ร้องหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องขอความเป็นธรรมมากว่า 5 ปี แต่กลับไร้วี่แวว ชาวบ้าน 30 คน ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานบุกรุก ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 21 ก.ค. 2560 นี้

ชาวบ้านที่นี้ส่วนใหญ่ฐานะยากจนไม่มีที่ดินทำกินต่างอ้างว่าแผ่นดินนี้เป็นมรดกของบรรพบุรุษ มี สค. 1 ลั่นจะไม่ถอยอีกแล้ว ซึ่งเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ ที่ดินจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองสุรินทร์ ตำรวจ ป่าไม้ และ อส. เข้ารังวัดชี้แนวเขตที่ชาวบ้านบุกรุกเข้าอาศัยในที่ดินพิพาท 883 ไร่ กว่า 100 ครัวเรือน และบุกจับราษฎรบุกรุกที่หลวงกว่า 2,000 ไร่ ทำนา ก่อนหน้าได้ควบคุมตัว นางสุกานดา พูนดี และพวกรวม 11 คน มาที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดสุรินทร์ จทบ.สุรินทร์ และทำการตรวจยึดรถไถนาเดินตามและรถไถนาขนาดใหญ่มาตรวจสอบที่ สภ.เมืองสุรินทร์ เพื่อดำเนินคดี

นายคราศรี ลอยทอง ทนายความได้พาชาวบ้านเข้าร้องขอความเป็นทำต่อสภาทนายความ เพื่อช่วยทางกฎหมาย และทางสภาทนายความมีมติเห็นชอบให้ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่ พาคณะลงพื้นที่สำรวจ ชุมชนป่าโคกโชค ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ และอาสานำกลุ่มชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกรมการปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมในการครอบครองที่ดินเพื่อทำกินหลังเรื่องเงียบหายไปนาน

ซึ่งปัญหาความเดือนร้อน ของชาวบ้านดังกล่าว นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ รุดเข้าเจรจากลุ่มชาวบ้านชุมชนป่าโคกโชค ต.คอโค อ.เมือง จังหวัดสุรินทร์ หลังกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกรมการปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมในการครอบครองที่ดินเพื่อทำกินหลังเรื่องเงียบหายไปนาน โดยนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เข้าพบปะและเจรจากับกลุ่มชุมชนชาวบ้านว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ จะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เเต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องและให้สิทธิ์เท่าเทียมกัน

นางสุกานดา พูลดี แกนนำกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่าก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์จะเข้ามา ได้มีการประสานมาก่อนเบื้องต้น ว่าผู้ว่าฯ จะเข้ามา ชาวบ้านต่างพากันตกใจว่าจะเข้ามาดี หรือเข้ามาร้าย สักพักก็มีการสื่อสารมาอีกว่า ชาวบ้านจะมาดูพื้นที่ ว่าชาวบ้านอยู่กันแบบไหน มีปัญหาอะไรบ้าง พอผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์มาถึงพื้นที่ ก็ถามชาวบ้านถึงเรื่องราวความเป็นมาว่าพื้นที่ตรงนี้มันเป็นอะไร ตนก็ได้เท้าความว่าเมื่อปี พ.ศ.2468 มีการประกาศที่สาธารณะจริง เป็นป่าสาธารณะประโยชน์ป่าโคกเพชรน้อย มีเนื้อที่ประมาณ 2,100 ไร่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2522 เมื่อทางราชการมีคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้าน ณ ตอนนั้น เก็บเอกสาร สค.1 ไปส่งที่ จังหวัด ขณะเก็บผู้ใหญ่บ้านได้คุยกับชาวบ้านว่าจะออกเอกสารสิทธิให้ใหม่เป็น นส.3 พวกชาวบ้านต่างพากันหลงเชื่อก็เลยให้ สค.1 ไป ทั้ง สค.1 ทั้งใบประสงค์จะได้สิทธิ หลังจากเอาเอกสารไปหมดแล้วเขาจึงมาประกาศปากเปล่าว่าที่ดินตรงนี้ได้ประกาศเป็นพื้นที่สาธารณะหมดแล้ว ห้ามมิให้ชาวบ้าน บุกรุกเข้ามาทำกิน ซึ่งชาวบ้านก็ไม่สนใจในคำประกาศหรือคำห้ามปรามใด ๆ ทั้งสิ้นเข้ามาทำกินเหมือนเดิม

ปี พ.ศ.2524 ชาวบ้านถูกตำรวจจับและชาวบ้านก็ถูกการ ขมขู่ คุกคาม จากหน่วยงานรัฐที่ถือกกหมาย ก็ทนไม่ไหว ช่วงกลางคืนชาวบ้านที่นอนเฝ้ากระท่อมที่นาถูกยิงตาย ชาวบ้านต่างผวาและหวาดกลัว จึงได้ทิ้งที่ดินทำกินดังกล่าวตรงนี้ ซึ่งเวลานั้นสร้างความแตกแยกหลายครอบครัวล้มสลายอย่างครอบครัวตนเองก็ต้องพากันหนีเข้าป่าไปอาศัยอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อความปลอดภัย พร้อมกลับหันมาต่อสู้กับนโยบายของรัฐ ที่ไม่เป็นธรรม ต่อมามีการประกาศนโยบาย 66/2523 ให้คอมมิวนิสต์เข้ามามอบตัว กลุ่มชาวบ้านก็เดินทางเข้ามามอบตัวหวังความปลอดภัยในชีวิตได้มีพันธะสัญญาระหว่างรัฐกับชาวบ้านว่าจะดูแลกัน เมื่อเวลาผ่านมาดูแล้วมันไม่ใช่ พวกเราก็ต่างพากันอยู่อย่างทรมาน อยู่อย่างทรหด ไม่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยมีแค่ไม่ถึงงาน ครอบครัวตนเองเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อ แม่ ลูก 7-8 คน อยู่กันแบบอดยาก ต้องแบก ต้องหามตลอด เพื่อความอยู่รอด

ต่อมา ปี พ.ศ.2550 ได้ตัดสินใจหลังได้พูดคุยกับพี่น้อง ชาวบ้านที่มีเอกสาร สค.1 ว่าเราควรจะฮึดลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิอีกครั้ง ได้ทำหนังสือยื่นถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แต่ก็หาได้รับความเป็นธรรมไม่ จนมาถึง ณ วันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เข้ามา หลังจากได้พูดคุยพวกเรารู้สึกว่ามีความหวังเราเคยคุยกันว่า ถึงแม้ใน สค.1 มีเนื้อที่ 20 ไร่ 30 ไร่ก็ตาม เราของสิ่งที่เหลือสิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานรัฐ ชาวบ้านไม่ติดใจ จะได้ที่ดินเพียง 2-3 ไร่ เราก็ยอม ขอให้ได้แค่ที่อยู่ ที่กิน แต่ชาวบ้านยังไม่มั่นใจในคำพูดของผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ จึงขอให้ทางเจ้าพนักงาน ที่ดินจังหวัดสุรินทร์ บันทึกวาระการประชุมในครั้งนี้ไว้เป็นหลักฐาน

นายคราศรี กล่าวว่าชาวบ้านถูกฟ้อง คดีบุกรุกที่ดินป่าทำเลของ อบต.คอโค ประมาณ 30 กว่าครัวเรือนที่โดนฟ้อง คดีก็ยังอยู่ในการสู้กันอยู่ ปัจจุบันยังไม่มีการสืบพยาน ก่อนที่กำหนดประเด็นในการสืบพยาน ตรวจพยานหลักฐาน ทางผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในสมัยนั้น ก็ได้มอบหมายให้ ท่านอุกฤษ์ (จำนามสกุลไม่ได้) ผู้พิพากษา ให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครอง กับทางประชาชน โดยศาลจังหวัดสุรินทร์ ได้เรียนเชิญ ที่ดินจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด กำนันตำบลคอโค นายก อบต.คอโค และนายก อบต.ตระแสง รวมทั้งชาวบ้านทั้งหมดไปหารือกัน สิ่งหนึ่งที่ทางราชการโต้แย้งมา ก็บอกว่าเป็นที่ดินของทางราชการ โดยเฉพาะ อบต.คอโคก็บอกว่าให้ไม่ได้ ไม่มีอำนาจจะเอาที่ดินของทางราชการมาให้ใคร ตนก็พยายามอธิบายให้ศาลท่านฟังว่า ชาวบ้านไม่ได้มาขอ แต่ชาวบ้านมาใช้สิทธิของเขา เพราะเขามีเอกสารสิทธิแต่เดิม ไม่ใช่จู่ๆมาบุกรุก จึงอยากให้ศาลพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิก็ควรให้ความเป็นธรรมกับเขา ก่อนที่จะมีการประกาศ นสร. ปี พ.ศ.2525 ยังไม่มีการประกาศยกเลิก สค.1 ทั้งหมด ชาวบ้านไปใช้สิทธิฟ้องที่ศาลปกครอง อ้างว่า ทางราชการออกเอกสาร ของทางราชการ คือ นสร. ปี พ.ศ.2525 ทับที่ดินชาวบ้าน แต่ปรากฏว่า คดีมันขาดอายุความ เลยมากว่า 20 ปี แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีกระบวนการ พิสูจน์ว่า นสร.ของทางราชการ กับ สค.1 ของชาวบ้าน อะไรทับกันแน่

