กสทช. ถอย ยกร่างกำกับ OTT ใหม่ เลื่อนเดดไลน์ สุภิญญาหวั่นกำกับสื่อออนไลน์แบบนี้ยุ่งยาก

เพราะมองสื่อออนไลน์เป็นสื่อโทรทัศน์ เสี่ยงขัด พ.ร.บ. กิจการโทรทัศน์ เปิดช่องต่างชาติทำกิจการโทรทัศน์ในไทย กสทช. ถอย เลื่อนเดดไลน์จากเดิม 22 ก.ค. ยกร่างใหม่ ทำประชาพิจารณ์ก่อนอนุมัติภายใน 90 วัน กูเกิล ประเทศไทยระบุ ต้องการความชัดเจนของกฎหมาย

 5 ก.ค. 2560  สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุม กสทช. ยังเห็นควรที่จะเดินหน้าการกำกับกิจการ OTT (Over The Top) เนื่องจากเป็นการให้บริการในประเทศไทย จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย  

แต่เพื่อความสมบูรณ์ในการกำกับดูแลที่จะไม่มีข้อโต้แย้งในอนาคต จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการ OTT ยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการ OTT ให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา ก่อนนำออกประชาพิจารณ์รับความฟังความเห็นสาธารณะ ก่อนที่จะปรับปรุงและเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ภายใต้กรอบเวลาดำเนินงานทั้งหมด 90 วัน จึงเลื่อนกำหนดวันสุดท้ายของการลงทะเบียนผู้ให้บริการ OTT ที่ระบุไว้ว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 22 ก.ค. นี้ จนกว่าหลักเกณฑ์กำกับดูแลจะประกาศใช้

เว็บไซต์ blognone รายงานว่า วันนี้ (5 ก.ค. 2560) กูเกิล ประเทศไทยให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่กูเกิลยังไม่ลงทะเบียนการให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตกับ กสทช. ภายในวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งได้เลื่อนออกไปแล้วนั้นว่า ยังไม่สามารถบอกอะไรชัดเจนได้ เนื่องจากต้องการข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่า หากลงทะเบียนแล้ว กระบวนการต่อไปคืออะไร การดำเนินงานจะเป็นไปในรูปแบบไหน ซึ่งทางกูเกิลกำลังศึกษาเรื่องกฎหมายเพิ่มเติมอย่างเต็มที่

ในขณะที่ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างยุติการปฏิบัติหน้าที่ ทวีตลงแอคเคาท์ส่วนตัวในประเด็นการลงทะเบียนกูเกิลและเฟซบุ๊กเป็นบริการแบบ OTT ว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบุชัดเจนว่าห้ามบริษัทต่างชาติทำธุรกิจโทรทัศน์ในไทย แต่กสทช. อ้าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเรียกร้องให้กูเกิลและเฟซบุ๊กลงทะเบียน อาจขัดกับ พ.ร.บ. ข้างต้น เป็นการเปิดทางให้บริษัทต่างชาติทำกิจการโทรทัศน์ในไทยได้ด้วย ทั้งยังกล่าวว่า การตีความว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อโทรทัศน์นั้นจะก่อให้เกิดความยุ่งยากด้านกฎหมาย เพราะไม่เข้ากับตัวบทกฎหมายที่มีอยู่

 

 

 

 

 

 

ooooooooooo

เหตุการณ์วันนี้สืบเนื่องจากกรณีกสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT- Over The Top) มาลงทะเบียน เพื่อสามารถให้บริการ OTT ในประเทศไทยต่อไปได้ ทั้งนี้ กูเกิลและเฟซบุ๊ก เป็น 2 บริษัทที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่ง กสทช. ประกาศว่าบริษัทโฆษณา (และรวมถึงบริษัทอื่นๆ) ที่โฆษณาผ่านผู้ให้บริการ OTT ที่ไม่มาลงทะเบียน เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ตามความผิดที่เกิด ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551  เป็นผลให้ Asia Internet Coalition หรือ AIC เป็นองค์กรความร่วมมือ ที่มีสมาชิกคือ Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, LINE และ Rakuten ได้ออกแถลงการณ์ต่อกฎระเบียบที่ กสทช. ออกมาเพื่อควบคุม OTT โดยระบุถึงปัญหาด้านความโปร่งใสของระเบียบ ข้อกังวลด้านปัญหาเศรษฐกิจและการลงทุน อุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมและฉุดรั้งความตั้งใจของรัฐบาลที่จะเป็น Thailand 4.0 ทั้งยังไม่สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก จนกระทั่ง นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. ออกมาแถลงว่า ไม่ให้ค่ากับแถลงการณ์ดังกล่าว หากกูเกิลและเฟซบุ๊กมีข้อสงสัยอะไรให้เข้ามาถามตน

AIC แถลงโต้ข้อบังคับ OTT ของ กสทช. ชี้ สวนทาง Thailand 4.0

นทีอัดไม่ให้ค่าคำแถลง AIC ระบุ กูเกิล เฟซบุ๊กอยากรู้อะไรมาถามเอง

OTT คืออะไร

OTT (Over-the-top ) คือ บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเอง การให้บริการโทรทัศน์ผ่านระบบ OTT หรือ OTT TV (Over-the-top TV) จะหมายรวมถึงบริการสื่อวีดิโอและโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งผู้ให้บริการเหล่านั้นไม่ได้ลงทุนในโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเอง แต่ส่งเนื้อหาที่ผลิต เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ผ่านโครงข่ายระบบตัวกลางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Line TV, Facebook หรือ Netflix แล้วตัวกลางจะส่งต่อเนื้อหาให้กับผู้รับบริการอีกทีหนึ่ง

OTT TV สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้มากด้วยคุณสมบัติที่สามารถรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต และมีราคาน้อยกว่าการรับชมวิดีโอ โทรทัศน์แบบทั่วไป ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลวิจัยพฤติกรรมการรับชมสื่อโทรทัศน์ของบริษัท Ericsson ในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2558 พบว่า ผู้บริโภกว่าร้อยละ 50  รับชมวิดีโอผ่านบริการ OTT วันละครั้ง และเวลาการรับชมโทรทัศน์ วิดีโอผ่านบริการ OTT แบบ on-demand ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 6 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงสองเท่า (2.9 ชั่วโมง/วัน) อย่างไรก็ดี ธุรกิจโทรทัศน์ดั้งเดิมยังคงได้รับความนิยมสูง เพราะยังเป็นผู้ให้บริการที่ให้เนื้อหาสด เช่น การถ่ายทอดกีฬา เนื้อหาที่มีความพิเศษเฉพาะ และยังเป็นรูปแบบการการเผยแพร่เนื้อหาที่สังคมยังคงให้คุณค่า

ภัสรา ปิตยานนท์ เขียนไว้ใน ไทม์ คอนซัลติงว่า ธุรกิจ OTT-TV ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื้อหาที่พบส่วนมากเป็นซีรีส์และภาพยนตร์จากต่างประเทศซึ่งยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ผนวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ยังมีปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และยังไม่มีโครงสร้างระบบอินเทอร์เน็ตพื้นฐานครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้บริการ OTT-TV ในไทยยังรอสักระยะให้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหลายได้รับการแก้ไขเสียก่อนจึงจะเริ่มแข่งขันกับผู้บริการที่มีอยู่เดิมได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, blognone,Brandinside, ไทม์ คอนซัลติง, it24hrs, Ericsson ConsumerLab

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท