Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีโอกาสอ่านบทความ “ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” และ “ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)” ข้าพเจ้าเห็นว่าทั้งสองบทความได้จุดประเด็นให้ฉุกคิดได้มากมาย ตลอดจนให้คุณประโยชน์โดยเฉพาะต่อตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นหนึ่งในนิสิตที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์เช่นกัน ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองท่านที่ได้เป็นผู้จัดประกายความคิดของข้าพเจ้ามา ณ ที่นี้ ตลอดจนอยากที่จะร่วมสนทนา เสนอข้อถกเถียง และตั้งข้อสังเกตบางประการเพื่อชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาของปัญหาเชิงโครงสร้าง และประเด็นปัญหาของความใจกว้างทางการเมืองในแง่จองวิธีการที่ไม่เกิดประสิทธิผลของการแก้ปัญหาเชิงการเมือง

สืบเนื่องจากบทสรุป และเนื้อหาของตัวบทความ “ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)” ข้าพเจ้าเห็นว่าสาระสำคัญของข้อโต้แย้งหลัก ๆ ที่ปรากฏในบทความ ยังมีการกล่าวถึงเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral Courage) อยู่น้อย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการวิพากษ์ “ความเฉื่อยชาทางการเมือง” อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อข้อโต้แย้งในเชิงอัตวิสัย (Subjectivity) มากเกินไป (ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ข้อคิดเห็นในเชิงภววิสัย (Objectivity) นั้น “อาจมีหรือไม่มีอยู่ก็ได้”) ดังเช่นในงานเขียนเรื่อง Violence ของ Slavoj Žižek ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความรุนแรงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเชิงอัตวิสัย และภววิสัย

การยกข้อโต้แย้งเชิงทฤษฎีให้กลายไปเป็นเรื่องของอัตวิสัยเพียงอย่างเดียว และถือว่าข้อโต้แย้งในเชิงภววิสัยนั้น “ไม่มีอยู่จริง” เป็นอะไรที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าเสียดาย หากปัญหาเชิงการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ในทั้งสองรูปแบบ แต่ข้อโต้แย้งสำหรับการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นกลับมีได้เพียงรูปแบบเดียว

ปัญหาที่ข้าพเจ้าหมายถึงคือการที่พลเมือง (Active Citizen) หรือแม้กระทั่งนิสิตผู้ที่เรียนวิชาการเมืองในคณะรัฐศาสตร์เองก็ตาม ไม่สามารถรับรู้ สังเกตเห็น และมีความสามรถในการแก้ปัญหาที่แท้จริงซึ่งกำลังขัดขวางพลวัตการเมืองไทยที่กำลังเคลื่อนไปสู่จุดที่เรียกว่า “สังคมอารยะ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นปัญหาหลัก ๆ เรื่องความเหลื่อมล้ำในแง่ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันในสังคมไทย

ข้อสังเกตประการแรกที่ข้าพเจ้าอยากเสนอคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างระบอบอำนาจนิยมซึ่งจะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำนั้น ปราศจากมลทินของปัจเจกจริงหรือ? หากลองสืบเสาะหาปัจจัยโครงสร้างของปัญหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโครงสร้างปัญหาอันแข็งแกร่งนั้นถูกก่อร่างสร้างเสริมตลอดเวลาด้วยปัจเจกชนแทบทั้งสิ้น ฉะนั้น การตกเป็นเหยื่อของปัจเจกชนในระบบโครงสร้างอันโหดร้ายดังกล่าวจะไม่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวปัจเจกชนเอง และตัวข้าพเจ้าเองเลยหรือ สำหรับการที่จะต้องร่วมกันตระหนักถึงปัญหา และร่วมกันแก้ไขด้วยวิธีการอันมีประสิทธิภาพ

ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างหนึ่งในแนวทางของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างภายใต้ข้อจำกัดของปัจเจกชนจากงานเขียน On Tyranny ของ Timothy D. Snyder ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าปัจเจกชนเองจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเชิงการเมือง ซึ่งอาจมีจุดเริ่มต้นกกรมวิธีการง่าย ๆ อย่างการสนับสนุนเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ผลิตผลของคุณประโยชน์สำหรับสังคมส่วนรวม เช่น สนับสนุนองค์กรการกุศลต่าง ๆ มิใช่เพียงแต่ต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยการจัดตั้งกลุ่มเรียกร้องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

ข้อสังเกตประการที่สองคือ “วิธีการ” (approach) ในแง่ต่าง ๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาเชิงการเมืองนั้นยังขาด “ประสิทธิผล” (effectiveness) อยู่หรือเปล่า? ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธในแง่ที่ว่าข้อจำกัดทางสังคมมีผลกระทบต่อวิธีการในการแก้ไขปัญหาเชิงการเมืองของแต่ละบุคคล แต่ถึงกระนั้น การใช้ข้ออ้างเรื่องข้อจำกัดดังกล่าวมาเป็นตัวกำกับ “วิธีการ” ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่อันตรายต่อการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นตัวบดบัง “วิธีการ” อันมีประสิทธิผลได้

จริงอยู่ที่ว่าสภาพเศรษฐกิจมีผลเป็นอย่างมากต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศไทย แต่ผู้ที่มีความกระตือรือร้นย่อมไม่สยบยอมอยู่ภายใต้กรอบดังกล่าวเป็นแน่ อย่างน้อย ๆ ก็อาจจะเริ่มต้นด้วยการสร้างเครือข่ายกลุ่มแรงงาน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเพื่อให้กลายเป็นประชาสังคมผลักดันนโยบายทางการเมืองต่อไปได้

หากลองพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า “วิธีการ” ต่าง ๆ ถูกใช้มาหลายครั้งหลายคราด้วยกันจวบจนยุคปัจจุบัน ที่เป็นยุกเรืองรองของเผด็จการอำนาจนิยม คำถามที่ข้าพเจ้าต้องการจะถาม ณ จุดนี้คือ นี่คือประสิทธิผลของ “วิธีการ” ที่สยบยอมต่อข้อจำกัดทางสังคมของผู้เขียนบทความ “ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)” หมายถึงจริง ๆ น่ะหรือ? และนี่คือประสิทธิผลอันน่าภาคภูมิใจของ “วิธีการอันแตกต่าง” และการยอมรับความแตกต่างดังกล่าวจนนำมาสู่จุดนี้ใช่หรือไม่?

ด้วยคำถามดังกล่าวเหล่านี้เอง ข้าพเจ้าจึงอยากจะนำเอาแก่นหลักของการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาสังคมมาเน้นย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า ความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral Courage) นั้นจำเป็นที่จะต้องถูกยึดเป็นหลักสำคัญเสมอ หากขาดแก่นหลักดังกล่าวไป หรือเพียรแต่ยอมรับซึ่งความแตกต่างของวิธีการ และการนิ่งเฉย ข้าพเจ้าเกรงว่าอาจจะต้องวกกลับมาใช้ศัพท์แสงจำพวก “ความเฉื่อยชา” ในการตีความปรากฏการณ์อีกครั้ง

ข้อสังเกตประการสุดท้ายคือ การมีจุดยืนที่แน่นอนท่ามกลางกระแสความคิดเชิงการเมืองอันหลากหลาย ถือเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าใจแคบหรือเปล่า? ข้าพเจ้าจะไม่เหมารวมและด่วนสรุปว่าผู้ที่คอยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวคิดตัวเองตามความรู้ใหม่ที่ได้รับตลอดเวลาว่าเป็นพวกอยู่เป็น ลื่นไหล ไร้จุดยืน หรือด่วนสรุปว่าผู้ที่มีจุดยืนแน่วแน่นั้น หัวแข็ง งมงาย หรือปิดกั้นตัวเองออกจากกระแสองค์ความรู้ ในทางกลับกัน ข้าพเจ้าจะพยายามชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีความกระตือรือร้นในจุดยืนทางการเมืองของตนเป็นอย่างมากนั้น บางทีอาจมองว่าผู้ที่มีความกระตือรือร้นในจุดยืนทางการเมืองน้อยกว่า  หรือใช้วิธีการแก้ปัญหาเชิงการเมืองที่เกิดประสิทธิผลน้อยว่า “เฉื่อยชา” และไม่ใช่เพียงเพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นใช้ “วิธีการที่แตกต่างกัน” ในการพิจารณาเพื่อวิพากษ์เพียงอย่างเดียว

