Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


บทความร่วมรำลึกวัน International Nelson Mandela Day (18 กรกฎาคม – วันครบรอบวันเกิดของนายเนลสัน มันเดลา อดีตประธานาธิบดีประเทศอาฟริกาใต้คนแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย)  และ 100 ปี การปฏิวัติสังคมนิยมสหภาพโซเวียตรัสเซีย   

0000

การจัดการความสัมพันธ์ให้ลงตัวระหว่างแรงงานและผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจหรือในอุตสาหกรรมก็ดี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเกื้อกูลต่อความสำเร็จของสถานประกอบการและคุณภาพชีวิตของแรงงานร่วมกันไป จนมีผลต่อการส่งเสริมการพัฒนาประเทศในที่สุด ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้ามีประสบการณ์มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องประชาธิปไตยในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและแรงงานในบริษัท ที่นำไปสู่การเกื้อกูลต่อความสำเร็จของธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศในระดับสูง เรื่องเช่นนี้เราสามารถเรียนรู้จากประวัติศาสตร์การปฏิวัติสังคมนิยมและประชาธิปไตยในการทำงานจากสหภาพยุโรปได้อย่างไร?
สภาการทำงานประจำสถานประกอบการ หรือสภาที่ปรึกษาว่าด้วยการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจ  หรือสภาที่ปรึกษาจากฝ่ายแรงงานหรือของคนทำงานประจำสถานประกอบการ (Works Council) ประกอบขึ้นจากผู้แทนของฝ่ายแรงงานหรือคนทำงานเป็นหลัก และมีบทบาทอยู่มิใช่น้อยเลยในระบบแรงงานสัมพันธ์ของสังคมอุตสาหกรรม การเรียนรู้ในเรื่องโครงสร้าง หน้าที่ และระบบการทำงานของสภาเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่การประกอบการธุรกิจ การแรงงานสัมพันธ์ และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของไทย และประชาคมอาเซียนเป็นอย่างยิ่ง

ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 100 ปี ของการปฏิวัติรัสเซียในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) ระดับความฝันอันสูงสุดของฝ่ายแรงงานในการต่อสู้กับระบบทุนนิยมและนายทุนนั้น นักปฏิวัติสังคมนิยม เช่น Rosa Luxemburg นักปฏิวัติหญิงชาวโปแลนด์ผู้เข้าไปเคลื่อนไหวทำปฏิวัติในเยอรมนี Antonio Gramsci นักปฏิวัติชาวอิตาลี และชาวอนาธิปัตย์นิยมผู้ไม่นิยมระบบพรรคการเมืองและรัฐ (Anarchist) ต้องการให้สภาของคนงาน (Workers’ Council) เป็นองค์คณะที่สะท้อนประชาธิปไตยในโรงงานหรือในการทำงานของชนชั้นแรงงานที่แท้จริง คือ ยึดกุมอำนาจการตัดสินใจในการผลิตและการจัดการโรงงานอย่างเบ็ดเสร็จ (Workers’ Control) และมีบทบาทมากกว่าสหภาพแรงงานที่ถูกมองว่าเน้นแต่เจรจาต่อรองกับนายจ้างเท่านั้น ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ปฏิทินเก่ารัสเซีย) /มีนาคม (ปฏิทินสากล) จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2460 ทั้งก่อนปฏิวัติและหลังปฏิวัติสำเร็จ ในขณะที่ Vladimir Lenin ผู้นำการปฏิวัติ (สามารถยุติการทำงานของรัฐบาลเฉพาะกาลของนายกรัฐมนตรี Alexander Kerensky  ที่เข้ามาเตรียมการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและจัดทำรัฐธรรมนูญ หลังการปฏิวัติรัสเซียครั้งแรก (บางท่านเรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่าการปฏิวัติกระฎุมพี) เดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม 1917 ที่ประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งกรรมกรที่ไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลกษัตริย์รัสเซียหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และช่วยกันทำให้พระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่สอง สละราชบัลลังก์ และนำไปสู่การสิ้นสุดของระบบกษัตริย์ในที่สุด) ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อกลไกแบบนี้ในการตัดสินใจระบบการผลิตในระดับโรงงานต่างๆในรายละเอียดและในทางปฏิบัติ มากเท่ากับการให้การควบคุมของคนงานมีเพื่อป้องกันนายทุนปิดโรงงานก่อนปฏิวัติ และเพื่อควบคุมการผลิตโดยทั่วไปหลังการปฏิวัติประสบชัยชนะ

Lenin สนใจเป็นพิเศษต่อการทำให้รัสเซียเป็นรัฐของกรรมกร (Workers’ state) โดยมอบการนำการปฏิวัติไว้ที่พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียเป็นหลักเพื่อสร้างการปฏิวัติสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ไว้ที่พรรคๆเดียว เพราะไม่เชื่อในพลังกรรมกรในรูปสภาของคนงานและศักยภาพของสหภาพแรงงานมากนักที่จะปฏิวัติสังคมทั้งประเทศได้สำเร็จในระยะยาว (สอดคล้องกับความเห็นของ Karl Marx) แม้จะมีข้อเท็จจริงว่า (และ Lenin เองก็หันไปส่งเสริมให้) แนวร่วมกรรมกรที่จัดตั้งในรูปสภาหรือคณะกรรมการของคนงานตามโรงงานต่างๆ (และการสมทบของทหาร!) ได้ก่อจลาจล ช่วยสนับสนุนพรรคปฏิวัติ และทยอยเก็บสะสมชัยชนะในหลายๆโอกาส จนมีส่วนทำให้การปฏิวัติแห่งชาติครั้งที่สองประสบความสำเร็จในเดือนตุลาคม 1917 ในที่สุดก็ตาม แต่หลังชัยชนะ Lenin และแกนนำพรรคปฏิวัติ (ประกอบกับการหวั่นเกรงต่อปฏิกิริยาการสร้างสรรค์สังคมนิยมของชาวอนาธิปัตย์นิยมผู้ไม่นิยมรัฐเข้มแข็งและใกล้ชิดกับสภาของคนงานประจำโรงงานที่เป็นคนละแนวกับพรรคปฏิวัติ) จึงทำการจัดตั้งองค์การระดับชาติของสภาของคนงานรัสเซียทั้งมวล โดยเป็นการร่วมมือกันขององค์การรวมของเหล่าสภาและสหพันธ์สหภาพแรงงานแห่งชาติ องค์การสำคัญอื่นๆที่เป็นฐานการปฏิวัติ และผู้แทนสภา (คณะกรรมการ) ของคนงานประจำโรงงาน เพื่อดูแลการผลิตของโรงงานในขอบเขตกว้างๆระดับชาติ แต่ก็มีผลให้เกิดความงงงวยแก่พลพรรคสภาของคนงาน ระหว่างบทบาทของการควบคุมการผลิตในโรงงานกับการรับใช้การปฏิวัติว่าสมควรดำเนินการเช่นไรจึงจะถูกต้องที่สุด อันยังต้องอยู่ภายใต้โครงสร้าง “ระบบรัฐการ” (มิใช่ระบบราชการ) แบบรวมศูนย์อย่างใหม่ ร่วมกับและยอมรับการกำกับจากสหภาพแรงงานทั้งในระดับฐานและระดับชาติ ดังที่กล่าวแล้ว

สภาของคนงานประจำโรงงานที่เคยคึกคักในช่วงเข้าได้เข้าเข็มของการปฏิวัติและหลังจากนั้นไม่นาน ในที่สุดก็ถูกตัดตอนบทบาทให้จำกัดอยู่ภายใต้โครงสร้างลำดับชั้นจากล่างสู่สูงสุดแห่งชาติ โดยไม่ได้พัฒนาไปสู่การจัดการตนเองของธุรกิจสังคมนิยมที่คาดหวังได้ในที่สุด เพราะต้องคอยฟังคำสั่งจากเบื้องบนให้ส่งเสริมการปฏิวัติถาวรเป็นหลัก

แต่กระนั้น ในส่วนของสหภาพแรงงาน Lenin และ คณะปฏิวัติ ร่วมกับผู้นำสภาสหภาพแรงงานแห่งชาติ ก็ยังจัดการให้สหภาพแรงงานโดยทั่วไปยกเลิกบทบาทการเจรจาต่อรองกับนายจ้างและดูแลผลประโยชน์ของแรงงานแบบเดิมในสังคมอุตสาหกรรมก่อนปฏิวัติ โดยหลอมรวมองค์การตามลำดับขั้นเข้าไปเป็นสภาสหภาพแรงงานอยู่ในกลไกของพรรคเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะเดียวกันก็ให้เป็นหูเป็นตาตามโรงงานให้กับพรรคและรัฐบาลในการควบคุมสภาของคนงานตามโรงงานต่างๆ เพื่อเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนอย่างใหม่ (ระบบสังคมนิยมแทนระบบทุนนิยม) และการรักษาการปฏิวัติสังคมของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (พรรคบอลเชวิคเดิม) ระยะยาว พร้อมกับยังคงให้ความสำคัญไปที่การรวมศูนย์สภาประชาชน (Councils of People) ประจำชุมชน และเมืองต่างๆที่กระจายทั่วประเทศ มากกว่าที่จะให้สภาของคนงานและสหภาพแรงงานอิสระร่วมกันเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนความมีชีวิตชีวาในการผลิตของโรงงานให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ และในการส่งเสริมการปฏิวัติให้มั่นคงสถาพรสืบไป Joseph Stalin ผู้นำการปฏิวัติต่อจาก Lenin ก็ไม่ได้ทิ้งแนวทางดังกล่าวนี้ ทั้งยังรวมศูนย์หนักขึ้นเสียอีก

ส่วนการปฏิวัติเพื่อสร้างสาธารณะรัฐประชาชนจีนตามลัทธิเหมาที่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นเรื่องการใช้บทบาทของชาวนาในชนบทมิใช่กรรมกรในเมืองเป็นหลัก เพราะจีนยังไม่เป็นสังคมทุนนิยมมากพอและอุตสาหกรรมล้าหลังกว่ารัสเซีย ความคิดเรื่องสภาคนงานจึงไม่เข้มขลังเท่าในกรณีรัสเซีย

ในวงล้อของประวัติศาสตร์แห่งความก้าวหน้าแต่สลับซับซ้อนมิใช่น้อยในการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกที่ผ่านมา การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวทางหลักแห่งการล้มล้างระบบทุนนิยมแล้วสถาปนาระบบคอมมิวนิสต์ในประเทศส่วนใหญ่ในโลกกลับทำไม่สำเร็จ หรือหากสำเร็จก็ไม่นานพอหรืออาจกลายพันธุ์อยู่ต่อไปแบบไม่ตรงทฤษฎีเดิม ทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ของประเทศต่างๆที่ความเจริญทางอุตสาหกรรมก็ไม่เอื้ออำนวยเท่ากับในรัสเซียและในยุโรป ก็ต้องตีความชนชั้นของความขัดแย้งในสังคมให้ถูก แต่กระนั้น ก็มีอยู่ประเทศเดียวที่เคยสร้างสรรค์สังคมนิยมของประเทศไปถึงขั้นการควบคุมสถานประกอบการโดยคนงานเองตามแนว Workers' Control ในระยะเวลาประมาณร่วม 20 ปี (ค.ศ. 1950s – 1970s) ก่อนที่ประเทศจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ก็คือยูโกสลาเวีย รัฐบาลประเทศนี้เคยจัดให้มีระบบการบริหารกิจการด้วยตนเองของคนงาน (Self-management) ในสถานประกอบการ (= สหกรณ์ของคนงาน) อันริเริ่มขึ้นในสมัยที่ Josip Broz (Tito) เป็นประธานาธิบดี โดยเขาประสงค์จะให้สังคมนิยมแบบยูโกสลาเวีย ต่างไปจากสหภาพโซเวียตที่ Stalin ขยายอำนาจและส่งตัวแบบการปฏิวัติถาวรและการประกอบการเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบรัสเซียออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตะวันออก แต่ก็ไปไม่รอด ในขณะที่ชาวอดีตรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียเดิมในทุกวันนี้ ก็ยังคงถวิลหาระบบการบริหารกิจการด้วยตนเองของคนงานอันรุ่งเรืองในอดีต ต่างกับทุนนิยมจอมเขมือบโดยรัฐคอมมิวนิสต์กำกับแบบจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน  ที่มิได้พัฒนาแบบแผนของการประกอบการในสังคมนิยมการตลาดด้วยระบบการบริหารกิจการโดยตนเองของคนงานแบบต่อยอดหรือเสริมสร้างนวัตกรรมเพิ่มเติมจากระบบที่เคยเกิดในยูโกสลาเวียแต่อย่างใด (ดูประกอบหมายเหตุท้ายบทความที่ 1)

นับจากกลางทศวรรษ 1970s สังคมนิยมแนวปฏิวัติทางชนชั้น ที่กำหนดโดยทฤษฎีมาร์กซิสต์ให้กรรมกรต้องล้มล้างนายทุนและระบบทุนนิยม แล้วสถาปนาระบบคอมมิวนิสม์แทน อันมีศูนย์กลางในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ก็ค่อยๆอ่อนแรงลงๆ และล่มสลายในปลายทศวรรษที่ 1980s เป็นต้นมา  สาเหตุสำคัญก็มาจากการที่ผลิตภาพแรงงานในระยะยาวตกต่ำ เทียบกับฝ่ายประเทศทุนนิยมที่ผลิตภาพแรงงานสูงกว่าไม่ได้ และปัญหาระบบรัฐการรวมศูนย์แบบคอมมิวนิสต์ที่สร้างปัญหาเชิงระเบียบกฎเกณฑ์และขั้นตอนมากมายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารบ้านเมืองและการดำเนินธุรกิจสังคมนิยม ในขณะเดียวกัน กลไกของแรงงานแบบสภาคนงานหรือสภาของคนงาน (Workers’ Council) ที่มุ่งเน้นไปในทางการควบคุมโรงงานโดยคนงานโดยตรงของฝ่ายปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อแทนที่ระบบทุนนิยม (แต่คนละแนวกับ Lenin และรัสเซีย) ก็ (ยัง!?) ไปได้ไม่ไกลในระดับสากลไปด้วย (และเช่นกัน)  แต่สำหรับฝ่ายปฏิรูปสังคมนิยมที่ยอมรับการอยู่ร่วมกันของนายทุนกับแรงงานกลับเห็นว่ากลไกการรวมตัวของแรงงานประจำสถานประกอบการหรือโรงงานก็ตามนั้น ยังมีคุณค่า จึงส่งเสริมให้มีกลไกเช่นนี้ขึ้นในบริษัท แต่ดัดแปลงใหม่ให้เป็นสภาที่ปรึกษาของธุรกิจหรือสภาที่ปรึกษาในการทำงาน (Works Council) ในลักษณะการเป็นผู้แทนของฝ่ายแรงงาน (Employee Representation) ที่จะแสดงความเห็นและความต้องการต่อผู้ประกอบการ และเป็นกลไกแห่งความสามัคคีระหว่างนายทุนกับกรรมกรเพื่อทำให้สองฝ่ายก้าวไกลไปด้วยกันทั้งคู่

