หมามุ่ยสู่มังคุด เมื่อ 'ประยุทธ์' แนะชาวสวนยางปลูกพืชทดแทน - ชาวสวนมังคุดร้องราคาตกต่ำ

ปัญหาราคายางตกต่ำ 'ประยุทธ์' แนะปลูก 'ทุเรียน-มังคุด' แทน ขณะที่ ชาวสวนมังคุด ร้องราคามังคุดลงต่ำลงอย่างมาก ด้านชาวไร่สับปะรดโวยราชการหนุนปลูกใหม่แต่ไร้ตลาดรองรับ พร้อมบทเรียนจาก 'หมามุ่ย' ปลูกทดแทน แต่ก็เผชิญปัญหา

แฟ้มภาพ (ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

12 ก.ค. 2560 จากกรณีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยวานนี้ (11 ก.ค.60) ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องยอมรับว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งของไทยคือ ยังคงมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป และยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่บุกรุกถึง 3 ล้านไร่ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน อยากให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกยางลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน และมังคุดที่มีราคาสูง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลง ราคายางก็คงไม่สามารถขยับสูงไปมากกว่านี้ได้ 

"ทำไมไม่ตัดยางแล้วปลูกผลไม้อื่นบ้างในบางพื้นที่ มันก็จะมีรายได้ตรงนี้ขึ้นมา ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ ราคายางก็อยู่แค่นี้ มันไม่มีขึ้นหรอก วันโน้นกับวันนี้คนละเวลากัน โลกมันไม่ใช่แบบเดิมแล้ว โลกมันเปลี่ยนแล้ว อย่าไปคิดแบบเต่าล้านปีกันเลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ชาวสวนมังคุด ร้องราคามังคุดลงต่ำลงอย่างมาก

ทั้งนี้ การปลูกพืชทดแทนนั้น นอกจากต้องใช้เวลาในการปลูกเพื่อรอรับผลผลิตแล้ว ชื่อหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำให้ปลูกทำแทนคือ 'มังคุด' โดยในวันเดียวกัน ช่อง 8 และมติชนออนไลน์ รายงานว่า 11 ก.ค.60 ธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาฯ ได้เข้าพบ วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือขอให้แก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ หลังราคามังคุดลงต่ำลงอย่างมาก ซึ่งเป็นราคาไม่คุ้มต้นทุนการผลิต เช่นเดียวกับที่ จ.ตราด ที่ศาลา 100 ปี ตราดรำลึก หน้าศาลากลางจังหวัดตราด เกษตรกรชาวสวนมังคุด ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ดังกล่าวเช่นกัน

โดยเนื้อหาของหนังสือ ระบุถึงกรณีที่จังหวัดได้มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ โดยจะมีการเปิดจุดรวบรวมมังคุดของเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด แต่ในวันที่ 8 – 9 ก.ค. ที่ผ่านมา เกษตรกรนำมังคุดไปจำหน่าย ได้เพียงประมาณกิโลกรัมละ 6 – 15 บาท

ทางสภาเกษตรกร จึงเป็นตัวแทนเกษตรกรในการเข้ายื่นหนังสือ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี อาทิ ขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อแก้ปัญหาผลไม้จังหวัดจันทบุรี ระยะเร่งด่วนและระยะยาวแบบมีส่วนร่วม ขอให้จังหวัดประกันราคามังคุดคุณภาพขั้นต่ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท ส่วนมังคุดตกไซด์ กิโลกรัมละ 20 บาท และให้เร่งรัดการจัดสร้างห้องเย็นขนาด 5 พันตัน และ โรงงานแปรรูปผลไม้ต่อเนื่อง รองรับผลผลิตล้นตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าทางการเกษตร

โดยขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีช่วยพิจารณาแก้ไขปัญหาราคามังคุดตกต่ำเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

เบื้องต้นทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ยืนยันว่าทางจังหวัดกำลังดำเนินการในการหาแนวทางการแก้ไขให้กับเกษตรกร แต่ทางเกษตรกรต้องช่วยกันผลิตมังคุดให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับมังคุดที่มีอยู่ทั่วไป อีกทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไปด้วย

ส่วนที่จังหวัดตราด เกษตรกรชาวสวนมังคุด จังหวัดตราด กว่า 30 คน รวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ไขราคามังคุดตกต่ำ ที่ล่าสุดเหลือกิโลกรัมละ 6 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาที่จำหน่ายได้ ไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป โดยมี นายประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รับฟังปัญหา ร่วมกับเกษตรจังหวัดตราด พาณิชย์จังหวัดตราด และสหกรณ์จังหวัดตราด