แน่นอนว่าข้อคิดเห็นดังกล่าวนั้นอาจจัดได้ว่าเป็นเพียงข้อคิดเห็นเชิงอัตวิสัย แต่ผลลัพธ์และประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากวิธีการเหล่านั้นย่อมแสดงให้เห็นในรูปแบบของภววิสัยที่กำลังปรากฏอยู่ในห้วงสังคมไทยปัจจุบัน

สรุปโดยรวมคือ ข้าพเจ้าต้องการจะชี้ให้เห็นว่า การเปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถึงกระนั้น “วิธีการที่แตกต่าง” สำหรับการแก้ปัญหาเชิงการเมืองก็ย่อมต้องถูกพิจารณาว่ามีประสิทธิผลหรือไม่ มิใช่เพียงแต่ทำใจให้กว้างพร้อมทั้งก้มหน้ายอมรับว่านั่นคือวิธีการที่แตกต่างซึ่งในบางครั้งอาจไม่เกิดประสิทธิผล หรืออาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมเสียด้วยซ้ำ

ท้ายที่สุดแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าการจะสร้างสังคมอารยะที่ปราศจากการใช้อำนาจมิชอบ ข่มขู่ คุกคามประชาชน หรือสังคมอุดมปัญญาที่ปราศจากการก่นด่า “สมน้ำหน้า” เมื่อมีการกดขี่กันเกิดขึ้น ย่อมจำเป็นที่จะต้องสร้างจิตสำนึกส่วนรวมของพลเมืองที่กระตือรือร้น และคอยค้นหาวิธีการที่เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริงตลอดเวลา มิใช่เพียงแต่สยบยอมต่อโชคชะตา และใช้ชีวิตอย่างไม่ยี่หระต่อภาวการณ์ทางสังคม มากไปกว่านั้น ข้าพเจ้าอยากเชิญชวนให้ผู้เขียนบทความที่ข้าพเจ้าได้ทำการวิพากษ์ หรือท่านผู้มีความเห็นต่าง และสนใจได้เสนอข้อโต้แย้งถกเถียงอย่างฉันมิตรเพื่อเป็นการกระตือรือร้นแง่หนึ่งในการสร้างสังคมแห่งปัญญาที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของทุก ๆ ท่าน รวมถึงตัวข้าพเจ้าด้วย

 

บรรณานุกรม

Snyder, Timothy. On Tyranny: Twenty Lessons from the Twentieth Century. London: The Bodley Head, 2017.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. "กับดักเผด็จการ ทำไมเวลาเผด็จการหมดอำนาจแล้ว ถึงร่วงแรงกว่าประชาธิปไตย? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์." มติชนออนไลน์. Last modified February 16, 2559. https://www.matichon.co.th/news/39955.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. "อำนาจของคนไร้อำนาจ." https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10155183189748210&set=a.10150138244118210.327271.653688209. Last modified April 16, 2560.

ธรณ์เทพ มณีเจริญ. "ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ." ประชาไท. Last modified July 16, 2560. https://prachatai.com/journal/2017/07/72418.

สรวิศ ชัยนาม. Slavoj Žižek : ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย, 2558 ed. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2558.

สิงห์ดำท่านหนึ่ง. "ความใจแคบทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (บางส่วน)." ประชาไท. Last modified July 18, 2560. https://prachatai.com/journal/2017/07/72451.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ชยางกูร ธรรมอัน เป็นนิสิตสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net