ในทศวรรษที่ 1970s กลไกความร่วมมือระหว่างทุนและแรงงานดังกล่าวนี้ ได้รับการขยายตัวมากขึ้นๆ ในหลายประเทศทั้งในสหภาพยุโรป ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา และทวีปอาฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป กลไกดังกล่าวขยายตัวมากขึ้นๆอย่างเด่นชัด เมื่อมีการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปนับจาก ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา ประกอบกับก่อนหน้านั้น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ในปี 1971 ก็ได้ออกอนุสัญญาฉบับที่ 135 ว่าด้วย Workers’ Representative ขึ้นเป็นมาตรฐานแรงงานสากลที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างทุนและแรงงานด้วย สาระสำคัญก็คือ ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการของฝ่ายแรงงานขึ้นในบริษัทโดยมาจากการเลือกตั้งของคนงานหรือการแต่งตั้งของสหภาพแรงงานก็ได้ และต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับบทบาทและการเจรจาต่อรองร่วมของสหภาพแรงงานกับผู้ประกอบการ และให้ผู้ว่าจ้างออกค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของคณะผู้แทนแรงงานดังกล่าวด้วย อนุสัญญาฉบับนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของประชาธิปไตยของแรงงานในสถานประกอบการในระดับสากล

สภาที่ปรึกษาในการทำงานประจำธุรกิจ (แบบยุโรป) ในปัจจุบัน ประกอบขึ้นด้วยผู้แทนของคนทำงานหรือผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการหนึ่งๆ เพียงฝ่ายเดียวหรือเป็นหลัก โดยวิภาษมาจากแนวคิดการสนับสนุนการปฏิวัติสังคมนิยมโดยสภาของคนงาน (Workers’ Council) ด้วยการควบคุมของคนงาน (Workers’ Control)  ดังที่กล่าวแล้วนั้น ในประเทศเยอรมนีซึ่งนิยมระบบสภาแบบนี้มากกว่าประเทศใดๆ และเป็นต้นตำรับให้ประเทศอื่นในยุโรปนำไปประยุกต์นั้น มีคำเรียกสภาแบบนี้หลักๆ อยู่สองคำ คือ  Betriebsrat ซึ่งแปลว่าสภาที่ปรึกษาของ/ประจำธุรกิจหรือสภาที่ปรึกษาของ/ประจำสถานประกอบการ และ Arbeiterrat ซึ่งแปลว่าสภาที่ปรึกษาคนงานหรือสภาที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ระบบเช่นนี้นอกจากในเยอรมนีแล้ว ยังนิยมใช้ในประเทศออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ อีกด้วย ส่วนในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่แข่งกับเยอรมนีในระบบแรงงานสัมพันธ์เช่นนี้ในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบันนั้น ใช้คำว่า comités d'entreprise ซึ่งแปลว่าคณะกรรมการของ/ประจำสถานประกอบการ และนิยมตั้งขึ้นในรูปคณะกรรมการร่วมทั้งสองฝ่ายของผู้แทนแรงงานและเจ้าของกิจการ [เช่นเดียวกับบริษัทของญี่ปุ่นที่มีคณะกรรมการร่วมปรึกษาหารือ (Joint Consultation Committee) และเกาหลีใต้ที่มีคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างแรงงานและฝ่ายจัดการ (Labour-Management Committee)] สำหรับในบทความนี้จะเรียกว่าสภาที่ปรึกษาว่าด้วยการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจตามเนื้อหาแห่งภารกิจของสภาฯมากกว่าใช้คำอื่น แต่อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในเชิงการแปลแบบเอาความหมาย Works Council อาจแปลว่าสภาแรงงานหรือสภาของแรงงานก็ได้ เพราะในคณะกรรมการนี้โดยส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะมีผู้แทนของแรงงานผูกขาดอยู่ (แทบ) ทั้งหมด แต่สำหรับในประเทศไทย หากเรียก Works Council ว่าสภาแรงงานแล้ว ก็จะสับสนได้กับคำว่า “สภาแรงงาน” (ในภาษากฎหมายไทยจะมีคำว่าสภาองค์การลูกจ้างนำหน้า) ที่เป็นคำเรียกองค์การระดับชาติของสหภาพแรงงานตั้งแต่ 15 แห่ง มารวมตัวกัน ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้ (ปัจจุบันมีประมาณ 15 สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงาน)

การที่ในระยะหลังๆ สหภาพยุโรปได้เป็นแหล่งสำคัญของระบบการให้แรงงานร่วมบริหารกิจการธุรกิจ และนิยมใช้คำว่า “Works Council” (แปลมาจากต้นตำรับ “Betriebsrat” ของเยอรมนีกันเลยทีเดียว) มากกว่าต้นตำรับ “Workers’ Council” นั้น นอกจากกระแสปฏิวัติของฝ่ายสังคมนิยมสากลได้อ่อนแรงลงไปแล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมาจากการที่ในสภาแบบนี้ของบรรดาบริษัทลงทุนข้ามชาติต่างๆ ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ สามารถมีองค์ประกอบของคณะกรรมการเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นที่ไม่เป็นแบบแผนเดียวกันไปเสียทั้งหมด แต่ยังคงสารัตถะสำคัญในบทบาทของสภาเช่นนี้ในสถานประกอบการเป็นสำคัญ โดยอาจเป็นสภาเดี่ยว สภาคู่ และสภาผสมหลายฝ่าย ก็ได้ สภาเดี่ยวคือมีคนงานหรือผู้ใช้แรงงานฝ่ายเดียว สภาคู่คือมีทั้งผู้แทนคนงานและผู้แทนนายจ้างเพียงสองฝ่าย สภาผสมคืออาจมีทั้งผู้แทนคนงาน ผู้แทนนายจ้าง และผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน เราจึงไม่สามารถเรียกว่าสภาคนงานได้อย่างสนิทใจในทุกแห่งหน การเรียกว่า Works Council (เรียกชื่อดูใหญ่โตว่า ”สภา” แต่ประจำบริษัทใครบริษัทมัน ไม่ว่าจะในระดับภายในประเทศหนึ่งๆ หรือเหนือขึ้นไปในระดับยุโรปโดยรวมก็ตาม) ซึ่งแปลว่าสภาการทำงานจึงเป็นการเรียกแบบเหมาภาพรวมของบทบาทคณะกรรมการแบบนี้ไปเสียเลย โดยก็ยึดเอาสถานประกอบการเป็นที่ตั้ง แต่หากกล่าวแบบคำนึงถึงองค์ประกอบหลักและอำนาจหลักของสภานี้ (ตัดเป้าหมายการปฏิวัติสังคมนิยมแบบต้นตำรับออกไป) เราก็สามารถเรียกมันแบบกว้างๆว่าสภาคนงาน/สภาคนทำงานหรือคณะกรรมการคนงาน/คณะกรรมการของคนทำงาน/คณะกรรมการแรงงานก็ได้ แต่เน้นการทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกับและให้คำปรึกษาแก่นายทุนหรือผู้เป็นเจ้าของกิจการ กระนั้นก็ตาม ขอรบกวนราชบัณฑิตยสภาช่วยทำพจนานุกรมหรือศัพท์บัญญัติว่าด้วยศัพท์แรงงานออกมาบ้าง นอกเหนือสาขาอื่นๆ ที่ทำไปมากแล้ว และช่วยรวมคำนี้ไว้ด้วยว่าควรบัญญัติและให้ความหมายว่าอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด

ภายใต้กฎหมายชี้นำแห่งสหภาพยุโรป (European Directive) ออกโดยรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรป คือ European Parliament (ที่เลือกตั้งกันมา นอกเหนือผู้แทนราษฎรแต่ละประเทศนั้น เป็นกฎเกณฑ์ที่เน้นการไปสู่เป้าหมายร่วมกัน โดยให้อิสระทางวิธีการพอสมควรที่ประเทศสมาชิกจะสามารถจัดการในทางปฏิบัติเอาเอง) ว่าด้วยเรื่อง European Works Council (EWC) นี้  บทบาทหลักของสภาที่ปรึกษาว่าด้วยการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจแห่งยุโรปที่ริเริ่มกันตั้งแต่ ค.ศ. 1994 และพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นๆ ในที่สุดใน ค.ศ. 2009 ก็คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร (Information) และการปรึกษาหารือ (Consultation) กับตัวแทนผู้ประกอบการหรือฝ่ายจัดการในทุกประเทศสมาชิกที่บริษัทไปเปิดดำเนินธุรกิจ แต่โดยหลักการก็เป็นการจัดการความสัมพันธ์กันของแรงงานและทุนสองฝ่ายในประเด็นระดับยูโรปที่อาจกระทบต่อการจ้างงานหรือเงื่อนไขการทำงาน แต่ยังมิได้ไปสูงกว่านั้น คือ ถึงขั้นมีผู้แทนสองฝ่ายนั่งบริหารกิจการร่วมกันในระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ของบริษัท (Codetermination) แต่กระนั้นสภาฯเช่นนี้ก็มิใช่จะตั้งขึ้นกันง่ายๆ คือ หากฝ่ายจัดการไม่ริเริ่มขึ้น ก็ต้องเป็นเรื่องที่คนงานอย่างน้อย 100 คน ในบริษัทเดียวกันข้ามประเทศอย่างน้อยสองประเทศต้องร้องขอต่อทางสำนักงานใหญ่ของบริษัทให้จัดตั้งขึ้น และจะเป็นไปได้ก็เมื่อบริษัทข้ามชาตินั้น ต้องมีการจ้างพนักงานในทุกประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area) รวมกันอย่างน้อย 1,000 คน และอย่างน้อยสองประเทศต้องมีพนักงานประเทศละไม่น้อยกว่า 150 คน และในการจัดตั้งก็ต้องมีคณะกรรมการพิเศษชั่วคราว (Special Negotiation Body) ที่พนักงานเสนอชื่อโดยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานและสภาสหภาพแรงงานแห่งยุโรป เพื่อเจรจากับตัวแทนฝ่ายจัดการจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทให้จัดตั้งหรือยอมรับการมีสภาที่ปรึกษาฯแห่งยุโรปร่วมของทุกบริษัทที่อยู่เหนือสภาที่ปรึกษาฯในระดับประเทศ ตามหลักเกณฑ์ที่เป็นกำหนดใน  European Directive (2009/38/EC) 

ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2558 – 2560) มีข้อมูลเกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาว่าด้วยการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจแห่งสหภาพยุโรป ที่น่าสนใจ อาทิ (ดูหมายเหตุท้ายบทความที่ 2 และ 3 ประกอบ)

1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการปรึกษาหารือระหว่างสภาที่ปรึกษาในการทำงานของสถานประกอบการแห่งยุโรปกับผู้แทนจากสำนักงานใหญ่ (บริษัทแม่) ต้องกระทำขึ้นในกรอบเวลาอันเหมาะสม และในแง่ข้อมูลก็จะต้องถูกต้อง ทันสมัย และมีอย่างเพียงพอด้วย

2. สภาที่ปรึกษาในการทำงานของสถานประกอบการแห่งยุโรป ตั้งขึ้นระหว่างประเทศในเขตแดนชุมชนทางเศรษฐกิจ/การค้าของสหภาพยุโรป แต่อยู่ในมากกว่าสองประเทศและบริษัทเป็นเจ้าของเดียวกัน (เช่น บริษัทบีเอ็มดับบลิวของชาวเยอรมัน หรือ บริษัทฟอร์ดของชาวอเมริกัน ในทุกประเทศสมาชิกในเขตแดนชุมชนทางเศรษฐกิจ/การค้าของสหภาพยุโรป) 

3. สภาที่ปรึกษาในการทำงานฯ ในบริษัทข้ามชาติต่างๆ ในปัจจุบัน (2560) มีถึง 1,083 สภา (องค์คณะ)

4. สภาที่ปรึกษาในการทำงานฯที่มีฐานมาจากหรือเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานจะมีประสิทธิภาพมากกว่าสภาฯที่ไม่มีสหภาพแรงงานเกี่ยวข้อง เพราะสหภาพแรงงานจะสนับสนุนด้านข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ และการฝึกอบรม และการเข้าถึงและมีเครือข่ายระหว่างประเทศ

5. สภาที่ปรึกษาในการทำงานฯดังกล่าวในบริษัทลงทุนข้ามชาติบางบริษัท กำลังขยายตัวออกไปนอกสหภาพยุโรป และกลายเป็นสภาการทำงานของสถานประกอบการแห่งโลกก็มีในบางบริษัทด้านยานยนต์

6. บริษัทนั้นๆ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้กับกิจกรรมของสภาที่ปรึกษาในการทำงานฯ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมระหว่างประเทศของผู้แทนสภาที่ปรึกษาในการทำงานฯกับผู้แทนสำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นๆ

7. อุตสาหกรรมหรือกิจการที่มีจำนวนสภาดังกล่าวมาก-น้อยกว่ากัน เรียงตามลำดับ คือ 1) โลหะ 2) บริการ 3) เคมี 4) อาหาร เกษตร และท่องเที่ยว 5)ก่อสร้างและงานไม้ 6) ขนส่ง 7) สิ่งทอ 8) บริการสาธารณะ 9) อื่นๆ

8. สัญชาติของกิจการในสหภาพยุโรปที่มีสภาที่ปรึกษาในการทำงานฯระดับยุโรป 15 ลำดับแรก คือ 1) เยอรมนี 2) สหรัฐอเมริกา 3) ฝรั่งเศส 4) อังกฤษ 5) สวีเดน 6) เนเธอร์แลนด์ 7) สวิสเซอร์แลนด์ 8) เบลเยียม 9) ฟินแลนด์ 10) อิตาลี 11) ญี่ปุ่น 12) ออสเตรีย 13) เดนมาร์ก 14) นอรเวย์ และ 15) สเปน

9. ประเด็นที่สภาที่ปรึกษาในการทำงานฯได้พยายามทุ่มเทการทำหน้าที่ เรียงลำดับดังนี้ 1) สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน (32%) 2) การคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (28%) 3) การฝึกอบรมในการทำงาน (24%) 4) การปฏิบัติด้านทรัพยากรมนุษย์ (14%) 5) โอกาสในความเท่าเทียมกันในการทำงาน (12%) 6) นโยบายในการวิจัยและพัฒนา (6%) 7) ชั่วโมงการทำงาน (4%) 8) ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ (3%)

หันมาดูในประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างแรงงานและทุน ในรูปสภาที่ปรึกษาของสถานประกอบการจากฝ่ายคนทำงานแบบที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็คือคณะกรรมการลูกจ้าง ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ใช้กันในบริษัทเอกชน และคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 (ซึ่งตั้งในรูปคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายกับฝ่ายบริหาร) ที่ใช้กันในรัฐวิสาหกิจนั่นเอง และเป็นคนละคณะกับสหภาพแรงงาน (worker union) แต่อาจมีผู้แทนสหภาพแรงงานไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวนี้ด้วย ตามสิทธิของสหภาพแรงงานที่กฎหมายรับรอง แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการลูกจ้างก็ไม่แสดงบทบาทเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งในภาคเอกชนจำนวนมากถูกควบคุมโดยสหภาพแรงงานอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อมุ่งคุ้มครองผู้นำสหภาพแรงงานไม่ให้ถูกเลิกจ้างโดยง่าย โดยสหภาพแรงงานมิได้มุ่งใช้คณะกรรมการลูกจ้างเป็นกลไกเสริมเพื่อการปรึกษาหารือกับนายจ้าง นอกเหนือการเจรจาต่อรองร่วมร่วมอันเป็นที่นิยมของสหภาพแรงงาน เพราะการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องให้ศาลแรงงานอนุญาต และกฎหมายไทยเองก็ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ในเชิงปรึกษาหารือของคณะกรรมการกับนายจ้างอย่างมีพลัง ดังที่ควรจะเป็น คณะกรรมการลูกจ้าง หรือ Works Council  ในบริษัทเอกชนในประเทศไทยจึงไม่เป็นประโยชน์ร่วมของผู้ประกอบการและแรงงานอย่างแท้จริง แต่กรณีคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ที่ใช้กันในรัฐวิสาหกิจก็พอจะมีบทบาททำอะไรได้มากกว่าในภาคเอกชน เพราะกฎหมายให้บทบาทและอำนาจแก่คณะกรรมการที่ชัดเจนกว่า และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเองก็ยอมรับและมีผู้แทนของตนในกลไกเช่นนี้อีกทางหนึ่งด้วย

สิ่งที่พอจะคาดเดาได้ถึงผลกระทบของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างแรงงานและทุนดังกล่าวนี้ในยุโรปและประเทศไทย ก็คือสถานประกอบการนั้นๆจะมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น และคุณภาพชีวิตคนทำงานก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ในยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เขาเห็นกันแล้วเช่นนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ตกผลึกกันอย่างแจ่มชัดในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ เมื่อประเทศพัฒนามากขึ้นๆ และหากอำนาจการต่อรองของขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ และขบวนการชุมชน มีมากขึ้นเช่นกัน สภาที่ปรึกษาในการประกอบการธุรกิจ ก็น่าจะปรับองค์ประกอบให้มีผู้แทนจากขบวนการสหกรณ์ผู้บริโภคสินค้าหรือบริการและขบวนการชุมชนที่สถานประกอบการนั้นๆตั้งอยู่หรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องด้วย ได้เข้าร่วมกับฝ่ายแรงงานเป็นกรรมการสภาหรือคณะกรรมการเช่นนี้ประจำสถานประกอบการธุรกิจด้วย – นี่คืออีกรูปแบบหนึ่งของการเปิดกว้างในความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ และขบวนการชุมชน ในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งจะเป็นหัวเชื้อของความก้าวหน้าประการสำคัญที่จะเสริมสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาและโลกการทำงานในอนาคต!

สำหรับประชาคมอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งนั้น พยายามรวมตัวให้เป็นปึกแผ่นในเชิงความมั่นคงมากว่า 40 ปี แล้ว และกำลังเข้าสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีบริษัทลงทุนข้ามชาติทั้งของชาวยุโรป อเมริกา และประเทศในทวีเอเชีย (เช่น ญี่ปุ่น ใต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์) และจากทวีปอื่นๆ จำนวนมากมายมาทำมาหากินกับแรงงานในขณะนี้ และจะมีมากขึ้นๆในอนาคต ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย แม้บางประเทศจำนวนข้างน้อยจะเป็นเผด็จการแบบสมบูรณาญาสิทธิราช (บรูไน) และคอมมิวนิสต์ (เวียดนาม และลาว) และโดยภาพรวมของประเทศเหล่านี้จะให้คุณค่ากับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานในระดับหนึ่งตามที่ประกาศใช้ร่วมกันแล้วก็ตาม  แต่รัฐสมาชิกก็ยังไม่ได้ใส่ใจเรื่อง “สิทธิในข้อมูลและการปรึกษาหารือข้ามชาติของคนทำงาน” และความร่วมมือระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการธุรกิจในระดับประชาคมอาเซียนเอาเสียเลย ที่จะให้ตัวแทนคนทำงานในบริษัทข้ามชาติเดียวกันในต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและประชุมปรึกษาหารือด้วยกันเอง และร่วมกับเจ้าของกิจการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของสถานประกอบการและอุตสาหกรรม การเสริมสร้างพลังแห่งการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญอันหนึ่งของโลก และการพัฒนามาตรฐานคุณภาพชีวิตการทำงานของประชาชนในประชาคมอาเซียนกันเองให้สูงขึ้นอยู่เสมอ