ตัวแทน เกษตรกรชาวสวนมังคุด อำเภอเขาสมิง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดเหตุที่ทำให้ราคามังคุดตกต่ำ ในขณะนี้ เกิดจากปัญหาล้ง (นักธุรกิจ) ที่ฉวยโอกาส ในช่วงวันหยุดเข้าพรรษา โดยอ้าง ว่าไม่มีแรงงานคัดแยกมังคุดที่มีผลผลิตจำนวนมาก ตลาดปลายทางตัน กระจายผลผลิตไม่ได้ เพื่อกดราคามังคุดลง ซึ่งครั้งล่าสุด ที่ชาวสวนนำมังคุดไปจำหน่ายเหลือกิโลกรัมละ 6 – 10 บาท ถือว่า เป็นราคาที่ต่ำมาก ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป และ ค่าจ้างคนเก็บมังคุด ที่ต้องจ้างคนเก็บกิโลกรัมละ 5 บาท ทั้งนี้เกษตรกรชาวสวนมังคุดระบุ ว่า ราคาที่ชาวสวนอยู่ได้ และ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก คือ ราคากิโลกรัมละ 20 – 30 บาท

บทเรียนจาก 'หมามุ่ย' ปลูกทดแทน แต่ขายไม่ได้

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไป พล.อ.ปะยุทธ์ เคยแนะนำการปลูกพืชทดแทนเช่นกัน เมื่อครั้งที่มีปัญหาราคาข้าว 8 ก.ค.58 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้แนะนำชาวนา ว่า "ขณะเดียวกันวันนี้เราขายหมามุ่ยได้ก.ก.ละกว่า 800 บาท และเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแล้วมีการแปรรูปกลับมาเป็นยา เป็นอะไรต่างๆ ราคาได้กลายเป็นก.ก.ละ 8 หมื่นบาท แล้วเหตุใดเรายังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาทหรือไม่กี่บาท แต่เราก็ต้องควบคุม อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้าวของเรายังดีอยู่ ในส่วนที่เสียก็เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความคิดที่ไม่ถูกวิธีเพราะเราต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าถ้าจะทำให้คนเข้มแข็งต้องสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ไม่ใช่ให้ปลาเขาไปกิน เรากำลังสอนให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ เข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตร และที่ผ่านมารายได้มันต่ำจึงต้องกู้เงิน แล้วไร่นาก็ถูกยึด"

ต่อมา 14 ม.ค.59  ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ จ.อำนาจเจริญ ได้มีนายสุนทร ลำงาม อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47 ม. 9 ต.คำโพน อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ และเพื่อนเกษตรกรอีก 3 คน ได้เข้าพบผู้สื่อข่าวไทยรัฐเพื่อร้องทุกข์ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ช่วยแก้ปัญหาหมามุ่ยที่พวกตนได้ปลูกทดแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้หมามุ่ยที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ไม่มีตลาดรองรับ กล่าวคือปลูกได้ผลผลิตแล้วแต่ขายไม่ได้ จึงวอนให้นายกฯ หรือรัฐบาลหาตลาดให้ ตามที่เคยแนะนำเกษตรกรไว้

โวยราชการหนุนปลูกสับปะรดพันธุ์ใหม่แต่ไร้ตลาดรองรับ

วันนี้ (12 ก.ค.60) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า สมจิต งุ่ยไก่ แกนนำกลุ่มเกษตรกร ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดพันธุ์เอ็มดี ทู สำหรับรับประทานผลสด หลังจากหน่วยงานราชการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อทดแทนผลผลิตสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีราคาตกต่ำ และผลผลิตล้นตลาด และที่ผ่านมามีการสนับสนุนหน่อพันธุ์ ที่จัดซื้อหน่อละ 30 บาท เพื่อปลูกในแปลงสาธิตตามโครงการเกษตรแปลงใหญ่ นอกจากนั้น ในอนาคตมีโครงการจะใช้งบประมาณในปี 2561 จัดซื้อหน่ออีก 13 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด

แต่ปรากฏว่าเมื่อผลผลิตสับปะรด เอ็มดี ทู ออกสู่ท้องตลาดเกษตรกรไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ เนื่องจากไม่มีการจัดหาตลาดรับซื้อไว้ล่วงหน้า ประกอบกับรสชาติไม่ได้เป็นไปตามสรรพคุณที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง ทำให้ไม่ได้ความสนใจจากผู้บริโภค ล่าสุดชาวไร่สับปะรดจะรวมตัวเพื่อนำผลผลิตไปแจกฟรีที่บริเวณริมถนนเพชรเกษม เพื่อประจานความล้มเหลว และแจ้งยุติการปลูกสับปะรดพันธุ์ดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท