Skip to main content
sharethis

ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวส่งท้ายการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ชี้เรายังคงอยู่ในยุคแห่งความวิตกกังวล หรือที่เคร็ก เรย์โนลเรียกว่า "ยุคแห่งความกลัว" จะไม่ได้อยู่แค่รัฐบาล คสช. เท่านั้นแต่จะอยู่ไปอีกนาน ห่วงบรรยากาศคุกคาม-เซ็นเซอร์ตัวเองในวงวิชาการจะทำให้เกิดช่องว่างทางวิชาการระหว่างนักวิชาการในประเทศกับนักวิชาการต่างประเทศ ขณะที่ชยันต์ วรรธนะภูติ ขอบคุณผู้เข้าร่วมการประชุมที่ช่วยขยับพรมแดนความรู้ของไทยศึกษา

ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสะท้อนสิ่งที่ได้จากการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13

ฟิลลิป เฮิร์ช (Philip Hirsch) ศาสตราจารย์สาขาภูมิศาสตร์มนุษย์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวถึงการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 14 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการของการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 กล่าวขอบคุณคณะทำงานและผู้เข้าร่วมที่ทำให้การประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ สร้างสรรค์บรรยากาศวิชาการ และขยับพรมแดนความรู้ของไทยศึกษา

ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 (ICTS13) "Globalized Thailand?" Connectivity, Conflict, and Conundrums of Thai Studies" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่ ในวันสุดท้ายซึ่งมีพิธีปิดการประชุม นอกจากเคร็ก เรย์โนลด์ส นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แล้ว ยังมี ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวสะท้อนสิ่งที่ได้จากการประชุมด้วย

"พวกเราอยู่ในการประชุมไทยศึกษาที่อยู่ในยุคแห่งความวิตกกังวล (The Age of Anxiety)" ยุกติเริ่มกล่าว โดยเขาเลือกคำนี้จากชื่อภาพยนตร์ที่เลือกนำมาฉายในช่วงการประชุมไทยศึกษาโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐพงศ์ และก้อง ฤทธิ์ดี

"เราอยู่ในบรรยากาศที่มีการแบ่งแยก ไม่เพียงแค่มีคนที่ไม่สามารถมาร่วมการประชุมครั้งนี้ได้ แต่ยังมีผู้ที่เผชิญการคุกคามของผู้มีอำนาจ และบรรยากาศเช่นนี้ทำให้หลายคนไม่เข้าร่วม หรือตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมไทยศึกษา"

จากนั้นยุกติฉายภาพบนจอนำเสนอ เป็นภาพทหารในชุดฝึกเดินเข้ามาในสถานที่จัดการประชุมไทยศึกษา โดยระบุว่าสิ่งนี้บอกได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนนักวิชาการบอกกับเขาว่าได้ยินบทสนทนาของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยของรัฐรายหนึ่งเอ่ยปากบอกนักวิชาการต่างประเทศคนหนึ่งว่า สักวันหนึ่งเขาจะฆ่านักวิชาการไทยรายหนึ่งที่ปัจจุบันสอนอยู่ที่สถาบันต่างประเทศเดียวกับนักวิชาการต่างประเทศคนนั้น

ยุกติกล่าวด้วยว่า บรรยากาศของการเซ็นเซอร์ในหมู่นักวิชาการไทยไม่ได้เกิดในประเทศเท่านั้นแต่ยังเกิดเมื่อต้องเดินทางไปยังต่างประเทศด้วย โดยเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนที่เขาได้ไปนำเสนอบทความวิชาการที่อังกฤษ ระหว่างนำเสนอนั้นเองก็มีคนไทยคนหนึ่งเดินเข้ามากลางห้องเสวนา ทำให้เขาต้องใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง อะไรที่ควรพูด อะไรที่ไม่ควรพูด

ยุกติตั้งคำถามด้วยว่าเราจะอยู่ในยุคแห่งความวิตกกังวลนี้ได้อย่างไร ซึ่งเขาไม่มีคำตอบ แต่สำหรับวงการไทยศึกษา เขาคิดว่ามีความจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับยุคแห่งความวิตกกังวล หรือที่เคร็ก เรย์โนลส์ เรียกว่า "ยุคแห่งความกลัว" แต่ถ้าได้ชมภาพยนตร์ที่ชื่อ "The Age of Anxiety" จะเห็นว่ายุคแห่งความวิตกกังวลไม่ได้อยู่แค่รัฐบาลทหารชุดนี้เท่านั้น แต่จะอยู่ไปอีกยาวนาน

แต่อย่างไรก็ตามเขาขอชื่นชมนักวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมไทยศึกษา ผู้ซึ่งมีความกล้าหาญในการนำเสนอความคิดเห็นท่ามกลางการคุกคามที่พวกเขาต้องเผชิญ

เขากล่าวด้วยว่า เป็นที่น่าชื่นชมการนำเสนอบทความในงานประชุมไทยศึกษา ที่ไม่ได้นำเสนอเฉพาะเรื่องในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้ขยายขอบเขตออกไป มีหัวข้อที่เป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ การเชื่อมต่อ หรือข้อเสนอที่ว่าจะก่อให้เกิดกระบวนการโลกาภิวัตน์ประเทศไทยอย่างไร ซึ่งเขาก็อยากเห็นสิ่งเหล่านี้ประสบผลเช่นกันในอนาคต

ยุกติกล่าวถึงงานศึกษาของเขาเช่นกันที่มีภาคสนามทั้งในไทยและเวียดนาม และนักวิชาการในรุ่นของเขาก็ออกไปทำการศึกษานอกประเทศไทยมากขึ้น อย่างที่เขาเห็นในการประชุมไทยศึกษาที่มีการนำเสนอหัวข้อที่ขยายขอบเขตทั้งในเชิงพื้นที่ มีคนศึกษาประเด็นข้ามพรมแดน รวมทั้งการศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามเขายังคิดว่าเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอในเชิงของการสร้างทฤษฎี เพราะเราพูดถึงทฤษฎีเพื่อเปรียบเทียบ หรือเพื่อสื่อสารนอกเหนือไปจากงานศึกษาชิ้นนั้นๆ ในส่วนของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ จะต้องโฟกัสนอกเหนือไปจากกรณีประเทศไทย จะทำอย่างไรที่จะมีบทสนทนาระหว่างนักวิชาการผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเมืองไทย และนักวิชาการไทยที่ศึกษาประเด็นต่างๆ ในต่างประเทศ

ตอนหนึ่งยุกติกล่าวด้วยว่าหากยังอยู่ใน "ยุคแห่งความวิตกกังวล" ที่บรรยากาศของการเซ็นเซอร์ตัวเองยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างของผลงานนักวิชาการในประเทศกับนักวิชาการที่อยู่ต่างประเทศ อย่างเช่นวงการศึกษาในเวียดนาม ซึ่งผลงานของนักวิชาการที่อยู่นอกประเทศมีความประจักษ์แจ้งและก้าวหน้ากว่างานของนักวิชาการภายในประเทศ ดังนั้น เราต้องคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างลักษณะนี้ขึ้นกับงานด้านไทยศึกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net