ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี: ว่าด้วย "คนต่างด้าว"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การพยายามควบคุมกำกับกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “คนต่างด้าว” ด้วยเอกสารนั้น เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัย ร. 7 โดยการทะลักเข้ามาของ "คนจีน" เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐสยามในสมัยนั้น ถึงกับต้องลุกขึ้นมาตรา พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อควบคุมกำกับ “คนต่างด้าว” ให้เข้าไทยอย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย”

ถ้าจะว่าไป บรรพบุรุษของลูกหลานเจ๊กชนชั้นกลางที่กลายเป็นไทยในปัจจุบัน ถือเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า “ต่างด้าว” ขนานแท้ ไม่ใช่ชาวพม่า เขมร ลาว ที่เข้ามาไทยในยุคหลัง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในยุคเริ่มแรกของการพยายามใช้เอกสารควบคุมกำกับผู้ที่เข้าประเทศที่ไม่มีสัญชาติไทย (ซึ่งส่วนใหญ่มาทางเรือ) รัฐสยามในยุคนั้น เข้าใจดีว่า การที่จะเรียกร้องหาเอกสารทางการที่ระบุตัวตนบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้ พาสปอร์ตเองก็ยังไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในจีนเสียด้วยซ้ำไป หลายคนที่มาจากชนบทอันไกลโพ้น การจะออกบัตรประจำตัวบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่ยากเย็น ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้ว คนต่างด้าวจีนจึงสามารถที่จะเข้าไทยได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเข้าเมือง ไม่ต้องมีการตรวจตราในหนังสือเดินทาง ไม่ต้องขอวีซ่า เมื่อไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน รัฐสยาม ก็ออกเอกสารพิสูจน์ตนให้ จ่ายค่าธรรมเนียมสี่บาท (แพงเอาการ) แลกกับใบต่างด้าว และใบแสดงถิ่นที่อยู่ ก็สามารถที่จะออกไปทำมาหากิน เป็นแรงงานรับจ้างในที่ต่างๆ หากจะย้ายถิ่นฐาน ก็มาแจ้งแก่ราชการเป็นคราวๆ ไป ไม่เห็นว่า “ต่างด้าว” จีนเหล่านี้ จะสร้างปัญหาความมั่นคงอะไรให้กับประเทศชาติ ก็เห็นออกลูกออกหลานเป็นเจ๊กนักธุรกิจสร้างบ้านสร้างเมืองอยู่มาจนทุกวันนี้

ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการชนที่ไม่ใช่พลเมือง ยังดำเนินต่อมาแม้ในยุคสงครามเย็น ที่บรรดาลาว เขมร เวียดนาม พม่า มลายู จีนฮ่อ เนปาล ฯลฯ ต่างพากันทะลักเข้าไทยจากสงครามทางการเมือง แม้ว่ารัฐไทยในยุคนั้น จะใช้ระบบเอกสาร หรือที่เรียกกันว่า "บัตรสี" อันแสนสับสนอลหม่านและไร้ประสิทธิภาพ เพื่อจัดจำแนกกลุ่มคนที่พากันข้ามพรมแดนเข้ามาอย่างโกลาหล และควบคุมกำกับไม่ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ คนเหล่านี้ ในรุ่นลูกรุ่นหลานในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ต่างก็พากันได้สัญชาติไทยเสียส่วนมาก เช่นเดียวกับลูกหลานพวกคนจีนในยุคแรก ไม่เห็นว่า คนต่างด้าวเหล่านี้ หรือลูกหลานของพวกคนต่างด้าวยุคบุกเบิก จะไปสร้างปัญหาความมั่นคงอะไร ให้กับประเทศ และไม่ยักกะเห็น คนไทยแท้ๆ (หากว่ายังมี) จะก่นด่าว่าคนต่างด้าวเหล่านี้ ว่าไปแย่งงานพวกเขาทำ จนกลายเป็นปัญหาของสังคม

ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากนิยาม คนต่างด้าว ไปสู่ แรงงานต่างด้าว จากยุคสงครามเย็น สู่ยุคเสรีนิยมใหม่ น่าแปลกที่ท่าทีที่ยืดหยุ่นต่อชนที่มิใช่พลเมืองไทย ได้หายไปจากอุดมการณ์ของรัฐราชการไทย การเรียกร้องการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลผ่านเอกสาร กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด เหนือตัวบุคคลนั้นๆ เอง และเหนือเป้าประสงค์ใดๆ แม้กระทั่งเหนือผลได้ทางเศรษฐกิจอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว สภาวะที่แรงงาน "ต่างด้าว"จำนวนไม่น้อย ไม่สามารถที่จะเข้าถึงเอกสารระบุตัวตนของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ตก็ตามที ไม่ได้ต่างไปจากภาวะการณ์ที่คนจีนในยุคอพยพเข้าไทยในยุคโน้นเผชิญเท่าใดนัก หากแต่ความเข้าอกเข้าใจที่เคยมีในเรื่องนี้สำหรับรัฐไทย กลับอันตรธานหายไปโดยสิ้นเชิง

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความทรงจำในเรื่องนี้ สำหรับลูกหลานเจ๊กที่บรรพบุรุษนั่งเรือมาไทยโดยไม่มีเอกสารติดตัวสักใบ

น่าสนใจที่การนิยามความเป็นต่างด้าวที่คับแคบ ติดกับดักวัตถุเอกสารของรัฐราชการไทย ที่ได้กลายเป็นต้นเหตุของการอพยพข้ามพรมแดนกลับประเทศของแรงงานต่างชาติครั้งประวัติการณ์ครั้งนี้ ช่างย้อนแย้งโดยสิ้นเชิงกับความปรารถนาจะพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ หรือที่เรียกขานกันอย่างกลวงๆ ว่าไทยแลนด์ 4.0 แถมความย้อนแย้งอันหายนะประเภทนี้ ดันถูกแซ่ซร้องโดยพวกลูกหลานคนต่างด้าวรุ่นบุกเบิกเสียอีกต่างหาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท