Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ เร่งรัด 'ดีเอสไอ' ส่งความเห็นคดีร่วมกันเป็นกบฏของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และกปปส. ชี้ล่าช้าเป็นเวลากว่า 3 ปี แล้ว

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า เวลาประมาณ 10:00 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อติดตามและเร่งรัดให้การสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นคดีพิเศษที่ 261/2556 ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับพวก รวม 58 คน เป็นผู้ต้องหาฐานความผิด ร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่นรวม 9 ข้อหา กรณีที่มีการชุมนุมทางการเมืองปิดสถานที่ราชการ ในช่วงปี 2556 ถึงปี 2557 โดยมี ทัชชกร อรรณพเพ็ชร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่อง

วิญญัติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากตนในฐานะที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีพิเศษที่ 261/2556 ซึ่งเป็นการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2556-2557 โดยได้ยื่นหนังสือทวงถามการสั่งคดีนี้กับอัยการสูงสุด (อสส.) 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้มีหนังสือแจ้งเตือนถึงอธิบดีดีเอสไอในฐานะผู้บังคับบัญชาให้เร่งส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม โดยมีใจความสำคัญว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ต้องหาทั้ง 30 คน มีพฤติการณ์ประวิงคดีโดยการขอเลื่อนการส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 2558 ถึงวันที่ 16 พ.ค. 2560 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการรวบรวมความเห็นของพยานดังที่ทนายผู้ต้องหาทั้ง 30 คนกล่าวอ้าง

วิญญัติ กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงขอให้ดีเอสไอแจ้งผู้ต้องหาจำนวนดังกล่าว และกำชับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ว่าหากผู้ต้องหาทั้ง 30 คน ประสงค์จะส่งความเห็นของพยานเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณา ก็ขอให้ส่งความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะถือว่าผู้ต้องหาจำนวนดังกล่าว ไม่ประสงค์จะส่งความเห็น หากมีอะไรขัดข้องก็ขอให้แจ้งให้ทราบด้วย ซึ่งพนักงานอัยการได้กำชับพนักงานสอวบสวนคดีพิเศษให้สอบสวนเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน

คดีนี้ดีเอสไอได้รับตัวผู้ต้องหาซึ่งมีนายสุเทพ กับพวก รวม 58 คน ไว้เป็นผู้ต้องหา และมีการสั่งฟ้องคดีไปที่อัยการแล้ว กระทั่งพนักงานอัยการได้มีการฟ้องคดี 4 ผู้ต้องหาต่อศาล

"อย่างไรก็ตาม เกิดข้อเท็จจริงว่ามีผู้ต้องหาบางรายที่ยังไม่ถูกฟ้องไปนั่งฟังการพิจารณาและอาจจะเข้าไปยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐานได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและกระบวนการพิจารณาที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ที่สำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นมีความล่าช้าเป็นเวลากว่า 3 ปี การขอความเป็นธรรมเป็นเวลาที่ยืดยาว ไม่ได้มีการเร่งรัดอย่างคดีอื่นๆที่ดีเอสไอได้ทำ พนักงานอัยการจึงมีหนังสือตอบกลับมาทางผมว่าให้เตือนอธิบดีดีเอสไอดังกล่าว" นายวิญญัติ กล่าว

นายวิญญัติ กล่าวด้วยว่าขอตั้งข้อสังเกตว่าในเวลา 1 ปีกว่า ๆ ที่อัยการยังสอบเพิ่มเติม ซึ่งการสั่งสอบเพิ่มเติมนั้น ซึ่งเป็นการสอบเพิ่มเติมหลังจากที่ได้รับการขอความเป็นธรรมจากผู้ต้องหา ซึ่งที่จริงแล้วอัยการได้มีการสั่งฟ้องไปหมดแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีกระบวนการนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้อง ไม่ทราบว่าติดขัดเรื่องอะไร เรื่องนี้อาจทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ จึงขอให้ดีเอสไอเร่งส่งความเห็นในเวลาดังกล่าว โดยตนจะติดตามต่อเนื่องซึ่ง 30 วันที่ว่าก็คงไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้ หากพนักงานสอบสวนดีเอสไอปล่อยปละละเลยหรือนิ่งเฉยก็อาจจะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้าน ทัชชกร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ดีเอสไอ ในฐานะผู้รับเรื่อง กล่าวว่า หลังจากรับเรื่องแล้ว ก็จะประมวลข้อเท็จจริง ก่อนเสนอให้อธิบดีดีเอสไอได้สั่งการต่อไป 

ที่มา : มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net