ซึ่งชาวบ้านเข้าใจว่า สคร.มาทำที่ดินเขาแน่นอน ในความเป็นจริงทางกฎหมาย ก็ยังมีข้อเท็จจริงทางรัฐศาสตร์ ทำไมไม่พิสูจน์กัน แล้วให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน นสร.ที่ไม่ทับที่ดินชาวบ้าน รับก็เอาไป วันนี้ได้ฟังจากปาก แกนนำกลุ่มชาวบ้าน จะเห็นว่าชาวบ้านก็ยอมเสียสละว่าอันไหน ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างของทางราชการ ไปแล้ว ชาวบ้านก็ไม่ติดใจ ยินดีให้ความช่วยเหลือกับทางราชการคือ ไม่เอา จะเอาเฉพาะส่วนที่เหลือ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเหลือเท่าไหร่ จะให้ดีก็ขอให้มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัย

ตนและชาวบ้านได้ยื่นหนังสือ ต่อหน่วยงานรัฐหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่เป็นผลไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือเข้ามาช่วย เพราะที่ดินพื้นนี้ตนและชุมชนชาวบ้านได้ครอบครองที่ทำกินมานานหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แถมยังถูกขับไล่ อีกต่างหาก ตนและกลุ่มชาวบ้านจึงไม่พอใจ จึงได้ ยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีกครั้ง ตนแนะนำชาวบ้านว่า เมื่อระบบตุลาการ หมดอายุความ ก็ควรจะไปพึ่งพาฝ่ายบริหาร ตามระบอบประชาธิปไตย มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหารสามารถหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่ได้ ถ้าเห็นว่า ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม แผนที่ทางอากาศ แผนที่ทหาร ข้อมูลจาการสำนักงานที่ดิน ทะเบียนที่สาธารณะก็มี ทำไมจะเอามาเทียบเคียงกับ สค.1 ไม่ได้ อะไรที่ไม่ใช่ป่าก็คืนให้เขาไป โดยเฉพาะ แผนที่ทางอากาศ ปี พ.ศ.2495 จะปรากฏชัดเลยว่า ที่ดินทำกิน ที่นา เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยม พื้นที่ป่าก็จะมีสัญลักษณ์ว่า เป็นป่า มันสามารถพิสูจน์ได้

นายคราศรี ระบุว่าในฐานะที่เป็นทนายความอาสามาช่วยเหลือชาวบ้านตั้งแต่ต้น ในฐานะที่เป็นกรรมการสภาทนายความ ภาค 3 ครอบคลุมดูแล พื้นที่ จ.สุรินทร์ด้วย มูลเหตุที่เข้ามาช่วย เพราะชาวบ้านหมดที่พึ่ง ชาวบ้านมาร้องทุกข์ ชาวบ้านมาปรึกษา ว่าชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน ได้เข้ามาทำกินในที่ดินของบรรพชน กลับถูกทางราชการ กล่าวหาว่าบุกรุกที่ ตนก็ถามว่าอ้างว่าเป็นที่ดินของบรรพชน ชาวบ้านก็ตอบว่า มีเอกสาร สค.1 ตนได้ตรวจสอบและสอบถามคนที่มีอายุมากที่สุด บนพื้นดินผืนนี้คือใคร ชาวบ้านก็ตอบว่า นายวน เย็นประโคน อายุ 90 ปี ตอนที่ถามเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ตอนที่ถามอายุประมาณ 97 ปี เมื่อตรวจเอกสารเขาก็มี เอกสาร สค.1 จริง ๆ ส่วนทางราชการอ้าง ประกาศ นสร. พ.ศ.2525 ตนก็แปลกใจทำไมออกมาทับที่ดินของประชาชน สค.1 คือ สิทธิครอบครองของประชาชน ก่อนที่จะมาครอบครองทำกินก็จะแจ้ง ผู้ปกครองท้องที่ ต้องครอบครองในที่ไม่ผิดกกหมาย และสามารถออกเอกสารสิทธิได้ ถ้าที่ครอบครองเป็นของหลวง เป็นที่สาธารณะ ทำเลเลี้ยงสัตว์ มีการประกาศเป็นที่ นสร. เป็นที่ป่าช้า หรือเป็นที่ส่วนรวมใช้ร่วมกัน มันไม่สามารถออกเป็นเอกสาร สค.1 ได้ เมื่อชาวบ้านยื่นเรื่องก่อนที่จะไปถึงอำเภอ ก็จะต้องมีผู้ใหญ่บ้านรับรอง และจะต้องมีที่ดินข้างเคียง รับรองว่า ไม่รุก ไม่ล้ำ ที่ดินของเขา ไม่ว่าจะเป็นทิศ เหนือ ใต้ ออก ตก ในที่สุดแล้วเมื่อชาวบ้านไปยื่น มีการออก สค.1 รุ่น นายวน เย็นประโคน อ้างว่าได้มรดกที่ดินจาก พ่อ แม่ เขา นั้นหมายความว่าก่อนนายวน ก็จะมีพ่อแม่เขา ครอบครองทำกินอยู่ ปี พ.ศ.2497 ที่ว่าอำเภอเมืองสุรินทร์ ก็มีการรับรองออกให้ ตามที่ชาวบ้านร้องขอ และมีการทำกิน ต่อมาพอปี พ.ศ.2524 ทางอำเภอเมืองสุรินทร์ เรียกเก็บ เอกสาร สค.1 โดยอ้างว่าจะให้ นส.3 ก หรือโฉลด ชาวบ้านก็ให้ไป ต่อมาปี พ.ศ.2525 ได้มีการประกาศเป็นที่ นสร. ซึ่งก่อนปี พ.ศ.2497 พื้นที่บริเวณนี้มีการขึ้นทะเบียน นสร.เป็นพื้นที่ป่าอยู่แล้ว ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2468 ถ้าที่ดินชาวบ้านทับพื้นที่ป่า มันออกเอกสาร สค.1 ไม่ได้แน่นอน แต่เมื่อปี พ.ศ.2525 ได้มีการประกาศเป็นที่ นสร. ครอบคลุมเอาพื้นที่ชาวบ้านไปด้วย ตนเห็นว่ามันไม่เป็นธรรม ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ และคัดค้าน หลายคนก็ยังอยู่ แต่มันสู้อำนาจฝ่ายปกครองไม่ได้ ชาวบ้านหลายครอบครัว ต้องหนีเข้าป่าไปจับปืน เพื่อสู้กับทางการ ในป่า กลายเป็นคอมมิวนิตย์ ตนและสภาทนายความ พร้อมต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านกลุ่มนี้ เพื่อทวงคืนผืนดินสุดท้ายของบรรพชน ของพวกเขาเหล่านี้ จนถึงที่สุด

ด้านนายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ กล่าวว่าในส่วนทางอำเภอเมืองสุรินทร์ ก็ไม่ได้นิ่งดูดายและเมินเฉย แต่อยากให้พี่น้องชุมชน ชาวบ้านต้องเห็นใจ ในการทำงานของหน่วยงานรัฐบ้าง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องเป็นไปตามนโยบาย ผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน ซึ่งต้องมีการประชาคมอีกหลายฝ่าย เพราะเป็นพื้นที่ที่ชุมชนชาวบ้าน มาจับจองครอบครองอยู่นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสาธารณะ มิใช่ใครกลุ่มหนึ่งจะมาครอบครองก็ได้ แต่เรื่องนี้ทางอำเภอเมืองสุรินทร์ และทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ทราบปัญหาของชุมชนชาวบ้านแล้ว น่าจะอีกไม่นานคงได้คำตอบให้ชุมชนชาวบ้าน ให้มีความพึงพอใจ คาดว่าอีกคงไม่นาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net