เราสมควรเรียนรู้ตัวอย่างกลไกเช่นนี้ของรัสเซีย (รวมทั้งยูโกสลาเวีย) และสหภาพยุโรปไว้บ้าง แล้วหาทางผลักดันจากล่างขึ้นบน โดยค่อยๆสร้างแบบแผนของเราขึ้นจากการเอื้อเฟื้อของประสบการณ์ระหว่างประเทศและในระดับสากลขึ้นมาเองด้วย  เพราะความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปในระดับโลก และระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของชาวยุโรปที่สูงขึ้นๆ ก็ได้มาจากการเสริมส่งของสภาที่ปรึกษาในการทำงานประจำสถานประกอบการธุรกิจ (หรือจะเรียกว่าสภาที่ปรึกษาของธุรกิจจากฝ่ายคนทำงานก็ได้) ของสหภาพยุโรปเป็นสำคัญด้วย

ใครล่ะจะผลักดันเรื่องนี้ในประชาคมอาเซียน? ข้าพเจ้าเห็นว่าก็คงต้องเป็นความพยายามร่วมมือกันของชาวขบวนการแรงงาน ขบวนการประชาธิปไตย นักวิชาการ หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่ก้าวหน้า นักพัฒนาเอกชน พลังคนทำงานรุ่นใหม่ และนักทรัพยากรมนุษย์ที่รักประชาธิปไตยของประเทศและในการทำงานทั้งหลาย ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่นในประชาคมอาเซียน รวมทั้งนอกประชาคมอาเซียน เพราะภายใต้ความน่าอดสูใจยิ่งนักกับการเล่นแร่แปรธาตุต่อประชาธิปไตยของเหล่าผู้มีอำนาจรัฐและเครือข่ายในปัจจุบัน เมื่อข้าพเจ้ามองไปที่รัฐบาลไทยแล้ว ก็ไม่เห็นวี่แววที่จะฝากความหวังในเรื่องแบบนี้ไว้ได้เลย เพราะนับแต่วันรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และนับจากวันที่ 31 ธันวาคม 2558 อันเป็นวันแรกของการเปิดดำเนินการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวเป็นต้นมา รัฐบาลไทยของ คสช. โดยภาพรวมก็กลับก้มต่ำ ไม่มีราศี และกำลังสูญเสียความเป็นผู้นำในการเสริมสร้างความรุ่งเรืองให้กับประชาคมอาเซียน - สู้รัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้เอาเสียเลย!?

 

หมายเหตุท้ายบทความ

1. ในประเทศไทยเองก็เคยมีบริษัทที่พนักงานทุกคนร่วมกันถือหุ้นเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการด้วยตนเอง คือ บริษัทธนาเทพการพิมพ์ (ตั้งขึ้นใหม่จากการปิดกิจการของบริษัทซีเคียวริตีการพิมพ์ บริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ - ยังคงดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน แต่หลักการบริหารกิจการด้วยตนเองของคนงานกำลังจะหมดสิ้นไป เพราะพนักงานบางส่วนที่เป็นคนเก่าแก่เท่านั้นที่ยังถือหุ้นอยู่ประมาณ 40% ของพนักงานทั้งหมด ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเจ้าของกิจการร่วมกันเช่นในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว).

2. ข้อมูลจากการบรรยายของ ศาสตราจารย์ ดร. แพทริก ซิลเทนเนอร์ (Prof. Dr. Patrick Ziltener) เพื่อนของผู้เขียน วันที่ 19 มิถุนายน 2560 – ดูหมายเหตุท้ายบทความ 3. และ S. De Spiegelaere / R. Jagodzinski: European Works Councils and SE Works Councils in 2015, Facts & figures, Brussels: ETUI: 26-27.

3. ท่านที่สนใจเรื่องนี้ โปรดอ่านบทความของ ดร. สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ เรื่อง “สภาแรงงานยุโรป ต้นแบบแรงงานสัมพันธ์ข้ามชาติ” ในนสพ. มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2560 หน้า 16 ที่ได้กรุณาสรุปการบรรยายของศาสตราจารย์ ดร. แพทริก ซิลเทนเนอร์ เรื่อง "Understanding the European Works Councils (EWC) - Insights from Recent Research" (ความเข้าใจในเรื่องสภาคนงานของสหภาพยุโรป – หลากพินิจจากงานวิจัย) จัดโดย มูลนิธินิคม จันทรวิทุร สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วันที่ 19 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ตึกเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ใน นสพ. มติชน ประจำวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2560 ประกอบ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net