เปิดภาพถ่ายทางอากาศ อ่างเก็บน้ำแตกจริง น้ำไหลลงท่วมสกลฯ จนไม่เหลือ

ปภ.เตือนพื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาวเตรียมรับสถานการณ์น้ำ ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 5 อำเภอใน จ.นครพนม 'เดลินิวส์-ฐปณีย์' เปิดภาพถ่ายทางอากาศ อ่างเก็บน้ำแตกจริงยาว 20 เมตร น้ำไหลลงท่วมสกลนครจนไม่เหลือน้ำ ศรีสุวรรณติง รัฐบาลมีงบกลาง 1.9 แสนล้านงบฉุกเฉินผู้ว่าจังหวัดละ 70 ล้าน

31 ก.ค. 2560 ประมวลสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภคอีสาน วันนี้ (31 ก.ค.60) สำนักข่าวไทยรายงานว่า ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งโทรสารในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ด่วนที่สุด วันที่ 31 ก.ค.60 ถึงผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 6 และ 13 โดยมีเนื้อหาสาระส่วนหนึ่งว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ร่วมกับกรมชลประทาน วิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาวจำนวนมาก ทำให้เขื่อนลำปาว มีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำขึ้นอีก โดยได้เริ่มระบาย ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 60 ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาวในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์  ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี 

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์โดยให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และจัดเตรียมความพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที  พร้อมให้รายงานผลการเตรียมความพร้อมมายังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ภายใน 24 ชั่วโมง ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ Centraleoc.office@gmail.com และหากมีสถานการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์และการดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด

ปภ.ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 5 อำเภอใน จ.นครพนม

กอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดี ปภ. สรุปสถานการณ์น้ำ ว่า ล่าสุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม 5 อำเภอ 5 ตำบล 5 หมู่บ้านของจังหวัดนครพนม ประกอบด้วย อำเภอนาแก ,นาหว้า ,วังยาง ,เรณูนคร และศรีสงคราม โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

กอบชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ปภ.ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมให้เตรียมรองรับสถานการณ์น้ำที่สูงขึ้น พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ นาแก และธาตุพนม เนื่องจากเป็นจุดที่ต้องรองรับการระบายน้ำที่ท่วมขังจากจังหวัดสกลนคร ก่อนลงสู่แม่น้ำโขง

เดลินิวส์ เปิดภาพถ่ายทางอากาศชี้อ่างเก็บน้ำแตกจริงยาว 20 เมตร

ก่อนหน้านั้นมีการแชร์ภาพของผู้ที่อ้างว่าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นแตก เป็นต้นเหตุทำให้มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมสูง จ.สกลนคร แต่ทางกรมชลประทานออกมายืนยันแล้วว่า อ่างเก็บน้ำไม่ได้แตก แต่เพราะมีฝนตกลงมามากทำให้น้ำล้นสปิลเวย์ไหลทะลักออกมาดังกล่าว (อ่านรายละเอียด)

ภาพจาก เดลินิวส์

เดลินิวส์ รายงาน ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ ทำให้พบว่าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นได้แตกจริง แตกเป็นทางยาว 20 เมตร หลังถูกน้ำกัดเซาะคันดินลึก 6 เมตร จากความลึกของคันดินเดิม 8 เมตร ทำให้มวลน้ำปริมาณ 175 ล้าน ลบ.ม. ไหลเข้าสู่อำเภอเมืองสกลนครทันทีในช่วงเช้าวันที่ 28 ก.ค. ส่งผลให้ตอนนี้มียอดผู้เสียชีวิตแล้ว 4 รายอยู่ที่ อ.พรรณนานิคม 2 ราย อ.สว่างแดนดิน 1 ราย และอ.เมืองสกลนคร 1 ราย นอกจากนี้ยังสูญหายอีก 1 ราย เป็นชาว ต.ขมิ้น อ.เมืองสกลนคร

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โพสต์ภาพถ่ายทางอากาศผ่านทางฟซบุ๊กที่แสดงให้เห็นสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ที่คันดินแตก น้ำในอ่างทั้งหมดไหลลงท่วมอ.เมือง จ.สกลนคร เมื่อ 28 ก.ค.จนไม่เหลือน้ำอยู่เลย

ศรีสุวรรณ ติง รบ.มีงบกลาง 1.9 แสนล้านงบฉุกเฉินผู้ว่าจังหวัดละ 70 ล้าน

ขณะที่ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้เปิดเผยกรณีสำนักนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนประชาชนให้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสานว่า เหตุใดรัฐบาลต้องมัวมาเสียเวลาและบุคลากรของรัฐในการรอรับเงินบริจาคของประชาชน เพราะรัฐบาลได้มีงบประมาณแผ่นดินปี 2560 ซึ่งเป็นงบกลางอยู่แล้วมากกว่า 1.9 แสนล้านบาท นายกรัฐมนตรีสามารถอนุมัติเงินสั่งจ่ายให้นำไปช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที ขณะเดียวกันเงินทดรองราชการที่กระทรวงการคลังได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย สามารถเบิกจ่ายนำไปใช้ได้ทันทีได้อยู่แล้วจังหวัดละ 70 ล้านบาทโดยกรมบัญชีกลางได้ยกเว้นระเบียบการจัดซื้อ-จัดจ้าง ให้อำนาจผู้ว่าฯเบิกเงินไปซื้อวัสดุ อุปกรณ์ หรือยานพาหนะพิเศษ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ ที่น้ำท่วมสูงอย่างรุนแรงในพื้นที่ เพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือประชาชน

การที่รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีมาดำเนินการเชิญชวนประชาชนให้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมจึงสงสัยว่า จะเก็บเงินงบกลาง 1.9 แสนล้านบาทไปไว้ใช้อะไร หรือจะรอนำไปจ่ายในการซื้ออาวุธ-ยุทธโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้กองทัพเพื่อความมั่นคงกระนั้นหรือ นอกจากนั้น การทำหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่ายังคงมีอยู่ในสารบบหน่วยงานราชการไทยอีกหรือไม่ เพราะกรณีเขื่อนห้วยทรายขมิ้นที่จังหวัดสกลนครแตก ศูนย์ฯดังกล่าวได้ทำหน้าที่เตือนภัยชาวบ้านในพื้นที่ใต้เขื่อนและในพื้นที่อำเภอเมืองสกลนครให้เตรียมตัวฉุกเฉินเพื่ออพยพหรือป้องกันทรัพย์สินมีค่าของตนหรือไม่ อย่างไรก่อนที่เขื่อนจะแตก หรือรอฟังรายงานจากกรมชลประทานว่าเป็นแค่น้ำกัดเซาะเขื่อนไม่ใช่เขื่อนแตกจึงไม่ส่งสัญญาณใด ๆ ต่อชาวบ้าน ซึ่งถ้าทำงานเพียงเช่นนั้นก็สมควรยุบเลิกศูนย์ฯดังกล่าวไปเสีย เพื่อนำงบประมาณของศูนย์ฯดังกล่าวไปช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วมยังจะมีประโยชน์เสียกว่า
 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท