Skip to main content
sharethis

สมชัย ศรีสุทธิยากร เปิด 4 เส้นทางยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ป.กกต. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระบุใครก็ตามที่คิดว่ามีเพียง 2 ทาง โปรดรัฐธรรมนูญให้ลึกซึ้ง

14 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึง กรณี กกต. เตรียมพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (1) ที่บัญญัติว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย ดังนั้น แม้เป็นร่างกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจพิจารณาว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

สมชัย กล่าวว่า สำหรับกระบวนการนำเรื่องสู่คำวินิจฉัย สามารถกระทำได้ แบ่งได้เป็น 4 กรณี คือ 1. กรณีทั่วไป รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคสอง ระบุว่า การยื่นคำร้องและเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัย การทำคำวินิจฉัย นอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

“แต่เนื่องด้วยขณะนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดังนั้น ต้องดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 วรรคสาม ที่ระบุว่า "ในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาและการทำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า 2. กรณีการใช้ช่องทางฝ่ายบริหาร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ระบุว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ตามมาตรา 81 และ มาตรา 148 (2) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้น ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

สมชัย กล่าวว่า 3.กรณีการใช้ช่องทางฝ่ายนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 (1) ส.ส. ส.ว. หรือ รวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เสนอต่อประธานรัฐสภา และให้ประธาน ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และ 4.กรณีการใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 ผู้ตรวจการอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณี ดังต่อไปนี้ (1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยในกรณีนี้ จะดำเนินการได้เมื่อเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น

 "สรุปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจวินิจฉัยว่า กฎหมายใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายหรือเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม โดยมีช่องทางการเสนอเรื่องถึงศาลได้ 4 ช่องทาง ดังนั้น ใครที่กล่าวว่า มีเพียง 2 ช่องทาง โปรดอ่านรัฐธรรมนูญให้ลึกซึ้งด้วย" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 17 ก.ค. นี้ กกต.จะมีความชัดเจน และสามารถเปิดเผยได้ถึงรายละเอียดของข้อกฎหมาย ที่จะใช้ดำเนินการยื่นต่อศาล โดยจะมีการชี้แจงให้กับสื่อทราบ ก่อนนำเสนอที่ประชุม กกต.เห็นชอบในวันที่ 18 ก.ค. นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net